ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ภาคีเครือข่าย วิชาการ วิชาชีพ 8 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอม ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กทม. ว่า ปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระดับสากลทั่วโลก ข่าวลวงเป็นปรากฏการณ์ของสังคมยุคดิจิทัล ด้วยช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและง่ายต่อการใช้งานจึงเกิดผู้ทำหน้าที่ส่งสารขึ้นเป็นจำนวนมาก บางข้อมูลขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกิดการเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวปลอม สร้างผลกระทบในทางลบให้กับคนในสังคมเป็นวงกว้างด้วยสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของปัญหาข่าวลวง จึงเกิดการรวมพลังของภาคีเครือข่าย วิชาการ วิชาชีพ ทั้ง 8 แห่งในประเทศไทย มาร่วมสร้างกลไกการรับมือและต้านข่าวลวง สร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมการตรวจสอบที่มาของข่าวสารให้กับคนในสังคม ก่อนเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไปในวงกว้าง

การลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมในวันนี้ เป็นความร่วมมือเสริมพลัง สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่ดี ผู้แทนภาคีเครือข่าย 8 องค์กร ประกอบด้วย
1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
3.Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF)
4..สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
5.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)
6.คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7.คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

โดยคำกล่าวคำประกาศปฏิญญาสานพลังความร่วมมือเสริมพลังเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาข่าวลวงร่วมกันดังนี้
1. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลักดันนโยบายในการต่อต้านข่าวลวงในระดับประเทศและเกิดการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านข่าวลวง ทั้งในระดับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ
3. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (Best Practice) เพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม
4. พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงาน และนวัตกรรมตลอดจนเครื่องมือ หรือกลไกเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ
5. ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy: MIDL) ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)

ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายทั้ง 8 องค์กร จะร่วมกันจัดงาน “International Conference on Fake News”โดยในงานมีผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทยและผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วม อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจาก ไต้หวัน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจาก The University of Hong Kong ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากพรรค Free Democrat Party สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้แทนจากสำนักข่าว Thomson Reuters และ AFP เข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา ในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กทม.
#AntiFakeNews
#InternationalConferenceOnFakeNews