จริยธรรมและบรรทัดฐานสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบต่อสังคมในการพาดหัวข่าว

จริยธรรมและบรรทัดฐานสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบต่อสังคมในการพาดหัวข่าว

 

โดย ดร.รสิกา  อังกูร

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นผลผลิตและเป็นกระจกเงาของสังคม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดประเด็นหัวข้อข่าวต่างๆ ให้ประชาชนผู้รับสารได้ทราบ โดยสื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดทั้งเนื้อหาสารในการนำเสนอ การเพิ่มหรือขยายพื้นที่ของข่าว ความถี่ในการรายงานข่าว และระยะเวลาในการนำเสนอข่าว (agenda setting) การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแม้จะมีสิทธิ เสรีภาพ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่สื่อมวลชนก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้จริยธรรม (ข้อพึงปฏิบัติของสื่อมวลชน) และจรรยาบรรณในวิชาชีพ (กฎเกณฑ์ความประพฤติหรือมารยาทของผู้ประกอบอาชีพสื่อสารมวลชน) ตลอดจนอยู่บนบรรทัดฐานของสื่อและสังคมที่พึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทฤษฎีว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคม (The social Responsibility Theory) ของ Theorodore Peterson (1973) เป็นทฤษฎีที่ทำให้สื่อมวลชนตระหนักในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองมากขึ้น โดยมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพเป็นกรอบหรือเสาหลักในการทำงาน มีหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ  1) ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและเลือกรับข่าวสาร 2) สื่อต้องมีอิสรภาพ และเสรีภาพในการนำเสนอข่าว 3) สื่อต้องตระหนักถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับสำหรับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนภายใต้ทฤษฎีนี้ โดยสรุปประกอบด้วย

ด้านการเมือง ทำหน้าที่ในการเสนอข่าวสาร และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวมส่งเสริมกระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการปกครองตนเอง ปกป้องรักษาสิทธิของปัจเจกบุคคลโดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราและควบคุมรัฐบาล

ด้านเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ให้บริการสื่อโฆษณาต่างๆ ด้วยความถูกต้อง ไม่เกินจริง

ด้านสังคม ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงที่คัดเลือกมาแล้วว่ามีคุณภาพหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรม ความรุนแรง ความไม่สงบ หรือความแตกแยกในสังคม และสามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใช้สิทธิโต้ตอบ (เทียนทิพย์ เดียวกี่, 2559)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนนี้ สื่อก็ยังต้องมีการกำกับดูแลตัวเอง ภายใต้กรอบของกฎหมายและจรรยาบรรณในวิชาชีพ แสดงความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสังคมในเรื่องความคิด มุมมองอย่างเป็นธรรม

สังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร  สังคมออนไลน์ที่มีโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงได้รวดเร็วและพร้อมใช้งานได้ง่ายดายตลอดเวลา สื่อมวลชนยิ่งต้องใช้หลักจริยธรรมและความรับผิดชอบที่มากขึ้น การนำเสนอข่าวยิ่งต้องใช้ความระแวดระวังมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสื่อก็ยังถูกตรวจสอบจากสังคมได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นในการนำเสนอข่าว สื่อต้องทำหน้าที่ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบและสกัดกั้นข่าวลวง (fake news) ต่างๆ รวมทั้งต้องป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใดในทางมิชอบตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพอีกด้วย

เมื่อหลักการในเรื่องจริยธรรมและบรรทัดฐานของสื่อมวลชนปรากฏชัดแจ้งดังกล่าวแล้ว หากย้อนถามกลับว่าแล้วสื่อมวลชนไทยอยู่บนกรอบบรรทัดฐานของสื่อในการทำหน้าที่ต่อสังคมครบถ้วน ถูกต้องและเป็นธรรมตามหลักการแล้วหรือไม่

การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีประเด็นให้ชวนตั้งคำถามและคิดต่อมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาดหัว การใช้ตัวโปรยบางข่าวพาดหัว หรือโปรยด้วยประโยคที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง บางข่าวพาดหัวด้วยประโยคที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสารไปในเชิงลบ หรือตีความได้สองแง่ หรือบางข่าวพาดหัวแบบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวที่นำเสนอ ตลอดจนพาดหัวข่าวแบบเกินจริง ทั้งนี้เพียงเพื่อต้องการยอดไลก์ (like based) หรือยอดผู้เข้าชม เพื่อเรียกค่าโฆษณาเป็นกระแสหลัก  ซึ่งแม้การพาดหัวข่าวหรือการโปรยข่าวดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือผลกระทบรุนแรงต่อใครหรือสิ่งใด แต่หากวิเคราะห์ไปถึงจริยธรรมและบรรทัดฐานของสื่อมวลชนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว  การกระทำดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่มาตรฐานจริยธรรมกำหนดไว้

การแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้สื่อแต่ละหัวอาจละเลยในเรื่องของการกำกับดูแลกันเอง ประกอบกับการมีองค์กรสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  กลายเป็นการแข่งขันเชิงธุรกิจเพื่อความอยู่รอดและหาตำแหน่งทางการตลาดให้กับตนเองมากกว่า ซึ่งมูลเหตุเหล่านี้อาจส่งผลต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนได้

การพาดหัวข่าวบางข่าว เป็นการพาดหัวแบบเกินจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขายข่าวและต้องการเรียกความสนใจจากผู้อ่านเป็นหลัก โดยทำให้เนื้อหาข่าวที่พาดหัวบิดเบือนไปจากความเป็นจริง หรือเมื่อติดตามอ่านเนื้อหาสารแล้ว ปรากฏว่าไม่มีสาระสำคัญอะไรที่สอดคล้องกับหัวข้อข่าว นั่นหมายความว่าผู้เขียนข่าวจับประเด็นหรือสาระสำคัญของข่าวนั้นๆ ไม่ได้ หรือไม่ถูกต้อง รวมทั้งไม่สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ที่พึงได้รับจากการอ่านข่าวนั้นๆ หรือที่เรียกว่าเป็น “ลิงก์ข่าวหลอกคลิ๊ก” เพื่อเป็นการเรียกเรทติ้งจากยอดกดเข้าดู ซึ่งมีผลต่อการขายโฆษณาต่อไป ขณะเดียวกันบางข่าวยังขึ้นพาดหัวโดยใช้ข้อสรุปหรือแนวคิดของคนเขียนข่าวเป็นหลัก หาได้อยู่บนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ทั้งที่ตามหลักการพื้นฐานแล้วผู้เขียนข่าวควรเลือกใช้ถ้อยคำ หรือภาษาที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวมากกว่า

ปัญหาที่เกิดจากการพาดหัวข่าวที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง เกินความเป็นจริง ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นข่าว รวมถึงครอบครัว และบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่นำเสนอผ่านโลกออนไลน์ จะเห็นได้ว่า เพียงชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่นำเสนอข่าว จะมีการโพสต์แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่อกระแสข่าวอย่างมากมาย ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิตของผู้ตกเป็นข่าวและผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นข่าวที่นำเสนอไปก็มี กรณีดังกล่าวอาจเป็นการล่วงละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และถือเป็นความผิดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่ออย่างมหันต์ จึงเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องกลับจากผู้ตกเป็นข่าวที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

ตามหลักการแล้วการพาดหัวข่าวคือการบอกให้ผู้อ่านรู้ในเบื้องต้นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรตามหลัก 5Ws 1H โดยการสรุปความเพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นจากพาดหัวนั้นๆ แต่ปัจจุบันพาดหัวข่าวกลายเป็นพื้นที่ในการแข่งขันทางการตลาด เป็นพื้นที่ในการเรียกตัวเลขจากค่าโฆษณา จึงทำให้เกิดภาวะแข่งขันกันสร้างกระแส สร้างคำสร้างประโยค เพื่อหลอกล่อให้คนคลิ๊กเข้าไปอ่านมากกว่าต้องการนำเสนอข่าวและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

ดังได้กล่าวแล้วว่าบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ การทำความจริงให้ปรากฏ โดยการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม และที่ผ่านมาสื่อมวลชนสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคมไทยขึ้นมากมายหลายเรื่อง แต่ปัญหาในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณและบรรทัดฐานของสื่อมวลชนก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องควรต้องหันมาร่วมกันผลักดัน สร้างความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวให้มากขึ้น เพราะสื่อมวลชนคือกระบอกเสียงของประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชนในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาคงต้องใช้หลายมิติร่วมกัน   ทั้งในระดับตัวบุคคล คือ ผู้เขียนข่าว หรือคนทำข่าว ระดับองค์กร คือ เรื่องของหลักการ นโยบาย กฎ ระเบียบ บทลงโทษ รวมถึงการทบทวนเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพให้เข้มข้นขึ้น

ในมุมมองจากบทความนี้ การเร่งรณรงค์เสริมสร้างในเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมทั้งบรรทัดฐานของสื่อที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคม คงมิใช่แค่ปรับแค่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพียงอย่างเดียว ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้รับสารเองก็ควรต้องได้รับการกระตุ้นเตือนในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ และตระหนักในจริยธรรมสื่อเช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ผู้รับสารมิใช่เป็นแค่ผู้รับสารอย่างเดียว หากแต่เป็นผู้ส่งสารไปด้วยในขณะ เดียวกัน ดังนั้นจริยธรรมและบรรทัดฐานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จึงต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มไปพร้อมๆ กัน

ในฐานะนักการศึกษาการสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ คงต้องปรับปรุงพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ระดับฐานราก โดยการให้เด็กและเยาวชนที่สนใจได้เริ่มเรียนรู้ในกระบวนการเข้าสู่อาชีพตั้งแต่เนิ่น ด้วยการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Learning by Doing) และค่อยๆ ซึมซับในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณและบรรทัดฐานที่ถูกต้อง เหมาะสมในการเป็นนักสื่อสารมวชนมืออาชีพที่มีคุณภาพต่อไป

…………………………………………………………………………..

บรรณานุกรม

เทียนทิพย์ เดียวกี่. (2559).  จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อในการนำเสนอข่าวยุคดิจิทัล.วารสารการสื่อสารและการจัดการนิด้า.  ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2559).

PertersonTheordore. (1973). “The Social Responsibility of the Press.”Four Theory of the Press. University of Illinois Press, Urbanana.