สื่อ และโซเชียลต้องระวัง นำเสนอ-ส่งต่อ ข่าว ภาพความรุนแรง กรณีข่าวทำร้ายคนไทย

3 คดี กรณีทำร้ายคนไทย นักสิทธิมนุษยชน สื่อ นักวิชาการ เห็นพ้อง ทั้งสื่อ-โซเชียล ต้องระมัดระวังการนำเสนอ ส่งต่อ เนื้อหาและภาพความรุนแรง ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง หวังสื่อมวลชนช่วยกระตุกเตือนสังคมไม่ว่าคนชาติใด กสม. ย้ำสิทธิประชาชน บนพื้นที่สาธารณะ หน่วยงานต้องเร่งแก้ทั้งประเทศ ขณะที่สื่อเน้นการขยายผลคดีในแง่มุมที่เป็นประโยชน์สังคม นักวิชาการประเมินภาพรวมสื่อหลักนำเสนอข่าวอยู่ในมาตรฐานการที่ดี ห่วงดิจิทัลฟุตปรินท์ในโซเชียลที่ต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา   

รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2567 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “คนไทยถูกทำร้าย ต้องรายงานข่าวอย่างไร” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ สืบพงษ์ อุณรัตน์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  วิชัย สอนเรือง หัวหน้าข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ  ดร.เอกพล เธียรถาวร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3 เหตุการณ์ที่คนไทยถูกชาวต่างชาติทำร้าย 1.กรณีชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ทำร้ายแพทย์หญิง ที่ไปนั่งบนบันไดหน้าที่พักริมชายหาด ใน จ.ภูเก็ต 2.กรณีชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ทำร้ายหญิงไทยบาดเจ็บสาหัส กลางห้างใน จ.ตรัง และ 3.กรณีสาวประเภทสองชาวไทย 2 คน ถูกสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์รุมทำร้ายร่างกาย บริเวณหน้าโรงแรมในซอยสุขุมวิท 11 กทม. กระทั่งลุกลามบานปลาย หลังสาวฟิลิปปินส์เผยแพร่คลิปก่อนเกิดเหตุ จนเกิดการรวมตัวกันจำนวนมากของสาวประเภทสองชาวไทย ที่เรียกตัวเองว่ากะเทยไทย บริเวณโรงแรมที่พักคู่กรณีชาวฟิลิปปินส์ จนเกิดเหตุทำร้ายร่างกายกัน

ในมุมมองของ สุภัทรา นาคะผิว ระบุว่ากรรมการสิทธิฯ มีข้อห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้น คดีภูเก็ตสะท้อนให้เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นว่า การใช้พื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ จะต้องเป็นสิทธิของคนในชุมชน ที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ฉะนั้นจึงมีการตั้งประเด็นว่า การสร้างบันได ซึ่งไม่เฉพาะภูเก็ต แต่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดอื่นๆ ที่มีชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด เราจะพบว่า ถ้ามีโรงแรมที่เป็นเกรดดีๆ จะกั้นไม่ให้คนที่ไม่ใช่แขกของโรงแรม เข้าไปในเขตชายหาดที่อยู่หน้าโรงแรม ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกสถานที่ 

ฉะนั้นคำถามก็คือ พื้นที่ชายหาดเป็นของทุกคนใช่หรือไม่ ไม่ควรจะมีใครเข้าไปใช้สิทธิ์ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ประเด็นของ กสม.จึงอยากให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องชายหาดทั้งหมด การใช้พื้นที่สาธารณะ ต้องคำนึงถึงสิทธิของชุมชน และคนในชุมชนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ

ตามที่มีข่าวว่า บางแห่งมีการปิดทางเข้า ย่อมกระทบต่อชาวบ้านที่มีอาชีพทำการประมง ไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ ในส่วนนี้เป็นสิทธิของชุมชน 

สำหรับเรื่องร้องเรียน การปิดพื้นที่สาธารณะไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้ มีหลายกรณีที่ร้องเรียนเข้ามา เพราะมีการเข้าไปครอบครองพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อส่วนตน เคยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม.ทั้งการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ชายหาด เมื่อตรวจสอบ ก็พบว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงสั่งให้รื้อถอน

ทั้งนี้ ก่อนร้องเข้ามายัง กสม. มีการร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่คืบหน้า ซึ่งเราพบว่ามีการละเลยเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ แต่ขั้นตอนการแก้ปัญหาล่าช้า หรือไม่แก้ปัญหาเสียที ทำให้เรื่องยืดเยื้อยาวนาน 5-10 ปี จึงมาร้อง กสม.ให้เร่งรัดการดำเนินการ เพื่อให้ชุมชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นร่วมกัน

สำหรับกรณีภูเก็ต อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการทำร้ายร่างกาย เพราะไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่ควรมีใครใช้กำลังความรุนแรงต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะชาติใดแม้ต่างชาติกระทำต่อคนไทย หรือคนไทยกระทำต่อคนไทย ใครก็ตามที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย จะสัญชาติใดก็ตามถือเป็นมนุษย์ที่กรรมการสิทธิฯ ต้องดูแลทุกคน เพราะใน พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า สิทธิมนุษยชน หมายถึงสิทธิเสรีภาพ ที่ได้รับการรับรองตามกฏหมายไทย และพันธกรณีที่ประเทศไทยให้การรับรองในต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นจึงครอบคลุมดูแลทุกคน ซึ่งในความเป็นจริง ก็มีชาวต่างชาติหลายสัญชาติเข้ามาร้อง กสม.เมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเราก็ดูแลทุกคนไม่ได้เลือกเฉพาะคนไทย

สำหรับคดีภูเก็ต ที่ชาวต่างชาติทำร้ายร่างกายแพทย์หญิง เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้ว กสม.จะมีกฎหมายที่ห้าม ไม่ให้เราเข้าไปรับตรวจสอบ กรณีที่ดำเนินคดีกันอยู่ ซึ่งในชั้นต้น การแจ้งความตำรวจ ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น กสม.มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน  แต่หากคดีไม่คืบหน้า เกิดความล่าช้า แล้วมีผู้มาขอให้กสม.ตรวจสอบ เราก็จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบ โดยจะเข้าไปดูว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยใช้วิธีประสานความคุ้มครองสิทธิ คือสอบถามไปยังหน่วยงาน หากเป็นความล่าช้า เราก็จะขอให้ดำเนินการภายใน 30 วัน ถ้าไม่แก้ไข เราก็จะตรวจสอบ แล้วบอกไปเลยว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

สุภัทรา ยังสะท้อนปัญหาในขั้นตอนกระบวนยุติธรรมด้วยว่า ” หน้าที่สอบสวนโดยตำรวจ เป็นชั้นต้นของกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง บุคคลที่ถูกสอบสวน ต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่ากระทำความผิด 

ในการปฏิบัติต่อผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ตามหลักการกระบวนการยุติธรรมในหลายประเทศ ตำรวจจะจับกุมได้ ก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องเอาผิดได้ ต่างจากบ้านเรา เมื่อไปร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือมีการแจ้งความ จะจับกุมไว้ก่อน แล้วไปหาหลักฐานภายหลัง จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก แล้วตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ต้องขออำนาจศาลฝากขังที่เรือนจำ ซึ่งฝากขังได้ 7 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน รวมแล้วเป็น 84 วัน ระหว่างนั้นก็ไปหาหลักฐานพยานต่างๆ ถ้าไม่มีหลักฐานพอ ก็สั่งไม่ฟ้อง จึงจะถูกปล่อยตัว”

“ปัญหาคือ หากทุกคนมีฐานะทางสังคม มีเงิน ก็อาจได้รับการประกันตัว ซึ่งหลักการประกันตัวก็คือ ปล่อยเป็นหลัก ขังเป็นรอง คือไม่ควรจับ หากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ จึงเป็นที่มาของคำว่า คุกมีไว้ขังคนจน คนที่ไม่มีหลักทรัพย์พอที่จะประกันตัวเอง หรือเช่าหลักทรัพย์มาประกันตัว ก็ต้องไปอยู่ในห้องขัง”

“ตอนนี้เรามีผู้ต้องหา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ในเรือนจำ ประมาณ 60,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้ว ต้องตัดผม ใส่ชุดนักโทษ ทั้งที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ วันหนึ่งหากคนเหล่านี้ ออกมาเพราะศาลพิพากษายกฟ้อง หรือมีคำสั่งไม่ฟ้องตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ กสม.พยายามพูดคุยอยู่หลายส่วน ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งคน 60,000 คนนี้ ไม่ควรเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ควรอยู่ข้างนอกหากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะจับ ก็ยังไม่ต้องจับ ควรไปหาหลักฐานก่อนค่อยมาจับ ไม่ใช่จับไว้ก่อน แล้วไปฝากขัง แล้วไปหาหลักฐาน ซึ่งมันผิดเพี้ยนไปหมด อันนี้ปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา”

ขณะที่ในมุมการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ในคดีชาวต่างชาติทำร้ายคนไทย สุภัทรา ระบุว่า เป็นปัญหาโดยรวมของสื่อที่เป็นอยู่ ซึ่งสื่อในปัจจุบัน มีทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง และเรื่องของโซเชียล ปัญหาที่ต้องตระหนักคือ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือไม่ แต่การไปเปิดเผยอัตลักษณ์ หน้าตา สถานที่อยู่ ข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม 

“พอมีเรื่องพาดหัวว่า เป็นฝรั่ง ก็จะนึกถึงชาติตะวันตก แต่ถ้าเป็นประเทศใกล้เคียงความรู้สึกก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเรื่องการให้คุณค่าที่ต่างกันในสังคมไทย เหมือนเราพูดว่า แต่งงานกับคนต่างชาติ ชาติอะไร เพราะฉะนั้นในสังคม ให้คุณค่าความเป็นต่างชาติไม่เท่ากัน” 

ขณะที่สื่อในต่างประเทศ จะถือมาก 1. เรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ต้องหาคดีอาญา ยังต้องให้ความเคารพ เพราะเป็นสิทธิที่เขาพึงมี ไม่ใช่จะทำอะไรกับเขาก็ได้  2. ภาพที่ออกมา ทั้งกรณีเหตการณ์ที่ภูเก็ต ตรัง และสุขุมวิท 11 เป็นเรื่องการใช้ความรุนแรง ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งก็คือ สันติวิธี คือไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เราไม่สนับสนุนตาต่อตา ฟันต่อฟัน มันเป็นเหมือนการแก้แค้นแค้นเคือง แม้ความรู้สึกโกรธแค้นจะไม่ผิด แต่การใช้กำลัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และการถ่ายทอดการใช้กำลัง ยกย่องผู้คนบางคนที่เข้าไปช่วยว่าเป็นฮีโร่ เราก็ไม่ควรส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องที่เราควรจะช่วยกัน ทำให้ไม่เกิดขึ้น 

หากมีการกระทำผิด ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นการใช้กฎหมู่ เหนือกฎหมาย ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม สื่อก็ต้องช่วยกันกระตุกเตือนสังคม ไม่ใช่แค่รายงานว่า เกิดอะไรขึ้น แต่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนอะไร อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่สื่อควรช่วยกัน ไม่ให้เป็นสังคมที่ซึมซับเรื่องของความรุนแรง กลายเป็นเรื่องถูกต้อง นี่เป็นเรื่องใหญ่ 

ส่วนกรณีสุขุมวิท 11 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราเห็นตรงหน้า แต่มีคำถามมาก คือเรื่องเซ็กซ์เวิร์กเกอร์หรือไม่ แย่งพื้นที่ทำมาหากินกันหรือไม่ ความจริงเรื่องเซ็กส์เวิร์กเกอร์ มีข้อถกเถียงในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์เรื่องเซ็กส์เวิร์กเกอร์ในอดีตและปัจจุบันไม่เหมือนกัน ในอดีตเราอาจจะพูดถึงเรื่องไปตกเขียว ไปหลอกลวงเด็กผู้หญิงจากต่างจังหวัดเข้ามาค้าประเวณี ซึ่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2539 จริงๆ ต้องทบทวน

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาการตามกฏหมาย ก็ได้เสนอยกเลิก พ.ร.บ.นี้แล้วและกำลังจะตรากฎหมายใหม่ เป็นลักษณะการคุ้มครองสิทธิของคนที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ เนื่องจากประเทศเรา ก็มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่ทำเงินให้กับประเทศไทย 

เราปฎิเสธไม่ได้ว่า เวลาคนมาเที่ยวเมืองไทย เขาไม่ได้แค่มาเที่ยวทะเล ภูเขา เท่านั้น ส่วนหนึ่งเขาก็เข้าสถานบริการ ซึ่งก็มีคนทำงานในนั้น ก็อาจจะมีส่วนหนึ่งที่อาจจะมีข้อตกลงกัน แล้วขายบริการทางเพศ

ด้านนักวิชาชีพ วิชัย สอนเรือง อธิบายถึงหลักการนำเสนอข่าวกรณีเหล่านี้ว่า ในการเสนอของสื่อ ไม่ได้รายงานเฉพาะความคืบหน้าของคดีเท่านั้น แต่ได้ขยายผลไปยังประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ วีซ่าที่เข้ามาอยู่ระยะยาวถูกต้องหรือไม่ และการพกพาอาวุธปืนที่ปรากฎต่อมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่มองว่าชาวต่างชาติไม่ควรมีใบอนุญาตด้วยซ้ำ

สำหรับภาพรวมการรายงานข่าวคดีชาวต่างชาติทำร้ายคนไทยที่เกิดขึ้นในระยะนี้ วิชัย ระบุว่า สื่อหลักไม่ว่าจะนำเสนอในแพลตฟอร์มใดๆ ยังคงยึดถือตามกรอบจริยธรรมในการรายงานข่าว แม้ในการรายงานจะเสนอเนื้อหาไปตามข้อเท็จจริง รวมถึงปฏิกิริยาของคนในสังคมที่มีต่อข่าวนี้ เป็นการรายงานในทุกมิติ แต่เราไม่ได้สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ในส่วนนี้ มองว่าสื่อหลัก ยังยึดในจริยธรรมวิชาชีพ

ขณะที่ประเด็นที่น่าห่วงคือ การแสดงความเห็นของผู้บริโภคสื่อ ต่อเนื้อหาข่าวที่สื่อรายงาน แม้จะไม่ได้ยุยงส่งเสริม อย่างกรณีสุขุมวิท 11 ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ที่ว่าในโซเชียลมีเดียใครๆ ก็เป็นสื่อได้ สามารถโพสต์ได้ ถ้าย้อนกลับไปดู ก่อนเกิดเหตุการณ์อีกครั้ง เรื่องฟิลิปปินส์กับไทยทะเลาะกัน ควรจะจบได้เมื่อตำรวจมาถึง แต่มีการเผยแพร่คลิป แชร์ต่อ คนที่เสพ ก็มีอารมณ์ร่วม จนเกิดการรวมตัวกันและระดมคนเข้ามา ยังเป็นเรื่องดีที่เจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุทันเวลา เหตุการณ์จึงไม่บานปลาย ไม่เกิดความรุนแรงมากเกินไป 

สะท้อนให้เห็นได้ว่า การนำภาพแชร์ต่อก็กลายเป็นปัญหา เราควรต้องลดการสื่อสาร ส่งต่อซ้ำๆ ที่จะเกิดการกระตุ้น ทั้งที่เรื่องสามารถจบลงได้ แต่หากเป็นเหตุการณ์ประเด็นอื่น ก็น่ากังวล ฉะนั้นการส่งต่อคลิปภาพเหล่านี้ ประชาชนเองก็จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การโพสต์ ด้วยอารมณ์ ลักษณะการยั่วยุ ไม่ควรเติมลงไปให้เกิดเหตุบานปลาย เพราะเสี่ยงจะเกิดความสูญเสีย ฉะนั้นการแชร์ การโพสต์ จะต้องตระหนัก 

รวมทั้งการนำเสนอของสื่อด้วยการจะโพสต์ ก็ต้องเซ็นเซอร์ ซึ่งในกอง บก.เอง ก็ได้กำชับถึงการนำเสนอภาพเหตุการณ์รุนแรง ควรเซ็นเซอร์บางจุดหรือไม่ อันไหนไม่ควรเผยแพร่ ก็ควรหลีกเลี่ยง คดีนี้ (สุขุมวิท 11) น่าจะเป็นกรณีตัวอย่าง ที่นำมาปรับปรุงการทำงานของเรา รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่ทำงานในขณะนี้” วิชัย ระบุ

ส่วนคดีในภูเก็ต วิชัย มองว่า เป็นภาพสะท้อนปัญหาที่ซุกอยู่ในสังคม ถึงพฤติกรรมชาวต่างชาติ ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา สื่อยังไม่นำเสนอ อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ที่ชัดเจน เหตุการณ์ทำร้ายหมอที่ภูเก็ต และทำร้ายหญิงที่ตรัง ก็สะท้อนปัญหา เมื่อสื่อนำเสนอ จึงถูกขุดคุ้ยย้อนหลัง ก็ไปพบว่าประวัติเคยมีพฤติกรรมอื่นๆ 

ดังนั้น ทิศทางการนำเสนอของสื่อ จึงเป็นการขยายผลในหลายมิติ และในหลายพื้นที่ ที่อาจมีปัญหาลักษณะเดียวกัน กรณีผู้ก่อเหตุสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ขณะเดียวกันก็ควรเน้นย้ำ เสนอในเรื่องข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ กรณีนักท่องเที่ยวเข้ามาทำผิดกฎหมาย อาทิ ทำผิดกฎจราจร ไม่สวมหมวกกันน็อค เนื่องจากอาจบอกต่อๆ กันมาว่าในประเทศไทยทำได้ง่าย แต่ถ้าคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศโทษตามกฎหมายอาจรุนแรงกว่าบ้านเรา สื่ออาจนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย และเน้นย้ำให้ชาวต่างชาติรับรู้ข้อกฎหมายไทย เพื่อลดปัญหา

ทางด้านนักวิชาการ ดร.เอกพล เธียรถาวร ประเมินการนำเสนอข่าวของสื่อต่อคดีเหล่านี้ว่า สื่อมืออาชีพค่อนข้างทำงานอยู่ในมาตรฐานที่ดี ภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อาจจะมีบ้าง ที่เลือกใช้คำที่เน้นสีสัน

เมื่อถามถึงความบาลานซ์ในเนื้อหาข่าว เป็นอย่างไร ดร.เอกพล ระบุว่า หลักการเรื่องของความเป็นธรรม เป็นข้อควรระวัง ข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ระหว่างคนในชาติกับคนต่างชาติ หรือเรียกว่าความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การรายงานข่าวแบบปกติที่ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ก็ถือว่าโอเค เพียงแต่อาจจะต้องระมัดระวัง และให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า หลักการเบื้องต้น ที่อาจจะแนะนำให้คำนึงถึงเพิ่มเติม คือทำอย่างไรก็ได้ ให้การสื่อสาร เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการกระทำก็ต้องให้บริบท ให้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น บอกเหตุผลที่มาที่ไปของเหตุการณ์ 

เรื่องของความเป็นธรรม แม้ว่าเราจะเป็นคนไทย บางทีอาจจะมีอารมณ์ร่วม แต่การให้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน อีกฝ่ายอาจจะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างครบถ้วน สื่อก็ต้องลงไปดูว่า ใครเกี่ยวข้องกับบริบทเรื่องนั้นอีกบ้าง เพื่อให้รู้แบ็คกราวนด์ของเรื่อง เพื่อให้ผู้รับสาร มีความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินอะไรด้วยอารมณ์ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องควบคุมผลที่จะตามมา ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ตรงนี้ต้องระมัดระวังในเรื่องการเลือกใช้คำ เช่น การเหมารวม แต่อยากส่งเสริมเรื่องของสันติวิธี

สำหรับการนำเสนอภาพของสื่อ ดร.เอกพล เห็นว่า ในภาพรวมเห็นว่า สื่อสามารถรายงานได้อยู่ในมาตรฐาน แต่ที่ให้ระวัง อย่างเช่นเรื่องการเหมารวมกัน การเลือกใช้ภาพ เหล่านี้สามารถใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงความรุนแรง หรือกระทบจิตใจ ของผู้รับสารมากเกินไป 

“ทั้ง 3 กรณี ก็จะมีบางครั้ง ที่ลงภาพที่เป็นแอ็คชั่นที่รุนแรง เช่น เหตุการณ์ที่สุขุมวิท 11 จะมีภาพรุนแรงเยอะ อาจจะใช้ภาพที่บอกเล่า เรื่องราวได้ แต่ให้ลดทอนเรื่องความรุนแรงลดลงอีกนิด และให้ข้อมูลแวดล้อมให้มากขึ้น”

ส่วนในโซเชียลมีเดีย ที่ปรากฎดิจิทัลฟุตปรินท์ ในเชิงวิชาการ มองปัญหานี้อย่างไร ดร.เอกพล ระบุว่า ต้องยอมรับว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากเป็นเรื่องที่สื่อเผยแพร่ไปแล้ว การจะลบออก เป็นไปได้ยากมาก จึงยิ่งต้องระมัดระวัง แต่โดยภาพรวม ถ้าเป็นสื่อมืออาชีพ จากที่มอนิเตอร์ไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ มีส่วนน้อยมากๆ ที่จะใช้คำที่อาจทำให้เกิด Hate speech ส่วนในสื่อสังคมออนไลน์อาจจะเห็นเยอะหน่อย แต่เท่าที่สังเกตในทั้ง 3 กรณี สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ก็ดูมีพัฒนาการมากขึ้นจากเดิม ที่จะใช้อารมณ์เป็นหลัก ตอนนี้ก็มีอีกส่วนหนึ่ง ที่เขามองลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหา แต่ละกรณีด้วย

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ปัญหา ดิจิทัลฟุตปรินท์เหตุการณ์ความรุนแรง ดร.เอกพล มองว่า ประเด็นนี้มีมาสักระยะแล้ว ได้มีการพูดคุยกันทั้งของสมาคมวิชาชีพ และของนานาชาติ ถึงประเด็นสิทธิที่จะถูกลืมในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ก็พยายามสร้างอัลกอริทึมขึ้นมาจัดการ แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างครบถ้วน ในอนาคตเรื่องเทคโนโลยีอาจจะเป็นโอกาสหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยได้ แต่ ณ ปัจจุบัน ก็คงต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างที่สุดไว้ก่อน

ดร.เอกพล ยังทิ้งท้ายถึงสื่อและประชาชนว่า โดยภาพรวม อาจจะย้อนกลับไปที่หลักการ เวลารายงานข่าว ให้เน้นถึงประโยชน์สูงสุดและพยายามควบคุมผลกระทบกับฝ่ายต่างๆ ให้มีน้อยที่สุด และต้องพยายามนึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน จึงอยากให้เน้นสันติวิธีไว้ดีที่สุด.