‘สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ’จับมือ‘วช.’วิจัยองค์กรสื่อ แสวงหาสมดุล‘ธุรกิจอยู่รอด-รักษาบทบาทหน้าที่ต่อสังคม’

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเผยแพร่งานวิจัยและรับฟังความเห็นสาธารณะ โครงการ “การปรับตัวขององค์กรข่าว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม” ณ รร.วีกรุงเทพ-เอ็มแกลเลอรี่ กรุงเทพฯ ย่านราชเทวี และถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งยกระดับขึ้นจากเดิมคือสภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นองค์กรวิชาชีพที่ครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พันธกิจของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มิได้อยู่ที่เพียงการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อที่เป็นสมาชิกเท่านั้น แต่ยังแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อคงไว้ซึ่งจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นที่พึ่งพิงของสังคมอย่างยั่งยืน

จากพันธกิจดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยเรื่องการปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ซึ่งมีนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เล็งเห็นความสำคัญของสื่อมวลชน ในฐานะสถาบันหนึ่งของสังคม ที่นอกจากจะเป็นที่พึ่งพิงและตอบสนองความคาดหวังของสังคมแล้ว ปัจจุบันยังต้องเผชิญกับความอยู่รอดทางธุรกิจ อันเป็นความยากลำบากขององค์กรสื่อ

“สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการวิจัยการปรับตัวขององค์กรข่าว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ซึ่งคณะนักวิจัยได้ใช้เวลาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในการเก็บข้อมูลทั้งจากสื่อมวลชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้-เสีย ผ่านการสังเคราะห์และถอดบทเรียน จนกระทั่งมาถึงการเผยแพร่ผลงานและรับฟังความเห็นสาธารณะ จะปรากฏผลที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพสื่อมวลชน ในอันที่จะปรับตัวทางธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาสมดุลทางจริยธรรม และเป็นที่พึ่งพิงของสังคม” นายชวรงค์ กล่าว

โครงการนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ว่า โครงการวิจัยเรื่องการปรับตัวขององค์กรข่าว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางความรู้ในการปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ และบทบาทหน้าที่ต่อสังคม โดยเฉพาะเป็นความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์กรข่าวไปอย่างยั่งยืน ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อและระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของสื่อดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมคนในสังคมต่อการรับรู้ข่าวสารเปลี่ยนไป ผู้คนไม่ว่าจะช่วงวัยใด ล้วนรับข่าวสารจากสื่อดั้งเดิมทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ลดลง แต่ไปรับข่าวสารทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยความสะดวก เข้าถึงง่ายทุกเวลา ซึ่ง อว. เห็นผลกระทบและความสำคัญขององค์กรวิชาชีพข่าว เพราะมีบทบาทต่อสังคมไม่เพียงเฉพาะการรายงานข้อเท็จจริง แต่ยังมีความรับผิดชอบในฐานะผู้กำหนดวาระข่าวสารที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสังคม

“ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย ให้แก่โครงการการปรับตัวขององค์กรข่าว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม ภายใต้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จนนำมาสู่การเผยแพร่ผลงานและรับฟังความเห็นสาธารณะ ท้ายที่สุดขอแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าและความร่วมมือของวิชาการและวิชาชีพด้านข่าว นำไปสู่การพัฒนาสื่อวิชาชีพไทย ที่จะมีบทบาทและความรับผิดชอบในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยต่อไป” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

จากนั้น ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมการวิจัยเพื่อองค์ความรู้พัฒนาสื่อมวลชนไทย” โดยระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างมากในการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน การเชื่อมคนในสังคมเข้าหากัน และเป็นแหล่งข้อมูลช่วยนำพาสังคมผ่านวิกฤติหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ต้องเผชิญกับการปรับตัวในยุคเทคโนโลยีดิทิจัล ในเรื่องการหารายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งในทางวิชาการนั้นให้ความสำคัญในการนิยามเรื่องการให้โอกาสของธุรกิจสื่อ จากการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสื่อด้วย แต่ความท้าทายที่สำคัญและสมดุลระหว่างหน้าที่ ซึ่งผู้ประกอบการสื่อต้องพัฒนากระบวนการทำงานตามมิติของวิชาชีพ ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างมิติด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม รูปแบบการทำธุรกิจ การตัดสินใจ การได้มาซึ่งข้อมูลข่าว และการรักษาความน่าเชื่อถือของข่าวสารที่จะเป็นสถาบันทางสังคม ที่มีความสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

โดย วช. เห็นความสำคัญของการศึกษาการสร้างกระบวนการวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว การสร้างสมดุลของสื่อให้สามารถทำงานรองรับให้ตรงกับโจทย์ความต้องการของสังคม อีกทั้งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสังคมด้วย

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ฉายภาพให้เห็นทิศทางของการปรับตัวของสื่อ ทั้งมุมมองของผู้ผลิตสื่อ ผู้รับสาร ผู้มีส่วนได้-เสียต่างๆ ซึ่งสามารถวางเป็นระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมสื่อ อีกทั้งยังฉายภาพให้เห็นมิติที่ควรส่งเสริมและพัฒนา ทั้งในมิติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค การสร้างและเผยแพร่เนื้อหา จนถึงการหารายได้ ทั้งหมดนี้เป็นต้นแบบที่พัฒนาจากการศึกษา วิจัยและค้นคว้า ทำให้เกิดแพลตฟอร์มรูปแบบการทำงานอันเป็นทางเลือกของสื่อในอนาคต  

“ในมุมมองการวิจัย ยังจะช่วยให้สื่อสามารถมีชุดข้อมูล รูปแบบวิธีการ ที่จะก้าวผ่านจุดของการเปลี่ยนแปลง ไปเป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นในอนาคต ในส่วนนี้การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ถือว่าประเทศไทยยังคงต้องการกลไกการทำงานเพื่อหนุนเสริมในเรื่องดังกล่าวอยู่อีกหลายส่วน และในเรื่องการปรับตัว การเข้าใจถึงผู้รับสาร การสร้างคุณค่าของเนื้อหา ความสัมพันธ์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคนในสังคม เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อให้เห็นความสมดุล บทบาทหน้าที่ และมุมมอง ในกระบวนการ กลไกที่เกี่ยวข้องกับสื่อด้านต่างๆ” ผอ.วช. กล่าว

ดร.วิภารัตน์ ยังกล่าวอีกว่า วช. หวังว่าในอนาคต กระบวนการวิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนหนุนเสริมในการพัฒนาองค์ความรู้ เตรียมความพร้อมและต่อยอดงานวิจัย กระทั่งสามารถเป็นแผนหรือนโยบายนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อสาร และช่วยหนุนเสริมให้สื่อมวลชนไทยมีบทบาท มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี ต่อการร่วมกันพัฒนาสังคมต่อไป

ขณะที่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อดีตรองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ธุรกิจสื่อในศตวรรษที่ 21 กับความรับผิดชอบต่อสังคม” ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนด้วย กล่าวคือ สื่อมวลชนแบบดั้งเดิม หมายถึงผู้ตีพิมพ์ (Publisher) หรือผู้ออกอากาศ (Broadcaster) หรือก็คือหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ถูกคาดหวังให้ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านการนำเสนอเนื้อหาสู่สาธารณะ ว่าอะไรควร-ไม่ควรเผยแพร่ (Gatekeeper) อีกทั้งต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจ (Watch Dog) ด้วย

กระทั่งในปลายศตวรรษที่ 20 ที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย และต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งเข้าสู่ยุคสมัยของสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ที่แต่ละบุคคลสามารถใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อผลิตเนื้อหาได้ ดังที่มีคำพูดว่า “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” แต่อีกด้านหนึ่ง การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกฎหมายระบุว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ต้องมีความรับผิดชอบกับเนื้อหาแบบเดียวกับผู้ตีพิมพ์หรือผู้ออกอากาศในสื่อดั้งเดิม เนื่องจากต้องการให้อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพและนวัตกรรม

ทำให้เนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มไปด้วยข่าวปลอม เนื้อหาสร้างความเกลียดชังและแตกแยกในสังคม จึงเกิดการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังๆ เช่น ในปี 2564 เฟซบุ๊กถูกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง แต่ฝ่ายเจ้าของแพลตฟอร์มก็ยังกึ่งยอมรับกึ่งคัดค้าน เช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นเมตา แม้จะเห็นด้วยว่าเฟซบุ๊กควรมีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาบางประเภท แต่ก็ไม่เห็นด้วยหากต้องถูกกำกับควบคุมแบบเดียวกับสื่อมวลชนที่เป็นองค์กรสำนักข่าว

ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่พูดถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในระดับโลก คือการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งาน และใช้อัลกอริทึมประมวลผลข้อมูล นำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมทางข้อมูล เช่น การจัดหาเนื้อหามาป้อนผู้ใช้งาน จึงเกิดเสียงเรียกร้องถึงผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ต้องมีความโปร่งใส อธิบายเหตุผลได้ และตรวจสอบได้ (Accountability) โดยเฉพาะการทำงานของอัลกอริทึม ว่ามีการกำหนดตั้งค่าการทำงานอย่างไร

“มันมีแง่มุมเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) สิทธิเสรีภาพในการรับรู้และการแสดงออก หรือแม้แต่เรื่องของการครอบงำ (Manipulate) การจัดการกับมติมหาชน (Public Opinion) โดยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิด หรืออะไรต่างๆ แล้วทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมมันค่อนข้างถูกกัดกร่อนไป เพราะไม่รู้ว่าตกลงอันไหนคือความจริง-ความไม่จริง อันไหนคือสิ่งที่เรากำลังถูกจัดการทางความคิดอยู่ อะไรต่างๆ เหล่านี้” ศ.ดร.พิรงรอง ระบุ

ศ.ดร.พิรงรอง ยังกล่าวถึงรูปแบบของการนำเสนอเนื้อหาที่เปลี่ยนไป ว่า เนื้อหาประเภทตัวอักษร (Text) มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่เนื้อหาประเภทภาพและเสียงเคลื่อนไหว (VDO) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งบทบาทของสื่อดั้งเดิมหรือสำนักข่าวที่ลดลงเพราะผู้คนหันไปรับข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเพราะตอบโจทย์วิถีชีวิต ทำให้เห็นการทำธุรกิจขององค์กรสื่อมุ่งเน้นการทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปเพื่อความอยู่รอด ทำให้เนื้อหาที่นำเสนออาจไม่ใช่เนื้อหาที่มีคุณภาพหรือเนื้อหาที่เชื่อถือได้มากที่สุด

ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO TARAD.COM GROUP กล่าวปาฐกถา เรื่อง “อนาคตธุรกิจสื่อมวลชน ในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดด” ชี้ให้เห็นพฤติกรรมในการรับสื่อของผู้คนที่เปลี่ยนไป เช่น ในขณะที่เจนเนอเรชั่นเบบี้บูม กับเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ยังให้ความสำคัญกับสื่อโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือสื่อออนไลน์อย่างไลน์และเฟซบุ๊กตามลำดับ แต่เมื่อมาถึงเจนเนอเรชั่นวาย สื่อโทรทัศน์ตกไปอยู่ในอันดับ 4 ของความสนใจ โดยอันดับ 1-3 เป็นสื่อออนไลน์ คือเฟซบุ๊ก ยูทูบและไลน์ ตามลำดับ ยิ่งเป็นเจนเนอเรชั่นเซด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับสารที่อายุน้อยที่สุดขณะนี้ ไม่มีความสนใจติดตามสื่อดั้งเดิมเลยใน 5 อันดับแรก โดยไล่เรียงอันดับ 1-5 คือ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ไลน์ และเน็ตฟลิกซ์ ตามลำดับ

นอกจากนั้น กลุ่มเป้าหมายของผู้รับสารยังมีลักษณะกระจายเป็นกลุ่มย่อย แบ่งตามช่วงวัยบ้าง ความสนใจในเรื่องต่างๆ บ้าง เช่น รถยนต์ สุขภาพ การเงินการลงทุน ฯลฯ ดังจะเห็นจากเฟซบุ๊กที่มีกลุ่มย่อยเกิดขึ้นเต็มไปหมด ดังนั้นสิ่งที่คนทำสื่อต้องพิจารณาคือ 1.กลุ่มเป้าหมาย (Who) ต้องรู้ก่อนว่าใครเป็นผู้รับสารหรือผู้ติดตามเนื้อหา 2.ทีมงาน (We) เข้าใจสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า

3.ช่องทางในการนำเสนอ (Channel) แม้หลายองค์กรจะมีช่องทางออนไลน์แล้ว แต่คำถามคือมีแล้วใช้ให้ดีได้หรือยัง 4.ใช้ประโยชน์จากความไร้พรมแดน (International) ทำไมเนื้อหาจะต้องถูกจำกัดอยู่แต่เพียงภาษาของท้องถิ่น ในเมื่อช่องทางออนไลน์สามารถเผยแพร่ได้ทั่วโลก และ 5.กลยุทธ์ (Strategy) หรือวิธีการที่จะค้นหา ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพจากปัจจัย 4 ข้อก่อนหน้า

“บทสรุปคือ 1.ภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนไปหมดอย่างสิ้นเชิงแล้ว 2.เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากที่สุด 3.แหล่งข้อมูลเปลี่ยนไป Big Data AI เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำเนื้อหาหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูล 4.คนทำสื่อเปลี่ยนไป คนทำข่าวต้องทำได้ทุกช่องทาง 5.คนรับสารเปลี่ยนไป 6.ความเชื่อเปลี่ยนไป และสุดท้ายคือปรับตัว Who ลูกค้าเป็นใคร We ทีมเราไหวไหม Channel มีแล้วเวิร์คไหม International จะอยู่แต่ท้องถิ่นอย่างเดียวหรือเปล่าขณะที่อำนาจสื่อมันไปทั้งโลกแล้ว และสุดท้าย Strategy ในการไปคืออะไร” นายภาวุธ กล่าว

สำหรับโครงการวิจัยเรื่องการปรับตัวขององค์กรข่าว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ คือ 1.คุณค่า ความหมาย และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (สังคม) ต่อสื่อในยุคดิจิทัล โดย ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม 2.การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม: กรณีศึกษาองค์กรสื่อกระแสหลัก โดย ผศ.อริน เจียจันทร์พงษ์ และ อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ

3.การปรับตัวขององค์กรข่าวออนไลน์เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม โดย อาจารย์ ดร.เอกพล เธียรถาวร และ อาจารย์ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล และ 4.การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม : กรณีศึกษาองค์กรสื่อท้องถิ่น โดย ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม และ อาจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังงานและการนำเสนอผลวิจัยทั้งหมดได้ที่

ดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัย