‘จุลพันธ์’ ย้ำการเมืองเดินต่อได้ไม่ถึงทางตัน เชื่อไทยไม่เจอ ‘ภาษีทรัมป์’เต็มอัตรา

4 ก.ค. 2568 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 28 ปี ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ต่อยอดมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2540 ซึ่งเป็นวันที่บรรดาเจ้าของและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้มารวมตัวกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อจัดตั้งขึ้นเพื่อมากำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรม

และภายหลังเมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป มีสื่อหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงปรับรูปแบบองค์กรมาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกสื่อครบทุกประเภททั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ วิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งในปี 2568 ที่มีอายุ 28 ปีแล้ว หากเป็นคนก็ถือว่าอยู่ในวัยหนุ่มแน่นเต็มตัว ต้องทำหน้าที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยนอกจากงานเชิงรับอย่างการกำกับดูแลกันเองแล้ว ยังมีงานเชิงรุกอย่างการออกแนวปฏิบัติสำหรับสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ ด้วย เช่น การใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในงานข่าว การรายงานข่าวสงครามและการสู้รบ การรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

“สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังมีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสื่อมวลชน เรื่องของความรู้ต่างๆ เพื่อให้สื่อมวลชนรายงานข่าวได้ดีขึ้น มีโครงการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อด้วยหนังสือพิมพ์ในโรงเรียนต่างๆ ที่เราเพิ่งเสร็จสิ้นโครงการไป ก็ได้ทำไปทั่วประเทศจำนวนกว่า 200 โรงเรียนที่เข้าร่วม ยังมีการอบรมความรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ การปรับตัวของสื่อกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติที่ดำเนินมาในปีที่ 28” นายชวรงค์ กล่าว     

จากนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในกิจกรรม Special Talk “เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหญ่รัฐบาล?” ว่า จริงๆ แล้วผู้ที่ต้องมาพูดในเวทีนี้คือ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียงแต่ขณะนี้นายพิชัยติดภารกิจเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาเรื่องมาตรการภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้รับมอบหมายให้ตนมาแทน 

อย่างไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าท้ายที่สุดเมื่อถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. 2568 ไทยจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเต็มอัตราร้อยละ 36 ตามที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ เพราะในฐานะผู้ปฏิบัติงาน รับรู้ว่ามีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในหลายระดับมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี จนมาถึงวันที่ทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จึงรู้ว่ามีความคืบหน้า และรู้ว่าสหรัฐฯ ให้โจทย์อะไรไทยมาบ้าง เช่น สินค้าสวมสิทธิ์ หรือสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ อยากส่งออกมากขึ้น

ซึ่งเมื่อรับโจทย์แล้วเราก็มาพูดคุย ไม่เฉพาะกระทรวงการคลังแต่ยังรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย ว่าจะปรับตัวกันอย่างไร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่อาจกลับไปอยู่ในจุดเดิม เหตุการณ์สงครามภาษี (Tariff War) จะไม่มีทางย้อนกลับไปในสภาพเดิม

อย่างเวลาที่ไปประชุมต่างประเทศ ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีคลังจากหลายประเทศ ทุกคนเห็นตรงกันว่าโลกจะกลับไปอยู่ที่สมดุล (Balance) แบบเก่า กลไกไม่ว่า ทวิภาคี (Bilateral) พหุภาคี (Multilateral) รวมถึงองค์การการค้าโลก (WTO) เหมือนถูกฉีกทิ้งไปหมดด้วยผลจากนโยบายของสหรัฐฯ จึงต้องก้าวข้ามไปสู่สมดุลใหม่ ทั้งนี้ ลึกๆ แล้วตนยังหวังว่าไทยจะถูกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ เพียงอัตราร้อยละ 10

กระทั่งล่าสุดเพิ่งมีผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม ซึ่งต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วงเพราะสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามที่อัตราร้อยละ 20 ในขณะที่เวียดนามปล่อยอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นศูนย์ ถึงกระนั้นตนก็มองว่าไทยกับเวียดนามนั้นไม่เหมือนกัน เพราะในขณะที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของสินค้าส่งออกของเวียดนามถูกส่งไปที่สหรัฐฯ ไทยจะส่งออกสินค้าไปในตลาดที่หลากหลายมากกว่าและพร้อมจะก้าวเข้าไปยังตลาดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นตนจึงยังเชื่อมั่นว่าอำนาจต่อรองของไทยมีไม่น้อยไปกว่าเวียดนาม อย่าเพิ่งตกใจ และเชื่อว่าโจทย์ที่นายพิชัยได้รับคือการไปพูดคุยให้มีผลสำเร็จ และให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด ขณะที่งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งวงเงินไว้ 1.5 แสนล้านบาท ที่ก่อนหน้านี้จะนำไปทำโครงการแจกเงินหมื่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเป็นวงเงิน 1.15 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80-90 เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ ถนน   

เพราะเมื่อมีการลงทุนสิ่งเหล่านี้มีกรณีศึกษาให้เห็นชัดเจน เช่น ลงก่อสร้างตรงนั้นเกิดการจ้างงานเท่านี้ มีเรื่องการซื้อวัสดุอุปกรณ์ มีลำดับชั้น (Priority) ว่าใครจะได้รับประโยชน์มาก – น้อยเพียงใด เกิดการหมุนทางเศรษฐกิจ     ที่จับต้องได้ ซึ่งทั้ง 2 ทางต่างก็มีข้อดี – ข้อเสีย อย่างการแจกเงินให้ประชาชนโดยตรง ข้อดีคือเกิดการหมุนทางเศรษฐกิจในทันที แต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยในเรื่องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับประเทศ ส่วนงบประมาณที่เหลือจะนำไปช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังประชุมกันหนักมาก ใครที่ติดตามจะรู้ว่าพวกตนอยู่กันถึง 3 – 4 ทุ่ม เพราะต้องตรวจสอบว่าโครงการต่างๆ ที่ขอกันเข้ามา เช่น จะเกิดการจ้างงานมาก – น้อยเพียงใด จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้จริงหรือไม่ รวมถึงวางกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะมีบทเรียนจากโครงการในอดีต อาทิ การทุจริต ดังนั้นโครงการที่น่าเป็นห่วงก็จะถูกคัดออกไปหมด อย่างโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 แสนบาท  หรือโครงการประเภทถนน 1 เส้นแล้วไปซอยเป็น 10 ตอน แบบนี้ไม่ให้เข้ามา เพราะเป็นช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การใช้เงินผิดประเภท

หรืออย่างโครงการที่ไม่มีความพร้อมก็ไม่ให้เข้า ต้องเป็นโครงการที่อยู่ในแผนอยู่แล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปคิดโครงการใหม่ขึ้นแล้วส่งเข้ามา ทั้งที่ยังไม่เคยผ่านการประเมินความพร้อม หรืออย่างโครงการที่ซ้ำซ้อนกับที่ขอไปแล้วในงบประมาณปี 2569 แบบนี้ก็ถูกตัดออก จะมาบอกว่าขอในช่องทางนี้ก่อนแล้วค่อยไปแปรญัตติออกในงบประมาณปี 2569 ก็ไม่ใช่เรื่อง และทุกโครงการใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างปกติ ไม่มีการใช้วิธีจัดซื้อพิเศษ ในบันทึกการประชุมจะเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์คือภาษีของประชาชน

ส่วนข้อกังวลเรื่องการเมืองว่าจะถึงทางตันหรือไม่ ในข้อเท็จจริงคือรัฐธรรมนูญมีกลไกรองรับทุกรูปแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการสะดุดติดขัดในเรื่องของการขับเคลื่อนบ้าง อย่างเมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ถือว่าจบกระบวนการ ก็เท่ากับมีรัฐมนตรีครบ งานของทุกกระทรวงก็เดินต่อไปได้ รวมถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มีอำนาจเต็มในการทำหน้าที่ฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี

และอีก 2 เดือนข้างหน้า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาว่า น.ส.แพทองธาร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่ว่าออกมาทางใดก็ยังไม่ใช่ทางตัน โดยหากไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง น.ส.แพทองธาร ก็กลับมาทำหน้าที่นายกฯ ต่อในห้วงเวลาอีก 2 ปี ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หากต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องเลือกนายกฯ คนต่อไป จากรายชื่อตัวแทนของพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภาตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป อย่างตัวแทนของพรรคเพื่อไทยก็ยังเหลือ นายชัยเกษม นิติสิริ อีกคนหนึ่ง สุดท้ายแล้วกลไกตามระบอบก็ยังสามารถเดินหน้าได้

ส่วนเรื่องร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งมีแนวคิดว่าอาจมีการเลื่อนหรือถอนออกจากการส่งเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ปัจจุบันมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาร่วม ครม. หลายคน ซึ่งการส่งร่างกฎหมายต่อไปให้สภาฯ พิจารณา เป็นการตัดสินใจอนุมัติร่วมกันในนาม ครม. ดังนั้นรัฐมนตรีใหม่เหล่านี้ก็ควรมีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน 

กับ 2.มีเหตุการณ์ที่เข้ามาปะทะกับการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในหลายมิติ เช่น ปัญหายาเสพติด ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมถึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้านกันอยู่บนท้องถนน รัฐบาลก็ต้องการลดโทนของสังคมลงในประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ จึงมีข้อเสนอเข้ามาว่าจะเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรหรือไม่ หรือจะถอนร่างออกไปก่อนแล้ววันหนึ่งที่ ครม. เห็นสมควรจึงค่อยส่งกลับไปให้สภาฯ พิจารณา

“ไม่มีทางตัน ไม่มีทางที่ไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจน ถ้าเราไปอ่านแล้วลองดูให้ดีมันก็มีกลไกในการออกของมัน จะเป็นทางออกที่ชอบ – ไม่ชอบนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผมยืนยันว่ามันไปได้ อย่างแรกขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ยังมีอยู่ถึงแม้จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีรักษาการนายกฯ มีคณะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวง ทบวง กรม ครบถ้วน ฉะนั้นการขับเคลื่อนรัฐไม่ได้มีข้อสะดุดติดขัดใดๆ เรื่องที่ไปอยู่ในมือศาลก็ปล่อยตามขั้นตอน มาอย่างไรสุดท้ายเราก็ต้องยอมรับและเดินไปกับมัน ชีวิตไม่ได้จบแค่นั้น” นายจุลพันธ์ กล่าว

ภายในงานช่วงเช้า ยังมีเสวนาเรื่อง “เชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหม่ ในยุคเปลี่ยนแปลง ?” โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ส่วนช่วงบ่าย มีเสวนา หัวข้อ “ความท้าทายของสื่อมืออาชีพใน VUCA World” โดย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส. น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-