สื่อฯ ควรเฝ้าระวังเหตุคุกคามทางเพศ “อย่างไร”

มูลนิธิเพื่อนหญิง   นักข่าวสาว   อาจารย์นิเทศฯ จุฬาฯ  สรุป  “คุกคามทางเพศ” ระวังได้ ด้วยเนื้อหาที่ให้ความรู้-วิธีป้องกันภัยทั้งจากบุคคล/สถานที่ ผ่านแพลตฟอร์มฮิต แต่ไม่ควรใช้คำว่า “ห้องเชือด” และ “เหยื่อ”  ย้ำ “คดีปริญญ์” คือ อาชญากรรม-ภัยสังคม พร้อมแนะ “สื่อต้องยกระดับ” กับต้องหาวิธีการ ให้ผู้เสียหาย เดินขึ้นโรงพักได้ โดยไม่ต้องสวมแว่นตา ใส่หมวก คลุมไอ้โม่ง

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565 ซึ่งออก อากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “สื่อฯ ควรเฝ้าระวังเหตุคุกคามทางเพศอย่างไร” โดยมี นางสาวธนวดี ท่าจีน  ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อนหญิง  นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ บรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  รวมทั้ง ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยในรายการ กับนายวิชัย วรธานีวงศ์ และนายณรงค สุทธิรักษ์

อนุสนธิจากการที่อดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า กระทำอนาจาร และข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 10 ราย ซึ่งได้กลายเป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจ หลังจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมคำถามที่เกิดขึ้นจากสังคมคือ ใครที่จะต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้หญิง และ “สื่อฯ ควรเฝ้าระวังเหตุคุกคามทางเพศอย่างไร”

ทั้งนี้ นางสาวธนวดี ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ข้อมูลจากการทำงานของมูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุว่า ในแต่ละปีมีจะผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในจำนวนไม่น้อย เช่น ปี 2564 มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงในกลุ่มนี้มากกว่า 1,800 ราย แบ่งออกเป็น 1) ผู้หญิงในกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว คือ ถูกทุบตีจากสามี หรือสามีไปมีหญิงอื่น หรือสามีไม่รับผิดชอบ  2) ผู้หญิงในกลุ่มที่ถูกคุกคามทางเพศ  เช่น นักศึกษา หรือผู้หญิงที่มีแฟนแล้วถูกแฟนของตัวเองทำร้าย รวมทั้งกรณีพ่อบังเกิดเหล้าข่มขืนลูกสาวตัวเอง  3) ผู้หญิงในกลุ่มไม่พร้อม เช่น ท้องในวัยเรียน หรือท้องในระหว่างการทำงานแต่ตัวเองยังไม่มีความสามารถในการเลื้ยงดูบุตร และผู้หญิงที่ตั้งท้องแล้วผู้ชายไม่รับผิดชอบ จึงต้องการยุติการตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงเหล่านี้ จะขอคำปรึกษา และขอความช่วยเหลือเพื่อให้มูลนิธิฯ ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหาทางช่วยเหลือ

“จริงๆ แล้ว ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกทารนุกรรม ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ถูกละเมิดทางเพศ ถูกสามีทำร้าย ถูกทุบตี หรือตั้งท้องขณะยังที่ตัวเองยังไม่พร้อม แต่ก็มีความอายที่จะเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองให้กับหน่วยงานต่าง ๆ หรือออกมาเปิดเผยให้กับสังคมได้รับรู้ แม้แต่กับพ่อแม่ก็ยังไม่ยอมเปิดเผย เพราะเป็นห่วงว่า พ่อแม่ของตัวเองจะรับไม่ได้ อีกทั้งยังไม่มีความกล้าพอ ที่จะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิด ต่างกับผู้หญิงในยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้หญิงมากนัก และมักจะมีการตั้งคำถามในเชิงตำหนิ เช่น เป็นผู้หญิงทำไมไปเดินคนเดียวในเวลากลางค่ำกลางคืน ทำไมเวลาผู้ชวนแล้วจึงไปกับเขาทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เสี่ยงจะถูกล่วงละเมิด หรือทำไมแต่งตัวโป๊ ฯลฯ เมื่อถูกคำถามเหล่านี้ และมีการบอกต่อ ๆ กันไป ความกล้าของผู้ถูกกระทำจึงหายไป”

นางสาวธนวดี ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อฯ ในการทำหน้าที่เฝ้าระวังเหตุคุกคามทางเพศว่า  สื่อควรผลิตเนื้อหาในลักษณะที่เป็นการแนะนำ แล้วเผยแพร่ผ่านทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะแนะนำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า มีอะไรบ้าง หรือ แนะนำว่า เมื่อเด็กถูกละเมิดทางเพศเด็กควรทำอย่างไร  รวมทั้งต้องชี้ถึงพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่า อาจจะเป็นภัยกับตัวเด็ก เช่น คนใกล้ตัว  พื้นที่บางพื้นที่ในโรงเรียน  ออนไลน์  และเรื่องเพศ  เนื่องจากพ่อแม่ และโรงเรียนก็มีเวลาให้เด็กเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สื่อจึงควรมีบทบาทในการเข้ามาช่วยเสริมในการเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าว และไม่ควรใช้คำว่า ห้องเชือด และคำว่า เหยื่อ

ด้านนางสาวนิภาวรรณ กล่าวว่า เรื่องการล่วงละเมิดในแวดวงการเมืองไทย มีมานานแล้ว แม้แต่ผู้สื่อข่าวก็ยังเคยถูกนักการเมืองลวนลามโดยไม่รู้ตัวก็มี เพียงแต่ไม่เป็นข่าวดังเหมือนกับข่าวอดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งในพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และสื่อฯ ก็ติดตามและนำเสนออย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสื่อฯ เป็นที่พึ่งและเป็นที่คาดหวังของผู้คนในสังคม เราจึงมักจะได้เห็นการที่มีผู้คนเข้าร้องเรียนกับสื่อ เพราะมั่นใจว่า ถ้าสื่อรายงานเรื่องใด เรื่องนั้นก็จะได้รับการใส่ใจดูแล และได้รับการจัดการรวดเร็วขึ้น

ส่วนการคุกคามทางเพศ ถือเป็นเรื่องอาชญากรรมและเป็นภัยสังคมอย่างหนึ่ง ที่แทรกซึมอยู่ในเกือบทุกองค์กร เช่นเดียวกับคดีดังที่เกิดขึ้น เช่น คดีนายปริญญ์ (ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์) จะเห็นได้ว่า โน้มเอียงไปในเรื่องของอาชญากรรมเพราะเป็นภัยสังคม และสื่อควรมีบทบาทเฝ้าระวังด้วยการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการเตือนภัย เพื่อป้องกันและการแก้ปัญหาที่อาจะเกิดขึ้น

“จริง ๆ แล้ว การคุกคามทางเพศ ก็เหมือนกับเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะมีการหลอกลวงเหมือนกัน เพียงแต่วิธีการจะต่างกันคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะในอุปกรณ์สื่อสาร แต่การคุกคามทางเพศ เป็นเรื่องที่ถึงเนื้อตัว และอาจจะเกิดจากคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือเกิดจากคนใกล้ชิด หรือเกิดจากคนในที่ทำงาน หน้าที่ของ สื่อฯ จึงต้องหาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มานำเสนอ เพื่อเป็นการเตือนภัยและให้สังคมได้ตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากเหตุคุกคามทางเพศ”

ดร.ชเนตตี กล่าว่า มีกรณีศึกษาล่าสุดเป็นกรณีเปรียบเทียบเหตุคุกคามทางเพศ ที่เกิดจากนักการเมือง เทียบเคียงกับการคุกคามทางเพศที่เกิดจากผู้ที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง หรือไม่ได้มีอำนาจมากนัก โดยพบว่า กรณีการคุกคามทางเพศที่นักการเมืองเป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น สื่อส่วนใหญ่ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว โดยเฉพาะการตระหนักสิทธิและการคุ้มครองผู้เสียหาย เช่น ระมัดระวังที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สียหาย ยกเว้นผู้เสียหายหนึ่งรายที่ยินยอมเปิดเผยชื่อและใบหน้าแม้ว่า จะเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงก็ตาม ซึ่งหมายความว่า สื่อที่ทำหน้าที่ในลักษณะนี้มีความเข้าใจ แต่ก็ยังมีสื่อบางกลุ่มที่ยังต้องพัฒนาต่อ

ขณะที่สื่อทั้งหมดจะต้องยกระดับตัวเองขึ้นไปอีก กล่าวคือ แม้ทุกวันนี้สื่อจะพยามปกปิดข้อมูลในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงแล้วก็ตาม แต่ผู้หญิงก็ยังไม่รู้สึกว่า Comfort กับการที่จะต้องเปิดเผยตัวตนในลักษณะที่ต้องปิดบังในหน้า ต้องสวมแว่นตา ต้องคลุมไอ้โม่งขณะเข้าพบเจ้าหน้าที่ พร้อมกับสื่อฯ ที่ดักรออยู่เต็มไปหมด  ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายควรสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่สื่อได้  โดยไม่ต้องปิดบังอำพรางตัวเอง เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

“ในอนาคต ดิฉันต้องการเห็นภาพผู้เสียหาย ปรากฏอยู่ในพื้นที่สื่อ โดยที่พวกเธอไม่ต้องปกปิดอัตลักษณ์ของตัวเอง เธอสามารถเดินไปที่สถานีตำรวจได้โดยปกติเหมือนคนทั่วไป มีเสื้อผ้าหน้าผมที่เป็นตัวตนของเธอ ไม่ต้องสวมแว่นตา ไม่ต้องใส่หมวก ไม่ต้องคลุมไอโม่ง ฯลฯ  ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของสื่อ ที่จะต้องหาวิธีการนำเสนอว่า จะนำเสนออย่างไร  โดยไม่ให้มีการเปิดเผยอัตลักษณ์ของพวกเธอเหล่านี้ แม้ว่า พวกเธอจะเดินเปิดหน้าขึ้นโรงพัก และต้องถือว่า สิ่งนี้คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง และในเมื่อเราเป็นผู้ถูกละเมิดทางเพศ  ทำไมเราจึงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สื่อต้องคิดวิธีการนำเสนอ โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเดินคลุมไอโม่งขึ้นโรงพักอีกต่อไป”