การทำข่าวสืบสวนสอบสวน กรณีศึกษา ‘ส.ว.-ส.ต.ท.(หญิง)’

ตำรวจ-นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา และสื่อแจง ตำรวจ-นักข่าว สอบสวนต่างกัน ชี้กรณี ส.ว. – ส.ต.ท. ไม่ซับซ้อนแต่ไม่ง่าย สื่อมืออาชีพระบุการสืบสวนปัจจุบันไม่เหมือนอดีต

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง ทบทวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน กรณีศึกษา ‘ส.ว.-ส.ต.ท.(หญิง)’ ดำเนินรายการโดย นายณรงค สุทธิรักษ์ และ น.ส.จินตนา จันทร์ไพบูลย์ โดยมีผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน นายนพรัฐ พรวนสุขบรรณาธิการข่าวการเมืองและยุติธรรม สำนักข่าวผู้จัดการ และกองบรรณาธิการสถานีข่าวนิวส์วัน (NEWS1) และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายตำรวจนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ​มีมุมมองถึงการทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนของสื่อมวลชน กับการทำหน้าที่ของตำรวจว่า มีความต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนได้ คือ วิชาชีพของตำรวจ ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา กับแนวทางการทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนของผู้ทำข่าวหรือสื่อสารมวลชน 

กรณีแรก เนื่องจากตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และสืบสวนสอบสวน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ต้องการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือสืบสวนหาข่าวก่อนเกิดเหตุ ซึ่งถือว่า เป็นการสืบสวนเพื่อป้องกันก่อนจะมีเหตุเกิดขึ้น ขณะที่การทำข่าวในเชิงสืบสวน จะเน้นนำเสนอเนื้อหาข้อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี เพื่อรายงานต่อสาธารณชน 

การนำเสนอก็จะมีรูปแบบแตกต่างกับการทำคดีของตำรวจ คือ การทำคดีของตำรวจ ต้องมีพยานหลักฐานพอสมควร เพื่อใช้ดำเนินคดีกับบุคคล หรือแม้แต่การสืบสวนข้อมูลในเชิงลึก การหาข่าวต่าง ๆ ก็ต้องมีการใช้พยานหลักฐานอื่น  ๆ ประกอบด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยี การสดับตรับฟัง การหาข้อมูลจากแหล่งข่าว ทั้งที่เปิดเผยตัวตนได้ และเปิดเผยตัวตนไม่ได้ ก็มีความใกล้เคียงกับเชิงเนื้อหาอยู่บ้าง

ข่าวสืบสวนสื่อหลักต้องเน้นข้อมูลถูกต้องแม่นยำ

สำหรับปรากฎการณ์ ข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่อในปัจจุบัน รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่า มีการรายงานทั้งในส่วนของสื่อสารมวลชนหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) รวมทั้งบรรดานักข่าวสมัครเล่น ฉะนั้นรูปแบบการนำเสนอในปัจจุบันจึงแตกต่างกับช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว 

ขณะที่สื่อกระแสหลัก คนทำข่าวส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาชีพ จบการศึกษาจากสายสื่อสารมวลชน ก็จะมีระบบการเรียนการสอน ที่เชื่อว่า มีคุณภาพอยู่แล้ว เพียงแต่การนำเสนอ อาจจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจหน้างานในแต่ละคดี เพราะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้สื่อข่าวจบใหม่ กับรุ่นพี่ รูปแบบการสื่อสารและการนำเสนอข้อมูล ก็อาจจะไม่เข้มข้น เหมือนอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทำคดี

ดังนั้นองค์ความรู้ของนักข่าวเพื่อทำงานข่าวในเชิงการสืบสวนสอบสวน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่แม่นยำไปยังผู้รับสาร จึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการนำเสนอข่าวในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เน้นความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นความถูกต้อง ความแม่นยำของสารที่จะนำเสนอไปยังผู้รับด้วย

สื่อโซเชียล หมิ่นเหม่ละเมิดกฎหมาย

ส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ นักสืบโซเชียล และบรรดา YouTuber รวมทั้งผู้ที่พยายามจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น อาจจะมีความน่ากังวลอยู่พอสมควร ในแง่ของการเน้นความเร็ว ความฉับไว เพราะปัจจุบันใครๆ ก็สามารถเป็นนักข่าวได้ เป็นผู้นำเสนอได้ และทุกคนพยายามคิดค้นรูปแบบ รวมทั้งแง่มุมในการนำเสนอ เพื่อให้ถูกใจผู้รับสาร ดังนั้นผู้รับสารเอง ก็ต้องยอมรับว่า คนที่เป็นสื่อนั้น มีความหลากหลาย ทั้งอายุ อาชีพ องค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะต่าง ๆ แต่ปัจจุบันผู้รับสารมักจะดูเพียง ยอดผู้ติดตาม หรือมักจะติดตาม “อินฟลูเอนเซอร์” เป็นส่วนใหญ่ แต่บางกรณีเราพบว่า สารที่สื่อออกไปจำนวนไม่น้อยจาก “สื่อสังคมออนไลน์” หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมาย และตรงนี้เป็นเรื่องน่ากังวล

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เน้นย้ำว่า การทำการบ้านล่วงหน้า (ศึกษาข้อมูล) ก่อนลงทำข่าวในพื้นที่ เป็นเรื่องจำเป็น ทั้งงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ และการทำข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่อ โดยระบุว่า ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคง ในช่วงเวลาที่ต้องหา หรือต้องฟังข้อมูลข่าวสารที่ได้มา ก็จะต้องรับฟังรอบด้าน เช่น มีข่าวมาว่า จะมีการก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือดักทำร้ายกัน หรือลอบวางระเบิด เมื่อฟังแล้วผู้ฟังก็จะต้องพิจารณาว่า แหล่งข่าวที่ให้ข่าวมา มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อันนี้เป็นแหล่งข่าวแรก (Primary source)

นักข่าวเข้าไม่ถึงข้อมูลเชิงลึก

ต่อมาจะมีการเช็คแหล่งข่าวที่สอง ที่สาม เช็คข้อมูลข้างเคียง รวมทั้งตรวจสอบจากฐานข้อมูลอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ตรวจสอบประวัติบุคคลว่า เคยต้องโทษ หรือก่อเหตุลักษณะแบบนี้มาก่อนหรือไม่ และหากแหล่งข่าวที่สอง ที่สามเชื่อถือได้ ก็หมายความว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุ “มี” ก็จะมีมาตรการการแจ้งเตือน มีการเฝ้าระวัง และมีการประกบ

ในทางกลับกัน กรณีการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลข่าวสารของผู้สื่อข่าวเพื่อนำเสนอให้กับผู้รับสารนั้น จะมีความแตกต่างกับการทำงานของตำรวจ ตรงที่เวลานักข่าวไปทำข่าว อาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล หรือไม่สามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลได้เหมือนตำรวจ หรือเหมือนกับหน่วยงานความมั่นคง ฉะนั้นนักข่าวจึงจะต้องรับฟังให้รอบด้านต้องมีมากยิ่งขึ้น เพราะการบอกเล่าจากแหล่งข่าว หรือจากตำรวจนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะมีฐานข้อมูล เช่น มีลักษณะของอาวุธปืน ยานพาหนะ รวมทั้งบุคคลต้องสงสัย ซึ่งมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ตรงนี้คือ ความยากง่ายที่แตกต่างกัน

ความรู้ด้านกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญของคนข่าว

สำหรับการเตรียมตัว รวมทั้งการวางแผนวิธีการทำงานสืบสวนสอบสวน ในการทำข่าวยุคดิจิทัลนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มีข้อแนะนำว่า นอกจากการทำงานในระบบของกองบรรณาธิการของสื่อหลัก คือ ประชุม คิด วิเคราะห์ คัดกรอง และกำหนดแผนงานข่าวประจำวันก่อนออกไปทำข่าวแล้ว อาจจะต้องเพิ่มเติมทักษะ ประสบการณ์ หรือองค์ความรู้  ที่นอกเหนือจากทางด้านสื่อสารมวลชน เช่น ประเด็นอาชญาวิทยา กระบวนการและขั้นตอนการสอบสวน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่ง

ส่วนที่สอง คือ “กลุ่มสื่อสมัครเล่น” เช่น ยูทูบเบอร์ “อินฟลูเอนเซอร์” ต่าง ๆ  ควรศึกษาทั้งข้อกฎหมาย กฎ-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องไม่นำเสนอเนื้อหาในมุมที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรม หรือกระทบต่อความรู้สึกของผู้รับสาร ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้เสียหาย นิยมไปร้องเรียนกับ “อินฟลูเอนเซอร์” ตามเพจต่าง ๆ ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา ความทันต่อสถานการณ์ จึงส่งผลให้พบว่า ในบางกรณี เกิดการกระทบ หรือละเมิดต่อสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ในกลุ่มของสื่อหลัก หรือสื่อมวลชน คาดว่า มีความระมัดระวังในเรื่องของการละเมิดจริยธรรมมากอยู่แล้ว เพราะถูกกำกับโดยองค์กรที่มีความเข้มข้นในการตรวจสอบเนื้อหา หรือแม้จะมีหลุดบ้าง แต่ก็จะเป็นบทเรียนที่เขาต้องทบทวน แต่สื่อสังคมออนไลน์ สื่อสมัครเล่น และสื่ออิสระต่าง ๆ ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น

นอกจากนี้ความรู้ด้านกฎหมาย ก็มีความจำเป็นสำหรับสื่อ เพราะจากที่ติดตามข่าวอาชญากรรม มักจะเห็นเป็นประจำว่า การรายงานข่าว หรือการพาดหัวข่าว ไม่ตรงกับลักษณะของการกระทำผิด เช่น คนร้ายคนเดียวก่อเหตุ “ชิง” ทอง (ชิงทรัพย์) แต่สื่อพาดหัวว่า “ปล้น” ร้านทอง (กรณีปล้นร้านทองต้องเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปและมีอาวุธ) ตรงนี้ควรมีการให้ความรู้ เพื่อผู้รับชม รับสาร จะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เช่น ข่าวชิงทรัพย์ แต่เขียนว่า ปล้นทรัพย์  ทำให้สังคมเราดูน่ากลัว เพราะจะเกิดความเข้าใจที่ผิด ๆ ว่า ประเทศไทยมีการปล้นกันบ่อยมาก

กรณี ส.ว. – ส.ต.ท. “ไม่ซับซ้อนแต่ไม่ง่าย”

สำหรับการทบทวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน กรณีศึกษา ส.ว. กับ ส.ต.ท.หญิง ที่สื่อหลักยังนำเสนอแบบอ้อม ๆ แม้จะมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วก็ตาม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า  

“ต้องยอมรับว่า คดีนี้ดูเหมือนเป็นคดีที่ไม่ซับซ้อน แต่ไม่ง่าย คดีฆ่ากันตาย ยิงกันตาย พยานหลักฐานน้อยกว่านี้แต่การสืบสวนสอบสวนก็ยังทำกันจนติดตามจับกุมคนร้ายได้ แต่กรณีนี้ต้องเรียกว่าเป็นเรื่องคลาสสิค ในแง่ที่ว่า ไม่ได้เกี่ยวเฉพาะตัวเนื้อหา แต่เกี่ยวข้องในเชิงระบบ ทั้งระบบอุปถัมภ์ ความช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับอำนาจ อิทธิพล ฉะนั้นความสำเร็จที่จะสืบสวนสอบสวนของตำรวจเอง หรือการนำเสนอข่าว ถ้าเจอปัจจัยพวกนี้ ผมว่า ส่งผลแน่นอนกับการนำเสนอข่าว และต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่าย ในการที่จะทำให้ความจริงหลายอย่างปรากฏ ก็ต้องให้กำลังใจสื่อในการนำเสนอ รวมทั้งผู้รับผิดชอบ ที่พยายามจะทำให้ความจริงปรากฏ ให้ได้มากที่สุด” 

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ทิ้งท้ายว่า ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของสื่อมวลชน หากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานภาครัฐในเชิงวิเคราะห์ และนำเสนอในสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยไม่กระทบหรือละเมิดสิทธิของผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหามากเกินไป และไม่ละเมิดกฎหมาย ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

ข่าวอาชญากรรมย้ายจาก นสพ. ไปสู่ จอทีวี

ด้านมุมมองของสื่อมืออาชีพ บรรณาธิการข่าว นพรัฐ พรวนสุข มองปรากฎการณ์ การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของสื่อทุกวันนี้ว่า เปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยและไม่ได้สังเกตก็คือ การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน คดีต่าง ๆ ปรากฎบนทีวี ช่องธุรกิจช่องใหญ่ ๆ เป็นประจำ ต่างไปจากสมัยก่อน ที่การนำเสนอคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ก็ต้องรอให้สะเด็ดน้ำจริง ๆ หรือรอให้เรื่องจบ มีการจับกุมคนร้ายได้ จึงจะเป็นข่าว และเป็นเพียงข่าวสั้น ที่สื่อหนังสือพิมพ์ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก 

แต่ปัจจุบันกลับตาลปัตร กล่าวคือ ข่าวสืบสวนสอบสวนที่มักจะอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน หัวสีทั้งหลาย กลับไปปรากฏอยู่บนจอทีวี และกลายเป็นข่าวที่ทำเรตติ้งแทนที่ละคร หรือรายการโชว์ต่าง ๆ ทำให้ข่าวการสืบสวนสอบสวนเป็นจุดขายของทีวี ทำให้ธุรกิจกลับคืนมา ช่องต่าง ๆ ก็จะหารายการลักษณะนี้มานำเสนอ ขณะที่หนังสือพิมพ์ในปัจจุบันกลับไม่ได้ทำ รวมทั้งแหล่งข่าวต้นเรื่อง (Primary source) เองก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังสือพิมพ์แล้ว จากที่เคยไปร้องเรียนกับหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันกลับไปร้องทนายความ แล้วพากันไปออกรายการทีวี

ชี้อุปสรรคสื่อ นสพ. หวั่นถูกฟ้อง

เมื่อถามว่า ปรากฎการณ์อย่างนี้ เป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือแหล่งข่าวไม่ให้ความสนใจกับสื่อสิ่งพิมพ์อีกต่อไป และสื่อจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อกลับมาทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนในงานข่าวได้อีก “นพรัฐ” มองว่า ปัญหาเกิดจากคนทำข่าวเอง เพราะการทำข่าวของหนังสือพิมพ์ระยะหลังไม่เข้มข้นพอ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขต่าง ๆ เข้ามา จนไม่กล้าจะเล่นข่าวสืบสวนสอบสวน เช่น กลัวถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เจ้าของมักจะบอกว่า ทำอย่างไรก็ได้ แต่อย่าให้โดนฟ้อง ซึ่งหากไม่กลัวเรื่องนี้  หนังสือพิมพ์ก็ทำได้ และอีกส่วนคือ กลัวอันตราย ซึ่งระยะที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์จะปฏิเสธเรื่องความเสี่ยง ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลัวอิทธิพล โดยเฉพาะหากตัวละครสำคัญในเรื่อง เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นนักเลง ที่มีอำนาจ เป็นนักการเมือง นักข่าวก็กลัวว่าจะเกิดอันตราย กลัวอิทธิพลของเขา กลัวจะถูกฟ้องปิดปาก ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างอิงถึงอดีตที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุด ในตำนานสื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศไทย ที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งได้ ก็มาจากคดีสืบสวนสอบสวน คดีอาชญากรรม หลายข่าวหลายคดี

ทีวีพัฒนาประเด็นเป็นประโยชน์สังคม 

ขณะที่สื่อทีวีในปัจจุบันที่ประสบปัญหาธุรกิจ ก็พยายามหาทางออก ด้วยการเริ่มต้นนำคน 2 ฝ่ายมานั่งทะเลาะกันให้คนดู แต่ระยะหลังได้มีการพัฒนาด้วยการนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ต่อสังคมมานำเสนอ สังคมจึงมีอารมณ์ร่วมจากการถูกรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ รายการในลักษณะนี้จึงยกระดับขึ้นมา กระทั่งกลายเป็นจุดขาย และเป็นแนวทางสำหรับรายการทีวี ขณะที่หนังสือพิมพ์ก็ยังคงนิ่งเฉย

สำหรับบทเรียน กรณี ส.ว.กับ ส.ต.ท.หญิง ที่สื่ออ้อมไปเล่นประเด็นหน่วยงาน นพรัฐ มองว่า ในที่สุดก็จะต้องมีการเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดด้วยตัวของผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือเปิดเผยจากบุคคลอื่น หรือเปิดด้วยคณะกรรมาธิการชุดใดชุดหนึ่งที่จะทำการสอบสวนออกมา ไม่ช้าก็เร็ว

ชี้ช่องใช้ข้อมูลสืบสวนจากแหล่งโซเชียล

“ถ้าเรามองไปข้างหน้าสิ่งที่คิดว่า จะเป็นจุดจบของคดีนี้ อาจจะไม่ใช่จุดจบ แต่จะเป็นจุดที่จะขยายต่อไปว่า อย่างไรก็ต้องเปิด คนสื่อทำงานเพื่อสาธารณะและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นเรื่องจริง ผู้นำเสนอก็ไม่มีมุมผิด ขณะเดียวกัน การเขียนข่าว หรือการนำเสนอข่าว ก็ต้องไม่ย่ำยีหรือเป็นการชี้นำอย่างชัดแจ้ง และต้องไม่ประนามหยามเหยียด” นพรัฐ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การทำข่าวสืบสวนสอบสวนในปัจจุบัน รวมทั้งในกรณีนี้ ตกอยู่ในมือของนักสืบโซเชียลบางคน บางกลุ่ม ที่อยู่ใกล้ชิดบุคคลที่เป็นข่าว หรืออยู่ในเหตุการณ์ หรือเห็นเหตุการณ์ ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นการชี้ช่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อสื่อหลัก และเป็นความจริงที่ว่า ปัจจุบันเราสามารถหาความจริงได้จากโซเชียลในช่องทางต่าง ๆ เพราะคนที่เล่นโซเชียล บางเรื่องไปเกิดใกล้ตัวเขา เขาจึงรู้เห็น ก็ปล่อยข้อมูลออกมาทางโซเชียล ทั้งข้อความ ทั้งภาพ ถือเป็นแหล่งข่าวอย่างดี เพราะสมัยก่อน จะมีเฉพาะแต่คู่กรณีที่ปล่อยออกมา หรือตำรวจ ที่ต้องการเอาข่าวเป็นเกราะป้องกันในการทำงาน ก็จะให้ข้อมูลนักข่าวมา จึงมีเบาะแสจากตำรวจเท่านั้น แต่วันนี้ คนที่ใกล้ชิดที่ปล่อยข้อมูลออกมา แต่การนำประเด็นจากสื่อโซเชียลมาใช้ ก็ต้องคัดกรองและตรวจสอบให้ถ้วนถี่ก่อนนำมาใช้

เทียบข่าวสืบสวนไม่ต่างกับงานวิจัย

ขณะที่ในมุมมองของนักวิจัยอย่าง รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ มองถึงการทำงานข่าวของสื่อทุกวันนี้ว่า อาจจะต้องแยกแยะ คือ สื่อที่ทำงานประจำสำนักข่าวต่างๆ หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ในรูปแบบสำนักข่าว อีกส่วนคือ คนทำข่าวจากสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพ มีความชอบเทคโนโลยี รู้วิธีการไปดึงข้อมูลจากที่ต่าง ๆ จึงกลายเป็นนักข่าวไปด้วย สามารถที่จะรายงานข่าว ทั้งเชิงวิเคราะห์ ที่ไม่ใช่แค่ข้อมูล ฉะนั้น ก็จะเห็นภาพว่าจริง ๆ ก็เกิดการแข่งขันกันอยู่ 

สำหรับนักข่าว โซเชียล (สื่อสังคมออนไลน์) จะเห็นถึงความไว เนื่องจากเขาใช้เทคนิคและวิธีการดึงข้อมูลจากที่ต่างๆ และหากเป็นผู้มีประสบการณ์ ก็จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวได้มากขึ้น คิดประเด็นได้แตกกว่า เช่น ถ้าเจอข่าวอย่างนี้ ปรากฏการณ์แบบนั้น ผู้รับสารต้องการดูอะไร ต้องการเห็นอะไร การนำเสนอก็จะเร็วกว่านักข่าวที่ถูกส่งมาจากสำนักข่าว ซึ่งต้องมีกระบวนการทำงาน  

แม้นักข่าวจากสำนักข่าว จะมีความเชี่ยวชาญ และสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้โดยตรง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักข่าวว่า จะดึงข้อมูลออกมาได้แค่ไหน ในเมื่อสามารถสัมภาษณ์แหล่งข่าวได้โดยตรง และประเด็นที่ดึงออกมาจากคำถาม จะไปเติมช่องว่างในการวิเคราะห์ได้อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีความสามารถ ที่อาจจะต่อจิ๊กซอว์ได้

 อย่างไรก็ตามนักข่าวที่เป็นสายสืบสวนสอบสวน ก็จะเหมือนกับนักวิจัย คือ เมือเจอว่า มีประเด็นคำถามแบบนี้ มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น นักวิจัยก็จะต้องไปคิดว่าเรื่องต่างๆ มีประเด็นคำถามอะไรที่น่าสนใจที่สังคมยังไม่รู้ ซึ่งก็ควรจะต้องทำการศึกษาวิจัย ตรงนี้เห็นว่าคล้ายกัน และเมื่อเจอประเด็นเหล่านี้ ถ้าเป็นนักวิจัยก็จะต้องไปอ่านหนังสือ อ่านเพื่อค้นหาว่า ในอดีต มีคนเคยทำเรื่องนี้หรือไม่ ไม่ว่าในประเทศ ต่างประเทศ มีกรณีเกิดขึ้นแบบนี้หรือไม่ เคยมีทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ไว้อย่างไร ในเงื่อนไขอะไร

ในส่วนของนักข่าวก็เช่นกัน เราจึงสังเกตเห็นว่า ถ้าเป็นนักข่าวรุ่นใหม่อาจจะคิดไม่ทัน แต่ถ้าเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ ก็จะมีความรู้ที่สั่งสมในตัวเอง รู้ว่าเรื่องอย่างนี้เคยเกิด ก็จะสามารถต่อจิ๊กซอว์ได้เร็ว สามารถประมวลออกมาเป็นสมมุติฐานของตัวเองได้ว่า เรื่องน่าจะเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรบ้าง จากนั้นก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และอาจต้องตัดข้อมูลที่ไม่ใช่ออกไปได้

ผู้รับสารยังต้องการเนื้อหาที่กระชับและน่าสนใจ

เมื่อถามว่า ในยุคดิจิทัลที่ พื้นที่สื่อ (Media landscape) เปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคก็ปรับเปลี่ยน ไม่ชอบอ่านอะไรที่ยาว อ่านแค่พาดหัว แล้วคิดเอาเอง ดังนั้นภายใต้การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป การทำงานของสื่ออาจไม่จำเป็นต้องลงลึกหรือไม่ ดังนั้นหากจะ “ทบทวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน” ภายใต้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะต้องดำเนินการแบบไหน รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า เราอาจจะรู้สึกว่า คนไม่อยากอ่าน แต่สังเกตหรือไม่ว่า รายการข่าวทีวีปัจจุบันจะมีหลายรายการ ที่ตั้งตัวเองเป็นคนทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน ต้องมีเนื้อเรื่อง จะทำแค่เสนอเป็นประเด็นเร็วๆ เท่านั้นไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้ ทีวีคุยข่าวอาชญากรรมได้เป็นชั่วโมงๆ มีหลายรายการเรตติ้งใช้ได้ คนดูก็ติดตามอย่าง เช่น ข่าวหนึ่งข่าว ใช้เวลาพูดเป็นชั่วโมง สามารถทำประเด็นเดียว เป็นสัปดาห์ ๆ ได้

ในแง่ของสิ่งพิมพ์ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขียนว่า จะเขียนได้น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน เพราะนักข่าวไม่ใช่เขียนแบบนักวิจัย ที่จะเขียนได้เป็นเล่ม ๆ ซึ่งจริง ๆ คนก็เบื่อ แต่งานวิจัยเล่มแรกก็ต้องทำให้ละเอียด ทำเสร็จก็ต้องมาย่อย สุดท้ายก็ต้องทำให้คนอ่านง่าย เข้าใจง่าย เช่นเดียวกับการทำข่าว โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวน ช่วงที่เสนอเป็นตอน อาจจะยังผิด ๆ ถูก ๆ  มีหลายอย่างที่คิดว่าใช่ แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่ เพราะเรากำลังเก็บข้อมูลไปด้วย และต้องเขียนรายงานไปด้วย  ไม่สามารถเก็บข้อมูลให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาเขียน แต่สุดท้ายก็จะมีการเขียนสรุปทั้งหมดอีกครั้ง หลังจากข้อมูลตกผลึกในระดับหนึ่ง หรือจนกว่าศาลจะตัดสิน ถ้าเป็นเรื่องคดีความ สุดท้ายคนก็ต้องไปอ่านคำพิพากษา

จำเป็นต้องมีฐานข้อมูล-ใช้หลักตรวจสอบสามเส้า

รศ.ดร.นวลน้อย ชี้ว่า การทำข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องมีฐานข้อมูล ที่สามารถหยิบมาอ้างอิงได้ด้วย และอีกส่วนหนึ่งที่จะตรงกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ซึ่งก็จะมีหลักของการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation)  คือ อย่าเชื่อแหล่งข้อมูลเดียว เราต้องมีมากกว่าหนึ่งแหล่ง ต้องตรวจสอบสิ่งที่เราได้รับมาจากหนึ่งแหล่ง ใช้วิธีการสัมภาษณ์แต่ละคนให้แตกต่างกัน และเก็บข้อมูลต่างกันในเรื่องเดียวกัน เพราะคนที่ให้ข้อมูลเราได้มากที่สุด คือคนที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เค้าอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสีย อาจจะให้บางอย่างเยอะมาก แต่อีกอย่างอาจจะไม่ให้เลย ก็จะทำให้เราได้ข้อสรุปที่ผิดไป

ฉะนั้นเราต้องตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่น ในเรื่องเดียวกัน เพื่อนำมายันกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งนักข่าวก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่หลากหลายในประเด็นที่ไม่เคลียร์ เพื่อนำมายัน แต่ปัจจุบันมีปัญหาตรงที่ว่า ทุกคนต้องอาศัยความเร็ว เพราะต้องแข่งกัน จึงกลายเป็นว่า มีคนที่สามารถปล่อยข่าวได้ตลอดเวลาเหมือนกัน

ส่วนกรณีศึกษาข่าว ส.ว.กับ ส.ต.ท.(หญิง) ยังมีประเด็นอะไรที่นักข่าวจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านหรือไม่ รศ.ดร.นวลน้อย ให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ โดยกล่าวว่า นักข่าวเดินเรื่องได้ไวมาก เพราะเริ่มต้นจากคดีการทำร้ายร่างกาย คู่กรณีชั้นยศในระดับเดียวกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องไม่ปกติที่ไปรับใช้คนที่มียศในระดับเดียวกัน  แต่ประเด็นที่่วกวนมากไปหน่อยคือ เรื่อง ส.ว. ซึ่งหากเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ก็จะรู้ว่า มีเรื่องมีมากกว่านั้น 

คนที่สามารถจะอยู่ในวงการตำรวจ ทหาร ในสภา ส.ว.บางคนก็เป็นผู้มากบารมี  ก็อาจจะทำได้ ซึ่งจริงๆ บางทีก็ไม่ต้องสาละวนกับเรื่องนี้ ต้องไปค้นจากข้อมูลว่า เค้าไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร ข่าวประเภทนี้จริงๆ บางอย่าง น่าจะเร็วกว่านี้ ถ้าไปตรวจสอบตั้งแต่ครั้งแรก ว่าทำไม(ส.ต.ท.หญิง) จึงไปมีตำแหน่งในกรรมาธิการ เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ได้หลายคณะ บารมีเหล่านี้มาได้อย่างไร ข่าวอาจจะเร็วได้กว่านี้ แทนที่จะใช้เวลาเป็นอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.นวลน้อย เห็นว่า เรื่องความเสี่ยงในวิธีการหาข้อมูล กับการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวน ก็คล้ายกับการทำวิจัย จึงอยากให้กำลังใจสื่อ เพราะเป็นงานที่หนัก เป็นงานที่ยาก และต้องอาศัยความพยายามมากในการปะติดปะต่อเรื่อง คิดว่านักข่าวที่ผ่านงานเรื่องข่าวสืบสวนสอบสวนดีๆ สุดท้ายจะเป็นคนที่เก่งมาก