22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แนะสื่อยืนหยัดทำความจริง

22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แนะสื่อยืนหยัดทำความจริง

“คุณชายอุ๋ย” ปาฐกถา งาน 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดีใจเห็นสื่อปรับตัวรับยุคดิจิทัล แนะยืนหยัดทำความจริงให้ปรากฏ แก้ปัญหาประชาชน มีคุณธรรม รอบคอบ ขณะที่เวทีสัมมนา แนะสื่อเน้นความเป็นมืออาชีพ สร้างความแตกต่าง หาจุดเด่นเฉพาะทางเปิดช่องสร้างรายได้ใหม่

เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า วันที่ 4 ก.ค. เมื่อ 22 ปีก่อน เป็นวันสำคัญของ​ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ ซึ่งได้มารวมตัวลงนามในบันทึก จัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับกันเองทางด้านจริยธรรม และ 22 ปี ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ข่าว ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ​

อย่างไรก็ตาม ​เริ่มมีปัญหา การทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ปรับสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการปรับตัว สู่โลกออนไลน์​ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด การผลิตข่าวสารให้อยู่รอดและสามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเรื่องท้าทายสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน

 

เตือนผู้ปกครองใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล” โดยระบุว่า ในยุคดิจิทัล เราติดต่อกันได้เร็วขึ้นทุกรูปแบบ การหาข้อมูลก็ง่ายสะดวก เกิด AI หรือ สมองเทียมซึ่งมาช่วยทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำไม่ได้มาก่อน เราก้าวหน้าไปไกลมาก และประเทศไทยเองได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาก

อย่างไรก็ตาม ​สิ่งที่น่าเสียใจในการใช้ชีวิตก้าวหน้า แต่ก็มีสิ่งที่ถอยหลังไป 50 ปี คือการเมืองไทย ซึ่งน่าเศร้ารู้สึกเหมือนตอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ​ปี 2510​ ก่อน ช่วง 2514 และ 2519 โดยสิ่งที่มีความรู้สึกเหมือนกันคือ ​กลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหาร ทำไมถึงมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนธรรมดา และตอนนั้นมีเหตุขวากระแทกซ้าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง ไม่อยากให้เลยเถิดไปกว่านี้อีกเลย อยากให้ฝ่ายปกครองที่เป็นพี่ใหญ่ใช้ความเฉลียวฉลาดให้มากกว่านี้

​ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ในอดีตเคยเจอ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเป็นนายกฯ ท่านบอกเพิ่งกลับมาจากการพบกรรมการจากสมุทรสาคร โดยคนที่พามาก็เป็นอดีตผู้นำนักศึกษา ซึ่งบอกว่าเราต้องให้เกียรติเขา ส่วนตัวก็อยากให้ผู้ปกครองคิดอะไรแบบนี้ เปิดกว้างรับฟังเห็นเป็นคนไทย​ด้วยกัน ไม่ใช่คิดว่าเขาจะมาคิดทำลายชาติ เขาอาจจะก้าวหน้าไปนิดคิดไม่ทัน ​หรือหากคิดไม่ดีก็พัง ก็เตือนเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่อยากให้ไปไกลกว่านี้ ทางแก้ทางเดียว ฝ่ายปกครองที่เป็นผู้ใหญ่ต้องใจเย็นมีสติเปิดใจให้กว้าง​

 

สื่อดิจิทัลก็ต้องมีจริยธรรม

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ​ในโลกดิจิทัล ทุกอย่างสะดวกรวดเร็ว แต่ความสะดวกก็ต้องปรับตัว ​ซึ่งทุกท่านเข้าใจการปรับตัวเห็นได้จาก 1. สื่อที่รีบตั้งเว็บไซต์ของตัวเอง ​เพราะเป็นช่องทางของโอกาสในการส่งข่าวสาร ​2. ทันทีที่เกิดเหตุก็สามารถนำเสนอเหตุการณ์ได้ทันที รวดเร็วต่างกันไม่กี่วินาที 3. หลังจากนั้นไม่นาน ก็ไปหาข้อมูลว่าเรื่องนั้นส่งลกระทบถึงใคร มีผลดี ผลสืบเนื่องอย่างไร ถือเป็นการปรับตัวที่ดี และ 4. ในส่วนของหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น ​หากทำเหมือนกันที่ปรากฏในดิจิทัลแล้วคนก็จะเริ่มไม่อ่าน แต่ก็เห็นการปรับตัวขอบบางฉบับที่นำเสนอในรูปแบบสรุปประมวลเหตุการณ์ ซึ่งใครปรับตัวเองได้ก่อนก็สร้างความได้เปรียบ ​

นอกจากนี้ ยังมีของแถมในโลกดิจิทัล คือสิ่งที่ประชาชนประสบและถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลายเป็นแหล่งของข้อมูลในเหตุการณ์ ​เมื่อนักข่าวเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบจิตใจ ​เขาก็นำไปลงข่าว ​​ต่างจากเดิมที่ไม่มีแหล่งโซเชียลมีเดีย ​จากนั้นก็เริ่มนำไปสู่การสืบสวนต่อว่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร มีผลดีผลเสียอย่างไร

“จะดีมากถ้าเราเราสามารถทำต่อไป จนถึงจุดที่แก้ปัญหาให้เขาด้วย เช่น รายการของ กิตติ สิงหาปัด เดินเรื่องจากประชาชน และเดินต่อไปสู่การแก้ปัญหา ตรงนี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ ถ้าทำได้ก็จะเป็นคุณ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหนังสือพิมพ์ ซึ่งหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการทำความจริงให้ปรากฏ ถ้าคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสื่อไปทำความจริงให้ปรากฏเขาก็จะได้รับความเป็นธรรม ​ตรงนี้เป็นโอกาสใหม่ที่มาจากข่าวของประชาชน ผ่านการถ่ายคลิปแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ท่านเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน ดังนั้นก่อนหยิบมาเสนอต้องเช็คให้แน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งตรงนี้คงระวังอยู่แล้วเพราะไม่อยากหน้าแตก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว ​

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า​ มาตรฐานความเป็นมืออาชีพโลกดิจิทัลเป็นอย่างไรนั้น จะเห็นว่าจะโลกดิจิทัล หรือไม่ใช่ ความเป็นมืออาชีพไม่ต่างกัน เพราะหน้าที่สื่อมวลชนคือทำความจริงให้ปรากฏ มีคุณธรรม​ ไม่เอียงไปทำลายคนนั้น ไม่ประจบคนนี้ ​สองต้องมีความรอบคอบ ตรวจสอบข่าวว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะดิจิทัลอาจพลาดง่าย ​การทำงานที่รวดเร็ว ก็ต้องมีเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณ

 

บางกอกโพสต์คว้าบทบรรณาธิการดีเด่น

จากนั้นเป็นการมอบรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 9 โดยในปีนี้มีหนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ประเภท ส่งบทบรรณาธิการเข้าประกวดทั้งสิ้น 19 ฉบับจำนวน 51 บทบรรณาธิการ จากหนังสือพิมพ์สมาชิกส่วนกลาง 4 ฉบับจำนวน 18 บท หนังสือพิมพ์สมาชิกส่วนภูมิภาค 8 ฉบับจำนวน 24 บท หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัตินักศึกษา มหาวิทยาลัย 7 สถาบัน จำนวน 9 บท

โดยผลการตัดสินปรากฏว่า บทบรรณาธิการดีเด่น หนังสือพิมพ์ส่วนกลางได้แก่ บทบรรณาธิการ เรื่อง ระบบประกันสุขภาพต้องเป็นธรรม (Let’s have fair health care) จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม 2561 รางวัลชมเชย ได้แก่ บทบรรณาธิการ เรื่อง ปฏิรูปวงการสงฆ์ครั้งใหญ่​ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2561 และ บทบรรณาธิการ เรื่อง แก้ค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2561

 

ลานนาโพสต์ รับบทบก.ดีเด่นส่วนภูมิภาค

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคดีเด่น ได้แก่ บทบรรณาธิการ เรื่อง ทลายกำแพงระบบอุปถัมภ์ เปิดทางสิทธิชุมชนคนแม่เมาะ หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ จ.ลำปาง ฉบับวันที่ 21-27 กันยายน 2561 รางวัลชมเชย ได้แก่ บทบรรณาธิการ เรื่อง คุ้มหรือไม่?  หนังสือพิมพ์เกียรติภูมิ จ.นครนายก ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2561 และ บทบรรณาธิการเรื่อง ใบอนุญาตสร้างสิ่งล่วงล้ำน้ำของกรมเจ้าท่า อย่าให้เกิดปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ หนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด ฉบับวันที่ 16-31 ตุลาคม 2561

ส่วนบทบรรณาธิการดีเด่น หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในมหาวิทยาลัย ได้แก่บทบรรณาธิการเรื่อง สนามสอบที่คลุ้มคลั่ง หนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว มหาวิทยาลัยบูรพา ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 และบทบรรณาธิการชมเชยได้แก่ บทบรรณาธิการเรื่อง “กีฬาสี” สร้างสัมพันธ์หรือบั่นทอน หนังสือพิมพ์หอข่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฉบับวันที่ 28 มกราคม 2561 และบทบรรณาธิการเรื่อง ต้องกำกับระบบตรวจสอบ หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2561

โดยรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่นส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้รับโล่เกียรติคุณจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และเงินรางวัล 10,000 บาท จากกองทุนส่งเสริมจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ ส่วนหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติฯ จะได้รับโล่ฯ พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท ขณะที่รางวัลชมเชยจะได้รับโล่เกียรติคุณฯ

 

เวทีสัมมนา แนะสื่อเน้นความเป็นมืออาชีพ

ในส่วนของเวทีอภิปราย หัวข้อ “สื่อ…​การปรับตัว และมาตรฐานความเป็นสื่อมืออาชีพ” นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ​เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น​สื่อก็ต้องปรับตัว เปรียบเหมือนคนไม่เดินตลาด เราก็ควรหาทางไปขายของในห้าง​ ต่อมาก็ต้อง Modernization หารายได้ เราจะเห็นสื่อใหม่ๆ ซึ่งบางเจ้าก็มาจากสื่อเดิมแต่ Rebranding ใหม่ เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง ข่าวปัจจุบันก็คือการเห็นมุมของผู้บริโภค และส่งไปถึงกลุ่มผู้อ่านแบบถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา จะอยู่ในรูปแบบ ภาพ ข้อความ วีดีโอก็ได้

อย่างไรก็ตาม การปรับตัว ​ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันไปทั้งหมด เช่นเหมือนคนหนึ่งทำต้มยำอร่อย มีสูตรเฉพาะ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำเหมือนเขา คล้ายกับวิทยุแต่เดิมที่คนเปิดฟังในรถ ทำอย่างไรที่จะให้คนฟังขยายวงกว้างขึ้น ​การเล่าเรื่องก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ​การทำคอนเทนต์ต้องหาตัวเองให้เจอ เช่น คนทำเรื่องมอเตอร์ไซค์ให้ดีก็จะมีคนรู้ว่าต้องมาอ่านที่นี่ ​ดังนั้นเราก็ต้องมาดูว่า​เราทำข่าวอะไร ข่าวไหน คนอ่านเยอะสุด ก็ลองเขียนซ้ำ วางแผน ลงมือ ตรวจสอบ หากใครทำได้ก่อนก็ชนะ

 

 

สื่อมืออาชีพต้องทำหน้าที่พิสูจน์ความจริง

รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผอ.หลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ยุคดิจิทัลไม่ใช่พึ่งมาเมื่อวาน เกิดมาเกือบ 30 ปี ในช่วงยุค 90 แต่มาพร้อมกับ อะนาล็อคที่ปกคลุมโลกใบนี้ แต่หลังปี 2000 ทุกอย่างก้าวไวมาก และ 5 ปีหลัง ที่ปรับตัวเร็วมาก จากออฟไลน์ เปลี่ยนมาออนไลน์  โลกที่เคยจับต้องได้กลายไปอยู่โลกเสมือน สื่อมวลชนวันนี้มีคู่แข่งกับประชาชนทั่วไปที่มีอาวุธในมือคือ มือถือบวกกับระบบอินเตอร์เน็ต จึงเกิดสิ่งใหม่ สื่อส่วนบุคคล ที่มีมือถือและมีแพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อม ​

นอกจากนี้ ​ในประเด็นมืออาชีพ สื่อมวลชนดั้งเดิมถือเป็นสื่อมืออาชีพที่มีกฎหมาย จริยธรรมกำกับ ซึ่งหน้าที่ของสื่อมวลชน คือ ​แจ้งข่าวสาร ​ให้ความรู้ ให้ความบันเทิง แต่ทุกวันนี้มีคนเริ่มทำหน้าที่ตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ในยุคดิจิทัลมาตรฐานมืออาชีพที่แตกต่างจากมือสมัครเล่นคือ การบูรณาการสังคม บันทึกข้อมูล และพิสูจน์ข้อเท็จจริง

รศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า ในโซเชียลมีเดียมีการแตกออกเป็นเสี่ยงๆ สังคมของใครของมัน แต่สื่อมวลชนสามารถบูรณาการสังคมโดยรวมได้ เพราะเพจบางเพจ หรือเน็ตไอดอลบางคนอาจมี Agenda ​แต่สื่อมวลชนเป็นสังคมที่ใหญ่กว่า ​ยังมีความจำเป็นในการบูรณาการทางสังคม เราไม่อาจปล่อยให้ Influencer ไปทำสิ่งเหล่านี้ได้  เพราะมี Fragmentation ในสังคมออนไลน์ ​

อย่างไรก็ตาม อีกหน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในโลก แต่ละนาทีมีทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น แต่มีขยะเยอะ สื่อมืออาชีพจึงต้องมากรองสิ่งที่จำเป็น และบันทึกให้คนรุ่นต่อไปได้มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น และมีหน้าที่พิสูจน์ความจริง หรือความถูกต้อง เพราะเราไม่ขัดสนข่าวสาร แต่เราอยากรู้ว่าจากข่าวสารสิ่งไหนเป็นความจริง เพื่อจะแยกได้ว่าตรงไหนเป็นข่าวปล่อย ข่าวลวง

รศ.ดร.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่า หนังสือพิมพ์แบบกระดาษคงจะยังอยู่ต่อไปได้ แต่จะเล็กลงเรื่อยๆ  ซึ่งจะต้องไม่ทำแบบเดิม ​องค์กรสื่ออาจจะต้องจัดฟังก์ชั่นการทำงานใหม่ คนไม่ได้อยากรู้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อวาน แต่เขาอยากอ่านบทวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ดังนั้นต้องมีนักวิเคราะห์มือฉมัง รวมทั้งต้องปรับวงจรการทำข่าว 24 ชม.ใหม่ จัดตำแหน่งคนให้เข้ากับวิถียุคดิจิทัล

 

สร้างความแตกต่าง หาจุดเด่นเฉพาะทางเข้า

นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ​​เราใช้ดาต้าทุกอย่างเพื่อศึกษาผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคมีวิวัฒนาการเยอะมากโดยเฉพาะ 3-4 ปี ที่ผ่านมา​ ที่เปลี่ยนเร็วมาก ​​ในปี 2559 งบโฆษณาที่ใช้ไปกับสื่อ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี และลดลงเรื่อย  2562 คาดว่าคงจะไม่ลงต่ำกว่า 1.1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากงบที่กระจายไปตามสื่อต่างๆ พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไป จาเดิม 10 ปีที่แล้ว อันดับหนึ่งคือ ทีวี ตามมาด้วย ​หนังสือพิมพ์ วิทยุ โรงภาพยนตร์​ นิตยสาร สื่อนอกบ้าน แต่ตอนนี้หนังสือพิมพ์อยู่อันดับสุดท้าย เงินโฆษณาเปลี่ยนไปตามกลุ่มเป้าหมาย ไปสู่ออนไลน์ 20% ขณะที่สื่อทีวีเองก็ได้รับผลกระทบ ส่วนแบ่งงบโฆษณาลดลงจากเดิม ​60% เหลือ ไม่ถึง50% ​และยังมีช่องทีวีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสื่อออนไลน์เจ้าใหญ่จากต่างประเทศ ทั้ง     Facebook Google เกือบ 70%

นายไตรรุจน์​ กล่าวว่า  หนังสือพิมพ์นิตยสารก็ต้องปรับตัว ว่าอยากจะไปอยู่บนจอ หรืออยากจะเป็นเล่มเหมือนเดิม ก็ต้องไปคิดหาวิธีสร้างความแตกต่าง จะเห็นว่าสื่อที่อยู่ได้บางครั้งจะเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม พิมพ์ไม่เยอะเช่น นิตยสาร มอเตอร์ไซค์ จักรยาน ซึ่งสื่อเองก็ต้องทำการตลาดให้ตัวเองด้วย ​ว่าแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร หรือมี บก.เจ๋ง เขียนแล้วคนติดก็ต้องล็อกไว้ให้สามารถดูได้ที่นี่เท่านั้น ​

 

เปิดช่องทางสร้างรายได้ใหม่

นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า ​ปัจจุบัน เรามีคอนเทนต์สื่อมหาศาลมาก ในหัวข้อหนึ่งจะมีคนทำสื่อทำกันเป็นร้อยเจ้า ผู้บริโภคมีทางเลือก การจะอยู่รอดได้ต้องมี 3 ข้อ คือ 1.ต้องมีตัวตนหรือ Branding ทำให้คนอยากอ่านจากเรา อ่านแล้วจดจำได้ คนเขียนคือใคร​ในอนาคตเขามาอ่านซ้ำประเด็นไหน  2.  เข้าใจผู้บริโภค ​เนื่องจากมีสื่อเยอะขึ้นแต่คนมีเวลา 24 ชม.​ เท่าเดิม ต้องเข้าใจว่าคนอยากอ่านอะไร แบบไหน ​

และ 3. หาเงินเก่ง เพราะเมื่อก่อนทำสื่อดีคนเข้ามาอ่านมาก โฆษณาก็เข้ามามากตาม แต่ปัจจุบันมีสื่อมากขึ้นตัวเลือกมากขึ้น อาจต้องหาโมเดลหารายได้ใหม่ที่อาจไม่ใช่แค่รอรายได้จากโฆษณาแค่นั้น เช่น เนื้อหาพรีเมียม ที่ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อได้อ่านเนื้อหาที่มากขึ้น ​แต่ทั้งหมดส่วนตัวเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ปัญหาที่สื่อไทยต้องเผชิญ แต่จากที่เห็นด้านบวกของสื่อต่างประเทศก็จะเห็นแนวทางการปรับตัว ซึ่งเราก็สามารถทำได้โดยต้องมี Branding สร้างความแตกต่าง ​​