รับสารภาพตลอดข้อหา : ‘จอกอ’

googlehangout

รับสารภาพตลอดข้อหา

รับสารภาพตลอดข้อหา : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

              ไม่ว่าเวทีไหน ทั้งนักวิชาการ หรือนักวิชาชีพด้วยกันเอง ก็มักจะตั้งข้อสังเกตอยู่เสมอว่า องค์กรวิชาชีพสื่อไม่มีความสามารถในการกำกับดูแลกันเอง

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ถ้อยคำที่ว่า เมื่อสมาชิกไม่พอใจก็ลาออกไป สภาวิชาชีพก็ไร้น้ำยาทำอะไรไม่ได้ ถึงจุดนี้ก็จะมีความเห็นแตกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเมื่อได้พิสูจน์แล้วว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กลไกการกำกับทางสังคมใช้การไม่ได้ ก็ควรมีกฎหมายบังคับ ตั้งแต่ระดับอ่อนๆ  คือบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องสังกัดองค์กรวิชาชีพที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม ซึ่งเป็นข้อเสนอของผมที่มีต่อ คสช. และปรากฏอยู่ในพิมพ์เขียวปฏิรูปสื่อขณะนี้

จนกระทั่งเข้มสุด ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เหมือนสภาทนายความ แพทยสภา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาต

ฝ่ายหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเก่าคนแก่ที่ร่วมกันสร้างสภา นสพ. ขึ้นมา เห็นว่าหลักการในการกำกับดูแลกันเอง โดยใช้มาตรการทางสังคมนั้น ยังคงศักดิ์สิทธิ์และต้องรักษาเอาไว้ เพราะหากเปิดช่องให้กฎหมายเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเรียกเป็นการส่งเสริม หรือกำกับควบคุม กฎหมายก็จะลากคนที่มีอำนาจเข้ามาด้วย และจะเกิดการใช้อำนาจโดยที่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ผู้มีอำนาจก็จะกำหนดทุกอย่างตามชอบใจ และในที่สุด ความเป็นอิสระขององค์กรสื่อก็จะไม่มีเหลืออยู่ จะกลายเป็นองค์กรใต้รัฐ ที่ต้องซ้ายหัน ขวาหันตามผู้มีอำนาจ

ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผมต้องพยายามปกป้ององค์กรนี้ ต้องพยายามอธิบายอีกแง่มุมหนึ่ง ที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ และไม่เข้าใจ ต้องเรียกร้องเชิญชวนให้เข้าไปดู เว็บไซต์ของสภา นสพ. เพื่อให้ภาพและเรื่องงานที่เราทำเป็นคำอธิบายแทนความเข้าใจ และรู้สึกเอาเองว่า เราได้ทำหน้าที่แล้วอย่างเต็มที่ ไม่เพียงงานประจำในการสอดส่องดูแลสื่อที่ละเมิดจริยธรรมเท่านั้น หากแต่งานในเชิงรุกในการสร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม ทั้งในระดับผู้ประกอบวิชาชีพ นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ และการมองไปในอนาคตเพื่อสร้างองค์กรกำกับที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทใหม่ของสังคม ยังเป็นภาระหน้าที่ที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องด้วย

และสำคัญยิ่งที่ผมจะไม่ยอมให้องค์กรนี้เป็นอย่างเด็ดขาด คือ การสูญเสียอิสรภาพ สูญสิ้นความเป็นอิสระ ต้องทำงานภายใต้คำบงการของผู้มีอำนาจ หรือนายทุนสื่อ

แต่ไม่ว่า จะมีเหตุผลโต้แย้งหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่า ความคิด ความเห็นของทุกคน ล้วนมาจากความปรารถนาดี ที่ต้องการเห็นองค์กรวิชาชีพสื่อมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการกำกับ ดูแลสื่อได้ ดังนั้น นอกจากความคิด ความเห็นแล้ว การระดมสมองเพื่อช่วยกันหาทางออก เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะในทุกโมเดลที่มีการเสนอกันมา ทั้งก่อนหน้าที่จะเข้ามาสู่กระแสปฏิรูปสื่อ และหลังจากนั้น ล้วนมีข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุ ด้วยผลทั้งสิ้น

และในฐานะที่ทำงานอยู่ในสภานสพ. ต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ได้ศึกษาข้อเสนอมากมาย ได้อยู่ในงานจริง ได้ทดลองใช้บางโมเดลในการปฏิบัติงานจริง และการคิดคู่ขนานในการกำกับดูแลสื่อ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ หรือสื่อรูปแบบใด สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย ก็คือ ไม่มีแนวทางหรือรูปแบบใดที่สมบูรณ์แบบ โดยไม่มีคำถามเลย ทั้งรูปแบบการกำกับดูแลกันเอง และการกำกับดูแลร่วม ซึ่งถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และกสทช.กำลังพยายามช่วงชิงบทบาทการนำในการเป็นองค์กรกำกับจริยธรรมวันนี้

ได้รับคำเชิญชวนจาก กสทช.ให้ไปบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานกำกับ ดูแลสื่อ เวทีภาคกลางที่อยุธยาเมื่อวานนี้ และภาคอีสาน ขอนแก่น ราวต้นสัปดาห์หน้า ผมตั้งใจจะบอกว่า ไม่มีการกำกับดูแลชนิดไหน ดีที่สุดเท่าการกำกับดูแลกันเอง เพียงแต่เราจะก้าวข้ามความคิดในเชิงอุดมคติ และอยู่ในโลกความเป็นจริงได้อย่างไร