คุณภาพข่าวสะท้อนคุณภาพสื่อ

คุณภาพข่าวสะท้อนคุณภาพสื่อ

หนุนสภาสื่อฯ เติมทักษะปั้นสื่อสายต่าง ๆ ขึ้นชั้นกูรู

คุณภาพข่าว สะท้อนคุณภาพสื่อ นักวิชาชีพหนุนสร้างสมดุลความอยู่รอดทางธุรกิจกับเนื้อหาคุณภาพ รับผิดชอบต่อสังคม ด้านนักวิชาการห่วง แม้พัฒนาการสื่อดีขึ้น แต่ประชาชนยังไม่สนับสนุนสื่อดี หนุนสภาการสื่อฯ เติมทักษะปั้นสื่อสายต่างๆ ขึ้นชั้นกูรู หวังส่งต่อความรู้สังคม ขณะที่นักกฎหมายเน้นย้ำความรู้กฎหมายใหม่ ลดความเสี่ยง คาดหวังสื่อให้ความสำคัญกลุ่มปัจเจกที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “คุณภาพข่าว คุณภาพสื่อ?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา มี จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบาย ด้านกิจการสื่อสารมวลชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ NIDA

คุณภาพข่าว สะท้อนคุณภาพสื่อได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่วนกลับมาในยุคดิจิทัล ที่ปริมาณข่าวสารจากหลากหลายแพลตฟอร์มมีจำนวนมาก  

ในมุมมองนักวิชาชีพที่เป็นทั้งนักวิชาการ จักร์กฤษ เพิ่มพูล มองว่า เป็นประเด็นที่เราพูดกันบ่อย และก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ซึ่งคุณภาพข่าวที่หมายถึง คือมีหลักการ มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบ หากพูดภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อที่เป็นอยู่ เราจะพบข่าวที่มีคุณภาพในความหมายนั้นน้อยมาก แต่ถ้าพูดในบริบทคุณภาพข่าวที่คนสนใจติดตาม เพราะโดยบริบทของสังคม พฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาข่าว แต่ถ้าพูดเฉพาะข่าวที่น่าสนใจ จะเรียกว่ามีคุณภาพหรือไม่มีก็ตาม ปริมาณข่าวแบบนี้ มีมากกว่าข่าวที่มีคุณภาพในแบบที่เราเข้าใจ

สื่อในอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่รอด

กรณีสื่อจะกำหนดสังคม หรือสังคมจะกำหนดสื่อ จักร์กฤษ มองว่า เรื่องนี้เราก็เรียกร้องคุณภาพของสื่อมวลชน แต่ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ ความจำเป็นต้องอยู่รอด จึงไม่แน่ใจว่าทางออกคืออะไร แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การผลิตเนื้อหาสื่อในปัจจุบัน เป็นการผลิตที่สะท้อนอิทธิพลของอุตสาหกรรมเอเจนซี่โฆษณา พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เนื้อหาข่าวต้องขายได้ มีคนดู มีเรตติ้ง เพราะหมายถึงความอยู่รอดของสื่อ แม้เราจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม 

ขณะนี้ เนื้อหาข่าวที่มีคุณภาพ เราเข้าใจตรงกัน แต่เวลาที่เราอยู่หน้างาน ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อ เราก็จำเป็นต้องทำตามนโยบายขององค์กรสื่อนั้นๆ ที่จะต้องอยู่รอดเป็นสำคัญ ซึ่งก็กำหนดจากข่าวที่คนสนใจ แม้จะไม่มีเนื้อหาสาระ ฉะนั้นลักษณะของข่าวประเภทนี้จึงปรากฏในหน้าจอ หรือสื่อต่างๆ ให้เราได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง อยู่เสมอ

ในมิติของพัฒนาการของสื่อ เราต้องยอมรับว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ยุคเก่าเราไม่ได้แข่งขันสูงขนาดนี้ ไม่ได้มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนมากเท่านี้ แต่วันนี้แทบจะแยกไม่ออกว่า เราจะเรียกอินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูบเบอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ เป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมีคนติดตามมากกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ ก็เป็นปัจจัยกดดันอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คิดว่าสื่ออาชีพอย่างพวกเรา ก็ต้องคิด ถ้าจะอยู่รอด ก็ต้องปรับตัวไปตามแนวทางสื่อเหล่านั้นหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราก็จะมีข้อจำกัดว่า ยิ่งเราทำสื่อมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ มีความน่าเชื่อถือ แต่คนดูคนติดตามน้อย เราจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องกระโดดเข้าไปในสนามนั้น เพื่อจะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด จึงเป็นคำถามอยู่พอสมควรว่าทางออกคืออะไร

.

จักร์กฤษ ยอมรับว่า ข่าวสีสัน ที่ไม่ใช่สาระ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากสื่อจะนำเสนอ แม้ในอดีตจะเป็นประเด็นเคียงข่าว แต่ปัจจุบันข่าวประเภทนี้กลายเป็นข่าวที่ตอกย้ำ รีรันบ่อยมาก อย่างข่าวนายกฯ ไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัด ไม่ค่อยถูกนำเสนอถึงมากว่าข่าวนายกฯ โยนปากกา หรือทะเบียนรถ 

ทั้งที่ตามหลักการ สื่อไม่มีหน้าที่ ทำให้คนหลงไปกับเรื่องงมงาย ที่มีคนจำนวนมากมายมหาศาลเสียเงิน ขณะที่อาจมีแต่ไม่มากที่บังเอิญถูกรางวัลขึ้นมา แต่พอเป็นข่าวก็กลายเป็นเรื่องต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ว่า ต่อไปนายกฯ ไปที่ไหน ก็ต้องไปดูทะเบียนรถ กลายเป็นบ่อเกิดของความหลงผิด ให้คนไปซื้อหวย อย่างนี้ก็จัดอยู่ในหมวดข่าว ที่ตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก

หาจุดสมดุลธุรกิจและเนื้อหา

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการประนีประนอม ระหว่างคุณภาพ และความอยู่รอดของสื่อ ควรจะอยู่ตรงจุดไหน จักร์กฤษ มองว่า องค์กรสื่อ เป็นองค์กรธุรกิจที่จำเป็นต้องอยู่รอด ต้องมีผลประกอบการที่ดี ปัจจุบันสื่อมีพนักงานเป็นหลักร้อย ที่ต้องอยู่รอด ฉะนั้นก็ต้องเข้าใจขณะเดียวกันเขาก็มีภารกิจในฐานะองค์กรสื่อในเชิงอุดมการณ์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น เรื่องที่จะหาจุดสมดุลเรื่องความน่าเชื่อถือ แม้ดูเหมือนจะยาก แต่เราต้องตอกย้ำให้เห็นว่า การเป็นองค์กรสื่ออาชีพ ที่ทำงานตามหลักวิชาชีพ การผลิตเนื้อหาต้องมีความน่าเชื่อถือ เกิดจากกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ก่อนเผยแพร่ จึงจำเป็นต้องกลับสู่หลักพื้นฐานของวิชาชีพ แม้อาจจะดูเป็นอุดมคติ แต่ถ้าเราไม่สามารถสร้างความเชื่อถือได้ ก็จะหาจุดสมดุลไม่เจอ

“การฟื้นระบบ กระบวนการบรรณาธิการ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อ ถือเป็นหลักการทำงานปกติ เราเสียสมดุลเรื่องนี้ไป ตั้งแต่ออนไลน์เข้ามา ซึ่งแทบจะไม่พบว่ามีกระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบ เหมือนที่เราทำสื่อยุคดั้งเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้ เขาต้องการความเร็ว ผิดไม่เป็นไรเดี๋ยวแก้ไขใหม่ เรื่องเหล่านี้เป็นหลักคิดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราใช้หลักคิดแบบดั้งเดิม กระบวนการบรรณาธิกรณ์ ดับเบิ้ลเช็ค เป็นเกตคีปเปอร์ซึ่งไม่ได้ใช้เวลามากมาย จะช่วยให้ข่าวมีคุณภาพ และน่าเชื่อถือมากขึ้น” จักร์กฤษ ย้ำ 

จักร์กฤษ ระบุว่า เรื่องเหล่านี้ต้องทำซ้ำทำบ่อยๆ ต้องไม่ท้อถอย แม้พวกเราจำนวนมากไปอยู่ภายใต้โครงสร้าง เป็นคนงานในอุตสาหกรรมสื่อ ทุกวันนี้เราทำงานผลิตสินค้าที่เป็นแมส เพื่อคนจำนวนมาก แต่เรามีพื้นที่น้อยมากที่เราจะมาทบทวนว่า เราจะทำอย่างไรให้ข่าวที่คนจำนวนมากยังดู ยังสนใจ แต่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะนานแค่ไหนแต่ก็ต้องย้ำเรื่อย ๆ จนกว่าจะเปลี่ยนสังคมได้

มองด้านบวกสื่อพัฒนาในทางที่ดี

ด้านนักกฎหมาย วุฒิชัย พุ่มสงวน ระบุว่า ตนมองแง่บวก ยุคปัจจุบันการที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ และการแข่งขันที่เสรี ต่างจากในอดีต เมื่อทุกคนเข้ามาร่วมในตลาดเดียวกัน มีการแข่งขันในการนำเสนอสูง จากที่ติดตามสื่ออิสระ ก็มีมุมมองที่ดี อัตราการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผมมองในแง่การแข่งขันเสรี ก็ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสื่อมวลชนก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

แม้แต่คนที่มีมือถือไลฟ์สด อยากจะเข้ามาเป็นสื่อ แต่สุดท้ายคนดู จะให้คำตอบเองว่า สื่อนั้นมีคุณภาพต่อสังคมจริงหรือไม่ เชื่อว่าผู้บริโภคมีดุลพินิจในการติดตาม แม้กระทั่งข่าวดารา ถ้านำเสนอในมุมมองที่ดี มีเหตุผล สังคมก็ได้ประโยชน์ แม้คนทั่วไปจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

 “หากเปรียบคนทำสื่อ กับเชฟปรุงอาหาร ก็มีเชฟมากมาย เมนูอาหารมากมาย ทุกวันนี้เมนูที่เสิร์ฟข่าวให้ประชาชน มีอันตรายหรือไม่ขนาดไหน มีใครแอบแทรก ใส่อะไรให้รับประทาน แล้วอาหารเป็นพิษ ผมอาจจะมองไปที่เรื่องสื่อออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ จอแรกคือมือถือ ไอแพด ไม่ใช่จอทีวี ข้อดีของสื่อพวกนี้ คือเลือกสิ่งที่เราสนใจมานำเสนอ ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และอาจส่งผลให้เกิดปัญหา เอ็กโค่แชมเบอร์ ก็อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนอคติ” วุฒิชัย กล่าว

แนะเลือกเสพสื่อหลากหลาย-บาลานซ์

ฉะนั้น สิ่งที่สิ่งที่ตนทำ คือต้องดู 2-3 สำนักข่าว เพื่อดูข้อเท็จจริงเดียวกัน ด้วยความเป็นนักกฎหมาย เมื่อดูสื่อช่องหนึ่งวิเคราะห์แบบหนึ่ง เราอาจเห็นด้วย แต่พอไปดูอีกช่อง วิเคราะห์อีกแบบ ที่มีมุมมองที่ทำให้เราคิดได้ ฉะนั้นการที่มีอาหารหลากอย่าง จึงเป็นเรื่องดีการที่จะกินอาหารที่เป็นประโยชน์ 100% เป็นไปไม่ได้ อาจจะ 50% ที่เหลืออาจจะเป็นยิบย่อย รสชาติต่างๆ มีสีสันแทรกบ้าง 

ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัป กับการสร้างเรตติ้ง วุฒิชัย ไม่มองว่า ยุคนี้สื่อตกต่ำ เพราะหากเปรียบเทียบกับอดีต เขามองว่ายุคนี้ตรงกันข้าม 

“ใครที่มีลักษณะการนำเสนอที่โดดเด่น ประทับใจ สามารถดังเป็นพลุได้ ภายในคืนสองคืน ผมไม่ได้มองว่า การเจริญเติบโตเป็นทิศทางลง แต่มองว่าเป็นรูปตัว K มันจะมีบางส่วนที่ลง สื่อที่ไม่ปรับตัว ล้าหลัง ยังยึดติดในรูปแบบการเสนอแบบเดิม แต่ตรงข้าม สื่อที่เป็นทางเลือก สื่อที่เป็น Independent ที่มีลักษณะการนำเสนอ แม้จะมีความลำเอียงทางด้านการเมือง การวิเคราะห์ แต่มีสไตล์การนำเสนอที่ชัดเจน เลือกกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากขึ้น พวกนี้ยอดพุ่งขึ้นสูงมาก การจะมีคนติดตามหลักแสนหลักล้านปัจจุบันนี้ ถ้าทำแล้วโดนใจ ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ผมจึงมองว่า ยุคนี้เป็นยุคที่สื่อมวลชนเจริญเติบโตได้ง่ายที่สุด และเร็วที่สุด สมัยก่อนคอนเทนต์ต้องไปง้อช่อง ทุกวันนี้ช่องต้องง้อคอนเทนต์ ดังนั้นดิสรัปชั่นในมุมของผมจึงเป็นแง่บวก” วุฒิชัย ระบุ

ทั้งนี้ไม่เฉพาะสื่อใหม่ วุฒิชัย มองว่า สื่อรุ่นใหญ่ เองก็มีการปรับตัว นำเสนอที่รอบด้าน เพราะหากวันใดที่ต้องการไอเดียหลักเรื่องที่มีสาระ ก็มีให้เลือกดู ในฐานะผู้บริโภคจึงมีทางเลือกได้หลากหลายมากขึ้น หากคนทำสื่อมีสไตล์ มีคอนเทนต์ที่ชัดเจน การเจริญเติบโตในยุคนี้ จึงง่ายที่สุด

เน้นย้ำความรู้กฎหมายลดความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม วุฒิชัย ก็ได้เน้นย้ำเรื่อง ความสุ่มเสี่ยงในด้านกฎหมายของสื่อ ในการนำเสนอ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่เสี่ยงใน 2 ส่วน หากถ่ายทอดสดออนไลน์ มีทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(พีดีพีเอ) นอกจากนี้ กฎหมายอื่น ที่ต้องตระหนัก ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ต้องนำเสนอข่าวในเชิงบวก ถ้าทำในเชิงลบจะต้องปกปิดข้อมูล เปิดเผยข้อมูลผู้ปกครองก็ไม่ได้ หรือการทำข่าวคนวิกลจริต ก็ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 16/1 เปิดเผยข้อมูลคนที่มีความผิดปกติทางจิตไม่ได้ มองเฉพาะเป็นคนร้ายไม่ได้ แต่ต้องมองด้วยว่า เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การนำเสนอเรื่องใต้เตียงดาราทั้งหลาย เข้าข่ายหมด 

“ผมมองว่า กฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสังคม หมายความว่า ถ้าหากทำแย่ไปกว่านี้ จะต้องโดนลงโทษ แต่สื่อมวลชนเป็นผู้มีวิชาชีพชั้นสูง การดำรงชีวิตด้วยความรู้ สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพ เพราะมีองค์กรควบคุมจริยธรรม มีจริยธรรมในการปฏิบัติตัว ดังนั้นกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนในปัจจุบันนี้ จึงมีหลายเรื่อง และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็มีแนวปฏิบัติ เพียงแต่อาจจะต้องลงไปในรายละเอียดกับสื่อในต่างจังหวัดด้วย” วุฒิชัย ระบุ

วุฒิชัย ยังให้มุมมองในด้านกฎหมายที่จะป้องกันถูกฟ้องจากการทำหน้าที่ด้วยว่า ทฤษฎีการฟังความรอบด้านสำคัญ การที่เราไปกล่าวหาฝ่ายเดียว โดยที่ไม่สัมภาษณ์ผู้ตกเป็นข่าว อาจเป็นเหตุที่ทำให้เขามาฟ้องเรา แต่หากใช้วิธีไปสัมภาษณ์ เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในมุมของเขา หรือระบุในข่าวว่าได้พยามติดต่อไปแล้ว โอกาสในการฟ้องคดีก็จะน้อยลง 

คาดหวังสื่อให้ความสำคัญกลุ่มปัจเจก

ส่วนความคาดหวังในการจากสื่อ หลังจากการเมืองไทยเข้าสู่โหมดปกติ ในมุมของวุฒิชัย อยากเห็นสื่อนำเสนอ ถึงกรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่สื่อสามารถช่วยเหลือสังคมได้มาก ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริง ในมุมของผู้ได้รับผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ว่าได้รับผลกระทบอย่างไร กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะปัจจุบันเราคุ้มครองเฉพาะเด็กผู้หญิง แต่ไม่ได้คุ้มครองกลุ่ม LGBTQ+ ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่สื่อจะสามารถนำเสนอข้อเท็จจริง ในแง่มุมต่างๆ ของสังคม แล้วลากเส้นต่อไป คือไปคุ้มครองสิทธิของคน ลักษณะเป็นปัจเจกชนมากขึ้น รวมถึงผู้ที่ยังมีจุดอ่อนหรือจุดด้อยในสังคม

สื่อตัวชี้วัดคุณภาพสังคม-ประเทศ 

ด้านนักวิชาการ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต มีมุมมองต่อคุณภาพข่าว สะท้อนคุณภาพสื่อว่า ประเทศใดเป็นอย่างไร ตัวชี้วัดหนึ่งคือดูที่สื่อเพราะสื่อคุณภาพของประเทศนั้นๆ สังคมนั้นๆ เป็นอย่างไร เพราะสื่อจะอยู่ได้ ก็ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน หากเรามีสื่อที่มีแต่ดราม่า แสดงว่าประชาชนประเทศนั้นๆ ชอบดราม่า ไม่ชอบเรื่องสาระ 

อ.วรัชญ์ ยังยกตัวอย่าง ข้อเขียนที่มีสาระของเขา ยอดไลค์ไม่มาก แต่หากเป็นประเด็นฮาๆ ขำๆ ดราม่า กัดจิก ยอดไลค์จะดี ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กลายเป็นวงจรที่ไม่พัฒนาเสียที ซึ่งตนเป็นอาจารย์มากว่า 10 ปี ก็ไม่รู้ว่าจะออกจากวงจรนี้ไปได้อย่างไร

ทั้งนี้ อ.วรัชญ์ ระบุว่า เขามักสอนลูกศิษย์ โดยเน้นย้ำความสำคัญมากคนที่ทำงานสื่อ ว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติมาก “ผมมักจะบอกกับลูกศิษย์ว่า เป็นหมอก็ช่วยคนได้ทีละคน แต่สื่อมวลชนอย่างพวกเรา อย่างเรื่องโควิด ข่าวออกไปทีหนึ่ง เราเซฟคนได้จำนวนมาก” 

แม้กระนั้นก็ตาม ที่พยายามจะสร้างสังคมที่ดีโดยสื่อ เพราะรู้ว่าสื่อมีอิทธิพล มีพลังมาก แต่ก็มีอุปสรรคมาก ทั้งภาคประชาชนเอง ในเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ 

แม้พัฒนาการดีแต่คนยังไม่สนับสนุนสื่อดี

“แม้เรามีพัฒนาการดีขึ้นมาก สมัยนี้ที่ทุกคนรู้หมดแล้วว่า สื่อเป็นอย่างไร เพียงแต่เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ก็เหมือนกับว่า ดูไป ด่าไป ก็คลิกไป เพิ่มยอดให้เขาอยู่ดี มันอาจจะต้องมีถึงจุดที่เราสามารถเลือกในสิ่งที่สื่อที่ดีได้ ไม่ควรจะสนับสนุนสื่อที่ทำเหมือนเดิม ๆ ซ้ำซากไม่อย่างนั้น เขาก็ได้ใจ เหมือนเราอยากดูละครที่ดี เราก็ต้องไปดูละครที่ดี อย่าไปดูที่น้ำเน่ามาก” อ.วรัชญ์ ให้ข้อคิด

สำหรับสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน พัฒนาการเรื่องคุณภาพเป็นอย่างไร อ.วรัชญ์ กล่าวว่า คงเหมารวมไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาของสังคมหลายอย่าง ฉะนั้นจึงต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป สื่อเราเรื่องการโปรดักชั่นไม่แพ้ชาติใดในโลก เรื่องเทคนิค มุมกล้อง ทำได้หมด แต่ในแง่การทำข่าวหลายอย่าง มักง่าย จะแรงไปหรือไม่ เหมือนกับว่ามันง่ายขึ้นเยอะ เพราะมันอาจจะต้องแข่งกับคนอื่น ขณะที่ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเชิงลึก ยังมองไม่เห็นที่ใดทำนอก สำนักข่าวอิศรา 

“กลายเป็นว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เอามาเป็นข่าวได้ อย่างว่าที่นายกฯ ก็มีข่าวกับดาราท่านหนึ่ง แม้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่มีเรื่องอย่างอื่นอีกมากที่สำคัญ อะไรที่ยอดขายได้ ก็เอามาเล่นก่อน ขณะที่ข่าวเชิงลึกหายไป สื่อมีผลต่อความคิดจิตใจ จึงทำให้เรากลายเป็นคนมักง่ายไปด้วยเสพอะไรตื้นๆ ไม่คิดให้ลึกซึ้งว่า เบื้องหลังมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้จากสื่อ” อ.วรัชญ์ สะท้อนภาพ

นักวิชาการด้านสื่อ ยังมองด้วยว่า การที่เราเป็นประเทศที่ใช้โซเชียลมากติดอันดับโลก โดยเฉพาะใช้มือถือมาก ฉะนั้นจึงเข้าทางนักการตลาด นักการเมือง ที่ใช้หลักการตลาด ทำทั้งไวรัล ทั้งไอโอ ต้องยอมรับว่ามันมีจริง เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับว่า ให้เห็นปรากฏการณ์ อย่างเรื่องว้าวุ่น หล่อเท่ ลำบากใจ ทุกคนรู้หมด คนไทยเป็นคนที่ทันกระแสมาก แต่อย่างเช่น ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซียกับยูเครน เป็นอย่างไร เศรษฐกิจจีนสหรัฐเป็นอย่างไร แทบไม่เคยเห็นข่าว 

หนุนองค์กรสื่อเติมทักษะปั้นสื่อขึ้นชั้นกูรู

อ.วรัชญ์ มองในมุมคุณภาพคนสื่อด้วยว่า นักนิเทศศาสตร์สมัยก่อนค่อนข้างรู้รอบ จะรู้หมดแล้วเชื่อมโยงออกมาเขียนข่าวได้ แต่สมัยนี้บางทีเราไปเน้นแค่ว่าจะเล่าอย่างไรให้สนุก คิดว่าความรอบรู้ของนักข่าวปัจจุบัน ผมไม่อยากจะเหมารวม แต่โดยเฉลี่ยน่าจะน้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะ อันนี้ก็เป็นผลที่ทำให้ข่าวที่ออกมา ไม่ได้เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่นๆ ข่าวที่ปรากฎอยู่ 10-20 ช่อง ก็แทบจะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนจึงหนีไปไหนไม่ได้ ถ้าไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า สถานการณ์ความอยู่รอดของคนสื่อ ในขณะที่คุณภาพของข่าวหรือความรับผิดชอบต่อสังคม หลังจากนี้จะต้องเข้มข้นกว่านี้หรือไม่ อ.วรัชญ์ มองว่า นอกจากสถาบันที่ต้องสอนแล้ว สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็มีหลักสูตรต่างๆ ที่ให้ความรู้ ทั้งกฎหมาย รัฐศาสตร์ แต่เป็นเวลาสั้นๆ อาจจะต้องมีหลักสูตร ในการไปปั้นนักข่าวสายอื่นๆ ให้มีสถานะทางสังคมเป็นกูรู เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายข่าว เช่น นักข่าวเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สายเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันความเป็นโต๊ะข่าว ค่อนข้างจะสลายหายไป

คาดหวังสื่อส่งต่อความรู้สังคม

เมื่อถามว่า คาดหวังอะไรจากสื่อหลังจากการเมืองนิ่งแล้ว อ.วรัชญ์ กล่าว่า คาดหวังมาตรฐานเดิม กับการที่คาดหวังจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ 8-9 ปีที่ผ่านมา ก็ยังหวังว่าจะเข้มข้นเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่การจับผิด เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลปรองดอง ไม่ได้ให้แต้มต่อ แต่ไม่ได้ทำข่าวเพื่อให้รู้สึกว่าเปรียบเทียบว่าดีหรือไม่ดีกว่ากัน แต่สื่อจะให้อะไรกับประชาชนได้หรือไม่ 

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเราไม่รู้จะเร็วหรือช้า เช่นนโยบายต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้รัฐบาลทำได้หรือไม่ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลสามารถนำไปตัดสินใจได้ หรือคิดเองได้ สื่อในประชาธิปไตยก็มีความสำคัญมาก ในการให้ความรู้เท่าทันการสื่อสารทางการเมือง

“ผลประโยชน์ของสังคมไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐ หรือเอกชน สื่อมีหน้าที่เพื่อสังคม ภารกิจของเราคือการส่งข้อมูลที่มีประโยชน์ ให้เราได้ปรับตัว เตรียมพร้อมกับการรับมือสิ่งต่างๆ ประชาชนและผู้รับฟังก็คือลูกหลาน หรือคนในสังคมของเราเอง ฉะนั้นถ้าอยากให้สังคมเป็นอย่างไร ถ้าสื่อมีโอกาสในการสร้างสังคม ที่อยากจะให้เป็น ก็อยากให้ช่วยกัน” อ.วรัชญ์ ทิ้งท้าย.

##########