สภาการสื่อมวลชนฯ เสนอตั้ง AI Monitoring Team ติดตามการใช้ AI ของสื่อ การให้ความรู้ ผลกระทบต่อสังคม

ที่ประชุมสภาการสื่อมวลชนฯ เสนอตั้ง AI Monitoring Team ติดตามการใช้ AI ของสื่อ รวมถึงการให้ความรู้ ผลกระทบต่อสังคม พัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงการแจ้งเตือนต่างๆ ขยายผลเพิ่มหลังนำเสนอต่อ UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 เห็นชอบรายชื่อกรรมการและกระบวนการการสรรหากรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง (สมาชิกก่อตั้ง กลุ่มดิจิทัล)

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 นายนพปฏล รัตนพันธ์ เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2568 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อกรรมการและกระบวนการการสรรหากรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง (สมาชิกก่อตั้ง กลุ่มดิจิทัล) มีประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รองประธาน และเลขาธิการ เป็นคณะกรรมการสรรหา โดยองค์กรสมาชิกก่อตั้ง กลุ่มดิจิทัล ที่สามารถเสนอชื่อผู้แทนเป็นกรรมการได้ มีเดอะเนชั่นและคมชัดลึกโดยวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 สภาการสื่อมวลชนฯ จะส่งจดหมายเชิญองค์กรสมาชิกก่อตั้ง (กลุ่มดิจิทัล) ให้ส่งผู้แทนลงสรรหาแทนกรรมการที่ว่างลง และวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เป็นวันสรรหา 

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางเสนอแนะด้านเนื้อหา (Recommended Guidelines) ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อ และคณะทำงานร่วมด้านการนำเสนอข่าวเด็ก ข่าวอาชญากรรมและเหตุการณ์ความรุนแรง ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รับทราบสรุปการจัดงานครบรอบ 28 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม และสรุปการจัดงานครบรอบ 28 ปี ในส่วนภูมิภาค ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชามติตราด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบสรุปการจัดงาน Side Event “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โดยร่วมจัดกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, COFACT Thailand ,ThaiPBS และ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น กำหนดกรอบนโยบายแห่งชาติว่าด้วย AI กับภาคส่วนต่าง ๆ (AI Governance Policy Framework) , เตรียมความพร้อมต่อการกำกับดูแลโดยกฎหมาย (ซึ่ง Thai AI Act มีการร่างและประชาพิจารณ์บ้างแล้ว) หรือพิจารณาขยายขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่แทน , ให้ความสำคัญกับกฎหมายลิขสิทธิ์ที่จะช่วยสร้าง value เพิ่มให้ original source/content

ต่อ Global Platforms และผู้สนับสนุนรายได้ (ทั้งค่าย AI และ Social Media รวมถึงเอเจนซีโฆษณา) เช่น ให้ความสำคัญกับเนื้อหาคุณภาพ, แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ (Trusted media) นอกเหนือจากความนิยม (Engagement) เพียงอย่างเดียว และ AI ควรเรียนรู้เรื่องจริยธรรมและสิ่งที่ควรระวังด้วย , ควรนำเข้าข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้นเข้าสู่ระบบ machine learning ไม่นำข้อมูลที่สร้างจาก AI มาเรียนรู้ซ้ำ., จัดให้มีระบบ warning ที่จะป้องกันปัญหาจาก Disinformation, Deepfake.

ต่อองค์กรสื่อมวลชน เช่น สร้างแนวปฏิบัติ (Ethical Guidelines) และเครื่องมือการบังคับใช้แนวปฏิบัติด้านการใช้ AI ในองค์กรข่าว ซึ่งถือเป็นระดับ Community Level ในการกำกับดูแลกันเองด้านการใช้ AI เช่น การตั้งคณะทำงานภายในองค์กร ตรวจสอบการใช้งาน AI อย่างสม่ำเสมอ , สร้าง Best Practice ของ AI governance ในองค์กรสื่อ และแสวงหาแนวทางการรักษา Human Jobs , ควรฝึกอบรมนักข่าวให้มีความรู้ด้าน AI และจัดทำนโยบายจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้ AI อย่างชัดเจน องค์กรสื่อควรเปิดเผยการใช้ AI ในกระบวนการจัดทำเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรวบรวมข่าว การสร้างเนื้อหาอัตโนมัติ การสร้างภาพและวิดีโอ การแปลภาษา การปรับเนื้อหาให้เหมาะกับผู้อ่านแต่ละกลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ชม ตลอดจนการตรวจสอบคำสะกด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นจากสาธารณชน

ต่อผู้บริโภคสื่อ/ภาควิชาการ เช่น พัฒนาทักษะของตนเองในการใช้และอยู่กับ AI , สร้างองค์ความรู้และพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัล (DQ: Digital Intelligence Quotient), Data Ethics และ AI literacy แก่สื่อมวลชน และประชาชนที่เป็นทั้งผู้บริโภคสื่อและผู้สร้างเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน , ภาคประชาชนต้องรวมพลังกัน เพื่อส่งเสริมสิทธิผู้บริโภคในการรับรู้ว่าเนื้อหานั้นมาจาก AI หรือมนุษย์ (Individual Level) เช่น ป้ายกำกับ “Generated by AI” อย่างชัดเจน.

เลขาธิการสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยได้เสนอให้ตั้ง AI Monitoring Team ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อติดตามการใช้ AI ของสื่อ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงการให้ความรู้ ผลกระทบต่อสังคม พัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงการแจ้งเตือนต่างๆ นอกจากให้สื่อรับทราบยังควรต้องทำหน้าที่สื่อเพื่อแจ้งให้สาธารณะรับทราบด้วย โดยให้คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนฯ พิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนฯ ต่อไป.