ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว

ประกาศสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว กรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย โดยมีมติเห็นชอบร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นบุคคลากรในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน ซึ่งผู้แทนจาก 3 สภาวิชาชีพได้ส่งรายชื่อกรรมการและร่วมกันสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ดังรายนามต่อไปนี้

  1. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เป็น ประธานกรรมการ
  2. นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์   เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็น กรรมการ
  3. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้เชี่ยวชาญ สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็น กรรมการ
  4. นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็น กรรมการ
  5. นายรณรงค์ แก้วเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็น กรรมการ
  6. นางสาวอัญชนก แข็งแรง รองประธานกรรมการสภาวิชาขีพกิจการการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) เป็น กรรมการ
  7. รศ.ดร.มนวิภา วงศ์รุจิระ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็น กรรมการ

อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

  1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีสื่อมวลชนนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ตามแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
  2. รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
  3. จัดทำข้อเสนอการดำเนินการตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เสนอไปยังองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม ตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชน เพื่อสร้างการยอมรับต่อสาธารณะ ภายในเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศแต่งตั้ง โดยอาจขอขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วันแต่ไม่เกิน 2 ครั้ง

ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2566