“เพจ นายกฯ” เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือสาธารณะ

“เพจ นายกฯ” เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือสาธารณะ

เรียบเรียงโดยบุปผา  บุญสมสุข และปฏินันท์  สันติเมธนีดล

อาจารย์ประจำวิชาคอนเทนต์และสื่อดิจิทัลวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การประกาศเปิดช่องทางการสื่อสารการเมืองครั้งใหม่ผ่านช่องทาง Facebook, Twitter และ Instagram ส่วนตัวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่มีนัยยะสำคัญ (Strategic Move) แม้จะเคยมีนักการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีไทยหลายคนเคยทำมาก่อนแล้ว แต่บริบททางการเมืองในห้วงเวลานี้มีความแตกต่างที่น่าสนใจ ซึ่งในศัพท์ทางวิชาการเราเรียกกระบวนการสื่อสารรูปแบบนี้ว่า “การสื่อสารทางการเมือง”

          การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) เป็นศาสตร์ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เน้นในเรื่องวาทวิทยา (Rhetoric)  หรือที่เราคุ้นชินกันในรูปแบบการโต้วาที (Debate) ซึ่งเป็นการโน้มน้าว ชักจูง ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางการเมือง โดยรูปแบบของการสื่อสารทางการเมืองเป็นแนวทางการศึกษาที่ตระหนักถึงการสื่อสาร ในฐานะเครื่องมือกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง โดยอาศัยการสื่อสารสร้างแนวทางการยอมรับในกลุ่มประชาชนผู้รับสารเพื่อสร้างทัศนคติทางการเมือง สร้างความสนใจในการเมือง  สร้างความรู้และความเข้าใจทางการเมือง  และสร้างบทบาททางการเมือง

การโต้วาที (Debate) เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่นักการเมืองนำมาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้ฟังผู้สมัครแต่ละคน นำเสนอนโยบาย แสดงความสามารถ ไหวพริบ ตอบข้อซักถาม พร้อมๆ กันบนเวทีเดียวกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบแล้วเลือกผู้สมัครที่โดนใจนั่นเอง ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องแสดงความสามารถบนเวทีโดยใช้เหตุผลในการโต้แย้งกับคู่แข่งขัน กล้าที่จะพูด มีความคิดที่พร้อมจะนำเสนอ ยินดีต่อการถูกซักถาม และบ่อยครั้งที่คะแนนความนิยมจะพลิกผันได้ทันที หากสามารถสิ้นสุดการโต้วาทีด้วยผลงานที่ประทับใจผู้ฟัง

ในส่วนของการใช้สื่อของนักการเมือง เพื่อเข้าถึงมวลชนด้วยความรวดเร็ว และสัมฤทธิผลมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น ในอดีตที่ผ่านมาอาจมีข้อจำกัด สื่อมวลชนถือเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ เป็นสถาบันที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ และองค์กรธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น องค์กรสื่อมวลชนจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ กับการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ ถ้านักการเมืองต้องการใช้สื่อมวลชนในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต้องซื้อพื้นที่ ซื้อเวลาสื่อ ซึ่งมีอยู่จำนวนจำกัด ทำให้นักการเมืองจำนวนมากพยายามเข้าไปมีบทบาทในองค์กรธุรกิจสื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ปัจจุบันข้อจำกัดเรื่องต้นทุนในการผลิต ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และเวลา ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปด้วยพลังอำนาจของเทคโนโลยีการสื่อสาร ประชาชนรวมถึงนักการเมืองสามารถผลิต และเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดเวลา ตรงประเด็น ตรงใจผู้บริโภคสื่อ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้สื่อของนักการเมือง คือ เนื้อหาที่นำเสนอนั้นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนตน ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันสื่อ มีวิจารณญาณในการแยกแยะถูกผิด ดีชั่ว ควรไม่ควร ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม

การเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สามารถนำการสื่อสารทางการเมืองมาใช้ ส่งผลให้นักการเมืองอเมริกันหลายๆ คน ประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 1950 พลังอำนาจของสื่อโทรทัศน์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่ประชาชนผู้บริโภคสื่อชาวอเมริกัน ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) จากพรรครีพับลิกัน ได้ใช้สื่อโทรทัศน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เขาได้รับชัยชนะอย่างงดงาม สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

เรือเอก จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เจเอฟเคจอห์น เอฟเคนเนดี จากพรรคเดโมแครต ได้ใช้การโต้วาที (Political Debate) แสดงวิสัยทัศน์แข่งขันกับ        ริชาร์ดมิลเฮาส์ นิกสัน (Richard Milhous Nixon) จากพรรคริพับลิกัน และมีการถ่ายทอดสดทางวิทยุและสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ ภาพลักษณ์ วาทศิลป์ น้ำเสียง และบุคลิกภาพอันโดดเด่นของเคนเนดี ประทับใจคนอเมริกันกว่าร้อยล้านคน ส่งผลทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีขวัญใจชาวอเมริกันได้ในที่สุด

โดนัล จอห์น ทรัมป์ (Donald John Trump) ได้โต้วาทีประชันวิสัยทัศน์กับฮิลลารี คลินตัน(Hillary Clinton) ที่มหาวิทยาลัยฮอฟตรา ในเมืองลอง ไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก เป็นเวลา 90 นาที สร้างประวัติศาสตร์ มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์มากถึง 100 ล้านคน ซึ่งท้ายที่สุด โดนัล จอห์น ทรัมป์ ก็สามารถคว้าชัยชนะได้อย่างพลิกความคาดหมาย

          ล่าสุดการโต้วาทีประชันวิสัยทัศน์ของ 3 ผู้ท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนที่ 8 ในหัวข้อ“ดีเบตประชาธิปัตย์ 61 คนไทยจะได้อะไร” การจัดการโต้วาที (Debate)  ครั้งนี้ น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกพรรค และเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกพรรคจะได้ฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคน

          การสื่อสารทางการเมืองในโลกประชาธิปไตยการโต้วาที (Debate) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เปรียบเทียบในเชิงเหตุและผล มักเป็นที่นิยมในหลายประเทศที่มีระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภา ระบบกึ่งประธานาธิบดี รวมทั้งประเทศไทย สมศักดิ์ เธียรจรูญกุล เชื่อว่ากิจกรรมการดีเบตเมื่อนำมาใช้ในทางการเมือง หัวข้อเรื่องมักเกี่ยวเนื่องกับประโยชน์สาธารณะ นโยบายของพรรคการเมือง การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ของประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมดีเบตต้องแสดงความคิดเห็น ปฏิภาณ ไหวพริบ ทักษะทั้งด้านการเจรจา ด้านการบริหารจัดการ ด้านความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การดีเบตในทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องชวนทะเลาะ หรือเรื่องชวนหัวเพื่อเรียกเสียงฮา

ส่วนประเด็นการใช้สื่อมวลชนและหรือสื่อสังคมออนไลน์ของนักการเมืองในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งกำลังจะมาถึง การตัดสินใจเปิดช่องทางการสื่อสารทางการเมืองของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างไรในฐานะที่นักการเมืองเป็นผู้ส่งสาร หรือผู้ผลิตสาร ไปยังมวลชน นักการเมืองควรปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีจริยธรรมในการสื่อสารทางการเมือง

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,165 คน ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม 2561 เกี่ยวกับการเปิดตัวแฟนเพจเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชน ทั้งเว็บไซต์ Facebook Twitter Instagram  ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 42.75 เป็นการหยั่งเสียง วัดความนิยม หวังผลทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 24.67 มีทั้งกระแสตอบรับที่ดี และคัดค้าน และอันดับสาม ร้อยละ 23.47 เป็นสิทธิของนายกฯ  ทุกคนสามารถมีได้ในโลกยุคออนไลน์

ส่วนประเด็นการเปิด “เพจ นายกฯ” เป็นการหาเสียงหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 42.92 เป็นการหาเสียง เพราะ ใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดีเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานของนายกฯ ให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อสร้างคะแนนนิยม ฯลฯ รองลงมา คือ ร้อยละ 40.17ไม่แน่ใจ เพราะ ขึ้นอยู่กับเจตนาและความตั้งใจในการเปิดเพจของตัวท่าน มีหลายกระแสที่โยงไปเรื่องการเมือง ฯลฯ และอันดับ 3 ร้อยละ 16.91 ไม่เป็นการหาเสียง เพราะ นายกฯ ยังไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาจเพียงต้องการปรับปรุงการทำงานและสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ฯลฯ

สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเปิด “เพจนายกฯ” ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 51.60สามารถติดต่อแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว รองลงมา คือ ร้อยละ 30.55 มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนวคิด และความต้องการของประชาชน และอันดับ 3 ร้อยละ 23.01 รับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหว เห็นการทำงานของนายก อันดับ 4 ร้อยละ 17.03 น่าจะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น คนที่เล่นโซเชียล คนที่สนใจและติดตามข่าวนายกฯ

อีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรวางตัวอย่างไร? ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ร้อยละ 39.45 ควรวางตัวเป็นกลาง ยุติธรรม ใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม รองลงมา คือ ร้อยละ 34.12 ควรตั้งใจทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จนกว่าจะหมดวาระ และอันดับ 3 ร้อยละ 20.90เดินหน้าตามโรดแมป สานต่องานตามนโยบายที่วางไว้ อันดับ 4 ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ ไม่ดุ ไม่หงุดหงิด รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย  อันดับ 5 สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแล จัดการเรื่องการเลือกตั้งให้เรียบร้อย

การแสดงความคิดความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในทางการเมือง ว่าดี ไม่ดี ควรทำ ไม่ควรทำ เหมาะสม ไม่เหมาะสมนั้น ถือเป็นการคิด การตัดสินใจในเชิงศีลธรรม จริยธรรมของประชาชน  ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบของบุคคล  ซึ่งวิธีการคิดและการตัดสินใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  ดังนั้น กระบวนการคิดทางศีลธรรม และจริยธรรม จึงไม่มีวันจบสิ้น เนื่องจากจริยธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเสาะแสวงหา  ผ่านการโต้เถียง เพื่อหาข้อยุติตามควรแก่กรณี การคิดด้วยเหตุผล และการโต้แย้งแบบเสรี เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างระหว่างหลักจริยธรรมกับกฎที่ถูกบังคับใช้แบบตายตัว

ดังนั้นถ้าจะวิเคราะห์กระบวนการคิดการตัดสินใจเชิงจริยธรรมของประชาชน ผ่าน “สวนดุสิตโพล” กรณี “เพจ นายกฯ” ที่ได้เปิดช่องทางสื่อสารกับประชาชนทั้ง เว็บไซต์ Facebook Twitter Instagram ว่ามีจริยธรรมหรือไม่ อย่างไรนั้น  พบว่า การเปิด “เพจ นายกฯ” มีทั้งที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดจริยธรรม และไม่ผิดจริยธรรม

กรณีหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดจริยธรรม คือ จากผลการสำรวจที่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า “เพจ นายกฯ” เป็นการหยั่งเสียง วัดความนิยม หวังผลทางการเมืองและเป็นการหาเสียง เพราะ ใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ซึ่งเพจ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี เป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานของนายกฯ ให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อสร้างคะแนนนิยมจากความคิดของประชาชนที่ว่าวัตถุประสงค์ของการทำเพจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง บ่งชี้ได้ว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดจริยธรรม

ในมุมมองการมีจริยธรรมของ“เพจ นายกฯ” เมื่อถามถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเพจ ก็พบว่า ประชาชนได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น สามารถติดต่อแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนวคิด และความต้องการของประชาชน  สามารถรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการทำงานของนายก  เป็นต้น  ความคิดดังกล่าวบ่งชี้ว่า “เพจ นายกฯ” ในอีกด้านหนึ่งก็มีเป็นประโยชน์กับประชาชน

นอกจากนี้ประชาชนยังได้เสนอแนะการวางตัวในช่วงใกล้เลือกตั้ง ให้กับนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า ควรวางตัวเป็นกลาง ยุติธรรม ใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ตั้งใจทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จนกว่าจะหมดวาระเดินหน้าตามโรดแมป สานต่องานตามนโยบายที่วางไว้ ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ ไม่ดุ ไม่หงุดหงิด รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแล จัดการเรื่องการเลือกตั้งให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้มีจริยธรรม

 

แหล่งอ้างอิง

กฤษณ์  ทองเลิศ. (2558). เรื่อง หลักจริยธรรมสื่อ ทางเลือกที่ไม่ง่าย. ใน จริยธรรมสื่อ Media Ethics หลักแนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา. จัดทำโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์), หน้า 81-82.

สุกัญญา  สุดบรรทัด. (2558). เรื่อง หลักจริยธรรมของสื่อมวลชน. ใน จริยธรรมสื่อ Media Ethics หลักแนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษา. จัดทำโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์), หน้า 8-10.

ข่าว “’ดุสิตโพล’ เผย ปชช.มอง เพจนายกฯ หวังผลการเมือง-หาเสียง ใกล้เลือกตั้งในเว็บไซด์ www.thairath.co.th, วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บทความ “แนวคิดและทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง” โดย จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย. ในเว็บไซด์ https://mgronline.com/south/detail/ , 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง “ดีเบต” โดยสมศักดิ์ เธียรจรูญกุล. ในเว็บไซด์http://oknation.nationtv.tv/blog/tienja, วันศุกร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2554

ดาวน์โหลดไฟล์บทความ