สังคมไทย สื่อกดดันการทำงานตำรวจ-จนท.รัฐได้ มีทั้งผลดี-ผลเสีย

“ผู้การแต้ม” ยอมรับสังคมไทย สื่อกดดันการทำงานตำรวจ-จนท.รัฐได้ มีทั้งผลดี-ผลเสีย แม้คดีคืบหน้า ชี้เพจดังโซเชียลยังต้องพึ่งพลังสื่อ ห่วงคอมเมนต์แฟนเพจสร้างกระแสกดดัน ด้านนักวิชาชีพสะท้อนปัญหา “แหล่งข่าว” กำหนดวาระข่าวสาร ชี้ 2 มุมสื่อกดดันได้-ถูกกดดัน หวั่นสื่อตกเป็นเครื่องมืออินฟลูเอนเซอร์ หวังยึดหลักคุณค่าข่าว ช่วยสังคม ขณะที่แพทย์ห่วงผลกระทบกลุ่มเปราะบาง เตือนระวังการพาดหัว-ดราม่า-ลงรายละเอียดเหตุการณ์อ่อนไหว สะท้อนสื่อ 3 ยุคจากขาขึ้น สู่ขาลงและลงเหว หนุนองค์กรกำกับดูแลเข้มบทลงโทษ กลุ่มทำผิดจริยธรรมซ้ำซาก

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “สื่อ” กดดันใครได้จริงหรือ..? ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ณยา คัตตพันธ์ บรรณาธิการบริหาร คมชัดลึกออนไลน์ และนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวคดีต่าง ๆ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ส่งผลกดดันต่อคดีความ และบุคคลที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่จากตัวอย่างกรณี คดีอ้างครอบครองปรปักษ์ที่อยู่อาศัยที่เป็นคดีดัง และสื่อมีอิทธิพลพอที่จะกดดันต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมได้จริงหรือ

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตนายตำรวจมากประสบการณ์ในคดีต่าง ๆ ยอมรับว่า ในสังคมไทย สื่อสามารถกดดันได้ ซึ่งสมัยก่อนที่ยังมีสื่อหลักไม่มาก แค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวีไม่กี่ช่อง สมัยนี้มีสื่อโซเชียล ที่ว่าใครมีมือถือก็เป็นสื่อได้ ที่สำคัญมีการไปลอกข่าวของสื่อต่าง ๆ นำมาสร้างคอนเทนต์ แล้วมีคนติดตาม ซึ่งคนติดตามเหล่านี้ ได้แสดงความเห็นกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ 

ตัวอย่างคดีครอบครองปรปักษ์ ที่มีผู้เสียชีวิต หลังเป็นข่าว ก็มี Digital Footprint (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) ในสื่อออนไลน์ ที่ถูกตราหน้า และคนก็ยังติดตามคดีนี้่ตลอดเวลา ในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นการกดดันจริง ๆ เรื่องการบุกรุกจะผิดหรือถูกก็เป็นเรื่องคดีความที่ต้องว่ากันไป แต่การนำเสนอพฤติกรรมที่ลามไปถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่สื่อเล่นแต่เรื่องแบบนี้ เป็นการกดดันที่หนักที่สุด และสื่อเองก็กดดันเจ้าหน้าที่รัฐ 

ขณะที่สมัยนี้ การไปแจ้งความ หากไม่เอาสื่อนำไป ตำรวจก็ไม่ทำ หน่วยงานก็ไม่ทำ พอมีสื่อมาก็ทำให้เลย ก็แสดงว่าสื่อนั้นมีอิทธิพล และสื่อก็ยังตามความคืบหน้าคดีจนจบ จึึงถือว่ามีอิทธิพลในแง่ดังกล่าว

“เช่นเพจต่าง ๆ อย่าง กันจอมพลัง สายไหมต้องรอด ก็ไปหาสื่อ เพื่อให้สื่อนำ แล้วกดดันเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำงาน หรือตัวอย่างคดีแตงโม พอสื่อสนใจ นำประเด็นต่าง ๆ มาเล่น พวกโซเชียลก็เอาประเด็นของสื่อไปสร้างคอนเทนต์ สร้างเป็นประเด็น จนคดีจบไม่ได้ ทั้งที่คดีนี้ เป็นการประมาท พอสื่อไปกดดัน ตำรวจก็ต้องทำอย่างโปร่งใส ซึ่งถือว่าสื่อมีอิทธิพลต่อทุกองค์กร เพราะฉะนั้นสื่อเองก็ต้องมีจรรยาบรรณ ไม่เสนอข่าวที่ทำให้เกิดความเสียหาย” พล.ต.ต.วิชัย ระบุ

เมื่อถามถึงรูปแบบการทำงานของตำรวจ กรณีคดีใหญ่ที่สังคมสนใจ อาจมีการปล่อยข้อมูล หรือปล่อยข่าวให้สื่อนำเสนอ เพื่อหวังผลให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหา ในลักษณะหยั่งเชิง ลักษณะนี้ สื่อถูกใช้งานมากน้อยแค่ไหน พล.ต.ต.วิชัย ยอมรับว่า ค่อนข้างเยอะ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีพิพาทระหว่างตำรวจ หรือตำรวจตัดตำรวจว่า

“ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สื่อ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายใดคิดเห็นอย่างไร ก็จะสะท้อนผ่านสื่อที่นำเสนอได้ว่า ใครมีความสัมพันธ์อะไรกับสื่อ บางข้อมูล สื่อจะรู้ได้อย่างไร ถ้าคนที่มีเรื่องไม่ส่งข้อมูลให้ เพราะเป็นความลับทางราชการ ดังนั้นเรื่องการส่งข้อมูล การแนะนำให้พูด อย่างนั้นอย่างนี้ มันมีอยู่แล้ว” อดีตรอง ผบช.น.ระบุ 

เมื่อ 30-40 ปีก่อน เวลามีข่าวอาชญากรรมขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ รายชื่อตำรวจที่ดำเนินการจับกุมมีจำนวนมากตรงนั้นมีผลอย่างไร เหตุใดต้องระบุ พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า การลงชื่อตำรวจดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนหนึ่งก็มองได้ว่า เพื่อให้ตัวเองมีผลงานจับกุม และมีชื่อเสียง แต่อีกด้านหนึ่ง หากไม่ได้ไปจับกุมเอง เวลาขึ้นศาลอาจมีปัญหา หากไม่สามารถตอบคำถามถึงพฤติกรรมของคดีได้ ก็จะเดือดร้อน ฉะนั้นสมัยก่อน การทำงานก็ต้องลงชื่อคนทำงานจริง จะได้มีไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งทั้งจากคู่กรณี และทนายความฝ่ายตรงข้าม เพราะเขาตรวจสอบได้ว่า วันเวลานั้น ใครอยู่ที่ไหน มาลงชื่อจับได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งผลดีทั้งผลเสีย เพราะเวลาขึ้นศาลก็อาจทำให้แพ้คดีได้

ถามว่าระยะหลัง ๆ จะเริ่มเห็นว่า สื่อเกาะติดการทำงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งจับการพนัน ยาเสพติด มิตินี้เป็นข้อดีที่ทำให้คดีคืบหน้า หรือเป็นปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่มากกว่า อดีตรอง ผบช.น. มองว่า เป็นการกดดันทั้ง 2 ส่วน เพราะในความเป็นจริง สื่อก็แย่งกันหาข้อมูลใครได้ก่อน ก็มีข่าวก่อน เขาก็ต้องไปจี้ตำรวจ  ในทางกลับกัน บางทีตำรวจก็ต้องปิดข่าว เพราะหากเปิดข้อมูลให้ฝ่ายผู้ต้องหารู้ แต่หากถูกสื่อกดดัน ก็อาจจะยอมแย้มนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะสื่อเอง แต่ละฉบับจะมีหัวหน้าข่าวในสายที่มีความสัมพันธ์กับการทำงานของตำรวจชุดทำงานพอสมควร อาจจะส่งสัญญาณบ้าง ให้ข้อมูลบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.วิชัย มองการทำหน้าที่ของสื่อส่วนใหญ่ในยุคดิจิทัลว่า สื่อหลักไม่มีปัญหา ทุกวันนี้ปัญหาคือ พวกที่อ้างเป็นสื่อ โดยเอาข้อมูลจากสื่อมาสร้างคอนเทนต์ใหม่ แล้วให้คนวิพากษ์วิจารณ์ แล้วตำรวจก็ต้องทำงานตามคอนเทนต์นั้น ๆ เพราะถ้าไม่ทำ สังคมก็จะตั้งคำถาม ทั้งที่ตำรวจไม่จำเป็นต้องทำงานตามแรงกดดัน แต่ก็ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้จึงสำคัญ 

ขณะที่มุมมองของนักวิชาชีพ ณยา คัตตพันธ์ ที่ติดตามประเด็นคดีครอบครองปรปักษ์ ได้บอกเล่าถึงกระบวนการทำงาน ที่ส่งนักข่าวลงพื้นที่ ติดความคดีนี้ จากหมายข่าวที่ทนายความในคดีนี้แจ้งเข้ามา แม้ในวันแรก ยังไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อเกิดกรณีผู้เกี่ยวข้องในคดีเสียชีวิต รู้สึกว่า ต้องทบทวนเรื่องการทำหน้าที่สื่อพอสมควร ทำให้ต้องถอยออกมาอีกก้าว เพื่อพิจารณาว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะก็ได้บทเรียนจากคดีที่ผ่านมา อย่างกรณีหลวงปู่แสง 

“คดีครอบครองปรปักษ์ เริ่มต้นจากทนายความเดชา เกิดจากแหล่งข่าว ที่นำเรื่องราวนี้มาแถลงข่าว และลงพื้นที่ ซึ่งวันดังกล่าว แทบทุกสื่อลงพื้นที่ มีทั้งการรายงานสดในพื้นที่ การไลฟ์ ยิ่งเป็นภาพแอ็คชั่น ยิ่งทำให้ยอดวิวพุ่ง ในฐานะที่เป็นนักข่าว ถ้าวันนั้นไม่ได้อยู่ในกอง บก. เชื่อว่านักข่าวภาคสนามเอง ก็คงทำหน้าที่ในหน้างาน โดยอาจไม่ได้มองมิติอื่นว่า จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้น” ณยา กล่าว

ณยา ระบุด้วยว่า กระบวนการทำข่าวออนไลน์ รวมถึงสื่อทีวี ค่อนข้างให้น้ำหนักกับเรื่องแหล่งข่าว ข่าวที่ได้มาจากแหล่งข่าว โดยไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกกลั่นกรองจากที่ประชุมกองบรรณาธิการ แต่กลับได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าว ปัจจุบันต้องยอมรับว่า การทำข่าวรูปแบบใหม่ ๆ จะยิ่งทำให้สื่อดูเสื่อมลงเรื่อย ๆ

ในยุคดิจิทัล เราจะดูอัลกอริทึมของแต่ละข่าว ที่เรานำเสนอไป โดยฟังเสียงของโซเชียลมีเดีย การติดเทรนด์ X หรือทวิตเตอร์ เพื่อครีเอทประเด็น จริง ๆ ที่ผ่านมา ประเด็นข่าวก็จะมีทั้งสองมุม ที่มีครีเอทเองจากกอง บก. และอีกมุมหนึ่งก็จะเป็นหมายข่าว ซึ่งก็มาจากทั้งสองแหล่ง

ส่วนในแง่การทำงาน เมื่อสื่อมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ ณยา ยอมรับว่าความกดดัน อาจเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความกดดันที่สอง ก็เกิดจากการตั้งคำถาม หรือปฏิกิริยาอื่น ๆ คดีบ้านที่มีปัญหาครอบครองปรปักษ์ ครั้งแรกก็ยอมรับว่า ฝ่ายใดที่มีสื่ออยู่ในมือมากกว่า ย่อมกดดันอีกฝ่ายหนึ่งได้แน่นอน ถึงแม้จะบอกว่า ทนายความอีกฝั่งหนึ่ง ก็มีสื่อเหมือนกัน เขาก็ออกมาให้สัมภาษณ์ แต่ต้องยอมรับว่า ทนายอีกฝ่ายหนึ่ง มีสื่ออยู่ในมือมากกว่า ฉะนั้น ความกดดันย่อมมีมากกว่า การจะได้พื้นที่สื่อของอีกฝ่าย จึงค่อนข้างน้อยฉะนั้นจึงถูกกดดันแน่ ๆ ต้องยอมรับว่า คดีการครอบครองปรปักษ์ สื่อก็มีส่วนทำให้เกิดความกดดันต่อคู่กรณีเหมือนกัน

เมื่อถามว่าในการทำหน้าที่ของสื่อ ควรจะบาลานซ์ข้อมูลทั้งสองฝั่ง หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องพยายามอย่างถึงที่สุด ต้องให้ข้อมูลที่นำเสนอออกไป ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ ณ เวลานี้ สถานการณ์การทำงานข่าวของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในคดีนี้ สื่ออาจหลงลืมไปหรือไม่ว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ที่มีมาตรฐานของการทำงาน ในเรื่องการบาลานซ์ มองอย่างไร

ณยา เห็นสอดคล้องกับประเด็นนี้โดยระบุว่า ตอนนี้สื่อเราหลงลืมประเด็นนี้กันไปจริงๆ คือหลงลืมการทำหน้าที่ของสื่อ และเรายังทำหน้าที่สื่อภายใต้กระแสด้วย ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ต้องไปดูลักษณะบ้านว่าเป็นการบุกรุกแบบใด 

“ตอนลงพื้นที่ เป็นการทำงานของสื่อที่อยู่กับแหล่งข่าวแค่ฝ่ายเดียว ในเวลาเดียวก็ยังไม่ได้บาลานซ์ข้อมูลทั้งสองฝั่ง แต่พอเราจะพยายามบาลานซ์อีกฝั่งหนึ่งในเวลาต่อมา แต่ความกดดันมันไปแล้ว ไม่ทันแล้ว ต้องบอกว่าได้ แต่เดี๋ยวนี้ทนายความเขาเล่นกับสื่อเขารู้ว่าสื่อต้องการอะไร ต้องการภาพแอ็คชั่น เสียงที่ดี กระแสที่ดี พอเราขายประเด็นตรงนั้นไปแล้ว พอเราจะมาบาลานซ์อีกฝั่ง แต่น้ำหนักของอีกฝั่งหนึ่งไปไกลแล้ว ต้องบอกว่าเคสนี้ ไม่น่าจะทันจริงๆ” ณยา ระบุ

ส่วนอีกคดีดัง ใน จ.ภูเก็ต กรณีชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ ทำร้ายหมอที่ไปนั่งบนบันไดริมชายหาดหน้าที่พัก มองว่าเป็นเรื่องกดดันผ่านสื่อหรือไม่ จึงทำให้เกิดการตรวจสอบขยายผลไปถึงเรื่องธุรกิจปางช้าง การบุกรุกที่สาธารณะ และอื่น ๆ บก.บริหารคมชัดลึกออนไลน์ มองว่า เคสนี้ถือว่าเป็นการตรวจสอบข้อมูลทั้งสองฝ่าย ทั้งฝั่งหมอที่ถูกกระทำ และชายชาวต่างชาติที่เป็นผู้กระทำด้วย 

อีกทั้งยังมีการตรวจสอบเพิ่มเติม ขยายประเด็น การเข้ามาทำธุรกิจถูกต้องหรือไม่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือมีกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดใน จ.ภูเก็ต เพิ่มเติม จึงไม่เหมือนกับคดีครอบครองปรปักษ์ ที่ไม่มีสื่อลงไปในที่เกิดเหตุมาก ส่วนกรณีที่ภูเก็ตมีความแตกต่างกัน ถือเป็นการตรวจสอบทั้งสองฝ่ายในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และไม่ได้เกิดภาวะความกดดันใด ๆ ไม่มีใครกดดัน ไม่มีแอ็คชั่นอะไร แต่กรณีครอบครองปรปักษ์มองว่ามีความชัดเจน ว่าได้นำสื่อไปกดดันอีกฝ่ายหนึ่งอยู่พอสมควร

เมื่อถามว่า ประเมินหรือไม่ว่า ผลของข่าวนี้ (คดีครอบครองปรปักษ์) สุดท้ายปลายทางจะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น ณยา กล่าวว่า ต้องบอกว่า สื่อเครือเนชั่น โดยเฉพาะคมชัดลึกออนไลน์ เรากลับมามองประเด็น เรื่องของการทำข่าว ที่ไม่ใช่ข่าวบอกเล่าอีกต่อไป แต่จะให้น้ำหนัก ความน่าเชื่อถือของข่าวที่เพิ่มมากขึ้น มีการกลั่นกรองประเด็นข่าว ที่เป็นของอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ มากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ อินฟลูฯ ต่าง ๆ กลับมาใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ทำให้เขามีพื้นที่ในสื่อมากขึ้นกว่าเดิม 

ทุกวันนี้เราตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนพวกนี้ไปแล้ว ทั้งที่เราควรต้องไปทำข่าว เช่น การสืบสวนสอบสวนคดีใหญ่ ๆ ที่เป็นคดีสำคัญระดับประเทศ เพราะมุมมองในการทำข่าว อาจจะต้องกลับมามองถึงประเด็นข่าว การสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้น ซึ่งต้องเป็นจุดยืนของเราถ้าสื่อไม่มีตรงนี้ เราก็จะไม่แตกต่างกับสื่อโซเชียลทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ทำข่าวของทนายกลุ่มนี้ เราอาจมีประเด็นนี้ แต่จะไม่ร่วมสังฆกรรมในทันที แม้เราจะเป็นสื่อออนไลน์ที่ต้องแข่งประเด็นใหญ่ ความเร็ว หากช้าแค่เสี้ยววินาที เพื่อเช็คความถูกต้อง แต่คุณค่าข่าวเรายังคงอยู่ 

ณยาย้ำว่า เราเลือกที่จะนำเสนอ ถ้าเป็นประเด็นที่ประชาชนเห็นว่าผู้เสียหายได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ เรายังคงนำเสนอได้ ในมุมของผู้เสียหาย โดยใช้ข้อมูลเป็นลีดในประเด็นนั้น ๆ ให้น้ำหนักประเด็นเรื่องกลุ่มทนายที่พาผู้เสียหายไปร้องน้อยกว่า ควรเอาความเดือดร้อนของผู้เสียหายเป็นประเด็นหลักนำเสนอก่อน ไม่ใช่เอาตัวทนายความขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของข่าว อยากให้มองความเสียหายผลกระทบของสังคมมากกว่าเรื่องของเรตติ้ง

“เราไม่ได้เชื่อว่า กลุ่มองค์กรกลุ่มนี้ จะสร้างเรตติ้งได้มาก ถึงขั้นทำให้ธุรกิจเขาเติบโต เขาอาจจะได้เรตติ้งตัวของเอง หากเปรียบเทียบเรื่องเรตติ้งกันจริง ๆ แล้ว เขาอาจมีความชัดเจนในการพูด กล้าฟันธง ในบางประเด็นที่สื่อชอบ แต่ถ้าคิดถึงสัดส่วน หรือเรตติ้งทั้งหมด ไม่คิดว่า สัดส่วนตรงนี้จะทำให้ธุรกิจเขาได้กำไร หรือขาดทุน ไม่ใช่ตัวชี้วัดตรงนี้”

ณยา ย้ำว่าหลายประเด็น ที่เราจะให้ความสำคัญต่อกระแสข่าว อยากให้มองเห็นคุณค่าข่าวมากขึ้น อยากให้สื่อกลับมาทำข่าวเหมือนยุค 10 ปีที่ผ่านมาในแง่คุณค่าข่าว ไม่ได้หมายถึงเรื่องเทคโนโลยี เราจะมองว่า ประเด็นที่เรากำลังจะทำ เราช่วยเหลือผู้เสียหายได้มากน้อยแค่ไหน สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เป็นการสวนกระแส แต่เราสามารถแบ่งสัดส่วนในการนำเสนอข่าวได้ จะมีทั้งข่าวกระแส ได้เรตติ้ง แต่อย่าลืมข่าวที่มีคุณค่า เพราะสื่อจะวัดกันในการทำข่าวที่ทรงคุณค่า ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นแค่สื่อโซเชียล ที่ใครก็เป็นสื่อได้ ใครก็เป็นนักข่าวได้ แต่ใครจะเป็นนักข่าวที่มีคุณภาพทุกคนไม่ได้ จึงอยากฝากประเด็นนี้ไว้” ณยา ทิ้งท้าย

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ มองประเด็น “สื่อ” กดดันใครได้จริงหรือ..? โดยอธิบายว่า มันเป็นองค์ประกอบหนึ่ง จะมีผลเป็นพิเศษต่อผู้ที่เปราะบางอยู่แล้ว ตนเคยถูกหลายคนถามว่า การติดตามข่าวฆ่าตัวตาย ทำให้คนฆ่าตัวตายได้ไหม ก็จะตอบว่า หลังจากมีการศึกษาเรื่องนี้ชัดเจน ว่ามันมีผลกับคนที่เปราะบาง การลงข่าวแบบไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่เราไม่ปรารถนาได้

คำว่าเปราะบาง เวลาสื่อสารออกไป เราเลือกไม่ได้ว่า เราจะไปเจอคนที่เปราะบางหรือไม่ เพราะบางวัฒนธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติของ จริยธรรมของสื่อทั่วโลก จะต้องป้องกันไว้ก่อน คือต้องป้องกันคนที่เปราะบาง อย่างคนที่เราเรียกว่าก็อปปี้แคท (เลียนแบบ) ในการฆ่าตัวตาย หรือการใช้ความรุนแรง จะมีคนที่เปราะบางอยู่ในสังคม ฉะนั้น เวลาเราส่งข่าวออกไป มันส่งไปถึงทุกคน

โดยหลักจึงต้องป้องกันไว้ก่อน ถ้าคนที่เปราะบางดูอยู่ ต้องไม่ได้รับผลกระทบ ที่จะทำให้เกิดการเลียนแบบ ตรงนี้คือหลักสำคัญที่ฟากของสุขภาพจิต กับสื่อมวลชนทั่วโลก ทำงานร่วมกันในการดูแลสังคม

เมื่อถามว่า กลุ่มเปราะบางในสังคม จะสังเกตได้อย่างไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับตัวเหตุการณ์ ที่เข้าไปกระทบ อย่างเช่นคนที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากสื่อ จะเป็นไปตามเนื้อหาของเรื่อง เช่นการเลียนแบบการฆ่าตัวตาย จะเกิดขึ้นกับคนที่มีความคิดนั้นอยู่ก่อนแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง

หรือเวลาที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติ เช่น กราดยิง ภัยพิบัติ คนที่สูญเสียคนที่รักไป ก็จะเกิดภาวะที่ถูกสื่อมวลชนไปซักถามซ้ำ ๆ ก็เหมือนกับไปตอกย้ำความรู้สึกที่เขากำลังสูญเสียมากขึ้น กรณีเช่นนี้ ก็เป็นกลุ่มคนที่เปราะบาง กรณีของการฆ่าตัวตายหมู่ ในครอบครัวที่มีปัญหาภายในเยอะ ๆ ก็เป็นครอบครัวที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

เมื่อถามถึง การระมัดระวังการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่อาจกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ควรเป็นอย่างไรบ้าง นพ.ยงยุทธ ระบุว่า ที่สำคัญที่สุด อย่างแรก คือสิ่งที่เราใช้เป็นหลักการอยู่ คือความระมัดระวังในการพาดหัว ไม่ให้เกิดความรู้สึก เหมือนกับคนที่ทำ เป็นฮีโร่ หรือเป็นการดราม่า ว่าเขามีปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว เพราะการไปดราม่า ยิ่งทำให้กลุ่มคนเปราะบาง รู้สึกมากขึ้น เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ เราไม่รู้ว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร พวกนี้เป็นเหตุข้างเคียงประกอบ แต่พอเราไปดราม่า ก็จะทำให้คนรู้สึกว่า ฉันก็มีปัญหาแบบนี้ ก็อาจเป็นปัญหาทางออกของชีวิตได้ อันนี้คือวิธีการของข่าวแบบดราม่า

แบบที่สองคือ ลงข่าวเหมือนเป็นฮีโร่ เช่น การที่คนในครอบครัวฆ่าตัวตาย คือคนที่เสียสละ ไม่ให้ครอบครัวต้องลำบาก เป็นต้น แบบนี้เรียกว่าไปทำให้คนในข่าวเป็นฮีโร่ ฉะนั้นก็จะทำให้คนเปราะบางรู้สึกว่า ฉันก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ฉันก็ควรเป็นหนทางที่เป็นทางออกได้ จะได้เป็นคนสำคัญแบบคนในข่าว

ตัวอย่างนี้เหล่านี้ หมายถึงในหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าการพาดหัวข่าวที่ให้อารมณ์ความรู้สึก ดราม่า ทำให้คนในเหตุการณ์ทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่น กลายเป็นฮีโร่ พวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบกับคนที่เปราะบางได้อย่างที่ว่า

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า การกดดันอีกข้อหนึ่งก็คือ อย่าไปลงรายละเอียดของวิธีการ เพราะทำให้คนเปราะบางเห็นภาพว่า ตนเองก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ ไม่ทุกข์ทรมาน หรือทำแล้วประสบความสำเร็จ เช่น ไม่แสดงวิธีการโดยละเอียด ลงภาพการฆ่าตัวตายชัดเจน อธิบายละเอียดขั้นตอน หรือวิธีทำระเบิด กระบวนการ เป็นต้น พวกนี้ถือว่าเข้าข่ายหมด คือไปแสดงวิธีการโดยละเอียด ทำให้กลุ่มที่เปราะบางนำไปสู่การได้เลียนแบบได้

“สื่อก็ต้องรายงานข่าวอยู่แล้ว ปัญหาคือรายงานอย่างไร ถ้ารายงานโดยไม่ใส่สีใส่ไข่ รายงานโดยไม่ต้องอธิบายวิธีการละเอียด ไม่ต้องทำให้เขาเป็นฮีโร่ และไม่ต้องไปสัมภาษณ์คนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะญาติพี่น้องของเขา ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้วบางทีการไปสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า ไปทำให้เขาเกิดความรู้สึก บาดแผลทางใจซ้ำ ๆ ไปถามย้ำซ้ำเติมเรื่องเดิม ซึ่งเป็นวิธีการที่เราไม่สมควรทำ แต่ตรงกันข้ามถ้าเราเน้นว่า จากเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมได้คิดอะไร มีปัญหาจากสาเหตุอะไร ที่ทำให้คนเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น และจะป้องกันได้อย่างไร คือการลงในรายละเอียดที่เป็นเชิงให้สังคมได้ประโยชน์ วิธีการเสนอข่าวอย่างนี้ จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก ฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาว่า สื่อรายงานข่าวหรือไม่รายงานข่าว แต่ต้องรายงานข่าวอย่างไร ในฐานะที่เป็นสื่อ 1.ได้เสนอข่าว 2.สังคมก็ได้ประโยชน์”

ในต่างประเทศจะเป็นกฎเลยคือ Do กับ Don’t  คือ ทำกับไม่ทำอะไร 1.ไม่ดราม่า 2.ไม่เป็นฮีโร่ 3.ไม่เสนอวิธีการที่ละเอียด และ 4.ไม่ไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องซ้ำ ๆ นี่คือตัวอย่างของสื่อ ที่ควรช่วยให้สังคมเข้าใจถึงปัญหา สาเหตุ เข้าถึงแหล่งขอความช่วยเหลือ อย่างการฆ่าตัวตายปีหนึ่ง คนไทยฆ่าตัวตายถึง 5,000 คน เพราะฉะนั้น ก็มีคนที่จะสามารถได้รับประโยชน์ ว่าจะสังเกตอาการได้อย่างไร จะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร เป็นต้น ถ้าเราให้ความสนใจไปทางด้านนี้ สังคมจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้ สถานการณ์สื่อที่ผ่านมา นพ.ยงยุทธ ระบุว่า ขอแบ่งสื่อเป็น 3 ยุค สื่อยุคแรก ก่อนจะมีทีวีดิจิทัลจำนวนมาก ยุคนั้นมีสื่อหลักไม่มาก เหตุการณ์หลังปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้มีการฆ่าตัวตายเยอะ ตอนนั้นได้มีการศึกษาเรื่องนี้กันเยอะ และพูดคุยกับสื่อเยอะ กรมสุขภาพจิตแบ่งสายกันไปพบกอง บก.สื่อ เพื่อขอความร่วมมือ จากเหตุการณ์หลังปี 2540 ก็ทำให้ภาพเหตุการณ์ของสื่อหลัก หนังสือพิมพ์ ทีวี ดีขึ้นมาก ถือเป็นขาขึ้น ของความเป็นสื่อมืออาชีพ

จากนั้นก็เข้ามาสู่ยุคที่ 2 คือ การเปิดประมูลทีวีดิจิทัลจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวโน้มแบบใหม่ คือการแข่งขัน เพื่อให้สื่อเป็นที่น่าสนใจตรงจุดนี้ ได้ทำให้ประสบการณ์เก่า ๆ ที่เราเคยพัฒนาเรื่องความเป็นมืออาชีพในการนำเสนอข่าวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มเจือจางลงจนเป็นจุดที่ถือว่าเป็นขาลง 

มาถึงปัจจุบัน ยุค 3 ในช่วงประมาณ 5 ปีมานี้ การแพร่ขยายกว้างขวางของสื่อสังคม ที่คนไทยเกือบจะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ และอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้มีการส่งข่าวสารกันมาก กลายเป็นว่าทุกคนก็เป็นสื่อ พอสื่อหลักมีปัญหา พวกสื่อสังคมก็ไม่ได้เรียนรู้เพราะสื่อหลักเอง ก็เป็นคนทำความไม่เป็นมืออาชีพเสียเอง พวกสื่อสังคมจึงไม่ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร จึงกลายเป็นลำโพงขยายเสียง ทำให้สถาการณ์ในช่วงขาลงอยู่แล้ว ยิ่งเป็นขาลงเหวไปเลย คือลงหนักไปเลย

ทำให้องค์กรตรวจสอบทั้งหลาย ทั้งสภาวิชาชีพ กสทช. ก็เริ่มเดือดร้อน ที่จะต้องเข้ามาปรามให้มากขึ้น แต่การปรามก็มีปัญหา เพราะปัญหามันไปไกลมากแล้ว เช่นสื่อสังคม กลายเป็นว่า เรามีคนจำนวนมากที่ใช้ชีวิตวัน ๆ อยู่กับการส่งต่อข่าว โดยไม่รู้ว่าที่ถูกคืออะไร ฉะนั้นเท่ากับเขาได้ส่งความไม่เป็นมืออาชีพ หรือเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณไปเรื่อย ๆ เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นสื่อ

การที่สื่อจะต้องมีความตระหนัก และองค์กรที่ควบคุมสื่อ เช่น กสทช. สภาวิชาชีพ ต้องมีความเข้มแข็ง อย่าง กสทช. ก็ไม่ใช่แค่ตักเตือน ควรมีกระบวนการมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปรับ หรือแบล็กลิสต์ ไม่สามารถต่อสัมปทานได้ หากทำผิดมาตลอด และต้องเริ่มมีการให้คะแนนเพราะที่ผ่านมา เป็นแค่มาตรการเฉพาะหน้า เรียกตักเตือนเป็นครั้งคราว เท่าที่ดู ช่องที่เป็นปัญหา ก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม แบบนี้ไม่ได้ทำให้ใครดีขึ้นเลย เพราะฉะนั้นมาตรการของฝ่ายควบคุม ต้องต่างออกไป 

นอกจากจะทำหน้าที่ควบคุมแล้ว การให้ความรู้กับประชาชนก็สำคัญ ต้องให้ประชาชนรู้ว่า ทุกคนที่ต้องการเป็นสื่อ จะต้องไม่ไปส่งสารที่มาจากสื่อกระแสหลัก ที่ทำผิดๆ ทั้งหลายเหล่านี้ออกไป เพราะการส่งเสริม ก็ยิ่งทำให้สังคมได้รับข่าวสารในทางที่สะท้อนถึงการขาดวุฒิภาวะในการรับข่าวสาร จะยิ่งทำให้สังคมต่ำลง

ขณะที่หน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อ ควรต้องทำ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือต้องให้ความรู้ประชาชน เช่น ในหลายครั้งที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ดีมาก เมื่อมีข่าวไม่ดี ไม่ใช่แค่กรมสุขภาพจิต และกสทช. แต่ สภาการสื่อ สมาคมสื่อ ก็ช่วยกันออกแถลงการณ์เตือน ขอความร่วมมือสื่อและสังคมว่า อย่าส่งข่าวแบบนี้ต่อ ถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะเป็นจังหวะที่ทำให้คนซึ่งทำหน้าที่เป็นมีเดีย ได้เกิดความตระหนักรู้ เกิดความเข้าใจ และมีผลดี แล้วก็จะมีฟีดแบ็คกลับไปว่า ถ้าสื่อ 4-5 สำนักนี้ ยังคงทำแบบนี้อยู่ ก็จะได้รับการเปรียบเทียบว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน

นพ.ยงยุทธ ยังฝากถึงประชาชนด้วยว่า เรามีหลักสำคัญของกรมสุขภาพจิต คือไม่ผลิตข่าวร้าย ซึ่งรวมทั้ง Hate speech, Fake News ด้วย ข่าวเรื่องความรุนแรงที่ไม่เหมาะสม ต้องไม่ส่งต่อ และไม่ผลิตซ้ำด้วย ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ทบทวนให้มากขึ้น และต้องมีจิตใจเปิดกว้าง ว่าเราอยู่ในสังคมที่จะก้าวหน้าไปบนพื้นฐานที่ไม่เกิดความรุนแรงได้.