สภาการสื่อมวลชนฯ รับสมาชิกใหม่แล้ว

สภาการสื่อมวลชนฯ รับสมาชิกใหม่แล้ว

กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯปฏิบัติหน้าที่กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รับรองสื่อดิจิทัล “The Standard” และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นสมาชิกใหม่ พร้อมรอรับสมาชิกเพิ่ม ด้านอนุวิชาการ เผย เตรียมของบ วช.ทำโครงการวิจัยการปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ระยะเวลา 12 เดือน

การประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วาระที่ 9 ครั้งสุดท้าย

นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 9 ครั้งที่ 1/2564 ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้กล่าวต้อนรับกรรมการที่เดินทางมาจากส่วนภูมิภาค และกรรมการที่เข้าร่วมประชุมทางระบบออนไลน์ (ZOOM) ว่า เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของกรรมการสมัยนี้ และจะมีการเลือกกรรมการชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติชุดแรก ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จึงขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ได้ร่วมกันทำงานกันมาจนหมดวาระ

จากนั้นได้เข้าสู่วาระการประชุม โดยการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ การพิจารณารับรองสมาชิกใหม่ ได้แก่ “The Standard” ซึ่งเป็นสื่อดิจิทัล ที่เผยแพร่ผ่านทาง เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ยูทูป ทวิตเตอร์ และไลน์ออฟฟิเชียล และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นอกจากนี้ยังได้รับการประสานงานจากสถานีโทรทัศน์อีก 2-3 แห่งที่จะสมัครสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการดำเนินการของอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ในการนำเสนอโครงการวิจัยการปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม โดยได้เสนอขอรับทุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจะใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดงานวิจัยดังกล่าว เป็นการถอดบทเรียนจากการปรับตัวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค สื่อดิจิทัล รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคสื่อ ศึกษาคุณค่าและความหมายของความเป็นสื่อในมุมมองของสังคมกับบทบาทสื่อ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อบทบาทสื่อในยุคดิจิทัล เพื่อให้เห็นต้นแบบและแนวทางที่องค์กรสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพ จะนำไปต่อยอดพัฒนาได้ ขณะที่ด้านวิชาการสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนานักศึกษาเพื่อป้อนกลับเข้าสู่วงการวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น