รู้เท่าทัน แก๊งคอเซ็นเตอร์

“โคแฟค” ชี้ คอลเซ็นเตอร์ยุคดิจิทัล ทุกคนได้สิทธิ์ถูกหลอกตลอดเวลาไม่ใช่เฉพาะวัน “เมษาหน้าโง่” ขณะที่ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติแนะ อาชญากรยังใช้วิธีการเดิม ๆ คือ ทำให้กลัว ดังนั้น รับโทรศัพท์แล้วต้องไม่ตกใจ ขณะที่คนสื่อแนะรัฐ ส่งผ่านความรู้ไปให้ประชาชน ดีกว่า ออก CD แจกไปทั่ว


รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ประเด็น “รู้เท่าทัน แก๊งคอเซ็นเตอร์” โดยมี นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายประพงษ์ แหลมแจง ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ แผนกอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์ ร่วมพูดคุยในรายการกับ นายสืบพงษ์ อุณรัตน์ ละนายณรงค สุทธิรักษ์

ทั้งนี้นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact โคแฟค ประเทศไทย กล่าวถึงปรากฏการณ์คอลเซ็นเตอร์ในปัจจุบันว่า มีวิวัฒนาการหรือพัฒนาที่เริ่มต้นมาจากข่าวลือ-ข่าวลวง เนื่องจากในยุคนี้ประชาชนทั่วไปนิยมรับข้อมูลข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีผู้คนมากมายที่เข้าถึงตัวผู้มีโทรศัพท์มือถือได้ง่าย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ “ได้สิทธิ์” ในการถูกหลอกลวงจากคอลเซ็นเตอร์ทุกคน

“ถ้าถามว่า คอลเซ็นเตอร์ ได้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของประชาชนไปได้อย่างไร หรือได้มากจากที่ไหน ตรงนี้ตอบไม่ได้ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า องค์กร หรือหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์มือถือมากที่สุดคือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และ กสทช. รวมทั้งสถาบันการเงิน ดังนั้นผู้ที่น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุดก็ควรจะเป็น กสทช. หรือเปล่า”

นางสาวสุภิญญา กล่าวต่อไปว่า แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมปราบปรามมาอย่างต่อเนื่อง แต่การหลอกลวงในลักษณะนี้ก็ยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นนอกจากการปราบปรามของภาครัฐแล้ว ประชาชนผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ควรป้องกันตัวเองโดยเฉพาะการใช้ตัวช่วยกรองข่าวลือ ข่าวลวง ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โคแฟค (Cofact) ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีของภาคพลเมือง (Civic Tech) กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสมารถร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็น อีกทั้งยังมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปส่งข่าวให้กับทีมได้ทำการกลั่นกรอง และนำออกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ ก็ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “Whoscall” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย “Start up” ของไต้หวัน ที่สามารถตรวจสอบได้ว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามานั้นเป็นมิจฉาชีพหรือไม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. – 2 พ.ค. 2565 โคแฟค ได้ร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมทั้งภาคเครือข่าย และ “Whoscall” จัดให้เป็นสัปดาห์เวทีเสวนาออนไลน์ เช่น วันที่ 28 มี.ค. 2565 จะเป็นการเสวนาในประเด็น “รับมือมิจฉาชีพในยุค 5G ถึงเวลาวาระแห่งชาติ” วันที่ 30 มี.ค. 2565 สภาการสื่อมวลชน จะพูดถึง “บทบาทของอัลกอริทึมกับการเข้าถึงข้อเท็จจริง” และวันที่ 2 เม.ย 2565 ซึ่งเป็นวัน “International fact checking day” หรือวันตรวจสอบข่าวลวงโลก (หลังวัน เมษาหน้าโง่ : April fool day) ก็จะมีการทบทวนความน่าเชื่อถือของสื่อ รวมทั้งบทบาทการแก้ปัญหาของสื่อ โดยผู้ที่สนใจ สามารถติดตามได้ทาง เพจโคแฟค เพจไทยพีบีเอส และเพจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป และขอย้ำว่า ปัจจุบันเราไม่ได้ถูกหลอกเพียงแค่วันที่ 1 เมษายนเพียงวันเดียวแล้ว แต่เรากำลังถูกหลอกทุกวัน

ทางด้านรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า อาชญากรรมที่มาในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์ ถือว่า เป็นอาชญากรรมข้ามชาติอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้กระทำความผิดได้ใช้ฐานปฏิบัติการนอกราชอาณาจักรไทย และคอลเซ็นเตอร์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพียงแต่เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะ Smart Phone และระบบ Mobile Banking รวมทั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อการติดต่อสื่อสาร และแอพพลิเคชั่น ตกแต่งภาพ เลียนเสียง ฯลฯ ทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือเป็นภาพจริง เป็นเสียงจริงหรือไม่ นอกจากนี้วิธีการ “ทำให้กลัว” หรือ “ทำให้ตกใจ” ก็ยังคงเป็นวิธีการที่มิจฉาชีพในกลุ่มนี้ใช้อยู่ และค่อนข้างได้ผล

“จุดอ่อนของเหยื่อที่ทุกวันนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังใช้อยู่ และค่อนข้างได้ผลคือ ทำให้เกิดความกลัว หรือตกใจ โดยจะมี Dialog หรือ บทพูดตอบโต้ต่าง ๆ รวมทั้งการปลอมแปลงเอกสาร ที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลถึงขั้นปลอมหมายเรียก และปลอมเว็บไซต์ศาลกันแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้เหยื่อตกใจ เพราะเมื่อเหยื่อตกใจก็จะยอมโอนเงิน และเมื่อเงินเข้าบัญชีมิจฉาชีพแล้ว โอกาสที่จะได้คืนนั้นค่อนข้างยาก แต่เจ้าของบัญชีที่รับโอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นบัญชีม้า และผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีม้าที่ว่า ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย”

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนไทยทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านว่า ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่สมัครงานผ่านเว็บไซต์ และจะถูกส่งออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมื่อไปถึงก็จะถูกหว่านล้อมด้วยค่าตอบแทนที่สูง จึงเกิดคำถามว่า คนกลุ่มนี้ถูกบังคับให้ทำงาน หรือทำงานด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแนะนำประชาชนในการป้องกันการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ ไม่ตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน และขอให้ติดตามข่าวอาชญากรรมออนไลน์ เหมือนกับการติดตามข่าวอาชญา เนื่องจากการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร และการรู้เท่าทันสื่อ เปรียบเสมือนการฉีกวัคซีนป้องกันโควิด-19

นายประพงษ์ แหลมแจง ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ แผนกอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์ กล่าวว่า อาชญากรรมในลักษณะนี้ เกิดขึ้นก่อนปี 2560 และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเดินทางออกไปทลายและจับกุมหลายครั้ง จากนั้นก็เงียบหายไปกระทั่งเริ่มระบาดอีกครั้งหนึ่งในช่วงโควิด-19 ด้วยวิธีการเดิม ๆ คือ ทำให้เหยื่อกลัว และพัฒนาเนื้อหาที่ใช้หลอกลวงไปตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับเรื่องที่เคยใช้ไปแล้ว เหมือนกับศิลปินตลกที่ต้อง “หามุกใหม่” อยู่ตลอดเวลา

“ฐานปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ไม่ได้เน้นเฉพาะกัมพูชา เพราะเมื่อปี 2561 ในยุคที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. ในปีนั้นตำรวจไทยออกกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 11 ครั้ง ใน 9 ประเทศไม่เฉพาะที่กัมพูชา เช่น มาเลย์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และดูไบ ฯลฯ เป็นต้น”

นายประพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ได้หมายความเกิดจากการรับโทรศัพท์ แต่เกิดจากความกลัว และการขาดสติของผู้รับโทรศัพท์ ดังนั้นถ้าผู้รับโทรศัพท์ขาดสติ หรือเกิดความกลัวกับคำหลอกลวงก็จะเป็นเหยื่อทันที ขณะที่หน่วยงานราชการที่แม้ว่า ทุกวันนี้จะดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง แต่การให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นเรื่องจำเป็น และจำเป็นมากกว่าการผลิต CD เพลงออกมาแจกจ่าย