โลกยุค‘VUCA’ผันผวนไม่แน่นอน สื่อถูกบีบคั้นเรื่องรายได้ แต่ยังต้องยึดมั่นจริยธรรม-ความเป็นมืออาชีพ

4 ก.ค. 2568 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนา หัวข้อ “ความท้าทายของสื่อมืออาชีพใน VUCA World” เนื่องในโอกาสรอบ 28 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศไทยและในโลกอยู่ในสภาวะเปราะบาง มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง อย่างที่ในแวดวงวิชาการและธุรกิจเรียกว่าอยู่ในยุค VUCA World ซึ่งสื่อมวลชนก็ไม่มีข้อยกเว้นที่ต้องอยู่ในภาวะนี้เช่นกัน

“ดังนั้นประเด็นที่เราตั้งคำถามกันคือว่าในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง มีความสลับซับซ้อน มีความไม่แน่นอนสูง สื่อมวลชนที่เป็นสื่อมืออาชีพเราจะอยู่กันอย่างไร มันมีความท้าทาย มีเรื่องที่เราจะต้องปรับตัว มีเรื่องที่เราจะต้องคิดกันว่าเราจะไปข้างหน้าอย่างไร การไปข้างหน้าหมายถึงการที่เรายังจะสามารถทำหน้าที่ของการเป็นสื่อมวลชนอาชีพได้ โดยที่เรายังสามารถยึดมั่นในหลักจริยธรรม เพราะเราจะทำหน้าที่ทั้งที่ทำให้เราอยู่ได้ในทางธุรกิจและอยู่ได้ในทางจริยธรรม ในทางความเป็นมืออาชีพได้อย่างไร นี่ก็เป็นความท้าทายที่เราก็คิดว่าในยุคนี้ หัวข้อนี้น่าจะมีความสำคัญ” นายชวรงค์ กล่าว

จากนั้นเข้าสู่ช่วงเสวนาโดยมีวิทยากร 4 ท่าน อาทิ น.ส. น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สื่อต้องปรับตัวเข้ากับ VUCA World ซึ่งความวุ่นวายหลากหลายจะบังคับให้เราต้องปรับตัว เมื่อปรับตัวแล้วก็ต้องเรียนรู้ รู้เทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งในอดีตไม่มีแต่เวลานี้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย และเมื่อมีเทคโนโลยีแล้วก็ต้องนำเสนอซึ่งไม่ว่าจะนำเสนอที่แพลตฟอร์มใดก็ต้องมีจริยธรรมและน่าเชื่อถือ อีกทั้งต้องรู้จักการผลักดันประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

น.ส. น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ซึ่งท่ามกลางความวุ่นวายหลากหลาย ในฐานะสื่อ การทำงานก็ต้องหาจุดลงตัว นำความหลากหลายต่างๆ มาผสม มาปรับใหม่ให้เป็นเราในปัจจุบัน หมายความว่าเทคโนโลยีที่มีก็ต้องเรียนและต้องนำไปใช้ ซึ่งทุกวันนี้จะเห็นมีแพลตฟอร์มมากกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ เรามีช่องทางอื่นที่สามารถนำเสนออกไปได้ หากไม่เล่นกับสิ่งเหล่านี้เราก็อาจไม่ทันโลก

ประการแรกคนทำสื่อจึงต้องเรียนรู้ช่องทางเหล่านี้ ส่วนมาตรฐานการทำงานนั้นมีอยู่แล้วในวิชาชีพ เพราะเมื่อนำเสนอข่าวต้องยึดข้อเท็จจริง หากไม่เจอก็ต้องใช้ความพยายามในการค้นหาแม้จะเป็นเรื่องยาก อาจไม่ใช่เป็นการไปถามบุคคล แต่ใช้การสืบค้นจากแหล่งอื่นๆ เช่น งานวิจัย หรือแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ ถ่ายทอดออกไปเป็นลำดับเพื่อให้เกิดการรับรู้ในสังคม และการจะเป็นที่พึ่งพาของผู้บริโภคได้ สื่อก็ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงออกไปให้ได้มากที่สุด

“ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องกดดันกับการทำงานด้วยเพราะเป็นการแข่งขันที่สูงมาก การแข่งขันที่สูงเราก็ต้องพยายามให้ผิดน้อยที่สุดหรือไม่ผิดเลย แต่ก็เป็นไปไม่ได้เพราะมันเป็นความเร่งรีบ ในส่วนของคนที่ทำข่าวในองค์กรที่เป็นมาตรฐานเวลาเกิดข้อผิดพลาดเขาจะมีการตรวจสอบกัน เช่น ประชาชนตรวจสอบเราโดยการโต้แย้งกลับมา หรือวิพากษ์วิจารณ์กลับมา หรือบางทีก็เกิดการร้องเรียน พอร้องเรียนเราก็ต้องไปชี้แจง เช่น ร้องเรียนที่สภาฯ ถูกฟ้องอะไรอย่างนี้ นี่คือความรับผิดชอบของเราทั้งหมดที่เราจะต้องดูแลตัวเองด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเรื่องนั้นๆ สามารถทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของเราเช่นกัน” น.ส. น.รินี กล่าว

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ภาคประชาสังคมมีความสำคัญมากในการพัฒนาสังคมและพัฒนาประชาธิปไตย โดยภาคประชาสังคมมี 3 อย่าง 1.Think Tank 2.NGO และ 3.สื่อ ซึ่งในข้อสังเกตของตน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สื่อเป็นภาคประชาสังคมที่มีการพัฒนามากที่สุด เพราะ Oligopoly (กลุ่มทุนผูกขาด) ของสื่อแตกไปจากเทคโนโลยี เช่น ในอดีตเมื่อพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์จะมี 4 ค่าย หรือสื่อโทรทัศน์ก็มี 4 ช่องที่ครองตลาด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกิดความหลากหลาย

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

แต่ความหลากหลายก็มีทั้งดีและไม่ดี ข้อดีคือเกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ทุกคนต้องพัฒนา แต่ข้อไม่ดีคือทำให้ควบคุมได้ยากขึ้นทั้งในแง่คุณภาพและจริยธรรม อีกทั้งความหลากหลายยังทำให้สื่อลำบากขึ้น รายได้ของสื่อลดลงอย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ลดลงอีกทั้งยังไปยังช่องทางใหม่ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยไม่ต้องผ่านสื่อ และทำให้สื่อจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น

อนึ่ง ตนเป็นคนหนึ่งที่เคยเข้าไปร่วมเสนอความเห็นด้านการปฏิรูปในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการตั้งสภาปฏิรูป ตนได้อ้างถึงงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่พบว่าหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจใช้งบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นปีละ 9 พันล้านบาท แต่พอดูเนื้อหาแล้วน่าจะมีประโยชน์จริงๆ เพียง 1 พันล้านบาท ที่เหลือมีแต่เรื่องไร้สาระ เช่น คัดเอาท์รูปนักการเมือง หนังสือพิมพ์ลงรูปนักการเมือง หรือโฆษณานักการเมืองออกโทรทัศน์

ซึ่งลักษณะคือการใช้งบฯ เพื่อโฆษณาตนเอง หรือบางกรณีเข้าข่ายใช้งบฯ เพื่อซื้อสื่อด้วยซ้ำ แต่เมื่อพยายามร่างกฎหมายเสนอเข้าไปในสภาปฏิรูปเพื่อที่จะไม่ให้มีการกระทำแบบนี้อีกก็ถูกคัดค้านโดยตัวแทนที่มาจากภาคของสื่อ แต่ตนก็เห็นใจและเข้าใจ ลองคิดดูว่าเงินหายไปปีละ 8 – 9 พันล้านบาท ย่อมต้องไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา แต่ตนก็ยังพยายามหาช่องทางอื่น คือนำแนวคิดนี้ไปใส่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีความพยายามจะยกเลิกระเบียบนี้เพราะนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ก็อยากจะใช้งบฯ

ในขณะที่เรื่องรายจ่ายของสื่อ ความสำคัญคือต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพของคนขององค์กร มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ขนาดเล็กบางช่องมาปรึกษาตน ก็ได้แนะนำไปว่าถ้าทำข่าวเพราะกลัวตกข่าวมีแต่ตาย ต้องทำข่าวแบบตั้งประเด็นแล้วก็เกาะเรื่องนั้นต่อเนื่องไป เช่น การกลัวตกข่าวทำให้ต้องใช้นักข่าวสายการเมืองมากถึง 100 คน เพราะนักการเมืองพูดได้ทุกที่และทุกเวลา

ในทางกลับกัน ตนก็เคยอธิบายกับนักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนักการเมืองคนดังกล่าวบอกว่าสื่อไทยห่วย พูดอย่างหนึ่งแต่ไปนำเสนออีกอย่าง ทำให้ตนตอบกลับไปว่าที่สื่อห่วยเพราะนักการเมืองห่วย อย่างนายกฯ ท่านนี้ให้สัมภาษณ์ 4 ครั้งต่อวัน สื่อจึงต้องใช้นักข่าวจำนวนมากไปประจำตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกข่าว และไม่ใช่เฉพาะตัวนายกฯ ยังรวมถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วยก็เช่นกัน แต่การจ้างนักข่าวจำนวนมากต้นทุนขององค์กรสื่อก็สูงขึ้น แล้วแบบนี้จะเอาเงินที่ไหนไปจ้างนักข่าวคุณภาพ และจะเอาเวลาที่ไหนไปฝึกอบรมนักข่าว

“รู้หรือไม่ว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของคนคือเวลา ผมนี่สงสารน้องนักข่าวมาก เพราะเวลาที่เขาใช้มากที่สุดคือรอ รอทั้งวันทำงาน 5 นาที มันเลยทั้งยากทั้งแพง ทั้งปรับปรุงคุณภาพไม่ได้ คุณไปดูเลยว่าผู้นำประเทศอื่นเขาพูดปีละกี่ครั้ง ลีเซียนลุง (นายกฯ สิงคโปร์) พูดปีละ 12 ครั้ง โอบามา (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) 21 ครั้ง ผมเล่าให้ฟังว่าอันนี้เป็นต้นทุนใหญ่มากของสื่อ ที่ต้องค่าใช้จ่ายเยอะมาก มันก็เลยทำให้ทุกอย่างมันควบคุมคุณภาพยาก ปรับปรุงคุณภาพก็ยาก” นายบรรยง กล่าว

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในยุคก่อนอินเตอร์เน็ต สื่อเป็นเจ้าของทั้งพื้นที่และเนื้อหา สื่อจึงมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งจากโฆษณาและจากผู้บริโภคสื่อ เช่น หากไม่จ่ายเงินซื้อหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีเนื้อหานี้ที่อื่น แต่ปัญหาตอนนี้คือหากจะให้ผู้บริโภคโดยตรงจ่ายก็คงไม่จ่าย ส่วนรายได้จากโฆษณาก็ถูกกรองด้วยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ซึ่งสื่อสามารถต่อรองได้แต่จะต้องรวมพลังกัน เพราะบางแพลตฟอร์มก็เกือบจะผูกขาดอยู่แล้วเพราะใช้กันทั่วโลก 

นอกจากรายได้แล้วแพลตฟอร์มยังส่งผลในเรื่องคุณค่าด้วย ซึ่งมีข้อค้นพบว่าเมื่อแพลตฟอร์มต้องการให้คนเข้ามาดูหรือมีส่วนร่วมให้มากที่สุด (Engagement) แต่เนื้อหาที่ตอบสนองแนวทางนี้ได้คือเนื้อหาที่ไม่ตรงกับจรรยาบรรณสื่อ เช่น เรียกร้องความสนใจ (Clickbait) ใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ดึงคนด้วยอารมณ์ ดึงคนให้เข้าไปอยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ของตนเองแล้วส่งต่อซ้ำๆ คำถามคือแล้วจะจัดการกันอย่างไร เพราะหากยึดจรรยาบรรณก็อาจไม่ได้ยอดการมีส่วนร่วม

ดังนั้นมองว่าทางออกอันหนึ่งคือการต่อรองกับแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่ได้ต่อรองเฉพาะเรื่องส่วนแบ่งรายได้อย่างเดียว แต่ต้องต่อรองเรื่องความเสียหายหรืออันตรายทางสังคมที่เกิดจากอัลกอริทึมด้วย ซึ่งในต่างประเทศเริ่มพูดกัน ในประเทศไทยก็คงต้องขยับเพราะมันก็มีปัญหาคล้ายๆ กันทั่วโลก อีกส่วนหนึ่งคือเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งจริงๆ เนื้อหาที่หน่วยงานของรัฐทำบางเรื่องก็มีประโยชน์ เช่น วิสาหกิจด้านพลังงานจะอธิบายว่าแหล่งพลังงานในโลกจะเน้นอะไร ส่วนตัวไม่ขัดข้องแต่ต้องทำให้โปร่งใส      

แต่ปัญหาคือปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาไม่ว่าจะมาจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนมีแนวโน้มโปร่งใสน้อยลงเรื่อยๆ อย่างเมื่อปี 2567 ป่าสาละเคยทำวิจัยร่วมกับอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ พบว่า การระบุว่าเป็นเนื้อหาพื้นที่โฆษณา (Advertorial) ในสื่อออนไลน์ พบว่าร้อยละ 70 ของเนื้อหาไม่ระบุแล้ว มีสำนักงานบางแห่งที่พยายามทำอยู่แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งอย่าคิดว่าผู้บริโภคจะรู้เพราะบางทีก็ทำกันเนียนมากจนไม่รู้ว่าเป็นโฆษณา หรือที่แย่กว่านั้นคือการรับเงินโฆษณามาแล้ว ไม่สามารถทำข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรที่ให้เงินนั้นได้

“ส่วนตัวมองว่าคนละเรื่องกันเลย ไม่ควรจะเป็นเหตุเป็นผลกันแบบนี้ การที่สำนักข่าวจะเอาตัวรอด ต้องรับเงินสปอนเซอร์จากบริษัท A  B C D ไม่ควรจะแปลว่าเราทำข่าววิจารณ์ไม่ได้ การทำข่าวก็คือการทำข่าว แต่ประเทศไทยมันกลายเป็นเหมือนค่านิยมใหม่ไปแล้ว จนทำให้ข่าวจำนวนมากแม้แต่พูดชื่อบริษัทยังพูดไม่ได้ อันนี้เป็นความท้าทายที่ต้องทะลุไปให้ได้ เฉพาะในส่วนที่มองเป็นปัญหาเชิงรายได้ที่มากับความเปลี่ยนแปลงแล้วมันส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อ แล้วถ้าปล่อยให้เป็นความท้าทายอย่างนี้ต่อไป คนก็จะยิ่งต้องตั้งคำถามต่อไปว่าจริงๆ คุณค่าของสื่อมันคืออะไร? มันอยู่ตรงไหน?” น.ส.สฤณี กล่าว

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกอาชีพล้วนมีบทบาทและความรับผิดชอบ ดังนั้นการจะบอกว่าเราเป็นคนทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพก็หมายถึงการรักษาบทบาทหน้าที่ของเราและมีความรับผิดชอบต่อคนที่ได้รับผลกระทบกับเรา นี่คือเส้นแบ่งที่ชัดเจน การที่ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาผลิตสื่อได้ แต่ถามว่าคนเหล่านั้นคิดถึงบทบาทของตนเองหรือไม่ ทั้งต่อสังคม ต่อคนรอบข้าง ต่อเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร?

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งโดยหลักการแล้วสื่อมีบทบาทไม่กี่อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปอย่างชัดเจนคือการเป็นที่พึ่งของสังคม ทั้งที่เป็นคุณค่าที่สำคัญของการเป็นสื่อ รากฐานของวารสารศาสตร์คือการเป็นผู้รวบรวมข้อมูล เล่าเรื่อง และเป็นที่พึ่งจากการที่คนสามารถใช้ข้อมูลจากเราได้ แต่สิ่งที่พบทุกวันนี้คือมีแต่ความคิดเห็นแม้กระทั่งในข่าว ซึ่งสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดเห็นยิ่งวุ่นวาย

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าความคิดเห็นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ความคิดเห็นที่มีอคติ (Bias) ไม่มีข้อเท็จจริง (Fact) หรือข้อมูลประกอบ เช่น เมื่อเราดูข่าว อยากรู้เรื่องอะไรก็ไปสัมภาษณ์ และคนให้สัมภาษณ์ก็ใช้ความคิดเห็น แต่เมื่อจะไล่ตรวจสอบว่าสิ่งที่พูดนั้นมาจากข้อมูลชุดใดก็กลับหาไม่เจอ แต่พูดจนเหมือนกับความคิดเห็นได้กลายเป็นข้อเท็จจริงไปแล้ว นี่ก็เป็นอันตรายแบบนี้ หน้าที่ของสื่อจึงต้องคำนึงถึงบทบาทในการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และทำให้สังคมสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด  พร้อมกับต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอ

อนึ่ง คำว่า VUCA มาจากภาษาอังกฤษ 4 คำ คือผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty)ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) แต่ในครั้งนี้จะแปลงเป็นอีก 4 คำในอีกความหมายหนึ่ง คือ 1.ความสามารถในการปรับตัว (Versatility) สื่อต้องทบทวนตนเองว่าความพิเศษของเราคืออะไร แล้วจะพลิกแพลงให้หลากหลายได้หรือไม่ เพราะแม้สื่อจะต้องพยายามเข้าถึงคนให้หลากหลาย แต่ในความหลากหลายก็มีความเฉพาะกลุ่มอยู่

2.ความเข้าใจเชิงลึก (Understanding) หน้าที่สื่อคือทำให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุมีผลไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์ความรู้สึก และต้องเข้าใจในเชิงลึก ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือใครๆ ก็นำเสนอข้อมูลได้ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ลึกแล้วมาวิเคราะห์ให้ฟังได้ และสื่อควรเป็นผู้อธิบายในลักษณะที่วางสมดุลของข้อมูลได้ ซึ่งจะแตกต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ที่แต่ละคนก็จะมีชุดความคิดของตนเอง    

3.ความสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับนวัตกรรม แต่ประเทศไทยมีปัญหามากเรื่องการพัฒนานวัตกรรมสื่อ อย่างแรกคือเม็ดเงินลงทุนมีน้อย อีกอย่างคือไม่มีข้อมูลให้สื่อตัดสินใจ จะคิดนวัตกรรมก็เป็นไปได้ยาก แต่ลองไปดู BBC News Lab ใน 1 ปีมีนวัตกรรมออกมาจำนวนมาก และ 4.ความรับผิดชอบ (Accountability) บนโลกออนไลน์มีคนพูดแล้วดูน่าเชื่อถือจำนวนมาก คำถามคือแล้วสุดท้ายจะเชื่อใครได้บ้าง?

“เคยถามเด็กวัยรุ่น ที่ทุกคนบอกว่าเด็กวัยรุ่นไม่อ่านข่าว ไม่ดูสื่อ จริงๆ แล้วถ้าคุณอยากได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือคุณจะกลับไปเช็คที่ไหน? เกินครึ่งบอกว่ายังอยากกลับไปเช็คที่สื่อหลักนะ แต่เกินครึ่งอีกเหมือนกันบอกว่าตอนไปเช็คก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะบางครั้งเขาก็เจอว่าสื่อผิด หรือที่ไปหาที่สื่อก็เหมือนกับที่อื่น เหมือนกันหมดเลย คำว่าที่พึ่งมันหายไป เชื่อว่ายังมีหลายสื่อที่พยายามทำสิ่งนั้น แต่มันก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สื่ออย่างเดียว บางคนพยายามเป็นที่พึ่ง ทำเรื่องดีสปอนเซอร์ไม่เข้า จะไปต่ออย่างไร? ก็ต้องมองหลายอย่างร่วมกัน ทั้งตัวสื่อเอง Audience (ผู้รับสื่อ) ทั้งสปอนเซอร์ที่จะลง เพราะสุดท้ายก็ต้องมองว่าสื่อเป็นธุรกิจ สื่อก็ต้องอยู่รอด นี่อยู่บนความเป็นจริง” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว