การพาดหัวข่าวทำให้คนเข้าใจผิดเพียงเพราะข่าวต้องน่าสนใจ ?

การพาดหัวข่าวทำให้คนเข้าใจผิดเพียงเพราะข่าวต้องน่าสนใจ ?

นายพงศ์กวิน สุขเกษม

นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

เคยไหมที่ซื้อหนังสือมาเพียงเพราะหน้าปกสวย หรือเพียงเพราะชอบชื่อหนังสือเล่มนั้น แต่เมื่อกลับมาเปิดอ่านแล้วพบว่า เนื้อหาข้างในไม่ได้น่าสนใจ หรือคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นเท่ากับว่า การตั้งชื่อหนังสือหรือการออกแบบปกนั้น ประสบความสำเร็จในการจูงใจคนให้หยิบฉวย และยอมจับจ่ายซื้อหามาเป็นเจ้าของ

กรณีข้างต้นคงเปรียบได้กับการพาดหัวข่าวเอามันส์​เรียกความสนใจของคนอ่านได้ หลายครั้งที่เราให้ความสนใจในข่าวๆ หนึ่งอย่างมาก ทั้งที่ตอนหลังพบว่าเนื้อหาไม่ได้มีอะไรเลย เป็นการพาดหัวเกินจริง เล่นใหญ่ไฟกระพริบเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่นข่าว  “ห้องน้ำ BTS อยู่ที่ปาก” ภาษาที่ใช้พาดหัวนั้นสะดุดใจมาก กรณีแบบนี้เรียกความสนใจจากผู้รับสารได้แน่นอน เมื่อลงรายละเอียดในเนื้อหาของข่าวนี้คือ เป็นเรื่องของห้องน้ำสาธารณะบนสถานีรถไฟฟ้ามีไว้ให้บริการเพียงแค่คุณสอบถามอย่างนี้เป็นต้น

 

ในกรณีนี้นักนิเทศศาสตร์อย่าง อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ มองอีกมุมโดยเขาได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าบีทีเอสควรบอกข้อมูลที่จำเป็นอย่างเรื่องห้องน้ำให้ผู้ใช้บริการทราบไม่ควรเป็นหน้าที่ของผู้ใช้บริการที่จะต้องไปถามหาว่าห้องน้ำอยู่ที่ไหน

 

นอกจากนี้ยังมีกรณี คุณยายขายข้าวหมาก ถูกจับปรับหลายหมื่นบาท เป็นพาดหัวข่าวที่เรียกความสงสารจากคนอ่านที่ผ่านไปผ่านมาโดยยังไม่รู้รายละเอียดได้อย่างดี มีสื่อหนึ่งพาดหัวว่า “ยายทรุดร่ำไห้โฮ! โดนจับปรับ 5 หมื่นทำข้าวหมากไปขายห่อละ 5 บาท”

แต่เมื่อเข้าไปอ่านเนื้อหาของข่าวชิ้นนั้น จะพบรายละเอียดว่า คุณยายไม่ได้โดนจับ เพราะขายข้าวหมากห่อละ 5 บาท แต่การถูกจับดำเนินคดีนั้นเพราะคุณยายแยกน้ำแยกกากของข้าวหมากออกจากกัน นั่นทำให้เข้าข่ายเป็นการขายเหล้าเถื่อนซึ่งผิดกฎหมายและมีการปรับไปเพียงหนึ่งหมื่นบาท แต่จากการพาดหัวข่าว เหมือนจงใจให้คนอ่านในแวบแรกเข้าใจผิดถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่

จากที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือแทบจะรายวัน การพาดหัวข่าวที่ดูจะเกินจริงเล่นใหญ่ไม่สนใจใครนั้น พบได้ถี่บ่อยยิ่งทุกวันนี้มีพื้นที่สื่อออนไลน์เพิ่มเข้ามา ยิ่งทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารมีเสรี มีความหลากหลาย ไม่สามารถดูแลควบคุมได้ทั่วถึง

แน่นอนว่าเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆในวันที่โลกมีพื้นที่เปิดกว้างมากขึ้น การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นใดๆ ในสังคมก็มีพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย เราจึงพบการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการพาดหัว เช่น “เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน” ได้ออกมาวิจารณ์ถึงการพาดหัวและเนื้อหาของข่าวว่าเหมาะสมหรือไม่กับการใช้ภาษาที่รุนแรงในการพาดหัวและยังรวมไปถึงการใช้ภาษาที่เหยียดในเรื่องรูปลักษณ์ทางกายภาพของผู้ที่ตกเป็นข่าวการกระทำแบบนี้ของสื่ออาจส่งผลให้การเหยียดกันกลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา”  นี้คือตัวอย่างของคำวิจารณ์จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน  “การใช้คำเหยียดในเนื้อข่าว ที่เข้าใจว่าทำให้คนสนใจข่าวมากขึ้นกลับทำให้คนหมดศรัทธาในความเป็นผู้สื่อข่าวของเรามากขึ้น เด็กๆ เติบโตกับการถูกสร้างเรื่องลวงตาจากสื่อรอบตัวมากมาย ทั้งในหนัง ละคร นิทาน ฯลฯ ก็ได้แต่หวังว่าจะมีสื่อดีๆ ที่ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดนี้บ้างก็คงดีเพราะสื่อที่ดีจะช่วยสังคมได้จริง”

ในวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนมีสื่อในมือของตนเอง ทั้งหมดนี้ทำให้พฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ข้อมูลข่าวสารที่ผู้รับต้องการนั้นต้องรวดเร็ว ส่งผลให้สื่อหลักอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ฯลฯ ก็ต้องแข่งกับสื่อออนไลน์ที่มีความทันสมัยและมีความรวดเร็วกว่า สิ่งที่ตามมาก็คือ การคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องนั้นกลับลดลง การตรวจสอบน้อยลง ไม่ละเอียดหรือแม่นยำเหมือนก่อน ดังนั้นถึงแม้สิ่งที่ผู้รับสารต้องการคือ ความรวดเร็วของข่าว แต่ในเวลาเดียวกันข่าวก็ต้องมีความถูกต้องน่าเชื่อถือด้วย

ในวันที่ใครๆ ก็เป็นสื่อเองได้  ผู้เขียนขอยกความเห็นของสื่อมวลชนอย่าง คุณอภิรักษ์ หาญพิชิต-วณิชย์ อีกครั้งจากเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ระบุว่า ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเพราะในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ คนจึงสามารถเลือกได้เช่นกันว่าจะบริโภคข่าวสารจากช่องทางไหน แต่ในด้านของตัวผู้ส่งสารเองต้องคำนึงถึงหลักหลายอย่างในการที่จะส่งสารอะไรออกไปให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และยังต้องอยู่ในกรอบที่เรียกว่า จรรยาบรรณสื่ออีกด้วย ดังนั้นการที่สื่อจะทำอะไรจะเผยแพร่ข่าวสารอะไรออกไปจะต้องมั่นใจในความแม่นยำ และสามารถตรวจสอบได้ มีความระมัดระวังหากเรื่องนั้นจะมีผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธศาสตร์สื่อสารองค์กร ได้ระบุถึงลักษณะการพาดหัวเรื่องที่ดีและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จคือ เขียนในลักษณะกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านโดยบอกเพียงบางส่วนของเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจ เขียนให้ตอบสนองด้านอารมณ์ความรู้สึก หรือเขียนในลักษณะท้าทายความเชื่อ และยังมีการเขียนแบบอิงกระแสเหตุการณ์ที่ทันสมัยในขณะนั้น โดยอาจเขียนให้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือสิ่งที่ประชานิยม รวมถึงการเขียนในลักษณะบอกถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ แต่ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงถึงหัวใจของการพาดหัวคือ ต้องไม่สร้างความเข้าใจผิด และต้องอยู่ในจรรยาบรรณของสื่อที่ดี

อย่างไรก็ตามในฐานะนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ยังคงมีความเชื่อว่า การรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือ และมีคุณธรรมอยู่ใต้กรอบของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ จะยังคงเป็นที่ต้องการไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็ตาม และสื่อดีจะยังอยู่ได้และได้รับการยอมรับตลอดไป

 

อ้างอิง

พจน์ ใจชาญสุขกิจ. (ม.ป.ป.). 10 ลักษณะการพาดหัวที่ประสบความสำเร็จ. วันที่ค้นข้อมูล 22 กันยายน 2561

จาก http://www.drphot.com/talk/archives/2168

เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน.(2561). วันที่ค้นข้อมูล 22 กันยายน. จาก https://www.facebook.com/takekidswithus/

อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์.( 2561). วันที่ค้นข้อมูล 22 กันยายน จากhttps://www.facebook.com/apirakharn

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ