ปรับตัวอย่างไรในวิกฤติสื่อ

ปรับตัวอย่างไรในวิกฤติสื่อ

  ดร.สุวัฒน์ ทอง​ธนา​กุล
                    อดีตประธานสภาการหนังสือแห่งชาติ

 

สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนเกือบทุกวงการจะอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนเพื่อพยายามฝ่าวิกฤตกันทั่วหน้าสมกับวลีท้าทายในกระแสโลก “Transform or Disrupted”

คล้ายคำถามกระตุ้นเตือนให้เลือกว่า “จะปรับเปลี่ยน หรือโดนทำลายล้าง” และบางกรณีการปรับเปลี่ยนอาจถึงขั้นต้อง”แปลงร่าง” สำหรับบทใหม่กันทีเดียว

แม้ว่าแต่ละประเภทกิจการจะมีเหตุและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบแตกต่างกันในรายละเอียดก็ตาม แต่หลักการใหญ่ก็มีประเด็นคล้ายกันคือสภาวะของโลกที่เราอยู่ขณะนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งด้านการผลิตที่มีเทคโนโลยียุคดิจิทัลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทั้งการจัดรูปแบบ และวิธีการของธุรกิจโฉมใหม่

เป็นเหตุให้ “เกมเปลี่ยน” ทั้งจากการแข่งขันที่เข้มข้น และมีสิ่งใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าของเดิม         

ขณะเดียวกัน ด้านผู้บริโภคก็ได้ปัจจัยเอื้อจากการเปลี่ยนแปลงที่มีสินค้าและบริการแนวใหม่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนไป ทั้งความต้องการและวิธีการใช้สอย  การฉลาดเลือกและรู้จักเรียนรู้เปรียบเทียบและบอกต่อในยุคการตลาด 4.0

ในวงการสื่อสารมวลชนเห็นได้ชัดว่าภูมิทัศน์สื่อ( media landscape) ทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากอดีตมาก  ที่เคยเป็นสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์ ก็มีสื่อใหม่ สื่อดิจิทัล เป็นตัวเลือกที่รวดเร็วกว่าและมีรูปแบบเนื้อหาที่เรียกความสนใจได้มากกว่า

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุค Digital Disruption และพฤติกรรมของผู้บริโภค​เปลี่ยนไป จึงเกิดผลป่วนธุรกิจด้านรายได้ ผู้บริโภคลดลง ที่ส่อเค้ามาราว 5 ปีและเริ่มเห็นผลชัดเมื่อ 3 ปีหลังนี้ จนหลายค่ายสื่อสิ่งพิมพ์ต้องตัดสินใจปิดตัวธุรกิจหนังสือพิมพ์ รวมกว่า 20 หัวแล้วหันไปทำสื่อดิจิทัลทั้ง online และแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ เต็มที่

ถามว่านี่เป็นผลจากคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงหรืออย่างไร

ผมเชื่อว่าการอ่านไม่ลดลงหรอก แต่พฤติกรรมและวิธีการอ่านเปลี่ยนไป ก็ด้วยเครื่องมือการอ่านข้อมูลข่าวสารสามารถกดดูจากโทรศัพท์มือถือได้หลายช่องทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่า

คนในสังคมก็เลยเป็นทั้งผู้รับข่าวสารและผู้ส่งต่อ  จนสามารถแพร่ข้อความหรือภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้สนุกมือด้วย

ก็คงต้องยอมรับสภาพ ตามหลักอนิจจัง ขณะที่ผู้บริโภคสื่อและนักการตลาด นักโฆษณาที่ใช้ประโยชน์จากสื่อมีโอกาสเลือกใช้สื่อที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพตามเป้าหมายทางธุรกิจมากกว่า

คนในธุรกิจสื่อมวลชนจึงต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่เหล่านี้  และจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพ  และยึดหลักคุณธรรมในการทำงาน เพื่อยืนยันความเป็นมืออาชีพในการทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ความรู้  ความคิดและตรวจสอบความจริงซึ่งจำเป็นสำหรับสังคม

ทำงานด้วยมาตรฐานวิชาชีพยึดหลักจรรยาบรรณ  ของ “สื่อมืออาชีพ” จึงเป็นที่เชื่อถือของสังคม และแตกต่างจากคนที่ใช้โซเชียลมีเดียส่งข่าวสาร ข้อมูล ข้อความ หรือภาพ ในเครือข่าย Social ต่างๆ

ดังนั้นไม่ว่ารูปแบบและ ช่องทางการสื่อสารยุคต่อไปนี้จะใช้แพลตฟอร์มใดก็ตาม เนื้อหาหรือ Content ที่มีคุณภาพความถูกต้อง ถูกเรื่อง ถูกเวลา และน่าเชื่อถือ จะเป็นตัวชี้ขาดการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

ดังที่ ชาร์ล ดาร์วิน กล่าววรรคทองไว้ว่า “ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คือผู้ที่รู้จักปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด จึงจะอยู่รอด”

 

ที่มา: จดหมายเหตุ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉบับเดือน ก.ค. – ก.ย. 2562