ข้อบังคับฯ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ว่าด้วย การพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก พ.ศ. ๒๕๖๔

——————————————-

โดยที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ออกข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๔ และข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. ๒๕๖๔ ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลกันเองขององค์กรสมาชิกด้านจริยธรรมเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรออกข้อบังคับนี้ไว้เป็นแนวทางให้องค์กรสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาตินำไปปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางเดียวกัน ดังต่อไปนี้

หมวด ๑ บททั่วไป

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรสมาชิก พ.ศ. ๒๕๖๔”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“องค์กรสมาชิก” หมายถึง สมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓

“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก

“จริยธรรมแห่งวิชาชีพ” หมายถึง จริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ และจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติอื่นๆ ที่องค์กรสมาชิกกำหนด

“เรื่องร้องเรียน” หมายถึง การร้องเรียนอันเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

“เลขาธิการ” หมายถึง เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

“ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป” หมายถึง ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๔ ให้เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติรักษาการตามข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจในการตีความวินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้

หมวด ๒ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก

ข้อ ๕ ให้องค์กรสมาชิกจัดตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรสมาชิก” ซึ่งประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ดังนี้

(๑) กรรมการที่มาจากเจ้าของ หรือฝ่ายบริหาร ขององค์กรสมาชิก ส่วนหนึ่ง

(๒) กรรมการที่มาจากผู้ปฏิบัติงานในกองบรรณาธิการข่าว หรือผู้เกี่ยวเนื่องกับการผลิตข่าว หรือเนื้อหาข่าว ขององค์กรสมาชิกอีกส่วนหนึ่ง

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเจ้าขององค์กรสมาชิก เป็นผู้แต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนอยู่กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือบุคคลอื่นตามที่เห็นสมควร 

คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวด้วยข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น ตามข้อ ๓ แห่งข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ปรากฏในสื่อที่องค์กรสมาชิกเป็นเจ้าของ และเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่อยู่ในสังกัดองค์กรสมาชิก ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าสร้างความเสียหายแก่ตน หรือตนได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว และการแสดงความคิดเห็น ที่ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ ทั้งในกรณีของการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรง หรือได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย หรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดังกล่าวเกินกว่า สาม องค์กรมิได้

เมื่อจัดตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้องค์กรสมาชิกแจ้งรายชื่อคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นพร้อมรายชื่อผู้ประสานงานซึ่งจะเป็นกรรมการหรือไม่ก็ได้ ต่อสำนักเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้ง

ข้อ ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๒) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๓) เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในหน่วยงานของเอกชน

(๔) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ ๗ กรรมการ ตามข้อ ๕ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการมีมติให้ออก เพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๖

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการแทน เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่า ๖๐ วัน ทั้งนี้ให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งแทนเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ

ข้อ ๘ ในการประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการจึงจะเป็นองค์ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ประกาศแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยมีแนวทางในการกำหนดกรอบอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย หรือได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว หรือการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และระเบียบข้อบังคับภายในองค์กรสมาชิกที่สังกัด

(๒) แสวงหาข้อมูล หลักฐาน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเท่าที่ดำเนินการได้

(๓) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข มาตรการ ระเบียบและวิธีการ เพื่อให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม รวมถึงการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนและสาธารณชนรับทราบ

(๔) ให้การศึกษา อบรม เผยแพร่ความรู้ แก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักในความรับผิดชอบด้านจริยธรรมวิชาชีพ

(๕) กำหนดมาตรการในการเยียวยา แก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนตามความเหมาะสม

(๖) เชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น

ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ การประชุมคณะอนุกรรมการให้นำความในข้อ ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๑ เรื่องที่คณะกรรมการจะรับไว้พิจารณาดำเนินการประกอบด้วย

(๑) เรื่องที่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้เสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบในความเสียหายจากการนำเสนอข่าวเนื้อหาข่าว หรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

(๒) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ อันเกี่ยวด้วยกับการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว ที่ปรากฏในสื่อมวลชน หรือจากพฤติกรรมการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าขัดต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

หากคณะกรรมการมีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ให้แจ้งแก่ผู้ร้องเรียนทราบพร้อมแสดงเหตุผลโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องเรียน พร้อมทั้งแจ้งสิทธิแก่ผู้ร้องเรียนในการเสนอเรื่องร้องเรียนนั้นต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ข้อ ๑๒ คณะกรรมการต้องพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน

กรณีมีเหตุจำเป็นคณะกรรมการอาจขยายระยะเวลาการพิจารณาและวินิจฉัยออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ให้แจ้งเหตุผลของการขยายเวลาให้ผู้ร้องทราบอย่างชัดแจ้ง

ข้อ ๑๓ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียน และเลขาธิการฯ ทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการต้องรายงานผลการพิจารณาและคำวินิจฉัย รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ภายในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ของทุกปี

ข้อ ๑๕ เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าการนำเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น หรือพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสังกัดองค์กรสมาชิก เป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการแจ้งให้ผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ให้แก้ไขข้อความในข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น หรือยุติการนำเสนอดังกล่าวในทันที

(๒) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด หรือความคลาดเคลื่อนของ ข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

(๓) นำเสนอรูปแบบเนื้อหาการปรับปรุงแก้ไขที่เป็นการเยียวยาความเสียหาย ตามข้อเสนอแนะของผู้ร้องเรียน ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ หรือ

(๔) ห้ามมิให้กระทำการ หรือให้ระงับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ตามสมควรแก่กรณี

ข้อ ๑๖ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเจตนารมณ์ในการควบคุมกันเอง ห้ามมิให้คู่กรณีและผู้เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก นำประเด็นเนื้อหาข้อร้องเรียน บันทึกการสอบสวน เอกสารข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาและวินิจฉัย ไปใช้อ้างอิง หรือใช้เป็นหลักฐานกล่าวหา หรือโฆษณาเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใด เว้นแต่เป็นการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและการเรียนรู้ โดยได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ หรือคณะกรรมการเป็นกรณีไป ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องลงนามรับทราบก่อนเริ่มดำเนินการพิจารณาและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔

               นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

                                                                         ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ