ภาพวารสารศาสตร์ เทคโนโลยีและจริยธรรม : การเปลี่ยนการปฏิบัติงานและความเป็นมืออาชีพของช่างภาพวารสารศาสตร์ ในยุคดิจิทัล

ภาพวารสารศาสตร์ เทคโนโลยีและจริยธรรม : การเปลี่ยนการปฏิบัติงานและความเป็นมืออาชีพ

ของช่างภาพวารสารศาสตร์ ในยุคดิจิทัล

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

“การถ่ายภาพทำให้โลกมีความทรงจำที่สมจริง ภาพถ่ายจึงมีพลังอย่างมากมายที่สามารถพบเห็นใด้บนพื้นที่ของสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ ช่างภาพวารสารศาสตร์ยังใช้ความรอบคอบและความซื่อสัตย์ทางจริยธรรม และใช้ประโยชน์จากพัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆ แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาพถ่ายวารสารศาสตร์ต้องสามารถสื่อสารกับผู้อ่านและมีความรับผิดชอบด้านจริยธรรมในระดับที่สูงขึ้น”

Fred Parrish, 2002

 

ภาพข่าวที่ปรากฏบนสื่อมวลชนในปัจจุบันมีจํานวนไม่น้อยที่มักนําเสนอออกมาในลักษณะที่ถูกกล่าวถึงในด้านลบ โดยเฉพาะภาพข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน จะถูกกล่าวถึงความหมิ่นเหม่ต่อปัญหาทางจริยธรรม รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าว การเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ภาพโป๊ภาพเปลือยลามกอนาจาร ภาพการใช้ความรุนแรง หรือภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม ครอบครัว รวมทั้งอาจเกิดการลอกเลียนแบบจากภาพข่าวที่ได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ภาพข่าวในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ซึ่งปรากฏให้เห็นแทบทุกวันไม่ว่าจะเป็นภาพการถูกข่มขืนที่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมักตกเป็นเหยื่อของช่างภาพ โดยถ่ายทอดภาพที่หมิ่นเหม่ต่อการเหยียดหยามไร้ซึ่งความมีมนุษยธรรม ภาพถ่ายนําเสนอให้เห็นใบหน้าและร่างกายของผู้เคราะห์ร้ายที่อยู่ในสภาพไม่เหมาะสมและไม่น่าดู หรือภาพการฆ่าตัวตายที่แสดงให้เห็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาทางจริยธรรมที่ปรากฏให้เห็นกันบ่อยๆ

จากการศึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของช่างภาพวารสารศาสตร์ พบว่าข่าวที่มีคุณค่ามักเป็นข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้นจึงเกิดการละเมิดขึ้นกับผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิอยู่บ่อยครั้ง เป็นปัญหาในแง่การตัดสินใจทางกฎหมายอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ทําให้ช่างภาพวารสารศาสตร์ต้องมีความระมัดระวังในการเสาะแสวงหาข่าวมากขึ้น (Michele, 1984)  ภาพข่าวจะออกมาในลักษณะขัดต่อจริยธรรมมากน้อยเพียงใดนั้น จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกถ่ายภาพของช่างภาพเป็นสําคัญ มีการกล่าวถึงความสําคัญเรื่องนี้ว่า “ช่างภาพวารสารศาสตร์มีกล้องถ่ายภาพที่สามารถสร้างการโกหกได้อย่างมากกมาย สามารถหลอกคนอื่นๆ ได้ด้วยการเลือกบางส่วนของภาพเพื่อนําเสนอ สิ่งทั้งหมดที่ผู้ชมได้มองเห็นภาพก็คือ สิ่งที่ช่างภาพต้องการให้เห็น ภาพถ่าย คือ ความลับของความลับไม่มีอะไรมากกว่าที่จะบอกผู้รับสาร ขึ้นอยู่กับการเลือกตัดสินใจของช่างภาพวารสารศาสตร์นั่นเอง” (Black, Steele & Bamey, 1995)

สื่อมวลชนแห่งสังคมเสรี จะต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส มีหน้าที่ที่จะกระจายความรู้ไปทุกหนทุกแห่ง จริยธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพ ช่างภาพวารสารศาสตร์คงไม่แตกต่างไปจากอาชีพสื่อสารมวลชนอื่น อันได้แก่ ความรับผิดชอบ และความรับผิดชอบนั้นยังสัมพันธ์กับสิ่งที่สาธารณชนจะต้องรับรู้และความสามารถของสื่อมวลชนที่จะรายงาน  แนวคิดการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม  มุมมองที่มีต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกันไป หากแต่การตัดสินใจนั้นควรอยู่บนพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการตัดสินใจนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง  การตัดสินใจในอาชีพช่างภาพวารสารศาสตร์เป็นการตัดสินใจที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความรวดเร็วและทําในระยะเวลาสั้น เป็นการตัดสินใจแบบวันต่อวัน เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลา มีการแข่งขันสูงในเรื่องของความรวดเร็วและความทันต่อเหตุการณ์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่างานหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แม้ในสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะออกมาในรูปของข่าวหรือภาพข่าวก็ตามค่อนข้างน่าเป็นห่วงถึงการตัดสินใจนั้นอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้อ่าน เนื่องจากขาดความพิถีพิถันหรือพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน การตัดสินใจโดยใช้ความจริงและความรอบครอบจําเป็นต้องมีกรอบความคิดที่มีเหตุผลอันเหมาะสม เป็นบรรทัดฐาน เป็นการตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีจริยธรรม  เป็นหลักที่ยึดถือปฏิบัติ การตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม หมายถึง การตัดสินใจที่ชอบด้วยเหตุผล และด้วยมโนสํานึกที่แน่วแน่ว่า สิ่งที่ตนปฏิบัติลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกที่ชอบ การตัดสินใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการ “คิด” ที่มีลักษณะของการดําเนินกิจกรรมไปอย่างโปร่งใสและต่อเนื่องโดยอยู่บนกรอบของการคิดอย่างมีเหตุผล เป็นกระบวนการที่สําคัญยิ่งเพราะแสดงคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้เห็น

ในการตัดสินใจทางวารสารศาสตร์มีประเด็นมากมายที่จะเข้ามาเป็นส่วนประกอบ อย่างในกรณีของ ช่างภาพวารสารศาสตร์ที่จะต้องมีการตัดสินใจในการถ่ายภาพข่าวเพื่อนําส่งกองบรรณาธิการ การตัดสินใจของ ช่างภาพนั้นอาจไม่เป็นที่พึงพอใจของคนบางคน กรอบความคิดที่ทําให้ช่างภาพวารสารศาสตร์ตัดสินใจอย่างมีระบบ มีจริยธรรม เห็นจะเป็นความคิดเชิงศีลธรรมที่มีระบบในตัวมันเอง หมายความว่าก่อนที่ช่างภาพจะตัดสินใจถ่ายภาพข่าวใดข่าวหนึ่ง ย่อมมีระบบการตัดสินใจของตัวเองที่อาศัยตัวแปรต่างๆ ทั้งในด้านค่านิยมและความรู้สึกที่มีต่อสังคม การตัดสินใจทางจริยธรรมตามแนวคิดนี้มีเกณฑ์สําคัญที่ใช้เป็นหลักตัดสินใจอยู่  3 ประการ อันได้แก่ (สุกัญญา  สุดบรรทัด และคณะ, 2536)

1. ค่านิยม (Value) ค่านิยมทางสังคมวิทยา หมายถึง ความเชื่อ การยึดถือ ความผูกพันต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสิ่งที่ปัจเจก บุคคลแทนค่าในแต่ละเรื่องราวแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • Professional Value เป็นค่านิยมที่ผูกพันกับวิชาชีพยึดถือปฏิบัติตามหน้าที่ ให้ความสําคัญ กับสิ่งใหม่ ความฉับพลัน ทันต่อเหตุการณ์
  • Aesthetic Value เป็นค่านิยมที่ผูกพันกับความงดงาม ความละเอียดอ่อนทางจิตใจ ความมี รสนิยมอันดีงาม เสมือนกับงานที่ทําเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
  • Logical Value เป็นค่านิยมที่ผูกพันกับการใช้เหตุผล ได้แก่ ความคล้องจองกับการใช้เหตุผล ไม่มีความขัดแย้งกันเองในการใช้เหตุผลนั้น
  • Social Cultural Value เป็นค่านิยมที่ผูกพันกับสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างๆ ของสังคม
  • Moral Value เป็นค่านิยมที่ผูกพันกับความยึดถือหรือยึดมั่นในเชิงศีลธรรม ความถูกต้องและ ไม่ถูกต้องซึ่งสังคมนั้นยอมรับได้

2. หลักการทางจริยธรรมเชิงวารสารศาสตร์ (Ethical Principle) หมายถึง หลักความคิดที่จะช่วยให้ช่างภาพวารสารศาสตร์สามารถนําไปประกอบการตัดสินใจ โดยมีทิศทางให้เลือก 2 ทิศทาง ทิศทางแรก เน้นวิธีการ (Means) ซึ่งเป็นวิธีที่เน้นหน้าที่ในการสะท้อนเหตุการณ์ ได้แก่ การมองเหตุการณ์แล้วหาวิธีจัดการกับเหตุการณ์นั้น เป็นวิธีการที่ดี เป็นธรรม เน้นสิ่งสําคัญมากกว่าผลที่จะตามมา และ ทิศทางที่สอง คือ เน้นที่เป้าหมาย (Ends) เป็นทิศทางที่เน้นผลกระทบต่อประชาชน มีความเป็นอัตตวิสัยมากกว่า คือ จะมองไปที่ผลที่จะเกิดขึ้น เป็นการคาดคะเนด้วยตนเอง เพราะผลอาจจะไม่เป็นอย่างที่ต้องการได้ โดยทั่วไปวิชาชีพวารสารศาสตร์จะยึด “วิธีการ” มากกว่า “เป้าหมาย” คือ คํานึงถึงหน้าที่มากกว่าผลกระทบ ทั้งในแง่มุมของการคัดเลือกหรือการนําเสนอข่าวหรือภาพข่าว โดยถือว่าจริยธรรมนั้นวัดกันที่ผู้ส่งสารมิใช่ผลต่อผู้รับสาร แต่อาจมีบางกลุ่มที่เชื่อในการคํานึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้รับสาร  หลักการทางจริยธรรมเชิงวารสารศาสตร์จึงสามารถแบ่งตามปรัชญาที่เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อมวลชนได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • หลักการนําเสนอความจริง (Truth-Telling Principle) อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาทางหน้าที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการกระทําหรือการตัดสินใจนั้น การตัดสินใจจึงเป็นทิศทางแรก คือ เน้นวิธีการ
  • หลักการคํานึงถึงผลกระทบ (Consequence Principle) อยู่บนพื้นฐานของปรัชญาแบบเหตุวิทยาหรืออันตวิทยาซึ่งเน้นเหตุและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นและสังคม การตัดสินใจจึงเป็นทิศทางที่สอง คือ เน้นเป้าหมาย

3. การเลือกภักดี (Loyalties) การตัดสินใจเชิงจริยธรรมตามแนวคิดดังกล่าวต้องระบุลงไปด้วยว่า ตัดสินใจกระทําเพื่อใคร เลือกที่จะภักดีต่อใคร การเลือกภักดี แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • การเลือกภักดีต่อตัวเอง (Self) หมายถึง การตัดสินใจโดยคํานึงถึงตัวเองเป็นหลัก
  • การเลือกภักดีต่อสมาคมวิชาชีพ (Association) หมายถึง การตัดสินใจโดยคํานึงถึงหลักการ ทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่กําหนดไว้โดยสมาคมวิชาชีพทางหนังสือพิมพ์
  • การเลือกภักดีต่อองค์กรหนังสือพิมพ์ที่สังกัด (Organization) หมายถึง การตัดสินใจโดย คํานึงถึงองค์กรหนังสือพิมพ์ที่ตนสังกัดเป็นหลัก
  • การเลือกภักดีต่อผู้ตกเป็นข่าว (News Source or News Victim) หมายถึง การตัดสินใจ โดยคํานึงถึงผู้แจ้งข่าวสาร ผู้ที่ทําให้เกิดข่าวนั้นขึ้น หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในการเสนอข่าวเป็นหลัก
  • การเลือกภักดีต่อผู้อ่านหรือประชาชน (Readers or People) หมายถึง การตัดสินใจโดย คํานึงถึงผู้อ่านและประชาชนที่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก (สุกัญญา สุดบรรทัด, 2540)

จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสาธารณะยังถือว่าเป็นคุณค่าหลักของการสื่อสารมวลชนระดับอาชีพ อย่างไรก็ตามภาพถ่ายเชิงวารสารศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นภาพข่าว ภาพประกอบสารคดีได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของระบบดิจิทัลในช่วงปลายทศวรรษ 1980 การจัดการกับภาพเชิงวารสารศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพข่าววิดีโอ(Video Journalism) จากเดิมส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของช่างภาพมืออาชีพได้กลายมาเป็นภาพและคลิปที่ถูกเผยแพร่โดยประชาชนทั่วไปผ่านสื่อใหม่ทางโซเชียลมีเดีย จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาพิจารณาถึงความเป็นช่างภาพวารสารศาสตร์มืออาชีพที่กำลังถูกท้าทายและกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสภาพแวดล้อมของการปฏิบัติงานในยุคที่ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป (Deuze, 2005)

ค่านิยมที่สำคัญมักเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ของการสื่อสารมวลชนในสังคมแบบประชาธิปไตยที่สื่อมวลชนทำหน้าที่ให้บริการแก่สาธรณะชนและทำตามพันธะสัญญาของความเป็นกลาง ความยุติธรรม ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือต่อผู้รับข่าวสาร  แต่ในขณะที่พฤติกรรมการนำเสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมผ่านทางสื่อใหม่ซึ่งถูกนำเสนอโดยบุคคลทั่วไป เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ฯลฯ (Gunning, 2004) ชี้ให้เห็นว่ามีภาพที่ไม่ผ่านกระบวนตรวจสอบเชิงบรรณาธิการ มีแรงจูงใจในการปลอมแปลงถูกนำเสนอต่อสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ภาพถ่ายเชิงวารสารศาสตร์จึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับงานข่าวที่ต้องการหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นกลางและความถูกต้องน่าเชื่อเถือ

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนหลายท่านได้ชี้ให้เห็นว่าบรรทัดฐานงานวารสารศาสตร์ยังมีความล้าสมัยไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของสื่อในยุคดิจิทัล (Boudana, 2011; Muñoz-Torres, 2012; Wien, 2005) ดังนั้นช่างภาพวารสารศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติใหม่ หนึ่งในทางออกที่แนะนำ คือ การแก้ไขภาพดิจิทัล วิดีโอข่าวออนไลน์ และการตรวจสอบถ่ายภาพจากสื่อสังคมออนไลน์รูปแบบต่างๆ (Pietilä, 2012)

นอกจากนั้นแล้วนักวิชากลุ่มดังกล่าวยังถกเถียงกันว่า ปัจจุบันงานสื่อสารมวลชนเป็นงานของมืออาชีพหรือเป็นงานของมือสมัครเล่นที่ใครก็สามารถเป็นสื่อสารมวลชนได้  ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของวิชาชีพสื่อสารมวลชนแบบเดิม ๆ (Deuze, 2005; Singer, 2007) อาชีพสื่อสารมวลชนลักษณะเฉพาะ เช่น มีความมุ่งมั่นในการบริการต่อสาธารณะชน อยู่บนหลักการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ดังนั้นความคิดเห็นจำนวนมากมองว่างานสื่อสารมวลชนมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเป็นมือสมัครเล่นในภาคสนามข่าว (Nygren, Degtereva & Pavlikova, 2010)

อัตลักษณ์ทางวิชาชีพช่างภาพวารสารศาสตร์ จึงอยู่ที่อุดมการณ์ของการให้บริการสาธารณะ, จริยธรรม, ความเป็นกลาง, ความเป็นอิสระและความฉับไว มีส่วนร่วมในการ “ทำเพื่อสาธารณะ” เป็นตัวแทนตรวจสอบความถูกต้อง สำหรับช่างภาพวารสารศาสตร์แล้ว ยังหมายถึงการนำเสนอภาพข่าวพยานที่ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม ให้ความถูกต้องสำหรับผู้รับข่าวสาร  นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานใหม่ๆ เช่น การแก้ไขภาพดิจิทัล การตีพิมพ์ภาพ และมีหลักวิธีเลือกใช้ภาพข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์ อย่างรอบคอบอีกด้วย ในทางกลับกันบางคนเห็นว่าคุณภาพความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของภาพถ่ายเชิงวารสารศาสตร์ไม่มีความแตกต่างทางความคิดในการให้บริการสาธารณะ เนื่องจากเป็นความเป็นมืออาชีพของช่างภาพวารสารศาสตร์เชื่อว่าพวกเขากำลังทำงานอย่างมีสติเพื่อมีส่วนร่วมกับผู้อ่าน ในขณะที่มือสมัครเล่นเป็นเพียงการบันทึกเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นแล้วนำเสนอผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบ

……………………………………………………….

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

สุกัญญา  สุดบรรทัด และคณะ.  (2536).  กรณีศึกษาเพื่อการเรียนการสอนสงเสริมคุณธรรม : จริยธรรม  สื่อมวลชนไทย.  คณะนิเทศศาสตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

สุกัญญา สุดบรรทัด. (2540). จิตวิญาณหนังสือพิมพ์  เอกสารประกอบการสอน วิชาจริยธรรมวิชาชีพ

หนังสือพิมพ์ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์. กรงุเทพฯ: จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ภาษาอังกฤษ

 

Black, J., Steele, B., & Barney, R. (1995).  Doing Ethics in Journalism. Massachusetts A Division

of  Paramount Publishing.

Boudana, S. (2011). A definition of journalistic objectivity as a performance. Media, Culture & Society, 33(3): 385-398.

Deuze, M. (2005). What is journalism? Professional identity and ideology of journalists

reconsidered. Retrieved on December 10, 2018, from https://journals.sagepub.com/

doi/abs/10.1177/1464884905056815

Fred S. Parrish (2002) Photojournalism: An Introduction. Wadsworth/Thomson Learning, 2

Gunning, T. (2004). What’s the Point of an Index? Or, Faking Photographs. Nordicom Review,

1-2: 39-49.

Michael, D. (1984). The problem of trespass for photojournalism in journalism. Journalism & Mass

Communication Quarterly, spring 44-64.

Muñoz-Torres, J. (2012) Truth and objectivity in journalism. Anatomy of an endless

misunderstanding. Journalism Studies, 13(4), 566-582..

Nygren, G., Degtereva, E., & Pavlikova, M. (2010). Tomorrow’s Journalists. Trends in the

development of the journalistic profession as seen by Swedish and Russian students. Nordicom Review, 31(2): 113-133.

Pietilä, K. (2012). Professional journalism: An intermediary social practice. In J. Herkman,T.

Hujanen & P. Oinonen (eds.) Intermediality and media change. Tampere: Tampere University Press.

Wien, C. (2005). Defining objectivity within journalism. An overview. Nordicom Review, 2/2005:

3-15.

Singer, J.B. (2007). Contested autonomy: Professional and popular claims on journalistic

norms. Journalism Studies, 8(1): 79-95.