ใต้ท็อปบู๊ท : กระดานความคิดโดย’จอกอ’

      bbhi856h6egce8a8i5bgi

                ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่ตัวแทน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบสื่อมวลชน เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจเรื่อง “เสรีภาพ” ครั้งสุดท้ายเมื่อวันศุกร์ (27 มิถุนายน 2557) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก นั่งหัวโต๊ะ ผู้บริหารสื่อ 46 สำนัก ทั้งสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ร่วมวงสนทนา ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต บทสรุป เป็นไปเช่นที่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช.สรุป นั่นคือ คสช.เข้าใจทุกเรื่องราว และไม่เคยคิดแทรกแซงการทำงานของสื่อ

“…คสช.ไม่ขอให้สื่อมายืนเคียงข้าง แต่ขอให้สื่อได้ยืนเคียงข้างประเทศไทยและคนไทย คสช.เคารพหลักการทำงานของสื่อ ที่คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างสบายใจในการคัดกรองข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อ สาธารณะ อีกทั้งขอให้ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศ ต่อสายตาชาวโลกด้วย”

คำยืนยันนี้มีขึ้นภายหลังที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 5 ชุด ขึ้นมามอนิเตอร์ข่าว เขาอธิบายว่า อนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาทำงาน เป็นการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ เพื่อให้เกิดความกระชับมากขึ้น ซึ่งไม่ต้องห่วงในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้สื่อมวลชนสบายใจได้
คำว่าสบายใจได้กลายเป็นประโยคทองที่ คสช.พูดกับสื่อ ถึงแม้ว่า การรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน คสช.เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่ได้ช่วยให้เครดิตของนายจารุพงศ์ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้น คสช.ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ คล้ายกับว่า หากสื่อกระแสหลักไม่เสนอข่าวนี้ นายจารุพงศ์จะไม่มีพื้นที่ที่เขาจะส่งสารถึงประชาชน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จะกลายเป็นผีดิบคืนชีพขึ้นมา เพียงเพราะสื่อรายงานข่าวความพยายามของเขาที่จะก่อตั้งองค์กรนอกกฎหมายมาสู้ กับ คสช. นั่นเป็นเรื่องที่ไกลเหตุผลยิ่ง การรับรู้เรื่องราวของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รวมถึงนายจักรภพ เพ็ญแข ถึงแม้สื่อกระแสหลักไม่ได้รายงานข่าวคนสองคนนี้ สักถ้อยคำเดียว เขาก็สามารถส่งผ่านสารไปยังผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านสื่อต่างชาติ หรือสื่อสังคมออนไลน์ และน้ำหนักของข่าว ก็จะมีมากกว่าข่าวในประเทศที่เสนออย่างกล้าๆ กลัวๆ เพราะยิ่งปิดกั้น ก็เท่ากับไปเพิ่มคุณค่าข่าวนั้น และกระตุ้นความสนใจข่าวโดยไม่จำเป็น

ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่ายุคสมัยไหน ประชาชนย่อมแซ่ซ้องถึงการจัดการปัญหาต่างๆ ที่การเมืองปกติไม่สามารถแก้ได้ เช่นเดียวกัน การแก้ปัญหาตัดไม้ทำลายป่า การปิดสื่อที่เคยมีอิทธิฤทธิ์ในยุคการเมืองมีสี จนกระทั่งเรื่องเล็ก เรื่องน้อย การจัดการคิวรถตู้ คิวมอเตอร์ไซค์ การแก้ปัญหาหวยเกินราคา คสช.ก็จัดการได้อย่างเด็ดขาด คำอธิบายง่ายๆ คือ เมื่ออำนาจรวมศูนย์ ไม่ต้องทำตามขั้นตอนปกติ ออกกฎหมาย สั่งการและดำเนินการได้ทันที โอกาสล้มเหลวก็ปิดตาย

ปัญหามีเพียง ถ้าผ่านห้วงเวลาที่ผู้มีอำนาจ สามารถใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จ แล้วกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว คสช.ยังจะกุมสภาพเช่นนี้ต่อไปได้หรือไม่

คำว่าสบายใจได้ ไม่ได้ก่อให้เกิดความสบายใจ เพราะวิธีการที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เรียกว่าบูรณาการนั้น คือการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจข่าว หรือคณะกรรมการที่จะให้คำอนุญาตในการออกหนังสือพิมพ์ เช่น หลังประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 หรือแม้กระทั่งในห้วงระยะเวลารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีความพยายามจะแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ให้อำนาจตำรวจกลับไปควบคุม และตั้งแท่นให้ใบอนุญาต ต่อใบอนุญาต เหมือนเช่น พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ที่ยกเลิกไปแล้ว

อำนาจของอนุกรรมการไม่มี ไม่ชัด แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีอำนาจ เพราะ คสช.มีอำนาจที่จะตรากฎหมายในนามของคำสั่งได้ตลอดเวลา สถานการณ์ขณะนี้จึงไม่อาจวางใจได้ทุกกรณี