รู้จักสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

จากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สู่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

เนื่องจากความเห็นร่วมกันในการประชุมสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ประชุมได้มีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ตัดข้อความว่า “องค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนด” ออกจากมาตรา ๔๐ ซึ่งกำหนดให้มีองค์กรอิสระควบคุมสื่อมวลชน แล้วให้นำไปบัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะสื่อมวลชนต้องการให้องค์กรนี้เป็นอิสระจริง ๆ ปราศจากการแทรกแซงของทางราชการและการเมืองในขณะที่สื่อมวลชนก็พร้อมที่จะตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมกันเอง

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ว่า มาตรา ๔๐ ที่ระบุรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของพนักงานหรือลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐ โดยไม่ต้องขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพภายใต้การควบคุมของ “องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น เป็นหลักการที่ดี แต่องค์กรตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว จำเป็นต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระ ภายใต้หลักการควบคุมกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์หรือวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณากันโดยละเอียดรอบคอบในขั้นของการออกกฎหมายประกอบตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

ยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฉบับแรก

ในการประชุมสมาพันธ์ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ที่ประชุมมีมติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญตัดข้อความว่า “องค์กรอิสระตามกฎหมายกำหนด” ออกจากมาตรา ๔๐ แล้วนำไปบัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วยหลักการพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย ของรัฐ และในการประชุมเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ที่ประชุมมีความเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน ๗ คน ได้แก่ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายวีระ ประทีปชัยกุล นายพนา จันทรวิโรจน์ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายวิฑูร พึงประเสริฐ นายวันชัย วงศ์มีชัย และนายวรวิทย์ ศรีอนันตรักษา โดยมีนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นที่ปรึกษา คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่สอบถามความต้องการของเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ถึงเรื่องให้มีองค์กรอิสระโดยไม่ต้องให้กฎหมายบังคับ

คณะทำงานชุดนี้ ทำงานในรูปของการฟังความคิดเห็นจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ว่าควรมีองค์กรอิสระควบคุมกันเองหรือไม่ และได้มีข้อสรุปให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้น โดยในขั้นแรกให้มีการจัดตั้งกรรมการยกร่าง “ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”

สมาพันธ์ฯ ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ แต่งตั้งกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีใจความว่า ตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองโดยสมัครใจ เจ้าของบรรณาธิการผู้มีอำนาจเต็มของหนังสือพิมพ์และสมาคมฯ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ชอบด้วยกฎหมายได้ให้ความเห็นชอบที่จะลงนามร่วมกันในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งมวลพร้อมที่จะดำเนินการควบคุมกันเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นหลักประกันความรับผิดชอบในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพนี้

ลงนามบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”

ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย และภาษาต่างประเทศจำนวน ๒๕ ฉบับ จากทั้งสิ้น ๓๒ ฉบับ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ ๑๐ องค์กร ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกเจตนารมณ์จัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” เพื่อเป็นการควบคุมกันเองและส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และผู้แทนสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

ต่อมาในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ ที่ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศวะสี ประธานคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการยกร่างฯ ได้แถลงผลสำเร็จในการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ได้ดำเนินการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ตามเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้ลงนามในบันทึกร่วมกันเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายแพทย์ประเวศ แถลงว่า หลักการสำคัญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตามธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้วงการหนังสือพิมพ์ได้ควบคุมดูแลกันเอง ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติดังกล่าวอีกด้วย องค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย ๔ ส่วน คือ เจ้าของหรือผู้บริหารหรือผู้ประกอบการ ซึ่งเลือกกันเอง ๕ คน บรรณาธิการหรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการซึ่งเลือกกันเอง ๕ คน ผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งเลือกโดยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ๔ คน ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ อีก ๗ คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอาวุโสและประสบการณ์สูงด้านหนังสือพิมพ์ซึ่งไม่สังกัดหนังสือพิมพ์ใด ๒ คน

อีกหลักการหนี่งที่สำคัญในการควบคุมกันเองของสภาการหนังสือพิมพ์ กำหนดไว้ในหมวดความรับผิดชอบทางจริยธรรม เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกหรือผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกละเมิด หรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ก็จะแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับที่ถูกร้องเรียนลงตีพิมพ์คำวินิจฉัยดังกล่าวภายใน ๗ วัน และอาจแจ้งให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตีพิมพ์ข้อความคำขอโทษผู้เสียหาย ส่วนกรณีมีผู้ถูกร้องว่าสมาชิกหรือผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกประพฤติผิดจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์จะแจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาฯ ทราบโดยเร็ว ในการนี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ อาจเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะได้

คณะกรรมการยกร่างธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะยกร่างข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีการเลือกกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นคณะแรกภายในระยะเวลา ๑๒๐ วัน หลังจากนั้น สภาการหนังสือพิมพ์จะดำเนินการเพื่อให้มีการควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต่อไป

การเลือกตั้งกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๐ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการคือ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ และนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ได้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดแรกตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ ๙ ซึ่งคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะมีด้วยกันไม่เกิน ๒๑ คน โดยจะมีการเลือกตั้งกรรมการฯ ประเภท ๑, ๒, และ ๓ ก่อนรวม ๑๔ คน เพื่อไปดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการประเภทที่ ๔ อีกจำนวน ๗ คน ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยกรรมการทั้ง 3 ประเภท มาจากกลุ่มผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ไม่เกินองค์กรละ ๑ คน

ต่อมาวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ได้มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๐ โดยที่ประชุมได้มีการเลือกตั้งประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนที่ ๑ ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนที่ ๒ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล เป็นเลขาธิการ และนางผุสดี คีตวรนาฏ เป็นเหรัญญิก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิก ไปดำเนินการร่างนโยบายในการทำงานและศึกษาการร่างระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เช่น ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อบังคับว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ ฯลฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๑

ในการประชุมนี้ นอกจากจะมีผู้แทนจากเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ปฏิบัติงานหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแมกไซไซ ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาแพทยสภา ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และนายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย

ต่อมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้อนุมัติข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์จำนวน ๓๐ ข้อ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ และเริ่มเปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนและผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ก็ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมีนักวิชาการและผู้แทนองค์กรเอกชนทางด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

ยกระดับกำกับดูแลกันเองให้ครอบคลุมสื่อมวลชนทุกแขนง

เมื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ทำหน้าที่องค์กรกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสำหรับมวลหมู่สมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มาเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี จนถึงวันนี้พัฒนาการของสื่อมวลชนได้เจริญเติบโต ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่อยู่ในมือของทุกคน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๙ ซึ่งมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นประธานฯ จึงมีมติให้ยกระดับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีมติแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อยกร่าง “ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เพื่อใช้บังคับแทน “ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐” โดยมีนายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนที่ ๒ และประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานยกร่าง นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานทั้งที่อยู่ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ร่วมในการพิจารณายกร่างธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

ในการพิจารณายกร่างธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาตินี้ คณะทำงานเห็นร่วมกันว่าจากความเป็นมาของธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น เกิดจากการประชุมร่วมกันของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในหลายภาคส่วน ที่จัดประชุมกันเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วมีมติให้สถาปนาสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเอง พร้อมประกาศใช้ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งใช้ติดต่อกันมาจนปัจจุบัน เป็นระยะเวลารวม ๒๓ ปีแล้ว ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความครอบคลุมไปถึงสื่อมวลชนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งสามารถทำให้รับสมาชิกใหม่ที่เป็นสื่อมวลชนได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ จึงต้องยกเลิก “ธรรมนูญสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐” และ “ตราธรรมธรรมนูญสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓” ขึ้นมาใช้แทน

ก้าวสู่ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เต็มตัว

นับตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นต้นมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกันเองทางด้านสื่อมวลชนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยก็ได้สิ้นสภาพลงหลังได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่เป็นสมาชิก รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มาโดยตลอด ๒๓ ปีเศษ

แต่จิตวิญญาณของความเป็นองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ยังคงอยู่ครบถ้วนทุกประการ โดยงานที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะต้องเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลมีความกว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ของสมาชิก นั่นคือ งานหลักของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติที่ดูเหมือนง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีภารกิจที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย เพื่อตอบโจทย์การกำกับดูแลกันเองของสื่อในยุค “สื่อหลอมรวม” และยุคที่ Social Media เข้ามามีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างมากมายหลายมิติ  

เลือกตั้งกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ชุดแรก

จากนั้นเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ได้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ ๑ ตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่บัญญัติให้การเลือกตั้งในส่วนของวิชาชีพสื่อ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทสมาชิกผู้ก่อตั้ง และประเภทสมาชิกสามัญ โดยมี ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และกรรมการมูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้ง ว่าที่ร้อยตรี ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ นายสมาน สุดโต อดีตรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และกรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายสัมฤทธิ์ บุญรัตน์ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์สมิหลาไทม์ จ.สงขลา และนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง

สำหรับผลการเลือกตั้ง กรรมการประเภทสมาชิกผู้ก่อตั้ง แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ กลุ่มสื่อโทรทัศน์ และกลุ่มสื่อดิจิทัล โดยผู้ได้รับเลือกตั้งกรรมการในกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ ได้แก่ ๑. นายสวิชย์ บำรุงสุข จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ๒. นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ๓. นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ จากเครือผู้จัดการ ๔. นายชาย ปถะคามินทร์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ๕. นายไพฑูร ชุติมากรกุล จากหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ๖. นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ๗. นางสาวผุสดี คีตวรนาฏ จากหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน และ ๘. นางสาวนาตยา เชษฐโชติรส จากเครือบางกอกโพสต์   

สำหรับกลุ่มสื่อโทรทัศน์ ผู้ได้รับเลือกตั้งได้แก่ ๑. นางสาวสมถวิล เทพสวัสดิ์ เนชั่นทีวี และ ๒. นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ส่วนกลุ่มสื่อดิจิทัล ได้แก่ นางสาวชุติมณฑน์ ศรีขำ จากบ้านเมืองออนไลน์   

ส่วนผลการเลือกตั้งกรรมการประเภทสามัญ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ และกลุ่มสื่อดิจิทัล โดยผู้ได้รับเลือกตั้งกรรมการในกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ ได้แก่ ๑. นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ จากหนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด ๒. นายภูวสิษฏ์ สุขใส จากหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา และ ๓. นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ จากหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี ส่วนกลุ่มสื่อดิจิทัล ผู้ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว จากเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ จ.เชียงใหม่                  

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งในส่วนของวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง ๒ ประเภท ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน ๘ คนขึ้นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย

          ๑. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ได้แก่ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อดีตรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๙ และอดีตประธานกรรมการจริยธรรมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

          ๒. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ได้แก่ รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา

          ๓. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการ ได้แก่ นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร ไทยยานยนตร์ กรุ๊ป และอดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๙

          ๔. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ได้แก่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และอดีตกรรมการ และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๙

          ๕. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ๖. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

          ๗. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านสื่อมวลชน ได้แก่ นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ อดีตบรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๖ และ นายกวี จงกิจถาวร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสมาคมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)

จากนั้นกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติทั้ง ๒๓ คน ได้ประชุมเพื่อเลือกประธานฯ รองประธานฯ เลขาธิการ เหรัญญิก และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ในวันอังคารที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ผลปรากฏว่า นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ ๑ น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นรองประธานฯ คนที่ ๑ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นรองประธานฯ คนที่ ๒ และ นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว จากเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ จ.เชียงใหม่ เป็นรองประธานคนที่ ๓

นายชาย ปถะคามินทร์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นเลขาธิการ นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นรองเลขาธิการ คนที่ ๑ นายภูวสิษฏ์ สุขใส จากหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา เป็นรองเลขาธิการ คนที่ ๒ สำหรับตำแหน่งเหรัญญิก ได้แก่ นางสาวชุติมณฑน์ ศรีขำ จากบ้านเมืองออนไลน์

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติคนแรก ได้เน้นย้ำถึงภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับจริยธรรม รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปโดยจะต้องพัฒนาให้ครอบคลุมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนงไม่เฉพาะเจาะจงเพียงสื่อหนึ่งสื่อใดเท่านั้น

คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมัยที่ 1