ผู้แทนสภาการสื่อมวลชนฯ ร่วมเวทีนานาชาติส่งเสริมบทบาทสื่อมวลชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ อนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (The National Press Council of Thailand) เข้าร่วมเวทีประชุม Dili Dialogue Forum ครั้งที่ 7 ที่ดีลี เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และได้นำเสนอประเด็นบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโลกบนเวทีประชุมในครั้งนี้ด้วย

สภาการสื่อมวลชนติมอร์ เลสเต (The Press  Council of Timor-Leste) จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทหน้าที่สื่อมวลชนในการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโลก” เพื่อให้สอดคล้องกับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในปีนี้ประเด็นหลักที่สำคัญเป็นเรื่องบทบาทของสื่อมวลชนทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ดร.อนุชา เป็นตัวแทนจากสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสื่อมวลชนจากประเทศไทย ในการนำเสนอประเด็นดังกล่าวร่วมกับเพื่อนสื่อมวลชนและตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากประเทศอินโดนีเซีย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เพื่อเวทีประชุมนี้ได้นำแนวทางการทำงานในฐานะสื่อมวลชนของแต่ละประเทศในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศรวมสรุปเป็นข้อเสนอแนะที่ได้จากการนำเสนอ แลกเปลี่ยน และตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งทางสภาการสื่อมวลชนติมอร์ เลสเต เชิญสื่อมวลชนมาประมาณ 300 คนในวันนั้น โดยเวทีประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ประธานรัฐสภาแห่งชาติติมอร์ เลสเต นาง Maria Fernanda Lay เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม    

ดร.อนุชา ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เหตุการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลและสื่อมวลชนไทยให้ความสนใจอย่างมาก ได้แก่ ปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอันเนื่องมาจากการเผาทำลายป่า ซางข้าวโพด ซางข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อเกษตรกรได้นำพื้นที่ดินนั้นมาทำเกษตรต่อ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศปัญหาฝุ่นควันพิษ ประชาชนเจ็บป่วยจากการสูดควันพิษ และบางคนต้องเสียชีวิตจากการสุดควันพิษเป็นเวลานานเพราะเป็นมะเร็งในที่สุด  

ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกเรื่องหนึ่งคือการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่พบกากแคดเมียมซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง กว่า 1.5 หมื่นตัน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการขนย้ายจากบ่อฝั่งกลบที่จังหวัดตากออกมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรงมากทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย เพราะอาจเกิดการรั่วไหลลงสู่ดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ 

ดร.อนุชา ได้เน้นย้ำถึงการทำงานในหน้าที่ของสื่อมวลชนไทย ถ้าสื่อมวลชนไทยไม่รายงานข่าวเรื่องที่สำคัญทั้งสอง ไม่ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ได้ลงไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อสัมภาษณ์ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งสองเรื่องนี้  แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็คงล่าช้าหรือไม่ได้ทำอะไรอย่างแน่นอน นั่นเป็นเพราะว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการติดตามข่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาที่ทุกคนบนโลกนี้ประสบอยู่ซึ่งเป็นปัญหาของโลกจริง ๆ

ดร.อนุชา ได้เน้นย้ำให้สื่อมวลชนทั่วโลกช่วยกันตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมถึงแม้ว่าในบางจุดในวันนี้ยังเป็นปัญหาที่เล็ก แต่ในอนาคตปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวก็อาจจกระจายตัวเป็นปัญหาในวงกว้างได้ ดังนั้นสื่อมวลชนทั่วโลกควรร่วมช่วยกันเป็นหูเป็นตารายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน สังคม และประเทศชาติของตนเอง การรายงานข่าวควรเน้นในประเด็นการสืบสวนสอบสวนมากขึ้น และการรายงานผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ซึ่งการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านนี้ ข้อมูลที่ได้มาจะได้นำไปช่วยจัดการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนคนใดก็ตาม ที่ปล่อยปะละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

ทางด้านประธานสภาการสื่อมวลชนติมอร์ เลสเต Otelio Ote กล่าวถึงความสำคัญของเวทีประชุมในครั้งนี้ว่าเป็นพื้นที่ให้สื่อมวลชนในประเทศพื้นที่เอเชียแปซิฟิคได้้มาแสดงความคิดเห็นถกประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสื่อมวลชนร่วมกันในการปก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนและรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางประเทศติมอร์ เลสเต ให้ความสนใจก็อย่างเช่นการขาดการจัดการขยะที่เหมาะสม ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงอากาศของโลกเป็นต้น ดังนั้นสื่อมวลชนจึงต้องช่วยกันทำหน้าที่หลักในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนของตนเองรับรู้       

การประชุมครั้งนี้ Dili Dialogue Forum มีข้อสรุปว่า การรายงานข่าววิกฤตสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นสิ่งจำเป็นที่สื่อมวลชนต้องให้ความสำคัญ สื่อมวลชนควรกำหนดเรื่องการรายงานประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในนโยบายการทำงานและควรมีการเขียนในบทบรรณาธิการอยู่เป็นประจำ รัฐบาลควรมีกลไกลที่เหมาะสมในดูแลเรื่องความปลอดภัยต่อนักข่าวที่ทำการรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต  ประชาชน สื่อมวลชน และ ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม 

สื่อมวลชนควรมีแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมในการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนควรตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และควรทำรายงานพิเศษเชิงสืบสวนสอบสวนปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อขุดคุ้ยความจริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องส่งเสริมความเป็นอิสระในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ความเป็นกลาง การสนับสนุนให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่โปร่งใส และ ตรวจสอบได้