สภาฯ เดินหน้าทำวิจัยการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสื่อ

สภาฯ เดินหน้าทำวิจัยการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสื่อ

สภาการ นสพ. ไฟเขียวให้อนุวิชาการ ทำโครงการวิจัย “การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคมใช้เวลาศึกษา 8-10 เดือน

นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ 9 ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งกำหนดจัด 3 ครั้งคือ ครั้งแรกเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกส่วนกลาง ในวันที่ 8 กันยายน เวลา 13.30 น. ส่วนอีก 2 ครั้งจะจัดในวันอังคารที่ 22 กันยายน ช่วงเช้าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรด้านสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ส่วนภาคบ่าย รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ จากสมาชิกส่วนภูมิภาค

เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ จัดทำโครงการวิจัย “การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม” เพื่อศึกษาถึงการปรับตัวขององค์กรข่าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในประเด็นเชิงโครงสร้างองค์กร การบริหารงาน การปรับลดพนักงาน การปรับตัวด้านงานข่าว กลยุทธเนื้อหาเพื่อความอยู่รอด บทบาทของวารสารศาสตร์ ความท้าทายของการทำเนื้อหาที่ตอบโจทย์หลักจริยธรรมและความรับผิดชอบ และประเด็นที่สำคัญคือ การศึกษาการปรับตัวเชิงธุรกิจ เช่น รูปแบบของธุรกิจสื่อเพื่อการอยู่รอด ช่องทางการหารายได้ การเกิดขึ้นขององค์กรสื่อขนาดเล็ก เช่น เพจ เว็บ โดยจะทำการศึกษาจากองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนกลาง สื่อภูมิภาค และสื่อใหม่ สื่อออนไลน์

ส่วนการประชุมในวาระอื่นๆ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมมติรับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ถึงผลการประชุมเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPC- Net) โดยที่ประชุมเสนอให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสภาสื่อมวลชน หรือองค์กร/หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนนอกกลุ่ม SEAPC-Net อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม เป็นต้นไป