สภาการหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมร่วมมือทุกองค์กรถอดบทเรียนเหตุกราดยิงโคราช

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมร่วมมือทุกองค์กรถอดบทเรียนเหตุกราดยิงโคราช

ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหยิบยกประเด็นปัญหาด้วยจริยธรรมของสื่อมวลชนกรณีการนำเสนอข่าวเหตุกราดยิงที่โคราชมาพิจารณา มีมติพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในการทบทวนและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้

นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 9 ครั้งที่ 2/ 2563 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมฯ ได้หยิบยกปัญหากรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในช่วงเหตุการณ์ที่คนร้ายก่อเหตุฆ่าผู้บังคับบัญชาแล้วปล้นปืนในค่ายทหารออกมาสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเกือบ 30 คน ในช่วงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่สามารถทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน แต่ก็มีสื่อมวลชนบางส่วนที่นำเสนอข่าวหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายและแนวปฏิบัติทางด้านจริยธรรมที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ ที่ร่วมกันจัดทำไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอเชิงจริยธรรมอีกบางประการที่เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนและถอดบทเรียนร่วมกันระหว่างองค์กรสื่อมวลชนและองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกองค์กรต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของกลุ่มงานต่างๆ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้แก่ กรณีที่ คณะกรรมการจริยธรรมมีมติให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังองค์กรสมาชิก 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องขอให้สมาชิกระมัดระวังการนําเสนอภาพและเนื้อหาโฆษณา โดยเฉพาะในลักษณะหุ้มปก ต้องแสดงข้อความ “พื้นที่โฆษณา” กำกับไว้อย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อหาข่าว ซึ่งพบว่า ในการลงโฆษณาหุ้มปกเรื่องการเปิดเขื่อนไซยะบุรี พบว่า มีหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เพียงฉบับเดียวที่มีการระบุว่าพื้นที่โฆษณา และเรื่องขอความร่วมมือสมาชิก ระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพยานหรือผู้เห็นเหตุการณ์ ในการนําเสนอข่าว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าว

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบ กรณีคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในคณะกรรมการจริยธรรม ทําหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อขอความร่วมมือให้พิจารณาความเหมาะสมในการนําเสนอภาพจําลองเหตุการณ์ (อิมเมอร์ซีฟ กราฟฟิก) ที่เผยแพร่ในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ อีกด้วย