ศรัทธา “เด็ก 8 ขวบ” ใช้โซเชียลสร้างความเชื่อ-หารายได้ 

กก.จริยธรรมองค์กรสื่อชี้ปม 2 มิติ กรณีศรัทธา “เด็ก 8 ขวบ” ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสร้างความเชื่อเพื่อหารายได้ “บรรยงค์” มองโจทย์ท้าทายสื่อหลัก ที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนนำไปสู่ข้อยุติ “วีรศักดิ์” ย้ำจริยธรรม-กฎหมายคุ้มครองเด็ก ชื่นชมสื่อหลัก เสนอข่าวในแง่มุมเตือนภัยสังคม ด้านนักวิชาการ“ธาม” ชี้หน่วยงานรัฐไม่ขยับ ทั้งที่การแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กชัดเจน จี้ทำงานเชิงรุก มองสื่อหลักทำหน้าที่ได้ดี จับประเด็นปัญหาในโซเชียล เสนอข่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคม

รายการ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประจำวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 ทาง FM 100.5 อสมท. พูดคุยประเด็น “การใช้สื่อเพื่อความเชื่อ ศรัทธา และหารายได้” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และ วิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย วีรศักดิ์ โชติวานิช ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

จากกรณีเด็ก 8 ขวบเป็นวิทยากรสอนธรรมะและทำกิจกรรม “เชื่อมจิต” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมไทย ทั้งเรื่องความเหมาะสม การบิดเบือนพระพุทธศาสนา จนถึงการหาประโยชน์จากเด็ก

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง มองในมุมจริยธรรม การใช้สื่อเพื่อความเชื่อ ศรัทธา และหารายได้ ว่าในหัวข้อนี้ มิติหนึ่งคือ มีคนใช้สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย มาสร้างความเชื่อ เพื่อหารายได้ และสื่อมวลชนก็นำมาเป็นข่าว เพิ่มกระแส แต่อีกมิติหนึ่ง ก็มีคนอาศัยช่องทางความเชื่อของคนในสังคม ที่คาดหวังในสิ่งที่เขาขาด มาสร้างศรัทธาเพื่อหารายได้จากความเชื่อถือนั้น 

สื่อมวลชนก็นำมาเสนอเป็นข่าว เป็นการส่งเสริมความเชื่อ ที่เป็นการรับรู้ ไม่ใช่การตระหนักรู้ ให้เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะมิติใด เมื่อสื่อมวลชนนำเรื่องมาเสนอก็ไม่ต่างไปจากข่าวก่อนวันหวยออก และหนักกว่าเพราะดึงเอาศาสนา ซึ่งมีผู้นับถือทั่วโลก โดยเฉพาะในไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงขั้นเรียกเด็ก 8 ขวบกว่าอาจารย์ และผู้ที่เรียกก็มีการศึกษา หน้าที่การงาน และใช้สื่อออนไลน์ในการรับรู้เรื่องราวข่าวสาร

เรื่องนี้แพร่หลายมาในสื่อออนไลน์ตั้งแต่กลางปี และเป็นไวรัลในโลกดิจิทัล ทั้งเฟซบุ๊ก 3 เพจ เพจแรกเปิดในฐานะองค์การการกุศลมีคำจำกัดความว่า เผยแพร่ธรรมะจากพระพุทธเจ้า มีผู้ติดตามกว่า 70,000 อีก 2 เพจเพิ่งเปิดใหม่ ก็ยังมีผู้ติดตามไม่มาก และยังมีกลุ่มที่เปิดเป็นสาธารณะกลุ่มแรก มีสมาชิกกว่า 30,000 กลุ่มที่ 2 ให้คำจำกัดความว่า ผู้ศรัทธาอาจารย์น้องไนซ์ มีสมาชิกกว่า 47,000 ราย

ประเด็นสำคัญก็คือ บิดามารดาของเด็ก ก็อ้างว่าตั้งแต่ 3 ขวบไม่ใช่เด็กธรรมดา เชื่อว่าลูกคือพระอนาคามี  พญาเพชรภัทรนาคราชกลับชาติมาเกิด มีความสามารถในการเชื่อมจิต ขณะที่ผู้ศรัทธาในตัวเด็ก ก็เชื่อว่าคำพูดของเด็กเป็นคำสั่งสอนตามพุทธศาสนา จึงเป็นที่มาของกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีค่าใช้จ่าย แต่มารดาของเด็กอ้างว่าเป็นการจัดกิจกรรม ไม่ใช่การหารายได้ทางธุรกิจ

นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนรายงานเรื่องนี้ และมีทิศทางการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่มีน้อยสำนักข่าว ที่นำเสนอ 2 ด้าน เพื่อหาคำตอบ มีเพียง 1-2 ไม่เกิน 3 แห่ง เพื่อหาคำตอบ แต่ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน จนกระทั่งมีนักกฎหมายคนหนึ่งออกมาประกาศว่า จะให้เวลาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่ไม่ได้ระบุชัดว่า หากไม่เคลื่อนไหวจะทำอย่างไร ขณะที่ก็มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในระดับการเมืองจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบหน่วยงานทางศาสนา แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรม

กลับมาที่สื่อมวลชน เรื่องนี้ถือว่าท้าทายคนในวิชาชีพสื่อ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ความเชื่อผิวเผินของปุถุชนวิสัย แม้ว่าไม่ใช่ประเด็นเชิงจริยธรรมโดยตรงของสื่อ อย่างเรื่องหวยออก หลอกลวง แต่ก็มีประเด็นทางวิชาชีพสื่อ เพราะสื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่อื่นที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อประเทศชาติมากกว่านี้ ในฐานะที่เป็นวิชาชีพ เหมือนหมอ ทนายความสถาปนิก วิศวกร ที่เขามีกฎหมายรองรับ

“เริ่มจากหน้าที่แรก ในการรายงานข่าวสาร เราทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง นั่นคือการแสวงหาข้อเท็จจริงจนนำไปสู่ข้อยุติ มันท้าทายตรงเรื่องนี้ ละเอียดอ่อนทั้งในทางศาสนา ที่มีการนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ และทางสังคม ที่มีการนำเด็ก 8 ขวบมาเป็นผู้นำทางความคิด ที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมคำสั่งสอน ทั้งที่เด็กควรได้รับการคุ้มครองจากสังคม นี่ก็ละเอียดอ่อน เพราะผู้ปกครองเด็กเป็นผู้ส่งเสริมกิจกรรมการเชื่อมจิตเสียเอง กรณีวิชาชีพของสื่อ เราจะทำอย่างไร หน้าที่ของเราต้องหาข้อยุติเรื่องนี้ให้ได้ ทั้งทางธรรมและทางโลก ในทางธรรม เรายังมีผู้รู้จริงในทางศาสนา ที่เชื่อถือได้ และสังคมให้การยอมรับ มิใช่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง” 

บรรยงค์ ระบุด้วยว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุเรื่องอย่างนี้ในประเทศไทย พระสงฆ์ที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยออกมาให้สติสังคม ทุกรูปเงียบหมด จะมีก็แต่พระอย่างหลวงพ่อพยอมพูดทุกสิ่งทุกอย่าง จนสงสัยว่า ทำไมพระเถระผู้ใหญ่รูปอื่น ไม่ออกมาพูดบ้าง ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ น่าจะเป็นหน้าที่พระเถระผู้ใหญ่ หรือต้องมีตัวแทนออกมาพูดถึงด้วยซ้ำว่า หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกาย และลัทธิที่อยู่ในประเทศไทยคืออะไร” 

บรรยงค์ กล่าวอีก เรามีสำนักงานพุทธศาสนา ที่ทำงานในเชิงรุก และเชิงรับ ได้ถวายคำเสนอแนะอย่างไรกับมหาเถรสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสูงวัย ไม่ได้ออกมาอย่างเข้มแข็ง แต่สำนักพุทธได้ทำอะไรที่จะรักษาพระธรรมคำสั่งสอน ให้เป็นกรอบแนวทางของพระพุทธเจ้าจริงๆ แม้กระทั่งสื่อเอง ได้ทำอะไร เช่น มีพระในมหาเถรสมาคมรูปใด องค์ใด ที่จะให้ความรู้ หรือตอบข้อสงสัยได้

ฉะนั้น เราต้องเสนออะไร เพื่อเป็นทางออกของสังคม ขณะที่ในทางโลก เราก็ยังมีผู้รู้ในทางสังคม แม้กระทั่งทางกฎหมายที่จะปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพราะวัย 8 ขวบ แม้จะมีผู้ปกครอง แต่ในระดับโลก สหประชาชาติได้กำหนดไว้ว่า ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ของเด็กต้องสั่งสอนลูกของตัวอย่างไร 

ตรงนี้หน้าที่ของสื่อ จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูลจากผู้รู้ เพื่อให้เกิดความสมดุล จะทำอย่างไรได้บ้าง อะไรที่มีประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นทางสังคม ทางศาสนา แล้วนำเสนอให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ ถ้าสื่อกระแสหลักทำพร้อมกัน หรือเพิ่มขึ้นที่ไม่ใช่ส่วนน้อยเพียง 2-3 สำนักข่าว เรื่องนี้จะจบเสียที 

นี่เกือบหนึ่งปีแล้ว ตอนนี้มีคนติดตามเพจเป็น 100,000 แล้ว วันนี้เราต้องถามสื่อวิชาชีพ ว่าเราทำหน้าที่ไปสู่จุดนั้นแล้วหรือยัง ครบถ้วนแล้วหรือยัง ตรงนี้ที่เรามาช่วยกันบอกพวกเราด้วยกันเอง ปฏิเสธไม่ได้ เพราะนี่คือหน้าที่

ขณะที่สื่อบางสำนักที่รายงานเรื่องนี้ เหมือนจะเข้าใจ แต่พอไปดราม่า จึงไม่ได้คำตอบ เพราะการที่ไปว่าเขาหลอกลวง แต่ไม่ได้หาคำตอบจากใครที่ตอบได้ และมีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือ มาอธิบายข้อเท็จจริง แก่นแท้ของศาสนา

ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมวิชาชีพตั้งตัว แล้วเริ่มหาข้อมูลกัน แล้วไปหาคนที่รู้เชี่ยวชาญที่สังคมรู้จักยอมรับ สื่อทำหน้าที่นี้แล้วหรือยัง ถ้ายังปล่อยให้ดำเนินอย่างนี้ต่อไป โดยคนสื่อไม่ทำอะไร หรือทำ แต่จำนวนสำนักข่าวยังน้อย ไม่เพียงพอที่จะถ่วงดุล 

ในมุมของ วีรศักดิ์ โชติวานิช ระบุว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องของสื่อมีกรอบจริยธรรม ในการปฏิบัติก็เหมือนกับศีล บางข้อผิดศีลแต่ไม่ผิดกฎหมาย บางข้อผิดทั้งศีลและกฎหมายด้วย กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก ฉะนั้นจึงมีประเด็น เรื่องจริยธรรมในการนำเสนอข่าวตามมาตรฐานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่เราออกแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ประเด็นในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ก็ยังมีกฎหมายด้วย คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งยังใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน 

ฉะนั้นในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กในเรื่องนี้ จึงคาบเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน กับพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และแนวปฏิบัติเรื่องจริยธรรมของการทำหน้าที่สื่อ ประเด็นสำคัญที่สุด คือจริยธรรมที่เราก็ยึดจากแนวกฎหมายด้วย ในแนวปฏิบัติภายใต้กรอบจริยธรรมในการนำเสนอกล่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ข้อ 2 เราระบุไว้ว่า การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น เนื้อหาทั่วไป เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ต้องยึดถือปฏิบัติดังนี้ 

2.1 ต้องไม่เปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล ภูมิลำเนาที่อยู่ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งชื่อ ชื่อสกุล และภูมิลำเนาที่อยู่ของบิดา มารดา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ่งที่ทำให้รู้หรือสามารถรู้ถึงตัวเด็กและเยาวชนได้

ขณะเดียวกันในกฎหมายเองก็เขียนเอาไว้มาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 บอกว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณา หรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก หรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์ของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ

ดังนั้นเวลาเรานำเสนอข่าว พฤติกรรมในการนำเสนอในมาตรา 27 ตีความแล้วค่อนข้างกว้าง จึงอยากทำความเข้าใจกับสื่อในเบื้องต้นก่อนว่า เวลานำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ต้องระวังอย่างมาก เพราะการฝ่าฝืนในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มีโทษทางอาญา เป็นโทษจำคุก ที่ค่อนข้างรุนแรง คือไม่เกิน 6 เดือนและมีโทษปรับอีก หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ห้ามนำเสนอเลย แต่ต้องระมัดระวัง ด้วยการเบลอภาพ หลีกเลี่ยงชื่อ นามสกุลจริง พ่อแม่ แม้ว่าผู้ปกครองหรือเด็กนั้นจะยินยอม กรณีนี้น้องคนนี้ ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่า เจ้าตัวเหมือนกับยินยอมเปิดเผยตัวตน แต่การทำหน้าที่ของเรา ก็ต้องตระหนัก ให้อยู่ภายในกรอบจริยธรรม

ต่อข้อถามว่า กรณีที่สื่อสำนักต่างๆ ระบุว่า เป็นการรายงานข่าวข้อเท็จจริง โดยตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีอเจนด้าหรือไม่ ปรากฏว่าฝ่ายของเด็ก 8 ขวบจะฟ้อง โดยส่งหนังสือร้องไปถึงนายกฯ ขอให้ตรวจสอบสื่อหรือรายการที่นำเสนอ วีรศักดิ์ ระบุว่า เขาอาจจะฟ้องในแง่ที่ว่า การนำเสนอข่าว มีอเจนด้าหรือไม่ โดยอ้างว่าทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นลักษณะหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่อย่าลืมว่า ถ้าสื่อดำเนินการภายในกรอบของจริยธรรม ในแนวปฏิบัติ กฎหมายพีดีพีเอก็ให้ความคุ้มครองสื่อที่ปฏิบัติภายในกรอบจริยธรรม ฉะนั้นนักข่าวสามารถอ้างได้ว่า การนำเสนออย่างนี้ เป็นการเตือนภัยสังคม การจะเชื่อ หรือฟังอะไร พึงตระหนักให้ดีเพราะสื่อนอกจากจะมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวแล้ว ยังมีหน้าที่ในการเฝ้าระวังให้กับสังคมด้วย นี่คือการทำหน้าที่ของสื่ออย่างสมบูรณ์ไม่ใช่มีแต่เสนอข่าวอย่างเดียว

จะเห็นได้ว่า การทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบข้าราชการที่ทุจริต เป็นการนำเสนอให้สังคมได้รับรู้บางสิ่งบางอย่าง ถ้าสื่อละเลยการทำหน้าที่ตรวจสอบ ก็จะทำให้สังคมเกิดความเสียหายได้ เรื่องนี้ก็เช่นกัน คิดว่าถ้าเราทำภายในกรอบจริยธรรม นี่คือหน้าที่ของสื่อด้วย

อย่างไรก็ตามในแง่กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ก็ต้องดูว่ามีมาตราใด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือเรื่องนี้ หรือไม่ อย่างไร โดยมาตรา 26 ว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติต่อเด็ก บัญญัติไว้ว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ซึ่งมีอยู่หลายอนุด้วยกัน 

สิ่งที่อยากนำเสนอคือ อยู่ในอนุ 3 หรือ(3) บอกว่า การบังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ฉะนั้นผู้ปกครองของเด็ก สุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกดำเนินคดี ในมาตรา 26 (3)เพราะไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

ในมาตรานี้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ โดยผ่านกระบวนการกลั่นกรองพิจารณาหลายขั้นตอน กว่าจะออกมาเป็นบทบัญญัติได้ความเชื่อ ความศรัทธา ในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ กฎหมายไม่ยอมรับ ฉะนั้นสิ่งที่มีการอ้างถึงการเชื่อมจิตอะไรต่างๆ เป็นความเชื่อ ความศรัทธาแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วย อย่างกรณีที่เป็นข่าว เกินกว่าวิสัย หรือพฤติกรรมของเด็กอายุขนาดนี้ที่สมควรจะแสดงออก หรือใช้คำพูดต่างๆ

เมื่อถามว่าใครจะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ วีรศักดิ์ ระบุว่า มาตรา 26 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองเด็ก และมีโทษทางอาญา ฉะนั้นถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว เพราะฉะนั้นถ้าใครไปกล่าวโทษ หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็จะต้องสืบสวน สอบสวนเพื่อดูว่าครบองค์ประกอบในความผิดดังกล่าวหรือไม่ 

พนักงานสอบสวนจะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะรัฐคือผู้เสียหาย เด็กคือผู้เสียหาย แต่เนื่องจากว่ากฎหมายคุ้มครองเด็ก หากผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ไม่ดูแล ก็จะถูกดำเนินคดีตามนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันต้องไปดูว่า หน่วยงานได้เริ่มจะตื่นตัวหรือยัง อย่างเช่นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ สั่งการให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปหาข้อเท็จจริง ถ้ามีลักษณะผิดจากหลักพระพุทธศาสนา และก่อให้เกิดความเสียหายกับทางศาสนา เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องอคติ 

สำหรับข้อแนะนำสื่อในฐานะประธานกรรมการจริยธรรม วีรศักดิ์ ระบุว่า การทำหน้าที่ของสื่อปัจจุบัน ต้องขอชมเชย โดยเฉพาะสื่อหลักเราอยู่ภายในกรอบจริยธรรมค่อนข้างดีเยี่ยม และขอบคุณสื่อที่นำเสนอข่าวนี้ ภายใต้กรอบจริยธรรม 

หากสื่อใดที่ยังละเมิดจริยธรรมอยู่ แม้ผู้ตกเป็นข่าวจะยินยอม แม้จะเบลอภาพ แต่ขอเตือนว่า สิ่งนั้นเป็นการละเมิดจริยธรรมและละเมิดกฎหมายด้วย ในขณะเดียวกัน อย่าไปมุ่งแต่เรตติ้งหรือกระแสมากนัก เพราะนำเสนอข่าวเพื่อให้ได้ประโยชน์กับสังคมแต่พอดีพองาม หากมากเกินไป ก็จะเป็นดาบสองคม ทำให้เกิดความงมงาย สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร

ด้านนักวิชาการ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องหลุดพ้นจากสำนักพุทธฯ แล้วไปที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ถ้าถามว่าใครควรเป็นคนฟ้องคดีนี้ อันดับแรก กรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด โดยประธานคือผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ พม. อัยการจังหวัดสั่งฟ้องได้เลย 

เคสนี้ถ้าเราหลุดพ้นจากเรื่องงมงาย หรือมอมเมา หรือพิสูจน์อิทธิฤทธิ์ อวดอ้างอุตริ มาที่เรื่องของเด็กจริงๆ เจ้าหน้าที่ระดับกระทรวง พม.ระดับภาคสนาม ต้องไปตรวจ เพราะลักษณะของเด็กยังอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐอยู่ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถไปเยี่ยมบ้าน ดูรูปแบบการเลี้ยงดู การที่เด็กถูกฟูมฟักโดยพ่อแม่ สภาพแวดล้อมเด็ก มีลักษณะบกพร่องหรือไม่ และพัฒนาการทางด้านสมองสติปัญญาอารมณ์เป็นอย่างไร น้องก็ยังเป็นเด็กอยู่ ต้องได้รับความคุ้มครอง 

ส่วนพ่อแม่ต้องผ่านกระบวนการถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ พม.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กด้วย ฉะนั้นเด็กที่เป็นข่าว จะต้องได้รับความคุ้มครอง จริงๆ เจ้าหน้าที่สามารถทำงานเชิงรุกได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจแล้ว กรณีเด็กอายุก่อนถึง 18 ปี รัฐต้องคุ้มครองซึ่งเด็กไม่ใช่เป็นลูกของพ่อแม่อย่างเดียว แต่เด็กเป็นลูกของรัฐด้วย เพราะฉะนั้นกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กไม่จำเป็นต้องรอให้ใครไปฟ้องร้อง เจ้าหน้าที่รัฐเป็น Regal Guardian ของเด็กได้เลย จริงๆคนที่ควรขยับมากที่สุด คือคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด

เมื่อถามว่า กรณีนี้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ธาม มองว่า คณะกรรมการคุ้มครองเด็กโดยกฎหมาย ถูกสร้างมาเป็นกลไกให้แต่ละจังหวัดมีกลไกอิสระในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเด็ก ซึ่งผู้ว่าฯ มีกลไกที่เป็นเครื่องมือเยอะ พม.ระดับจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัดสาธารณสุขจังหวัด จริงๆ กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก รัฐมนตรีที่ต้องถืออำนาจหน้าที่โดยตรง คือ พม. และส่วนที่สอง คือมหาดไทย และสามคือกระทรวงยุติธรรม เพราะกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมด้วย 

“ตอนนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เฉพาะประโยคว่า แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ต้องตีความเข้าเงื่อนไขได้แล้ว ถ้าเด็กมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ยังไม่ถึงตามวัยพัฒนาการ แน่นอนว่า เป็นการแทรกแซง ละเมิด หรือละเลยในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพราะเด็กก็คือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเทพหรือไม่ ฉะนั้นรัฐเข้าไปแทรกแซงได้แล้ว”

“การเอาเด็กมาออกพื้นที่สื่อ มาสอนลง TikTok ไปจัดคอร์สอน อบรม บรรยาย อันนี้ทำลายพัฒนาการเด็ก หลักฐานชัดเจน ในประเทศใดๆ ในโลก เด็กควรได้รับการคุ้มครอง ให้ได้รับการเล่าเรียนศึกษาให้อยู่ในสภาพพร้อมเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่ที่เราเห็นเป็นข่าว จันทร์ถึงศุกร์ รวมเสาร์-อาทิตย์ น้องคนนี้ได้รับการปฏิบัติ การเลี้ยงดู การดูแล เช่นเด็กปกติหรือไม่ ตอนนี้มีแต่เรื่องบุญ เรื่องเชื่อมจิต สแกนกรรมเพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ใช่เรื่องวิสัยปกติของเด็ก เด็กไม่ควรจะอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลแห่งนี้” 

“สำหรับเรื่องนี้ มาจากสื่อโซเชียล ก่อนที่สื่อมวลชนหลักจะเล่นประเด็นนี้ ก็ต้องคิดว่า มันแพร่กระจายผ่านโซเชียลมาอย่างไร แต่พอกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ถกเถียงในเชิงสังคม ผมว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดี ที่ยกระดับปัญหาที่เกิดขึ้นในโซเชียลแพลตฟอร์ม คนที่ศรัทธาก็ยังคงเชื่อ ต่อให้ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่นี่เป็นความเชื่อศรัทธาส่วนตัว” 

“หน้าที่สื่อมวลชนชี้นำผู้คนด้วยข้อเท็จจริง ความจริงต้องปรากฏ ส่วนคนที่ยังเชื่ออยู่ เราห้ามไม่ได้ ผมมองว่าสื่อมวลชนจับประเด็นเรื่องนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องอวดอุตริ สื่อที่ทำงานเรื่องนี้ จึงต้องทำอยู่บนความระมัดระวัง เพื่อนำพาสังคมไปในทางวิชา ไม่ใช่อวิชา ฉะนั้นหน่วยงานรัฐเองก็ต้องทำงานอย่างผสมกลมเกลียวกับนักวิชาชีพสื่อด้วย” ธาม ทิ้งท้าย.