สภาการฯ ไทย-ติมอร์ เลสเต ประชุมทวิภาคีร่วมแสดงความยินดีกรรมการบริหารชุดใหม่

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (National Press Council of Thailand) นำโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการฯ นายกวี จงกิจถาวร ประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการฯ นางสาวบุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ รองประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการฯ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ได้ร่วมประชุมทวิภาคีกับสภาสื่อมวลชนติมอร์เลสเต (Timor-Leste Press Council) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก หลังจากทั้ง 2 องค์กรมีคณะกรรมการบริหารชุดใหม่อย่างเป็นทางการ

โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ได้แสดงความยินดีกับ นายเวอร์จิลิโอ ดา ซิลวา กูเตอร์เรส ประธานสภาสื่อมวลชนติมอร์เลสเต ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย รวมทั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ทุกๆ คน พร้อมแนะนำกรรมการบริหาร และคณะทำงานด้านกิจการระหว่างประเทศ ภายใต้อนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ของสภาการฯ ชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนของสื่อมวลชน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทยกำลังพยายามประสานเพื่ออำนวยความสะดวกให้สื่อมวลชนได้เข้าถึงวัคซีน

ขณะที่ นายกวี จงกิจถาวร ได้แสดงความยินดีกับติมอร์เลสเตที่ในปี 2021 นี้ได้รับการจัดอันดับเสรีภาพสื่อ โดย Reporters Without Borders (RSF) สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในลำดับที่ 71 พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้สื่อมวลชนในติมอร์เลสเตนำเสนอข่าวสารประเด็นเสรีภาพสื่อที่เบ่งบานภายในประเทศ รวมทั้งโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย

ด้าน นายเวอร์จิลิโอ ดา ซิลวา กูเตอร์เรส ประธานสภาสื่อมวลชนติมอร์เลสเต ได้กล่าวแสดงความยินดีกับกรรมการ และอนุกรรมการชุดใหม่ของสภาการฯ และชื่นชมความสัมพันธ์ และความร่วมมืออันดีของทั้งสององค์กร ทั้งในระดับทวิภาคี และในกรอบของเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPC-Net) นอกจากนี้ ยังแบ่งปันข้อมูลการฉีดวัคซีนวัคซีนของสื่อมวลชนในติมอร์เลสเตว่า เกือบทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามนโยบายของรัฐบาลที่ถือว่าทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และสื่อมวลชนถือเป็นแนวหน้า ซึ่งวัคซีนที่ได้รับเป็นวัคซีนจากโปรแกรม COVAC อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วพบว่ามีสื่อมวลชนจำนวน 10 คนถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่เมื่อเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศขณะนี้ถือว่าไม่ได้รุนแรงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากการประชุมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจะผลักดับความร่วมมือ และส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค โดยต่างฝ่ายจะกลับไปทบทวนเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ระหว่าง 2 องค์กร ที่ได้ลงนามไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 อีกครั้ง และนำมาหารือกัน เพื่อจัดให้มีการเฉลิมฉลองการลงนามในเอ็มโอยูฉบับใหม่ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้