นักวิชาการชี้ พาดหัวข่าวแบบเดิมไม่สร้างรายได้

นักวิชาการชี้ พาดหัวข่าว ยุคดิจิทัล “5W 1H” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อเป้าหมายสร้างกระแส-รายได้ และสื่อออนไลน์ไร้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่่ ห่วงกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผันตัวเป็นสื่อ แนะธุรกิจ-ผลกระทบสังคมต้องบาลานซ์ หนุนสร้างทักษะพลเมืองดิจิทัลตั้งแต่เด็ก ผู้บริโภคคือกลไกสำคัญกำกับดูแลสื่อ ขณะที่แนวโน้มหลักสูตรการเรียนข้ามศาสตร์ ช่วยให้การสื่อสารสร้างสรรค์ ด้านนักวิชาชีพ สะท้อนแนวโน้มการใช้คำพาดหัวดีขึ้น หลังเผชิญฟีดแบคแรง-เร็วจากสังคม หนุนผู้บริโภครีพอร์ตแพลตฟอร์มหากพบสิ่งไม่เหมาะสม เผยองค์กรสื่อ-ภาคีเร่งเรตติ้งเชิงคุณภาพ

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “หัวข่าวยุคดิจิทัล รวยต้องชม-โป๊ต้องเชียร์?” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ (NIDA) นพปฎล รัตนพันธ์รองบรรณาธิการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และรองเลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ระบุว่า ในการเรียน 5W 1H (Who,  What,  When,  Where,  Why, How) และ Headline จะบอกเนื้อหาได้ค่อนข้างครบถ้วนในยุคแอนะล็อก ที่มีหนังสือพิมพ์ และทีวี แต่สมัยนี้ตัววัด จะมีผลเรื่องอัตราโฆษณา การนับจำนวนยอดคลิก ยอดวิว ยอดเอ็นเกจเมนต์ การแค่พาดหัวให้เข้าใจแบบ 5W 1H จึงใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเขาต้องการให้มียอดมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องดึงอย่างไรก็ได้เพื่อ ให้คนเข้าไปคลิกต่อ 

“จึงเริ่มจาก Clickbait (คลิกเบต) ซึ่งจะบอกไม่หมด หลังๆ เพิ่มมาอีกอย่าง คือถ้าอยากรู้ข้อมูล ให้ไปกดคลิกในคอมเมนต์ ไม่ใช่แค่ดูในโพสต์อย่างเดียว ต้องกดในคอมเมนต์ด้วย ทำให้เพิ่มความยุ่งยาก แต่ข่าวออนไลน์ก็ได้ยอดมากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น แต่ในแง่ของประโยชน์ผู้บริโภค และจริยธรรมในความเป็นวิชาชีพ น่าจะถกเถียงกันว่า ได้ให้ประโยชน์ต่อประชาชนคงเดิมไหม หรือต้องเสียเวลาเข้าไปดูว่า ใช่หรือไม่ใช่ เหมือนข่าวกลายเป็นโฆษณาอย่างหนึ่ง” 

ผศ.ดร.วรัชญ์ ชี้ด้วยว่า มีหลายปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ก้าวไม่พ้นตรงนี้ ซึ่งคนไทยใช้สื่อเยอะ และเรามักจะสนใจในเรื่อง Human interest ที่เป็นความสนใจของมนุษย์ แต่เรื่องของการแยกแยะ การวิเคราะห์ เราอาจจะยังไม่เข้มงวดในแง่การเสพข่าว ตัวอย่างเช่น ใครก็ตามสร้างตัวขึ้นมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย หรือกรณีเปรี้ยวหั่นศพ เป็นอาชญากร แต่เอาข่าวมาลง โดยเน้นเรื่องความสวย แม้กระทั่งลุงพล ก็กลายเป็นเน็ตไอดอล กลายเป็นว่าในวงการข่าวจะโทษสื่ออย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่เสพข่าวด้วย เพราะถ้าหากข่าวที่ออกมามีคนส่วนหนึ่งวิจารณ์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังติดตาม ก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ หนีไม่พ้น

ในมุมมอง ผศ.ดร.วรัชญ์ เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ง่ายในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องใช้เวลา โดยมีความหวังจากสามัญสำนึก จิตสำนึกของผู้รับสาร ที่เห็นว่าดีขึ้น “ตั้งแต่ผมติดตาม หลังจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ เมื่อกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ในประเทศไทยที่เคยลงข่าวและภาพต่างๆ โดยไม่เซ็นเซอร์ แต่ตอนนี้ผมเห็นว่าแม้ว่าจะมีช่องทางในการนำเสนอทางออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ก็จะมีคนที่รู้เท่าทันสื่อพวกที่กล้าเล็กๆ ก็ออกมา ถ้ามีมากขึ้น ถ้าถึงจุดที่มากพอที่จะผลักดัน ซึ่งก็ต้องปลูกฝังเขาไป”

ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุด้วยว่า เคยเสนอและพยายามผลักดันให้รัฐบาลบรรจุเรื่องการรู้เท่าทันสื่อไปในการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่มัธยมต้น แต่รัฐบาล (ขณะนั้น) ยังไม่เอาด้วย เพราะหาเสียงแล้วไม่ได้ แต่ถึงจุดหนึ่ง เชื่อว่าน่าจะผลักดันให้ขับเคลื่อนได้ส่วนหนึ่ง

ยกเคสต่างประเทศ“รู้เท่าทันสื่อ”ก้าวหน้า

ผศ.ดร.วรัชญ์ แชร์ประสบการณ์จากการไปประชุมที่ประเทศจีนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีนก้าวหน้ามากเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ตอนนี้เลิกพูดถึง Media literacy แต่พูดถึง Digital Literacy ด้วย ซึ่งต่อไป AI จะเข้ามาแทนผู้จัดรายการ แล้วคนที่รู้ AI กับคนไม่รู้ก็จะทำให้มีช่องว่าง เมื่อก่อนเรียก Digital Divide เดี๋ยวนี้ก็จะเป็น AI Divide  แล้วไทยเราพร้อมหรือยัง มีแผนยุทธศาสตร์ AI หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องขับเคลื่อนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาแทน ให้เขามีจิตสำนึกมากขึ้น ซึ่งสำคัญมาก จะช่วยให้การตัดสินใจเลือกข่าว การเสพข่าว นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ห่วงกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผันตัวเป็นสื่อ

อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วง ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุว่า ผู้ผลิตเอง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ผันตัวมาเป็นนักข่าว ผู้ที่รายงานข่าว แต่ไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ แม้จะผลิตคอนเทนต์ได้ออกมาสวยงาม แต่ในแง่ของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จิตวิญญาณ สัมมาอาชีวะปฏิญาณในการเป็นสื่อจะต้องมี สิ่งเหล่านี้บางทีเขายังไม่ได้รับการปลูกฝังมา ซึ่งน่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ ในด้านสถาบันการศึกษา คณะวารสารศาสตร์นักศึกษามีน้อยลงไปเรื่อยๆ  บางมหาวิทยาลัยปิดไป แล้วเปลี่ยนเป็นสาขาอื่น เช่น การออกแบบสื่อดิจิทัล เป็นต้น ขณะที่จีน Journalism ยังเข้มแข็งมาก

สำหรับแนวโน้มในไทย ผศ.ดร.วรัชญ์ มองว่าสื่ออาชีพมีแนวโน้มจะเริ่มหายไป คนเรียนน้อยลง “กลายเป็นว่าทุกคนเรียนเพื่อจะเป็นครีเอเตอร์ทางด้านคอนเทนต์ เพราะสามารถมีอนาคต ซึ่งหมายถึงรายได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ยังมี ขณะที่ข่าวคนรวยเร็ว โชว์นู่นนี่ รวยทางลัด แต่ไม่ค่อยมีข่าวที่สร้างแรงบันดาลใจ อยากจะเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนสังคมในแง่ที่สร้างสรรค์ ซึ่งอยากเห็นข่าวแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”  

พาดหัวยุคดิจิทัลเป้าหมายสร้างกระแส-รายได้

สำหรับพาดหัวข่าวยุคดิจิทัลรวยต้องชม- โป๊ต้องเชียร์ มองอย่างไร ผศ.ดร.วรัชญ์ เห็นว่า การชมและเชียร์เพื่อให้ได้กระแสและเกิดเอ็นเกจเม้นต์ เพื่อให้ได้อัตราค่าโฆษณามากขึ้น เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีคนแบบนี้อยู่ ก็ยังคงเป็นแบบนั้น ตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนไม่มี บอร์ดแคสต์ก็มีแค่ กสทช. ขณะที่เกรย์โซนช่องว่างสีเทาๆ ใครจะเป็นคนช่วยดูแล สื่อเองช่วยดูแลไหม ดูแลกันเองได้ไหม หรือประชาชนแข็งแรงพอไหม หรือเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ภาคการศึกษา หรือต้องมีระเบียบหรือนโยบายออกมาทางออนไลน์หรือไม่ จึงอยากฝากไว้ว่า คงต้องมีกลไกอะไรบางอย่าง ที่เราจะปรับจูนทัศนคติของเยาวชนว่าสิ่งใดที่ดี สิ่งใดที่ควรส่งเสริม

พลิกแพลง-สแลงเพื่อดึงดูดคนอ่านคนดู

ด้านมุมมองนักวิชาชีพ นพปฎล รัตนพันธ์ มองว่า หากเทียบระหว่างยุคหนังสือพิมพ์ กับยุคออนไลน์ปัจจุบัน ซึ่งแตกแขนงไปหลายส่วนทั้งเว็บ YouTube Twitter TikTok เพจ Facebook ก็จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด การพาดหัวในสมัยก่อนในหนังสือพิมพ์ต้องสั้นกระชับ หากมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น บางทีไปทึกทักเองว่าต้องใช้คำนั้น ในสังคมก็อาจไม่เห็นด้วย ก็มีการโต้แย้ง และเราก็ปรับเปลี่ยนไปตามคำวิพากษ์วิจารณ์ 

พอมาในช่วงสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ ที่มีพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเนื้อข่าว การพาดหัว พื้นที่มีมากกว่าหนังสือพิมพ์ในอดีต ก็ทำให้มีคำ มีวลีเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม แล้วพาดหัวธรรมดาโลกไม่จำ จึงไปใช้คำพลิกแพลง ใช้คำสแลง ที่พาดหัวกำกวม เพื่อดึงดูดให้คนอ่าน คนดู คลิกเข้าไป ก่อนหน้านี้ เราก็พูดถึงบางสำนักข่าวที่เป็นเพจ ใช้คำดึงดูด พาดหัวคลิกเบตเป็นกับดักก็มีอยู่เรื่อยๆ 

แนวโน้มการใช้คำดีขึ้นหลังเผชิญฟีดแบค

สำหรับสื่อหลัก ไม่ว่าทีวีที่มาทำออนไลน์ หรือสื่อที่โตจากออนไลน์ ก็ได้ปรับโทน ปรับคำให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อความเป็นวิชาชีพสื่อ ก็ต้องคงไว้ซึ่งเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณ หากถูกตำหนิจากผู้อ่านผู้ชมผู้บริโภคก็ต้องรีบแก้ไข ปัจจุบันการทำสื่อออนไลน์ไม่ว่าแพลตฟอร์มใด มีฟีดแบค กลับมาค่อนข้างเร็ว หากยังดึงดันไม่เปลี่ยน เพจหรือเว็บนั้นก็คงอยู่ได้ยาก เท่าที่มอนิเตอร์สื่อหลักในปัจจุบัน จำนวนเรื่องร้องเรียน เรื่องการพาดหัวน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก 

เมื่อเทียบสถานการณ์ ย้อนกลับไป ที่มีไลฟ์สดเข้ามา สื่อหลายแห่งมีบทเรียนมากในการใช้สื่อโซเชียล การใช้คำพาดหัว การใช้ภาพ ณ ปัจจุบันนี้ มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะไม่ใช่เป็น A+ แต่ดีขึ้น ทีวี เว็บไซต์ทีวี หรือออนไลน์โดยตรง ก็มีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญในการมอนิเตอร์ ตัดภาพ ตัดคำ ประโยคที่ไม่เหมาะสมออก ซึ่งดูได้จากเรื่องร้องเรียน ไม่มากขึ้น

หนุนผู้บริโภครีพอร์ตหากพบสิ่งไม่เหมาะสม

ส่วนการเสนอภาพดารา บุคคลสาธารณะที่แต่งกายวาบหวิวหรือเซ็กซี่ นพปฎล มองว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคสนใจ โดยดูจากยอดไลค์ในเพจหรือไอจีของบุคคลนั้น หรือการที่บางสื่อนำภาพ คลิป มาโพสต์ลงในสื่อของตัวเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำเสนอภาพลักษณะใส่ชุดว่ายน้ำ อวดหุ่น คนอยากดู แต่หากเลยเถิดไปถึงการผิดกฎชุมชนโซเชียล รวมทั้งจริยธรรม ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคสื่อ ที่สามารถติติงกันได้ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องกดรีพอร์ต โดยเฉพาะในออนไลน์ ที่เป็นทูเวย์ ซึ่งหากเป็นเพจใหญ่ๆ ที่มีคนติดตามเยอะๆ การถูกรีพอร์ตจะส่งผลกระทบต่อระบบหลังบ้าน ที่ต้องระมัดระวังเพจปลิวหาย 

ด้วยบริบทของการใช้ช่องทางโซเชียลเราต้องไปพึ่งพาแพลตฟอร์มในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค จนเราต้องปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีนโยบายห้ามโพสต์อะไรบ้าง แต่ก็มีการเลี่ยง โดยหลบเอามาไว้ในคอมเมนต์ หรือมีกฎเรื่องภาพเสียงต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็เป็นปัญหาหนึ่งในสื่อไทยในกลุ่มเล็กๆ 

องค์กรสื่อ-ภาคีเร่งเรตติ้งเชิงคุณภาพ

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็คุยกันว่า เราควรจะมอนิเตอร์กลุ่มเหล่านี้อย่างไร และมีการริเริ่มจากสื่อรุ่นใหญ่ที่อยากจะสร้างเรตติ้งสร้างคะแนน ความดี ความชอบ ให้สื่อที่ไม่ได้กระทำความผิด ก็เริ่มจากสื่อ และ กสทช.ที่อยากจะให้เรตติ้ง ให้เป็นคะแนนสื่อที่ทำดี ไม่โดนตำหนิ เพื่อเป็นข้อมูลให้เอเจนซี่โฆษณา และผู้บริโภคได้รับรู้ ว่า รายการนั้น ช่องนั้น ช่องนี้ ไม่เคยละเมิด และมีคะแนนที่ดี ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ

เรื่องเชิงธุรกิจและความอยู่รอดของสื่อที่จะต้องไปด้วยกัน นพปฎล มองว่า 1.เราเข้าใจดีว่าสื่อใหญ่ที่ลงไปทำเพจ กับกลุ่มที่โตมาแล้วทำเพจเลย ต้นทุนในการทำ ต่างกันเยอะ ต้นทุนคน 100 คน กับ 10 คน ข่าวเดียวกัน ที่ทำมันแตกต่างกันเยอะ ถ้าคนหนึ่งเลือกจะรักษาจริยธรรมจรรยาบรรณแล้วเรตติ้งไม่ดี เอ็นเกจเมนต์ไม่เยอะ ขณะที่คนอีกกลุ่ม ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง แต่เอ็นเกจเมนต์เยอะ AI ไม่รู้ว่า สื่อใดใช้คนมากคนน้อย ระบบการแชร์โฆษณา ของเค้าก็คงเป็นมาตรฐานตามกลไก จึงคิดว่า หากคนทำผิด เราก็ควรลงโทษ ตำหนิติติงเขา ส่วนคนที่ทำดี ไม่ได้ละเมิดจริยธรรม ก็ควรให้คุณเขา ควรจะมีคนกลางมอนิเตอร์  อาจจะมีการลงทะเบียนยินยอม ในกลุ่มที่มีข้อตกลงร่วมกัน

ตรงนี้อยู่ในขั้นตอนที่ดำเนินการอยู่ ถ้าทำได้จะเป็นเรื่องดี ซึ่งไม่ใช่ทำเฉพาะสื่อเท่านั้น แต่จะดึงกลุ่มเอเจนซี่โฆษณาเข้ามา เพื่อให้เขาเห็นว่า อยากให้ความสำคัญกับคุณภาพสื่อ ถ้าทำได้ตรงนี้จะมีประโยชน์ ทั้งกับกลุ่มสื่อทั้งเก่าและใหม่

นพปฎล ระบุว่า การสู้ในตลาดออนไลน์ก็ต้องมีกฎกติกาที่ยอมรับกันได้ พอที่จะสู้กันไหว เพราะสื่อใหญ่ต้นทุนสูงกว่าสื่อเล็ก แต่รายได้พอๆกัน มันก็จะลำบากถ้า กสทช.สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วก็จะเป็นเรื่องดี ขณะที่สภาการฯ เองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงหัวข่าวยุคดิจิทัล รวยต้องชม- โป๊ต้องเชียร์ นพปฎล มองว่า จะยังมีอยู่ต่อไป ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริหารแต่ละสื่อ หลักๆ แต่หากขัดกฎระเบียบแพลตฟอร์มก็ย่อมถูกปิดกั้น

ธุรกิจ-ผลกระทบสังคมต้องบาลานซ์

ทางด้าน ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล  ฉายภาพสื่อในยุคดิจิทัลว่า คอนเทนต์เนื้อหาข่าวเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ ถ้ามองในเรื่อง Marketing ก็ต้องพยายามที่จะดึงดูดคน โดยสร้างคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับคุณค่าที่คนในสังคมจะเข้าไปคลิกดูข้อมูล เพียงแต่ต้องบาลานซ์ว่า ในขณะที่เรากำลังจะทำเรื่องธุรกิจสื่อให้อยู่ได้ อยากมียอดผลตอบแทนทางธุรกิจ แต่ทำอย่างไรที่จะ Maintain เรื่องของสังคมได้ ปัจจุบันก็เลยมีการ Cross ศาสตร์กันเกิดขึ้น 

เมื่อก่อนอาจจะมองว่าคนที่ทำเรื่องการตลาด ธุรกิจ ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องของคอนเทนต์ หรือจริยธรรมสื่อ ขณะเดียวกัน คนที่ทำเรื่องของสื่อ ทำคอนเทนต์ต่างๆ ก็ไม่มีโอกาสได้ขับเคลื่อนในเรื่องธุรกิจ แต่ปัจจุบันนี้  มีหลากหลายสาขาวิชา เช่น การสื่อสารการตลาด เรื่องการสร้างคอนเทนต์ทางการตลาด ซึ่งเป็นการรวมคน 2 กลุ่มเข้ามาทำงานด้วยกัน ซึ่งในอนาคตคิดว่าเรื่องการไหลบ่า เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพการสร้างคอนเทนต์ โดยที่คำนึงถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย และคำนึงถึงสังคม และผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย น่าจะบาลานซ์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ณภัทร ชี้ถึงเรื่องที่น่ากังวลและน่าเป็นห่วง หลายเคสที่สื่อมวลชนนำเสนอรูปอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่ผอมมากๆ จนเห็นซี่โครง มาชื่นชมว่าหุ่นดี ซึ่งกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานของสังคม หากคนที่อาจจะเติบโต หรือผ่านการเรียนรู้อยู่ในสังคมที่มีการคิดวิเคราะห์รู้เท่าทันสื่อในระดับของการวิเคราะห์คอนเทนต์ ก็เห็นว่าจะมีการชาเลนจ์กันในโพสต์นั้นๆ เลยว่า แบบนี้ไม่ใช่การมีสุขภาพดี สุขภาพดีต้องเป็นแบบไหน กรณีอย่างนี้ ในอนาคตก็อาจจะเกิดปัญญารวมหมู่กันขึ้น เพราะเกิดการถกเถียง เกิดการแลกเปลี่ยน แต่ก็จะมีผู้รับสื่อบางกลุ่ม ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า เรื่องการให้ความรู้ การพัฒนาพลเมืองดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อ หรือการรู้เท่าทันดิจิทัลในประเทศเรา ค่อนข้างช้า

หนุนสร้างทักษะพลเมืองดิจิทัลตั้งแต่เด็ก

ผศ.ดร.ณภัทร ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย และประเทศในแถบสแกนดิเนเวียน ที่มีการแบ่งเรื่องทักษะพลเมืองดิจิทัล และสอนตั้งแต่อนุบาล ตั้งแต่เริ่มเข้าถึงสื่อ เด็กต้องรู้ อย่างน้อยอันแรก อย่างที่ออสเตรเลีย จะต้องมี 2 ทักษะ คือ 1.เรื่องของการป้องกันตัวเองจาก Cyberbullying (การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลอกลวง โพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ)

2.เรื่องของการคิดวิเคราะห์ ก็กลับมาเรื่องสำคัญ คือเรื่องของการศึกษา ดังนั้นถ้าเราเห็นว่า ขนาดผู้ใหญ่ ยังทันบ้าง ไม่ทันบ้าง แต่ถ้าเด็กเข้าถึงสื่อได้เร็วมากยิ่งขึ้น การที่เราจะติดตั้งความคิดเชิงวิเคราะห์ หรือการรู้เท่าทันเหล่านี้ ต้องเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน

“แต่ละเจนเนอเรชั่นจะมีความเก่งกาจต่างกันอยู่แล้ว เพราะเติบโตมาในสังคมที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ที่เกิดมาในช่วงสงคราม ก็จะประหยัดมัธยัสถ์ เพราะแนวสังคมปั้นเขามาเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเจนเนอเรชั่น X – Y ก็มีแก๊ปเรื่องเทคโนโลยีแต่พอเจน 

Z ก็คล่องแคล่ว แต่เดี๋ยวนี้เจน Alpha  ที่เติบโตมากับ AI เขาจะเก่งกว่าเจน Z อีก เพราะเขาโตมากับบริบทแบบนี้ ที่ไม่ต้องสอนเขาเลย แค่โยนมือถือใหม่ๆ ให้เด็กแกะกล่องออกมา Install เล่นเองได้เลย เพราะเขาเกิดมาจากบริบทเหล่านี้ แต่สิ่งที่จะต้องเติม ซึ่งขอย้ำว่า ไม่เฉพาะต้องเติมกับเด็ก แม้กระทั่งตัวเราเอง หรือผู้สูงวัย ก็ต้องพัฒนาเรื่องของระบบคิด โดยเฉพาะคิดวิเคราะห์ และการเปิดรับข้อมูลที่หลากหลายมาประกอบกัน อันนี้สำคัญมาก”  ผศ.ดร.ณภัทร ระบุ

ผู้บริโภคคือกลไกสำคัญกำกับดูแลสื่อ

ขณะที่คุณภาพสื่อ เรื่องการวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพ ผศ.ดร.ณภัทร เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งตนก็ทำงานกับโซเชียลมีเดียในหลายแพลตฟอร์ม นอกจากงานวิชาการ เขาก็มีความพยายามในการทำแคมเปญต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้คนรู้เท่าทัน ขณะเดียวกันเราก็ห้ามกันไม่ได้เรื่องการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือสื่อมวลชนที่ต้องดิ้นรนให้รอดในโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ก็มีแคมเปญมากมาย             

อีกทั้งปัจจุบัน ที่ได้ทำงานกับหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลสื่อ และทำงานกับสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน คิดว่า Ecosystem เรากำลังพัฒนา เรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งกลไกใน Ecosystem ของเรา คือ 1.ผู้บริโภค ซึ่งสำคัญมาก ถ้าไม่เปลี่ยน สิ่งที่เรากล่าวถึงจะไม่เกิดขึ้นส่วนเรื่องของสื่อมวลชนเอง ตัวของนโยบายของรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนควบคู่กันไป คือเรื่องของระบบเศรษฐกิจ แล้วก็ Value หรือ Norm ทางสังคมถ้า Ecosystem เหล่านี้ เปิดรับซึ่งกันและกัน และจูนหากัน เชิงคุณภาพของเนื้อหาสื่อจะเกิดขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญอันแรกที่ทำให้เกิดขึ้น และเป็นจริง ก็คือพลังของผู้บริโภค

ผศ.ดร.ณภัทร เน้นย้ำว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของสื่อมวลชน เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่งตนไม่เห็นด้วยหากจะโทษสื่อมวลชนอย่างเดียว สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ของเราขับเคลื่อนอยู่ได้เพราะสื่อมวลชนช่วยกันขับเคลื่อนมากๆ แต่เรื่องความปลอดภัยของคอนเทนต์ เรื่องการสร้างค่านิยมที่ดีในสังคม หรือความสงบสุขในสังคม เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน 

แนวโน้มข้ามศาสตร์ ช่วยการสื่อสารสร้างสรรค์

ตอนนี้มีรายวิชาความฉลาดทางดิจิทัล ข่าวดีคือ วิชาตอนนี้ไม่ได้อยู่ในนิเทศศาสตร์อย่างเดียว แต่นักศึกษามาจากคณะต่างๆ หลากหลาย ทั้ง วิศวกรรมอาหาร เศรษฐศาสตร์ดิจิทัล เกษตรศาสตร์ สัตวศาสตร์ อย่างน้อยเราก็ได้สร้างนักวิศวกรรมอาหารที่รู้เรื่องสื่อ และรู้ว่าจะไปทำคอนเทนต์หรือผลิตอาหารอย่างไรให้คนรู้เท่าทัน ถ้ากลไกเหล่านี้ทำงานด้วยกัน และเรามองเป้าหมายข้างหน้า อยากให้ประเทศหรือ Ecosystem เรื่องการสร้างสื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นอย่างไร หากเราช่วยกันแก้  มีเป้าหมายร่วมกัน ก็ต้อ  ทำไปด้วยกัน

“หัวข่าวยุคดิจิทัล รวยต้องชม-โป๊ต้องเชียร์?” ผศ.ดร.ณภัทร มองว่า แม้จะยังอยู่กับสังคมไทยต่อไป แต่คอนเทนต์อาจจะเปลี่ยนไปตาม Value และ Norm ของสังคม ถ้าในอนาคตอีก 10 ปี  เราให้คุณค่าเรื่องคนเก่ง คนสุขภาพดี หัวข้อข่าวก็จะเปลี่ยนไป  เราอยากได้สังคมอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา และผู้บริโภคสื่อ ที่เป็นกำลังสำคัญมากๆ ที่จะนำไปสู่จุดนั้น