สภาการสื่อฯ ร่วมประชุมองค์กรสื่อเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนสถานการณ์กำกับดูแลกันเอง

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมประชุม Press Arbitration Commission องค์กรสื่อเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนสถานการณ์การกำกับดูแลกันเองของสื่อไทยและเกาหลีใต้ พบข้อมูลในเกาหลีประชาชน หน่วยงานรัฐ นักการเมืองนิยมร้องเรียนผ่าน Press Arbitration Commission ปีละกว่า 4 พันราย แต่ใช้เวลาพิจารณาไม่นานแถมยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย คณะพิจารณาเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐบาล ที่ประกอบด้วยนักกฎหมาย นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชน แต่มีความเป็นอิสระสูงทำให้เป็นที่พึ่งของคนเดือดร้อนจากการนำเสนอข่าว

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นายนพปฏล รัตนพันธ์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่เดอะบางกอกคลับ อาคารสาธรซิตี้ทาวเวอร์ มีการประชุมร่วมระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ Delegation of the Press Arbitration Commission (PAC) เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การกำกับดูแลกันเองของสื่อไทยและเกาหลีใต้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นำโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธาน นายกวี จงกิจถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ  นายวิทิตย์ ลีนุตพงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ  ว่าที่ ร.ต.เสกสรร อานันทศิริเกียรติ คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ  และตน ส่วน Delegation of the Press Arbitration Commission (PAC) นำโดย LEE, SEOK HYUNG  Chairman, Press Arbitration Commission

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ ได้บรรยายสรุปภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสภาการสื่อมวลชนฯ รวมถึงตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ ในการกำกับดูแลกันเองของสื่อไทยให้คณะของเกาหลีใต้รับทราบในทุกประเด็น จากนั้น LEE, SEOK HYUNG  Chairman, Press Arbitration Commission ได้บรรยายถึงภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ Press Arbitration Commission สรุปว่า องค์กรนี้ก่อตั้งมา 41 ปี เป็นองค์กรกึ่งหน่วยงานของรัฐ มีทั้งหมด 18 แห่งทั่วประเทศ อยู่ในกรุงโซล 8 แห่ง และเมืองใหญ่อื่นอีก 10 แห่ง ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อ ไม่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตัวผู้สื่อข่าว แต่ละสำนักงานมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ตัดสินข้อร้องเรียนการนำเสนอข่าวของสื่อ คล้ายศาล โดยกรรมการมี 5 คน ผู้อำนวยการสำนักงานทำหน้าที่คล้ายหัวหน้าคณะผู้พิพากษา อีก 4 คน ประกอบด้วย สื่อมวลชนที่มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี ศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์ทางด้านสื่อสารมวลชน 1 คน และสื่อมวลชนอีก 1 คน  ทั้งนี้ประธานของ Press Arbitration Commission มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยสำนักงานทั้ง 18 แห่งมีพนักงาน 100 คน ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า Press Arbitration Commission รับเรื่องร้องเรียนการรายงานข่าวของสื่อ เฉลี่ยปีละประมาณ 4,000 เรื่อง  ไม่รวมที่ผู้เสียหายร้องไปที่องค์กรต้นสังกัดของสื่อนั้นๆ เอง  โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องการร้องเรียนสื่อในเกาหลีใต้ ได้รับการจัดการแก้ไขผ่าน Press Arbitration Commission ส่วนที่เหลือฟ้องร้องกันเอง ปี 2566 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 4,085 เรื่อง 70 เปอร์เซ็นต์หาข้อสรุปได้ โดยทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องพอใจการพิจารณา ใช้เวลาการพิจารณาแต่ละเรื่องในปี 2566 เฉลี่ย 19 วัน สาเหตุที่ประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐและนักการเมือง นิยมมาร้องเรียนสื่อที่หน่วยงานนี้ เนื่องจากให้การยอมรับคณะกรรมการ แม้จะแต่งตั้งโดยรัฐบาล แต่มีระบบการทำงานที่เป็นอิสระไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคณะกรรมการก็ล้วนมีความรู้ ประสบการณ์ อีกทั้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อ หากไปฟ้องร้องเอง ต้องใช้เวลาในการพิจารณานานมาก เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียเวลา แต่ถ้าร้องเรียนที่ Press Arbitration Commission ใช้เวลาพิจารณาโดยเฉลี่ยแต่ละเรื่องไม่มาก ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการจะเชิญทั้งสองฝ่ายมาพูดคุย ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมกัน จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจในผลการพิจารณาสูง  ในตอนท้ายของการประชุมร่วมสภาการสื่อมวลชนฯ ได้เชิญ Press Arbitration Commission เข้าร่วมประชุมเครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Council Network (SEAPC-Net): General Assembly)  ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ด้วย.