ฝ่ากระสุน(ยาง)สูดแก๊สน้ำตาเพื่อเรตติ้ง ถามจริง “คุ้มเหรอ” ???

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ แจกปลอกแขนเวอร์ชั่นล่าสุด 1,500 ชิ้น ให้คนสื่อที่ต้องลงพื้นที่รายงานข่าวม็อบ พร้อมแนะวิธีทำงานแบบไม่เจ็บตัว ด้าน “บก. บห. PPTV” ย้ำ ชีวิตและความปลอดภัยของทีมต้องมาก่อน ขณะที่ “นักวิชาการ” ชี้ สื่อหลักมีมาตรฐานสมราคา แต่ถ้าละเลยคุณภาพ ประเทศไทยจะมีแต่ “สื่อกระพี้”

21 ส.ค. 2564 นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ถึงบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ ในการดูแลบุคลากรที่ลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้  ในประเด็น “เรตติ้งสื่อที่มาจากกระสุนยางและแก๊สน้ำตา” ว่า

ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักข่าว ช่างภาพ และคนสื่อที่ต้องลงพื้นที่ทำข่าวในพื้นที่ที่มีการชุมนุมอยู่ในขณะนี้  จึงได้มีการกำชับสมาชิกฯ ให้ทำงานข่าวตามข้อปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ และขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รวมทั้งยังได้ทำความเข้าใจกับองค์กรต้นสังกัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ที่ต้องลงปฏิบัติการงานข่าวในภาคสนามอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำปลอกแขนรุ่นใหม่สำหรับสื่อมวลชนจำนวน 1,500 ชิ้น เพื่อทดแทนของเดิมที่ใช้งานมาเป็นเวลานาน รวมทั้งสร้างเสริมความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสื่อให้กับส่วนงานต่าง ๆ ได้รับทราบ เช่น ในวันที่ 25 ส.ค. นี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ จะเข้าพบและหารือถึงการทำงานของสื่อในพื้นที่การชุมนุมกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และคณะ ฯลฯ เป็นต้น

“เราพยามเดินสายทำความเข้าใจกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคนสื่อ ส่วนปลอกแขนที่ทำขึ้นมาใหม่นั้น ก็มีทั้งสื่อไทยและต่างชาติทยอยกันเข้ามารับ แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนว่า สื่อบางคนเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับ  ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่า เราเปิดให้มีการลงทะเบียนและพร้อมแจกให้กับคนสื่อที่มีสังกัดที่ชัดเจน โดยสังกัดที่ว่านี้ ต้องเป็นองค์กรที่มีอยู่จริง มีกองบรรณาธิการจริง และมีการทำข่าวภายใต้บริบทและจริยธรรมของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่า ปลอกแขนจะไม่สามารถป้องกัน หัวน็อต ลูกแก้ว กระสุนยาง และแก๊สน้ำตาได้ แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับรู้ว่า ผู้ที่สวมปลอดแขนคือ สื่อ ที่ไม่ควรได้รับอันตรายจากการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายไหน” 

ด้านนายเสถียร วิริยะพรรณพงศา บรรณาธิการบริหาร (บก. บห.) สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า การทำข่าวชุมนุมในปัจจุบันแตกต่างจากการชุมนุมที่ผ่าน ๆ มาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เนื่องจากนักข่าวไม่สามารถตามหาตัวแกนนำได้ รวมทั้งไม่มีเวทีปราศรัย และไม่มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมชุม ที่สำคัญคือ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นขณะทำข่าวในพื้นที่  ดังนั้นสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี จึงมีนโยบายที่เน้นไปในเรื่องความปลอดภัยของทีมข่าวเป็นหลัก และกำชับให้ทีมข่าวใช้ความระมัดระวังในทำข่าวเป็นพิเศษ

“เรตติ้ง ใคร ๆ ก็อยากได้  แต่ถ้าต้องแลกกับการเจ็บเนื้อเจ็บตัวของคนของเรา โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง  ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่า จะเรียกว่าเป็นการชุมนุมได้หรือไม่นั้น เราไม่แลก ตรงนั้นชุลมุนมาก ต่างกับพื้นที่การชุมนุมในอดีตที่ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสีไหน ก็ไม่ชุลมุนขนาดนี้  เพราะมีแกนนำที่ชัดเจน  มีการจัดการอย่างเป็นระบบ  และมีผู้ประสานงานกับสื่อ  มีการแจ้งกำหนดการ มีการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน  ดังนั้นการชุมนุมที่ผ่าน ๆ มา แม้จะมีความรุนแรง หรืออาจจะมีกระสุนจริงบ้างแต่สื่อก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว”

นายเสถียร กล่าวอีกว่า เมื่อการชุมนุมในปัจจุบันไม่มีระบบ และสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย การทำงานข่าวจึงต้องมีการวางแผนมากขึ้น นโยบายของต้นสังกัดต้องชัดเจน เพื่อเปิดทางให้คนสื่อในพื้นที่สามารถตัดสินใจกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าได้ทันท่วงที  ไม่ต้องรีบรายงานสดแต่ขอให้เก็บข้อมูลให้มากที่สุด และจะรายงานก็ต่อเมื่ออยู่ในจุดที่ปลอดภัยแล้ว  ทีมข่าวที่ต้องลงพื้นที่ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้ชุมนุม ศึกษาโมเดลการเคลื่อนไหวของม็อบและหาข้อมูลให้มากที่สุด  ส่วนการไลฟ์สดตลอดเวลาโดยไม่มีเพื่อนร่วมงานคอยระแวดระวังให้นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก 

ขณะที่ รศ. ดร. นรินทร์ นำเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า จากการติดตามทำการข่าวการชุมนุมของสื่อในปัจจุบัน สามารถแยกสื่อออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ สื่อหลัก ซึ่งในขณะนี้ ถือว่าดีขึ้น การทำข่าวและการรายงานข่าวม็อบดีมีมาตรฐานแต่มีการรายงานสดมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ยุติ อีกกลุ่มหนึ่งคือ  สื่อที่ไม่ใช่สื่อหลัก โดยสังเกตได้ว่า บางส่วนมีวาระทางการเมือซ่อนเร้น และความจริงด้านเดียว ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเหมารวมว่า สื่อไม่มีมาตรฐานทั้งหมด

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับหรือเปิดดูแต่เพจข่าวบางเพจ ที่นำเสนอแบบเอียงกระเท่เล่ แล้วก็ไม่รู้ว่า ที่นำเสนออกมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ แต่บางคนก็พร้อมเชื่อในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อ ขณะที่บางคนที่มีใจเป็นธรรมก็จะด่าสื่อแบบเหมาโหลเขาไปอีก  และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การนำเสนอในลักษณะนี้ เป็นการกระตุ้นคนที่มีแนวโน้มอยากจะเชื่ออยู่แล้ว ให้รู้สึกมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการซ้ำสถานการณ์มากขึ้นไปด้วย”

รศ. ดร. นรินทร์ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์ Digital disruption ที่ถาโถมเข้ามากระทั่งสื่อต้องปรับตัวอย่างรุนแรง พร้อม ๆ กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปว่า ทุกองค์กรสื่อต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยการเน้นไปที่เรตติ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ หลายสื่อพยายามทำเนื้อหาที่ดี แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ ขณะที่เนื้อหาที่ไม่มีประโยชน์ไม่มีสาระกลับมีผู้สนใจล้นหลามนั้น  สื่อหลักจำเป็นต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่นผลิตเนื้อหาที่ดีมีประโยชน์และมีคุณค่า เพราะหากมุ่งเน้นไปที่เรตติ้งแล้วต้องวิ่งตามกระแส สุดท้ายในอนาคตสังคมไทยจะเหลือแต่สื่อกระพี้  เพราะใครก็เป็นสื่อได้ ไม่จำเป็นต้องมีบรรณาธิการ ไม่จำเป็นต้องตรวจทานเนื้อหา ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นสื่อหลักก็จะไม่เหลืออะไรเลย เพราะถ้ายอมให้สื่อกระพี้ขึ้นมามีอิทธิพลเหนือสื่อหลัก  สื่อหลักก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป