แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต

แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต

สืบเนื่องจากการปฏิบัติงานและการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤตของสื่อมวลชนในระยะที่ผ่านมา ได้แก่ เหตุการณ์ช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่ม จ.ภูเก็ต ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ หรือเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ตลอดจนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ ซึ่งสื่อมวลชนได้รับการวิพากษ์จากสังคมและตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ การนำเสนอข่าวที่รวดเร็วโดยขาดการตรวจสอบ การนำเสนอประเด็นเปราะบาง การกีดขวางการปฏิบัติงานและเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ หรือละเมิดกฎหมายโดยขาดความตระหนักรู้ในสิ่งที่กฎหมายห้าม แม้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะมีหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือ ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม (Joint Information Center: JIC) ซึ่งทำหน้าที่ประสานข้อมูลเหตุการณ์กับหน่วยงานต่างๆ ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน สื่อมวลชน และปฏิบัติการทางจิตวิทยามวลชน รวมทั้งรวบรวมข่าวสารที่จำเป็นและเป็นปัจจุบัน โดยเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องผ่านช่องทางการสื่อสารหลายรูปแบบให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกของประชาชนจากข่าวอันเป็นเท็จแล้วก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤตเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และสามารถทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงตามหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบเพื่อเฝ้าระวัง เตือนภัย ลดช่องว่างของข้อมูลข่าวสาร ป้องกันและลดการตื่นตระหนกของประชาชน อันนำไปสู่การบรรเทาความเสียหายและคลี่คลายวิกฤตการณ์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะจึงเห็นสมควรให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อสารมวลชนในภาวะวิกฤต โดยความเห็นชอบขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้

 

หมวด ๑

คำนิยาม

ข้อ ๑ แนวปฏิบัตินี้

“ผู้ปฏิบัติงานข่าว” หมายถึง นักข่าว ช่างภาพ หรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวและข้อมูลข่าวสารที่สังกัดองค์กรสื่อมวลชน

“สื่อมวลชน” หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อดิจิทัลขององค์กรสื่อนั้นๆ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอื่น

“เจ้าหน้าที่” หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่เกิดภาวะวิกฤต

“ผู้ประสบภาวะวิกฤต” หมายถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะวิกฤต รวมถึง ครอบครัว ญาติและบุคคลใกล้ชิด

“ภาวะวิกฤต” หมายถึง สถานการณ์ที่เข้าสู่ภาวะที่จำเป็นต้องเข้าจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง โดยหมายรวมถึงภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน สาธารณภัย หรือ ภัยคุกคามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่มีความรุนแรง อันเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยภาวะวิกฤตในแนวทางการปฏิบัตินี้ ได้แก่

  • “สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” หมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ทำให้เกิดความสับสนและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และสาธารณูปโภค
  • “สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ” หมายถึง สถานการณ์ที่เกิดโรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วหรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ ภัยสุขภาพ หรือภาวะที่มีมลพิษในอัตราสูงที่ส่งผลกระทบหรืออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน
  • “สถานการณ์อุบัติเหตุหรืออุบัติภัยร้ายแรง” หมายถึง เหตุการณ์ความรุนแรงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ที่ไม่ได้เจตนา โดยอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และสาธารณูปโภค
  • “สถานการณ์จลาจล” หมายถึง สถานการณ์การชุมนุมที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เข้าสู่สถานการณ์ก่อการจลาจลที่รุนแรงจนกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ
  • “สถานการณ์ก่อวินาศกรรม” หมายถึง สถานการณ์ที่มีการกระทำใด ๆ อันเป็นการมุ่งทำลายทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ หรือสิ่งอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการรบกวน ขัดขวางหน่วงเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใด ๆ ตลอดจนการประทุษร้ายต่อบุคคล อันเป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ
  • “สถานการณ์ก่อการร้าย” หมายถึง สถานการณ์ก่อวินาศกรรมที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ

 

หมวด ๒

หมวดทั่วไป

ข้อ ๒  ผู้ปฏิบัติงานข่าวและสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ข้อ ๓ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องแสดงบัตรหรือสัญลักษณ์แสดงตนของสื่อมวลชน เว้นแต่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองในการปฏิบัติหน้าที่

ข้อ ๔ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องศึกษากฎหมาย ข้อกำหนด หรือข้อตกลงที่บังคับใช้ในภาวะวิกฤตนั้นๆ เพื่อมิให้การปฏิบัติงานข่าวกระทบต่อประโยชน์หรือความปลอดภัยสาธารณะ

ข้อ ๕ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำเสนอข้อมูลหรือยอดผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากภาวะวิกฤตโดยการคาดเดาหรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเหตุการณ์นั้นๆ

ข้อ ๖  ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต หลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าว และภาษาที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรม และความสูญเสีย อันเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์นั้นๆ

ข้อ ๗ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ซ้ำเติมสถานการณ์ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบภาวะวิกฤต หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข้อเท็จจริงตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ข้อ ๘ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบภาวะวิกฤตมานำเสนออันเป็นการละเมิดซ้ำ แม้ข้อมูลดังกล่าวจะปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้างไปแล้วก็ตาม

ข้อ ๙ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำเสนอภาพหรือข้อมูลที่จะกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน จิตใจ ความสัมพันธ์ หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของแหล่งข่าวที่มีสถานะหรืออาจมีสถานะเป็นพยานบุคคลในสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ข้อ ๑๐ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการไม่ละเมิดเข้าไปในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตหวงห้าม เพื่อความปลอดภัยและไม่กระทบหรือกีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ข้อ ๑๑ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการเสนอความคิดเห็นที่มาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจในการให้ข้อมูลหรือผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเหตุดังกล่าว

ข้อ ๑๒ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งต้องไม่เกินกว่าความเป็นจริง มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และคำนึงถึงการให้รายละเอียดที่เด่นชัดของการก่ออาชญากรรมและพฤติกรรมความรุนแรงที่จะนำไปสู่การเลียนแบบในทางที่ไม่เหมาะสมของผู้ชม

 

หมวด ๓

การปฏิบัติงานในสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ข้อ ๑๓ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องทำความเข้าใจภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของประชาชนในพื้นที่ประสบภาวะวิกฤต เพื่อมิให้การเสนอข่าว ภาพข่าว หรือความคิดเห็นอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบภาวะวิกฤต

ข้อ ๑๔ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการเข้าถึงและการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เป็นผู้ประสบภาวะวิกฤต ญาติ และบุคคลใกล้ชิดของผู้ประสบภาวะวิกฤต อันจะก่อให้เกิดภาวะความเครียด สะเทือนใจ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือกระทำการซ้ำเติมด้วยการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ข้อ ๑๕ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่รายงานข้อมูลผู้สูญหายในลักษณะที่ทำให้เกิดการเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว

ข้อ ๑๖ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการรายงานข่าวการเตือนภัยที่มีที่มาไม่ชัดเจน โดยไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญในเหตุภัยพิบัตินั้นๆ

 

หมวด ๔

การปฏิบัติงานในสถานการณ์อุบัติเหตุและอุบัติภัยร้ายแรง

ข้อ ๑๗ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการรายงานข่าวหรือสรุปความในลักษณะที่อาจเป็นการกล่าวหาผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุและอุบัติภัยร้ายแรงโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เว้นแต่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นั้นๆ

ข้อ ๑๘ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการขยายประเด็นว่าเหตุดังกล่าวเป็นการก่อจลาจลหรือการก่อวินาศกรรมหรือการก่อการร้าย

ข้อ ๑๙ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่หรือการเข้าไปในพื้นที่ที่อาจกระทบต่อการพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่

 

หมวด ๕

การปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ

ข้อ ๒๐ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหรือการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดที่จะทำให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภาวะวิกฤต

ข้อ ๒๑ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยตามกฎหมาย ทั้งความเป็นอยู่อย่างสงบ สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน โดยไม่นำเสนอภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยอันเป็นความลับส่วนบุคคลที่อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ข้อ ๒๒ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการสร้างความตื่นตระหนกจากการนำเสนอโดยการคาดเดา หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหรือสถานการณ์ภัยสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และรักษา

 

หมวด ๖

การปฏิบัติงานในสถานการณ์จลาจล

ข้อ ๒๓ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องรายงานข่าวและภาพข่าวตามข้อเท็จจริง ถูกต้องครบถ้วน รอบด้าน โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ข้อ ๒๔ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่ตั้งคำถามชี้นำ ไม่นำเสนอประเด็น ภาพ หรือการใช้ภาษาที่สร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือการประณามว่าฝ่ายใดถูกหรือผิดในสถานการณ์ที่ไม่มีความชัดเจน

ข้อ ๒๕ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ และให้พื้นที่ข่าวอย่างสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

หมวด ๗

การปฏิบัติงานในสถานการณ์ก่อวินาศกรรมหรือก่อการร้าย

ข้อ ๒๖ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการเปิดเผย ข้อมูล รายละเอียดทางยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธีที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ข้อ ๒๗ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างทางการเมือง ศาสนา สังคม วัฒนธรรม และภาษาถิ่น ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์

ข้อ ๒๘ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการนำเสนอประเด็น ข้อเท็จจริง หรือภาษาที่กระตุ้นให้สถานการณ์ขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อ ๒๙ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุ แรงจูงใจ องค์ประกอบในการก่อวินาศกรรมหรือการก่อการร้าย รวมถึงการขยายขอบเขตในการก่อวินาศกรรมหรือการก่อการร้ายโดยปราศจากข้อมูลหรือการยืนยันจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐ อันอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นเหตุให้เกิดความตื่นตระหนกของประชาชน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดาวน์โหลดไฟล์แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต