บุปผา บุญสมสุข และปฏินันท์ สันติเมทนีดล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 โลกโซเซียลมีเดีย ได้มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2562 เรื่อง ให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง โดยระบุให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารเรือ พ้นจากตำแหน่ง และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาไลน์ไทยคู่ฟ้าของรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า “อย่าเชื่อข้อความดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและไม่ควรส่งต่อข้อความนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความสับสนในสังคมได้” พร้อมทั้งได้แจ้งความดำเนินคดีกับเพจข่าวปลอมดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้น ถือเป็นความโชคดีของสังคมไทย ที่ทีมงานเฝ้าติดตามตรวจสอบข่าวออนไลน์ของรัฐบาลได้ตอบโต้และแก้ข่าวนี้ได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ก่อนที่นักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ และมือสมัครเล่นทั้งหลาย จะนำข่าวปลด ผบ.สามเหล่าทัพไปแพร่กระจายและสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
เพจปลอมราชกิจจานุเบกษา ปลด ผบ.สามเหล่าทัพครั้งนี้ ถือเป็น Fake News ขั้นรุนแรงที่สุด ที่มีการปลอมทั้งเพจ และเกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองที่ประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ท่ามกลางบรรยากาศของการรณรงค์หาเสียง การสื่อสารหลากหลายรูปแบบ และการโฆษณาทางการเมืองที่เข้มข้น เพื่อกล่าวโทษผู้อื่น (ดิสเครดิต) โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และอวดอ้างข้อดี ข้อเด่นของฝ่ายตนเอง ดังนั้น การเสพข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เสพจะต้องกลั่นกรอง วิเคราะห์ และใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ ข่าวโคมลอย ข่าวมีมูล ข่าวลือ ข่าวยกเมฆ ข่าวกุ ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ฯลฯ เพราะข่าวแต่ละข่าวที่กล่าวมาล้วนเป็นข่าวที่ยังไม่สามารถนำเสนอผ่านสื่อได้ ด้วยเหตุผลเดียว คือ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงนั่นเอง
ข่าวโคมลอย เป็นสำนวนของข่าวที่ “ไม่จริง” แต่ข่าวโคมลอย หรือข่าวไม่จริงนั้น อาจจะนำมาซึ่งเบาะแสให้ติดตามเรื่องราวต่อไป ซึ่งนักข่าวรู้จักกันในชื่อ Hints ข่าว ซึ่งหมายถึง การพูดเป็นนัย ๆ หรือสิ่งที่เป็นนัย ๆ หรือมีเค้ามีมูลที่จะทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นจริง
ข่าวลือ ศ.ดร.วีรชัย โกแวร์ (ม.ป.ป., ออนไลน์) ได้เขียนบทความและอธิบายเกี่ยวกับข่าวลือ ว่าเป็นเรื่องที่พูดกัน แต่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ในข่าวลือบางครั้งก็อาจมีมูลความจริงอยู่บ้าง ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีไฟจะไม่มีควัน นั่นหมายความว่าในบางข่าวลืออาจมีมูล แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้ยิน เนื่องจากข่าวลือไม่อาจหาต้นตอได้ ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะเอาความจริงกับข่าวลือต่าง ๆ ได้
ข่าวลืออาจเป็นเรื่องของการขยายความบิดเบือนความจริงโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ผลทางจิตใจที่ตามมา คือ ข่าวลืออาจสร้างความดีใจ เสียใจ สร้างความกลัว เสียขวัญ หรือให้กำลังใจ โดยเฉพาะข่าวลือยุคไฮเทคที่สามารถแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไหลผ่านสื่อต่างๆ ทุกประเภท จากนั้นข่าวลือจะผ่านปากต่อปาก ผลคือข่าวลือค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเชื่อจนเกิดปฏิกริยาตอบโต้และมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนข่าวยกเมฆดูเหมือนจะรุนแรงว่าข่าวอื่น ๆ ตรงที่เป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเลย ข่าวที่กุขึ้นมาเอง ข่าวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เป็นการกุข่าวเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคม (Social Media) กันค่อนข้างมาก หาก “ไม่รู้เท่าทัน” ก็จะกลายเป็นเหยื่อของการปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวสร้างสถานการณ์ หรือที่เรียกว่า fake news กระแส “ข่าวเท็จ” มักเกิดขึ้นอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จะมีการปล่อยข่าวปลอมออกมา ไม่ใช่แค่ข่าวที่เผลอหลุดออกมาเพราะความผิดพลาดของมนุษย์ปกติเท่านั้น หากแต่เป็นการจัดตั้งเป็นองค์กร เพื่อสร้างความบิดเบือนให้ผู้คนทั่วไปอ่านแล้วเชื่อว่าจริงและช่วยแชร์ต่อกันไป
Fake News คือ ข่าวที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ และเข้าถึงคนหลักล้าน และพอส่งต่อกันมาก ๆ ก็อาจจะกลายเป็น “ข่าวจริง” ขึ้นมาได้ จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สื่อข่าวที่รู้ไม่เท่าทัน Claire Wardle (อ้างถึงใน Nutnon, 2018, ออนไลน์) จาก First Draft News ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม ร่วมกับ Social Media และ Publisher อีกกว่า 30 ราย รวมถึง Facebook, Twitter, New York Times หรือ BuzzFeed ได้ ให้นิยาม 7 รูปแบบข่าวปลอมไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ข่าวเท็จที่ปรากฏตามเว็บไซต์และสื่อสังคมต่างๆ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ดร.แซนเดอร์ ฟอน เดอร์ลินเด็น (อ้างถึงใน BBC News, 2017, ออนไลน์) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้คิดค้นวิธีการทางจิตวิทยา ขึ้นมาช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน โดยกล่าวเปรียบเทียบข้อมูลผิดๆ ว่าสามารถแพร่กระจายและสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ไม่ต่างจากไวรัส
“แนวคิดของนักวิจัยคือการทำให้คนอ่านมีทักษะทางความคิดที่ช่วยสร้างภูมิป้องกันข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เมื่อเจอข้อมูลเท็จครั้งต่อไป ก็จะหลงเชื่อน้อยลง”
มาตรการสกัดข่าวเท็จในสื่อสังคมคือ การเรียนรู้เท่าทันข่าวสาร ซึ่งต้องสอนกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาทุกครั้งที่อ่านข่าวให้ถามว่าข่าวนี้มาจากไหน ใครเขียน มีชื่อคนเขียนหรือแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้หรือไม่ ถามว่าข่าวหรือเนื้อหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดเมื่อไร และคนเอามานำเสนอผ่านสื่อสังคมวันไหน เพราะหลาย ๆ ข่าวหรือบทความบางครั้งเป็นเรื่องเก่าที่มีคนเอามานำเสนอเสมือนหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้น อะไรที่เป็น “ข่าวจริง” ในอดีตอาจจะเป็น “ข่าวเท็จ” หรือ ข่าวจงใจบิดเบือนในวันนี้ก็ได้
ในประเทศไทยเราพบว่ามีงานวิจัยที่พยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับ ความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสาร ในชื่อเรื่อง “ปัจจัยในการนำเสนอข่าวสารผิดพลาด และการยอมรับของหนังสือพิมพ์” โดย อภิชาต ศักดิเศรษฐ์ (2544, ออนไลน์) ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการสัมภาษณ์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวสารไว้อย่างน่าสนใจ ผลการสัมภาษณ์บรรณาธิการ เกี่ยวกับปัจจัยในการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาด พบว่าเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ ตัวนักข่าว แหล่งข่าว เงื่อนไขเรื่องเวลา และเจ้าของสื่อ
ในด้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวสาร ผลการสัมภาษณ์พบว่าสาเหตุที่มีการนำเสนอข่าวสารผิดพลาดน่าจะมาจาก 4 ปัจจัย คือ ตัวนักข่าว แหล่งข่าว องค์กรสื่อ และ วัฒนธรรมของคนในสังคมไทย ดังนี้
ส่วนเรื่องของเวลาการปฏิบัติงานสื่อไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ และได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขไว้ 6 ข้อ ดังนี้
สำหรับกรณีแหล่งข่าวปิด (Confidential News Source) รายละเอียดของข่าวได้มาจากผู้ชี้เบาะแสของข่าว หรือที่เราเรียกว่า Tipster ผู้ให้ข่าวจะมีเงื่อนไข ไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุล อาชีพ หรือที่มาของแหล่งข่าว เพราะเกรงว่าจะมีผลเสียหาย เสียประโยชน์ หรือเกิดอันตรายแก่ผู้ให้ข่าวและครอบครัวได้ การใช้แหล่งข่าวปิดดังกล่าว บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เห็นว่า สามารถใช้ได้แต่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้แน่ใจว่าแหล่งข่าวนั้นไม่ได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะข่าวสารการเมืองส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีความคิดเห็นว่า สื่อควรหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งข่าวปิด เนื่องจากขาดความชัดเจน ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรืออาจเป็นเพียงข้ออ้างในการทำงานก็เป็นได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ข่าวผิดพลาด ข่าวโคมลอย ข่าวมีมูล ข่าวลือ ข่าวยกเมฆ ข่าวกุ ข่าวปลอม ข่าวเท็จเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับสังคม ประเทศชาติ และวงการวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาชีพสื่อจะต้องรู้เท่าทัน มีวิจารณญาณในการคิด วิเคราะห์ หาหลักฐาน หาข้อมูล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราว เหตุการณ์ นั้นก่อนที่จะมีการนำเสนอผ่านสื่อไปยังสาธารณชน สำหรับประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อรัฐบาลควรมีมาตรการในการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับพลเมือง หน่วยงานของรัฐ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อเป็นวัคซีนทางปัญญาในการต่อสู้กับไวรัสข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวเท็จดังกล่าว
………………………………………………………..
รายการอ้างอิง
วีรชัย โกแวร์. (ม.ป.ป.). ข่าวลือ. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จาก
http://www.romyenchurch.org.
อภิชาต ศักดิเศรษฐ์. (2544). ปัจจัยในการนำเสนอข่าวสารผิดพลาดและการยอมรับหนังสือพิมพ์.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน .
Nutnon. (2018). รู้จักกับ fake news ทั้ง 7 รูปแบบ ที่เราเจอกันทุกวันบน facebook, twitter.
สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จาก https://www.rainmaker.in.th/7-type-of-fake-news/
BBC News. (2017). นักวิจัยเคมบริดจ์ คิดหา ‘วัคซีน‘ กันเชื่อข่าวปลอม. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์