สังคมพึ่งโซเชียลมีเดียได้มากกว่าสื่อหลักแล้วหรือ

ปรากฏการณ์ ข่าวอินฟลูเอนเซอร์สาวชาวไต้หวัน นักวิชาการสื่อชี้จุดอ่อนการตรวจสอบข้อมูลโดยตรงจากแหล่งข่าวในที่เกิดเหตุ ทำให้ต้องใช้ข้อมูลจากอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ สะท้อนปัญหาสังคมหวังพึ่งโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อหลัก ย้ำการต่อยอดขยายประเด็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม ด้านปรมาจารย์กฎหมายไทยแนะสื่อระวังการเสนอข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ยินยอม ชี้สื่อจำเป็นต้องรู้กฎหมายพื้นฐาน และศาสตร์เฉพาะทุกด้านเพื่อประโยชน์ในการทำงาน 

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ข่าวอินฟลูฯ ไต้หวัน กับความมุ่งมั่นของคนสื่อ” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์  วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบ จรัญ ภักดีธนากุล ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อาจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปรากฎการณ์ข่าว กรณีอินฟลูเอนเซอร์สาวชาวไต้หวัน “อัน หยู ฉิง” หรือชาร์ลีน อัน โพสต์อินสตาแกรม เปิดเผยว่าเธอและเพื่อน ถูกตำรวจที่ตั้งด่านตรวจใกล้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกตรวจหนังสือเดินทางกล่าวหาว่าไม่มีวีซ่า รวมทั้งครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จากนั้นถูกรีดเงิน 27,000 บาท กระทั่งต่อมาตำรวจ สน.ห้วยขวาง 6 นายที่เกี่ยวข้องได้ถูกดำเนินคดี และถูกจำคุกทันที

ปรมาจารย์ด้านกฎหมายของไทย จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามหน้าสื่อ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมายว่า  

ประเด็นแรก คนที่เปิดเผยความไม่ถูกไม่ควรของเจ้าหน้าที่ และมาเป็นพยาน ไม่ควรไปหาเรื่องดำเนินคดีเค้า เพราะถ้าเราไปทำอย่างนั้นอีกหน่อยก็ไม่มีใครเปิดเผยร่องรอยพวกทุจริตคอร์รัปชันให้เราเห็น เพราะฉะนั้นหลักการก็คือ คนที่เปิดเผยเรื่อง ให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชัน เราต้องคุ้มครอง และต้องเอามาเป็นพยาน จริงอยู่ คนที่ให้สินบนก็มีความผิด แต่ถ้าเราไปเอาเรื่องกับคนให้สินบนด้านเดียวแล้วเราจะเอาพยานหลักฐานที่ไหนมาเล่นงานคนรับสินบน เพราะคนรับสินบนคือคนที่ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หาพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ยาก และความชั่วร้ายเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคม มันเกิดจากเจ้าหน้าที่ทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ที่เค้าเอาผิดกับคนให้สินบนด้วย ก็เพื่อป้องกันไว้ ให้เกิดขึ้นได้น้อยที่สุด

การหาพยานเพื่อเอาผิดกรณีนี้ อาจารย์จรัญ ระบุว่า จำเป็นจะต้องใช้คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้น ซึ่งเค้าอยู่ในฐานะประจักษ์พยาน คนอื่นๆ ที่รับฟังมาจากเค้า อย่างคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ (ผู้ประสานพยานในที่เกิดเหตุมาแถลงข่าวหลังจากนั้น) ก็จะมีฐานะเป็นเพียงเหมือนพยานบอกเล่า น้ำหนักไม่มี และไม่ละเอียด ต้องเอาคนที่เป็นประจักษ์พยาน ซึ่งในเคสนี้ ก็คือ 2 คน คือเน็ตไอดอลไต้หวัน กับเพื่อนชาวสิงคโปร์ (คุณสกาย) ที่เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเรื่องนี้ เป็นผู้ประสบเรื่องนี้ แต่การจะเอาเขามาเป็นพยานได้ก็ต่อเมื่อ เราต้องให้หลักประกันเค้าว่า เราจะไม่ดำเนินคดีกับเค้า กันเค้าไว้เป็นพยาน ถึงจะมีโอกาสได้ตัวจริงเค้ามาเบิกความยืนยันต่อศาลไทย และหลักฐานก็จะแน่นหนาชัดเจนละเอียดละออ

เมื่อถามถึงกรณีที่คนไม่กล้ามาเป็นพยานเพราะกลัวอำนาจทางกฏหมายจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี อาจารย์จรัญ กล่าวว่า เราพยายามทำกันมาแล้วโดยออกกฏหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา แต่การคุ้มครองพยานตามกฏหมายของเรามันยังย่อหย่อน ยังไม่สามารถให้ความมั่นใจกับคนที่จะยอมเสียสละ และกล้าเข้ามาเปิดเผยสิ่งเลวร้ายในสังคมไทย ให้เราได้แก้ไข

“ผมว่ามาตรการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น เป็นมาตรการที่หนึ่ง แม้ไม่ง่าย เพราะมันมีแง่มุมโต้แย้งเยอะ ประการที่สอง ต้องขอสืบพยานบุคคลเหล่านี้เอาไว้ก่อนฟ้อง โดยใช้วิอาญามาตรา 237 ทวิ ให้พนักงานสอบสวนรายงานไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอนำประจักษ์พยานเหล่านี้เข้าสืบต่อศาลไว้ก่อน พอสืบเสร็จให้เบิกความต่อศาล ศาลจะเก็บไว้ใช้ในการพิจารณาคดีหลักต่อไปได้ ฉะนั้นแรงกดดัน ที่จะไปแทรกแซง ไปเล่นงานพยาน ก็จะหมดไป” 

“นี่คือประสบการณ์จริง ที่เคยเกิดขึ้น คือจำเลย หรือผู้ต้องหา จะต้องคอยสกัดกั้นพยานไม่ให้ไปเบิกความ ไม่ให้ไปเป็นพยาน โดยวิธีการต่างๆ แต่พอพยานคนนั้นได้เบิกความต่อศาลไปแล้ว ทางฝ่ายผู้ต้องหาจำเลยไม่รู้จะไปแทรกแซงทำไม ก็ไม่เป็นประโยชน์ น้ำหนักพยานที่ไปเบิกความต่อศาลก็ยิ่งมีน้ำหนักดีขึ้น เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้ก็คือ ถ้าเราสามารถเอาพยานที่ล่อแหลมแบบนี้ ขอให้อัยการขออนุญาตศาลสืบไว้เป็นพยานหลักฐานของศาลก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดต่อเด็ก เกี่ยวกับเพศ ทุจริตคอร์รัปชัน เหล่านี้มันจำเป็นเพราะ พยานล่อแหลมมาก ถูกกดดันมาก ให้เค้าเบิกความต่อศาลไว้ เค้าก็สบายใจ” อาจารย์จรัญ กล่าว

เมื่อถามถึงการสอบสวนนอกราชอาณาจักร ต้องทำอย่างไร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สมัยก่อนจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางไปพบ หรืออย่างน้อยต้องหาวิธีอย่างไรให้พยานเดินทางเข้ามาให้ปากคำในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ส่วนพนักงานสอบสวนในยุคนี้ ถึงแม้จะได้รับอนุมัติงบประมาณให้ออกไปสืบสวนสอบสวนนอกราชอาณาจักร ไปสอบปากคำพยาน แต่จะไปเจอกฎหมายภายในเขา เพราะนี่คือการใช้อำนาจรัฐไทยออกนอกเขตประเทศไทย ไปอยู่ในเขตอำนาจของรัฐอื่น เค้าไม่ยอมง่ายๆ ถือว่าล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของเขา ฉะนั้นคิดว่าแนวทางนั้นสิ้นเปลือง และทำยากด้วย 

แต่มีวิธี ที่เราได้ไปแก้ไขวิอาญาไว้ในปี 2551 ขอให้ใช้ระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ได้ แต่นี่เค้าให้ใช้ในชั้นศาล ให้พยานอยู่ที่ประเทศเขาแต่อยู่หน้าเทอร์มินอล ซึ่งเราสื่อสารโดยตรงกับห้องพิจารณาของศาลได้ เวลานี้ในกฏหมายไทยทำได้แน่นอน ในวิอาญามาตรา 230/1 แต่ในชั้นสอบสวนยังไม่มี

“ผมอยากเสนอว่า ในชั้นสอบสวนไม่มีระบบนี้ก็จริง แต่พนักงานสอบสวนสามารถใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สื่อสารเรียลไทม์ ทั้งภาพและเสียงกับพยานสำคัญที่อยู่ต่างประเทศได้ แล้วบันทึกไว้ แล้วเอามาใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ ในฐานะเป็นพยานอิเล็กทรอนิกส์ตามพ.ร.บ.ธุุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2544 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ปฏิเสธ ไม่ยอมรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานไม่ว่าในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง รัฐธรรมนูญ  หรือไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับไหน ชั้นไหน ไม่ใช่จำกัดเฉพาะศาล ผมว่าในทางปฏิบัติ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจจะยังไม่ได้สร้างระเบียบวิธีการเฉพาะ ที่จะให้ใช้วิธีการแบบนี้ ฉะนั้นจำเป็นต้องรีบสร้าง” อาจารย์จรัญ เสนอแนะ

เมื่อถามต่อว่า จะอธิบายเรื่องหลักดินแดนอย่างไร ณ เวลานี้ ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศปลายทางที่เราขอข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องยินยอมด้วย อาจารย์จรัญ อธิบายว่า ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องขออนุญาตใคร ขอแต่เพียงว่าคนที่จะให้การ เค้าเต็มใจที่จะให้การ แล้วเค้าก็รู้ว่า เราจะบันทึกไว้ แล้วเอาไว้ใช้เป็นพยานหลักฐาน แล้วเค้ายินยอมจะสนทนาด้วย แล้วเราบันทึกไว้ สามารถเอาไปใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในคดีทุกประเภท

ยกตัวอย่าง คลิปบันทึกเสียงที่คุณชูวิทย์ คุยกับคุณสกาย ถ้าเป็นพนักงานสอบสวนสื่อสารโดยตรงกับคุณสกาย เราได้บันทึกไว้แล้วได้นำเอามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ใช้ได้ ถึงแม้จะมีหลักฐานเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่ต้องห้ามรับฟัง เพราะเขาเข้าข้อยกเว้น ให้รับฟังได้ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น มันไม่มีทางได้ตัวประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาล ก็ยกเว้นให้รับฟังพยานบอกเล่าได้ ถึงแม้น้ำหนักจะไม่เต็มแก้วเต็มขวด ก็ยังดีกว่าสูญเสียพยานหลักฐานสำคัญชุดนี้ไป แล้วมันประกอบกันได้ ถ้าทำอย่างนี้กับคุณสกายได้ แล้วทำกับคุณอัน หยู ฉิง ที่ไต้หวันได้ด้วย มันก็จะมาประกอบกันได้ เพราะมันมาจากคนละแหล่ง จะเห็นได้ว่า มันเป็นพยานหลักฐานประกอบกันได้ ก็จะทำให้หนักแน่น เมื่อมีพยานหลักฐานอื่น เช่น พยานซัดทอด แม้จะกลับลำไปแล้ว แต่เมื่อเคยให้การซัดทอดว่าอย่างไร มันก็รับฟัง เป็นพยานหลักฐานได้ชิ้นหนึ่ง

ระวังการเสนอข้อมูลที่แหล่งข่าวไม่ยินยอม

เมื่อถามว่ากรณีนี้ การนำเสนอต่อสาธารณะ ในแง่การให้ถ้อยคำจากพยาน ในการเสนอข่าวของสื่อ มีข้อควรระมัดระวังหรือไม่ อาจารย์จรัญ กล่าวว่า การสื่อสารสาธารณะโดยทางสื่อ มันมีปัญหาว่า ผู้ที่ให้ข่าวเค้าไม่ได้ให้ความยินยอม ที่จะให้เอาคำสนทนาของเค้ามาใช้เป็นพยานหลักฐานหรือเปล่า มันถูกคัดค้านได้เหมือนกัน และไม่ได้เป็นทางการ จริงอยู่ ก็ยังมีช่องทางให้ศาลไทยรับมาใช้ได้บ้าง แต่น้ำหนักไม่ค่อยดี ไม่เหมือนการสอบปากคำในระบบ โดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ และได้แจ้งข้อมูลให้ผู้ที่จะให้ปากคำได้ทราบก่อนล่วงหน้าชัดเจนว่า นี่คือการสอบปากคำในฐานะพยาน จะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล และเค้าก็ยินดีที่จะให้การ อย่างนี้ผมคิดว่าสมบูรณ์

จากนั้นเครื่องมือที่บันทึก ซึ่งผมคิดว่าคุณภาพถ้าได้ 4G 5G จะดีที่สุด เพราะศาลท่านจะได้เห็นทั้งรูปใบหน้าท่าทางกริยาอาการลักษณะคำถามคำตอบ และสาระสำคัญครบถ้วน ต่อข้อถามว่ากระบวนการทางกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือว่าเริ่มจะเข้ารูปเข้ารอยแล้วหรือยัง ต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ อาจารย์จรัญ กล่าวว่า คิดว่าต้องให้ได้อย่างที่อยากจะเห็นในคดีนี้ และให้มีประสิทธิภาพ ก็มีหลักการเสนอขอให้กันผู้ต้องหาสองคนนี้ไว้เป็นพยาน แล้วถ้าเคลื่อนไป ผ่านความเห็นชอบในระดับผู้หลักผู้ใหญ่ในชั้นสอบสวน และถึงชั้นพนักงานอัยการ ท่านเห็นด้วย แล้วมีข้อยุติที่ชัดเจนว่ากันสองคนนี้เป็นพยาน โอกาสที่จะได้สองคนนี้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีนี้ เป็นไปได้

สื่อจำเป็นต้องรู้กม.พื้นฐานและศาสตร์ทุกด้าน

เมื่อถามถึงการรายงานข่าวของสื่อในประเด็นนี้ครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร และนักข่าวในยุคนี้จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านกฎหมายมากน้อยแค่ไหนในการรายงานข่าวคดีลักษณะนี้ อาจารย์จรัญ ระบุว่า ผู้สื่อข่าวจะต้องเกี่ยวข้องในทุกศาสตร์ ควรจะมีความรู้พื้นฐานในทุกศาสตร์ ไม่เฉพาะกฏหมาย ทั้งเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง การคลัง แล้วต่อไปควรจะต้องพัฒนาให้มีสาขาเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิเทศศาสตร์ เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนิเทศศาสตร์ทางด้านการเมืองการปกครอง ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์

แต่ในเบื้องแรก เรายังไม่ได้ไปถึงในระดับ ที่จะสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็เอาเฉพาะนิติศาสตร์ก่อน เพราะมันใช้ประโยชน์ได้เยอะ และใช้กว้าง ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็มักจะมาพัวพันกับกฎหมาย เพราะฉะนั้น ควรให้มีฐานความรู้ทางด้านกฎหมายด้วย ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของเรา คิดว่าจำเป็นเพิ่มหน่วยกิตเข้าไปหน่อย สมัย40 ปีก่อนก็มีอยู่แล้ว เคยมีโอกาสได้ไปร่วมสอนในคณะนิเทศศาสตร์

ปริมาณข่าวสารมากจากสถานการณ์พลิกไปมา

ทางด้านนักวิชาการด้านสื่อ อาจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ มองพัฒนาการในการนำเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวเรื่องนี้ว่า ข้อเท็จจริงค่อยๆ เคลียร์ออกมาเรื่อยๆ ราวๆ หนึ่งเดือน ซึ่งปริมาณข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ของสื่อไทยมีจำนวนมาก ที่นำเสนอในแพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ที่พลิกกลับไปกลับมา 

“ตอนที่เป็นข่าว สิ่งที่มีการทำก็คือ สื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการตั้งคำถามว่า สิ่งที่ดาราไต้หวันคนนี้พูดเป็นความจริงหรือไม่ นั่นคือสิ่งแรกที่คนต้องการรู้ และก็มีสื่อ สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่สามารถติดต่อดาราสาวคนนี้ได้ โดยพูดคุยกันเป็นภาษาจีน เค้ายืนยันว่าจริง ก็มีการมาตรวจสอบพูดคุยกับตำรวจในไทย แต่ก็ถูกปฏิเสธ ข้อมูลมันก็วกกลับไปว่า ดาราไต้หวันพูดจริงหรือเท็จ เพราะสถานการณ์พลิกกลับ ก็เลยต่อเนื่องมา กระทั่งคุณชูวิทย์ออกมาโพสต์ว่าถ้าไม่พูดความจริง ก็จะแฉ หลังจากนั้นตำรวจก็เลยออกมายอมรับ มันก็พลิกไปพลิกมา จนสุดท้ายคุณชูวิทย์ก็ไปเอาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คนหนึ่งที่เป็นพยานมาแถลงข่าวได้ สถานการณ์ก็พลิกกลับมาอีก จนกระทั่งตอนนี้ตำรวจ 6 ใน 7 คน ก็อยู่ในคุก และถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน”

จำเป็นตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวโดยตรง

ฉะนั้น เราเห็นความจำเป็นก็คือ Fact Checking (ตรวจสอบข้อเท็จจริง) ข้อมูลที่ถูก จากแหล่งข้อมูลในไทยเอง มันกลายเป็นข้อมูลที่ไปได้มาจากคนที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ซึ่งจะเรียกคุณชูวิทย์ว่าเป็นแบบนั้นก็ได้ คิดว่าในเชิงของการทำข่าว การทำงานก็มีการตั้งคำถามในวงวิชาการเหมือนกันว่า ทำไมข้อมูลหรือแหล่งข่าวที่คุณชูวิทย์มี หรือสิ่งที่พูดออกมามันกลายเป็นแรงกดดัน ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่อาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่จริง เค้าต้องคายความจริงออกมา

ขณะที่ความสามารถในการสืบค้นข้อมูลของสื่อในคดีนี้ อาจารย์อภิสิทธิ์ ระบุว่า น่าสนใจว่า กรณีนี้ทำไมสื่อไทยถึงเข้าไม่ถึงแหล่งข่าว เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการตั้งคำถามถึงความพยายาม 

หรือสำนักข่าวต่างๆ เข้าใจว่าเรามีความพยายามอย่างหนัก ที่สุดก็คือคอนแทคคนที่เป็นแหล่งข่าวโดยตรง ทั้งดาราไต้หวัน และคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ก็อาจจะมีน้ำหนักในระดับหนึ่ง ทำไมองค์กรสื่อในไทยถึงเข้าไม่ถึง ทำไมชูวิทย์ถึงมีคนคนนี้อยู่ในมือ อาจจะต้องเป็น Case Study ต่อๆไปในอนาคตในเรื่องของการสืบข่าวค้นข่าว

จุดอ่อนสื่อใช้แหล่งข่าวทุติยภูมิ

เมื่อถามว่า ประเด็นนี้้จะสะท้อนภูมิทัศน์ของสื่อในเรื่องการค้นหาข้อมูลได้อย่างไรบ้าง ถ้าหากต่อๆ ไปต้องรอแหล่งข่าวอย่างคุณชูวิทย์นักข่าวอาจไม่ได้ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำหรือไม่ อาจารย์อภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าสื่อมีความพยายามในระดับหนึ่ง แต่หากสามารถหาพยานแวดล้อม โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย มาให้ข้อมูลอีกหลายๆ คน หรือครบทุกคนก็น่าจะทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นว่า 27,000 บาท ให้กันจริง เพราะยังมีบุคคลหลายคน ที่นั่งรถมาด้วยกับดาราสาวก่อนนั้น ถ้าตามจากข่าวที่ตำรวจทั้ง 6 คน บอกว่าไม่ได้รับเงิน ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันต่อในเชิงข้อเท็จจริง ที่จะเอามาใช้ทำให้ความจริงชัดเจน

อาจารย์อภิสิทธิ์ ยังสะท้อนถึงปัญหาในการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบันด้วยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบางทีแหล่งข้อมูลแหล่งแรกที่มาก่อน ก็จะเป็นข้อมูลที่ออกมาจากเพจทั้งหลายที่เล่นประเด็นนี้ขึ้นมาก่อน และกลายเป็นสื่อ ก็มาเอาข้อมูลจากเพจเหล่านี้ไปต่อยอด ทำให้ปัจจุบันนี้ สำนักข่าวมีข้อมูลปฐมภูมิจากแหล่งนี้ และจำนวนมากของข่าวที่เกิดขึ้น ก็มาจากแหล่งข่าวที่อยู่ในออนไลน์และโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ซึ่งกลายเป็นเอาข้อมูลที่เป็นทุติยภูมิมาต่อยอด

สื่อควรขยายผลเพิ่มจากโซเชียลมีเดีย

หากเราเอาข้อมูลทุติยภูมิมาแค่นำเสนอเฉย ๆ ก็อาจจะได้แค่นั้น แต่หากสามารถนำมาตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ หรือนำไปขยายความต่อก็จะได้ความชัดเจนของประเด็นนั้นมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สื่อไม่ได้แค่ เป็นการนำเสนอเฉยๆ ไม่ต่างกับที่เห็นในโซเชียล ที่ถูกสังคมตั้งข้อครหาว่าแค่ไปเอาข้อมูลในโซเชียลมีเดียมาเล่าอีกที แต่สิ่งที่สื่อหลายสำนักได้ทำ ก็คือเอาข้อมูลมาขยายความต่อ มาอธิบายต่อ มาหาข้อมูลต่อ ตรงนี้เป็นส่วนที่จำเป็น และควรจะต้องทำให้ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น

“ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในไทยค่อนข้างมาก และบ่อยไป ที่ใช้ข้อมูลจากหลายเพจ เป็นจุดเริ่มต้น เป็น Hint ข่าว หากย้อนกลับไปหลายปีผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ให้ข้อมูลกับนักข่าว แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าไปไว้วางใจเพจข่าว หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ออนไลน์ มากกว่าการที่จะติดต่อมาที่สำนักข่าวโดยตรง เข้าใจว่าเมื่อก่อนมีชาวบ้านอยากจะร้องเรียนหรือให้ข้อมูลก็จะไปที่สำนักข่าวเพื่อให้เป็นปากเสียงให้ได้ แต่กลายเป็นว่า ปรากฏการณ์ตอนนี้ในไทย คนเหล่านี้เอาข้อมูลไปให้โซเชียลมีเดีย อินฟลูเอ็นเซอร์ เพจชื่อดังแทน”  

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะภูมิทัศน์สื่อตอนนี้ คนใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก จึงมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขาใกล้ชิดกับพวกเพจต่างๆมากกว่าสื่อหลัก ไม่ว่าจะเป็นทีวีช่องต่างๆ หรือโซเชียลมีเดียที่สื่อทำต่อยอดมาจากช่องทีวี หรือหนังสือพิมพ์ แต่เค้าไปไว้วางใจคนที่เป็นสื่อออนไลนอย่างเดียวมากกว่า ก็เลยทำให้เค้าส่งข้อมูลเริ่มต้น ให้ข้อมูลกับเพจก่อน แล้วหลังจากนั้นเพจก็เอาข้อมูลมาเผยแพร่ แล้วสื่อที่เป็นองค์กร ก็ไปเอาข้อมูลนั้นมาขยายความต่ออีกที ก็เป็นปรากฎการณ์ใหม่ในการนำเสนอข้อมูลเหมือนกัน

ความใกล้ชิดกับสื่อออนไลน์กลายเป็นที่พึ่งได้

เมื่อถามว่า มีวิธีการไหนที่จะดึงความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเชื่อมั่น กลับมาสู่วงการสื่อ ก่อนที่จะไปพึ่งพาอินฟลูอินเซอร์ อาจารย์อภิสิทธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ คือความเชื่อถือ ในการที่เราจะเป็นกระบอกเสียงให้เขาได้ กรณีที่เรื่องใหญ่ๆ คนกลับไปไว้ใจเพจที่เป็นออนไลน์มากกว่า ก็น่าสนใจในการศึกษาทำวิจัยต่อไป เพราะคงไม่สามารถบอกได้ว่า ปัจจุบันว่าจะทำอย่างไร แต่เข้าใจว่าตัวองค์กรสื่อเองก็พยายามเป็นกระบอกเสียง แต่ความใกล้ชิดของผู้รับสารกับตัวองค์กรสื่อหรือสำนักข่าวเองอาจเปลี่ยนไปด้วย

อาจารย์อภิสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตาม สื่อต้องพยามยืนหยัดและข้อเท็จจริงนั้นๆ ออกมาอธิบายสังคมให้ได้ เพราะสุดท้ายสังคมต้องการข้อเท็จจริงจากสื่อ ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงสำคัญ ในการที่จะไปถึงแหล่งข่าว ที่จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่สังคม ฉะนั้นสื่อต้องทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิง ในการหาคำตอบ หาข้อเท็จจริง ที่เค้าคาดหวังกับองค์กรสื่อ ฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ให้เต็มความสามารถ ซึ่งก็มีสำนักข่าวจำนวนมากที่พยายามทำ จึงอยากให้กำลังใจ เพื่อทำเต็มที่ต่อไป

+++++++++