สภาการสื่อฯ จัดโครงการ “FACTkathon” นัดแถลง 22 ก.ย. เชิญ นศ.จัดทีมร่วมกิจกรรม

สภาการสื่อมวลชนฯ เตรียมแถลงข่าวโครงการระดมสมองค้นคว้าเชิงลึก เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ในการรับมือข่าวลวง ข่าวปลอม (FACTkathon) วันพุธที่ 22 ก.ย.นี้ พร้อมเชิญนักศึกษาไม่จำกัดคณะวิชาเรียนจัดทีมเข้าร่วมกิจกรรม

น.ส. นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองเลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. มีวาระสำคัญคือ การสรรหากรรมการคนใหม่แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งจำนวน 1 คน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาจำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานกรรมการสรรหา 2.นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองประธานสภาฯ และประธานกรรมการจริยธรรม เป็นกรรมการ และ 3.น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองเลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งตามข้อบังคับว่าด้วยการดำเนินการเพื่อให้มีผู้มาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง กำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกใหม่อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง  

ที่ประชุมยังรับทราบการดำเนินโครงการระดมสมองค้นคว้าเชิงลึก เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ในการรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (FACTkathon) โดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ จัดระดมสมองค้นคว้าเชิงลึกหรือ “FACTkathon” เพื่อนำไปสู่ต้นแบบการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพของสื่อสารมวลชน และพลเมืองดิจิทัล ในการรับมือสถานการณ์โรคระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม ที่ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะสับสนอลหม่านเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดการแถลงข่าว โดยใช้ชื่อว่า “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” โครงการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 ผ่านทางระบบออนไลน์ (ZOOM Meeting) เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการเสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การหักล้างข้อมูลเท็จในยุคโควิด บทเรียนจากเอเชีย Debunking Dis-infodemic in Asia” พร้อมกันนี้ ยังเตรียมการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญสถาบันการศึกษา หรือกลุ่มนักศึกษา ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถจัดทีมเข้าร่วมได้โดยแต่ละทีมต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน และไม่จำกัดคณะวิชาเรียนอีกด้วย