สื่อเทียมชวนตี ‘จอกอ’

googlehangout

สื่อเทียมชวนตี

สื่อเทียมชวนตี : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                ตอนที่ถูกชวนไปให้ข้อมูลปฏิรูปสื่อ กับคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของกระทรวงกลาโหม ผมพบว่า คณะนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตระเตรียมข้อมูล เพื่อเป็นสารตั้งต้นให้แก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น ดูกระตือรือร้นอย่างยิ่ง คืนหนึ่งผมได้รับคำขอร้องขอข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการด่วน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และได้จัดการให้ตามประสงค์ภายในเวลาที่ต้องการ

ภาพเหล่านี้ทำให้คาดหวังสูงว่า เมื่อได้ประมวลข้อเสนอที่พวกเขาได้จากหลายฝ่ายแล้ว น่าจะเป็นข้อมูลที่รอบด้าน ครบถ้วน และเป็นระบบ เพื่อให้ สปช.ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด

แต่เมื่อข้อมูลทั้งหมด ปรากฏขึ้นเป็นกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน จัดทำโดย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม คล้ายกระดาษเป็นชิ้นๆ ที่ถูกนำมาต่อกัน โดยคนต่อไม่สนใจว่ามันจะอ่านรู้เรื่องหรือไม่ ภาพที่เหมือนกัน จะถูกต่อมาเป็นภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ หรือข้อมูลบางส่วนจะถูกนำมาสังเคราะห์ว่า เป็นข้อมูลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริงหรือไม่ เราอาจเรียกกรอบความเห็นร่วมนี้ว่า เป็นการตัดต่อทางพันธุกรรม ชนิดผิดฝา ผิดตัว และหากมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้คนในชาติ ก็ต้องสงสัยในการเลือกใช้บางข้อมูล ที่มีแต่จะชวนตีกันเท่านั้น

โปรดสังเกตคำที่เราพยายามหลีกเลี่ยง แต่ในการนิยามคำว่าสื่อของคณะเตรียมการกระทรวงกลาโหม ใช้คำว่า สื่อแท้ สื่อเทียม ด้วย (หน้า 13)

นอกจากนั้นยังเขียนถึงปัญหาของสื่อสารมวลชน แบบวกวน เป็นตัวอย่างภาษาเขียนที่อาจต้องปรับปรุง

“ปัญหาของสื่อสารมวลชน ที่บ่งบอกว่าอย่างไหน คือสื่อแท้ หรือสื่อเทียม ต้องเรียนรู้และทำความจริงให้ปรากฏ โดยสื่อที่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สะท้อนถึงพันธกิจของสื่อ ไม่มีอุดมการณ์ทางวิชาชีพ ขาดจิตสำนึกสาธารณะ เพียงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเฉพาะเรื่อง หรือใช้สื่อเพื่อหลอกลวงสังคม ในฐานะเป็นเครื่องมือทางธุรกิจและการเมือง ความแท้ และความเทียมจึงขึ้นอยู่ตรงจิตสำนึกของคนทำสื่อ ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดในการปฏิรูปสังคม การปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนในปัจจุบันอีกด้วย” (หน้า 13 วรรคสอง)

อ่านดูก็คงพอเข้าใจได้ว่า คนเขียนไม่ได้ต้องการสื่อสารอะไร นอกจากจะบอกว่าสิ่งที่เขาเรียกว่า สื่อเทียมนั้น คือปัญหาของการปฏิรูปอย่างน้อยที่สุดสามด้าน

แต่ผมมองกลับกันว่า การไปนิยามสื่อบางประเภท โดยเฉพาะที่อยู่นอกสื่อกระแสหลัก เป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง ฝ่ายเดียวว่า เป็นสื่อเทียม เหมือนที่คนในองค์กรสื่อบางคนเคยให้คำจำกัดความ คล้ายแยกสื่อดี ออกจากสื่อเลว เป็นความเห็นที่ผิด เพราะไม่ว่าเขาจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร หรือเลือกส่งสารแบบไหน พวกเขาก็ยังเป็นสื่อ ประเด็นอยู่ที่การให้ความรู้ที่เท่าทันสื่อกับผู้รับสาร ให้แยกแยะได้ว่า สารที่เขาได้รับจากสื่อประเภทต่างๆ นั้น ควรเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

เพราะแม้บางสื่อจะถูกเรียกว่าสื่อเทียม แต่ก็มีผู้รับสารจำนวนมาก ยินดีที่จะรับสารนั้น เพราะเป็นสารที่สอดคล้องกับทัศนคติ ความคิดความเชื่อของเขา เป็นสารที่สร้างความพึงพอใจให้เขา นัยเดียวกัน สื่อกระแสหลักที่พยายามนำเสนออย่างเป็นกลาง ให้พื้นที่กับทุกฝ่าย ก็ยังถูกมองว่าเป็นสื่อของกลุ่มทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นสื่อเทียมก็ได้ แต่ในเรื่องของการใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแยกพิจารณาต่างหาก

ไม่มีใครสามารถไปกำหนดมาตรฐานความเป็นสื่อได้ว่า ใครเป็น “สื่อแท้” หรือ “สื่อเทียม” หรือแม้กระทั่งผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย บางครั้งเขาก็เรียกตัวเองว่าสื่อ หลายครั้งที่คนติดตามข่าวสาร ข้อมูลจากคนเหล่านี้ก็ให้ความเชื่อเสมอสื่อเช่นกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สื่อ แต่อยู่ที่คนเลือกรับสื่อ