นสพ.ขนาดกลางไม่ตายไม่โต?

newpaper

นสพ.ขนาดกลางไม่ตายไม่โต? : กระดานความคิด โดย’จอกอ’

“หนังสือพิมพ์ขนาดกลาง มีการปรับตัวตามเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย ทั้งการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และล่าสุดกับการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ลักษณะการปรับตัวต่อเทคโนโลยีของหนังสือพิมพ์ขนาดกลางในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ครอบคลุมตั้งแต่ด้านนโยบายจากผู้บริหาร  กระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการและอุปกรณ์การดำเนินงาน ตลอดจนช่องทางการสื่อข่าว”

(สุกัลยา คงประดิษฐ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, งานวิจัยทุนสภา นสพ. หนังสือรายงานประจำปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 2557)

ถ้อยคำ “หนังสือพิมพ์ตายแล้ว” ได้ตายและเลือนหายไปจากวงสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับสื่อนานปี เนื่องเพราะจนถึงวันนี้ หนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ได้เป็นปกติ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่หลายฉบับ ขยายกิจการไปยังสื่อออนไลน์ สื่อทีวีดิจิทัล คู่ขนานไปกับการทำหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เช่น เทคโนโลยี iSnap ของกลุ่มเนชั่น Dailynews flash ของเดลินิวส์ ซึ่งเป็นความพยายามให้สื่อเย็น อย่างหนังสือพิมพ์ สู้กับสื่อร้อน เสกเป่าให้ตัวหนังสือมีชีวิต แต่ Dailynews flash หยุดไปก่อนด้วยเหตุผลด้านการลงทุน และการประเมินผลทางธุรกิจ ที่ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนมากนัก

นี่เป็นการปรับตัวของหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ ที่สุทธิชัย หยุ่น เคยอธิบายว่า “ไม่ปรับ ก็พับฐาน” แต่หนังสือพิมพ์ขนาดกลางจะอยู่อย่างไร ถึงแม้ว่าหนังสือพิมพ์ทั้งระบบ จะยังไม่ตายในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็ตาม อย่างน้อย 5-10 ปีจากนี้ ผลการศึกษาที่ผ่านมา ตลาดหนังสือพิมพ์เริ่มทรงตัวและลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มหนังสือพิมพ์ขนาดกลาง จากการวิจัยของ สุกัลยา คงประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยสยามรัฐ บ้านเมือง แนวหน้า และไทยโพสต์ ไม่มีสัญญาณเติบโตขึ้น

แต่ในท่ามกลางภาวะถดถอยของหนังสือพิมพ์ขนาดกลางนั่นเอง แนวหน้าสวนกระแสด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น มีคำอธิบายว่า อาจเป็นกลุ่มผู้อ่านคอการเมืองที่ย้ายมาจากหนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้มข้น ค่ายหนึ่ง แต่ก็เป็นคนรุ่นเก่าที่ยังนิยมเสพสื่อกระดาษ หรือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนังสือพิมพ์เก่าแก่ เช่น สยามรัฐ และบ้านเมือง

หนังสือพิมพ์ขนาดกลางถือกำเนิดในยุคสมัยที่กิจการหนังสือพิมพ์กำลังเฟื่องฟู ระหว่างปี 2493-2539 เป็นช่วงเวลาที่หนังสือพิมพ์มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างมาก แต่ละฉบับผ่านร้อนผ่านหนาว และมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา รูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับบริบททางการเมือง สภาพทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแต่ละช่วงเวลา จนปัจจุบัน หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต่างมีทิศทางการนำเสนอข่าวที่ชัดเจน และแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ ที่ทำให้มีกลุ่มผู้อ่านที่มีลักษณะเฉพาะ อายุเฉลี่ย 40 ปี และเป็นชนชั้นกลาง เช่น กลุ่มผู้อ่านแนวการเมือง ของแนวหน้า และไทยโพสต์

หนังสือพิมพ์ขนาดกลางดำเนินธุรกิจในลักษณะครอบครัว และส่วนใหญ่มีเครือญาติร่วมบริหารด้วย โดยทั้งสยามรัฐ บ้านเมือง และแนวหน้า ต่างส่งบุตรชายเข้ามาเป็นผู้บริหาร ประกอบด้วย กตพล คงอุดม สยามรัฐ พลฑิตย์ ภุกพิบูลย์ บ้านเมือง และ ผรณเดช พูนศิริวงศ์ แนวหน้า ขณะที่ไทยโพสต์ บริหารโดย โรจ งามแม้น เงาร่าง “เปลว สีเงิน” คอลัมนิสต์ระดับพระกาฬ ที่เป็นจุดขายสำคัญของไทยโพสต์

ไทยโพสต์ มาจากทีมกองบรรณาธิการสยามโพสต์ ภายใต้โพสต์ พับลิชชิ่ง ในขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยของโพสต์ แปรรูปเป็นโพสต์ ทูเดย์

เมื่อมองภาพกว้างของหนังสือพิมพ์ขนาดกลาง ความอยู่รอดของพวกเขา มาจากการค้นหาตัวเองพบ และขายสิ่งนั้นที่มีความแตกต่างจากสื่ออื่นๆ แต่ภาพนี้จะอยู่ได้นานและยั่งยืนเพียงใด เมื่อคลื่นดิจิทัลกำลังส่งสัญญาณแรงอย่างยิ่ง