‘อุ้มบุญ’กับเสือกระดาษ
‘อุ้มบุญ’กับเสือกระดาษ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล
ยั งไม่มีใครถามสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องที่ผู้หญิงไทยจำนวนนับร้อยรับจ้าง “อุ้มบุญ” หรือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งทำให้ปรากฏภาพทารกชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง รวมทั้งภาพเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมถูกทอดทิ้ง ปรากฏการณ์นี้คาบเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายฐานค้ามนุษย์ กฎหมายคุ้มครองเด็ก และคำถามเรื่องจริยธรรม เนื่องเพราะการนำเสนอภาพเด็กและเรื่องราวของเขานั้น อาจมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้เกี่ยวข้อง แม้ว่าเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรง ยังไม่โตพอที่จะรู้ความก็ตาม
โครงสร้างของสื่อซับซ้อนมากขึ้น ความจำเป็นที่ต้องผลิตข่าวเชิงปริมาณมีมากขึ้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ สังคมคาดหวังว่า องค์กรวิชาชีพสื่อที่น่าจะเป็นอิสระพอสมควร จากอำนาจทุน จะเป็นเสาหลักในการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม เพราะเมื่อเป้าหมายในการทำงานคือเงินทองแล้ว ข่าวและภาพที่พวกเขาคิดว่า “ขายได้” ก็คือสินค้าอุตสาหกรรมชนิดหนึ่ง ที่อาจไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาในด้านจริยธรรม แต่ปัญหาสำคัญ คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติถูกทำให้เชื่อว่าเป็น “เสือกระดาษ” ที่ทำอะไรไม่ได้
ผมได้รับคำถามเช่นนี้อีกครั้ง จากผู้ดำเนินรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ในช่วงการสนทนาว่าด้วยสื่อว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็น “เสือกระดาษ” หรือไม่
คำตอบคือ ถ้าวัดจากกระแสสังคมแล้ว ใช่ โดยเฉพาะยามที่ปรากฏข่าวการละเมิดสิทธิเด็ก ผู้หญิง และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่นในกรณีนี้ คือบรรดาแม่ของเด็กที่รับจ้างอุ้มบุญทั้งหลาย
ภาพและข่าว ที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ข้อความที่ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยคู่กรณีไม่มีโอกาสพูดหรือชี้แจง ยังปรากฏอยู่ในสื่อทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจอธิบายถึงจิตสำนึกความรับผิดชอบของสื่อที่มีต่อสังคมว่า ยังมิได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการคัดเลือกภาพและข่าว ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะข่าวประเภทอาชญากรรม
การตีพิมพ์ภาพเด็กและผู้หญิงที่ถูกข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศ ภาพข่าวอุบัติเหตุ ภาพข่าวผู้ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่ออาชญากรรม ประชาชนผู้บริโภคจะคาดหวังว่าสื่อเหล่านี้จะมีความรับผิดชอบ หรือมีองค์กรอิสระที่จะมาตรวจสอบการทำงานเพื่อให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมได้หรือไม่ อย่างไร นี่เป็นคำถามที่มีมาตลอดของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ องค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพว่าจะมีความเชื่อถือ ไว้วางใจในการดูแลกันเองอย่างไร
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เดินทางมาถึงวันนี้ 17 ปีแล้ว เป็น 17 ปีที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ภาคีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้เติบโต ขยายตัวจากสื่อหนังสือพิมพ์ ไปสู่สื่ออื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น มีนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่มีโอกาสผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และอบรมบ่มเพาะในเรื่องจิตสำนึกในเชิงจริยธรรมเข้ามาสู่วงการมากขึ้น มีความท้าทายใหม่ๆ ในเรื่องอิทธิพลและผลประโยชน์มากขึ้น
รวมทั้งมีนักธุรกิจสื่อ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีตชัดเจนยิ่งขึ้นมองอดีตผ่านปัจจุบัน ไปในอนาคต หากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไม่ทบทวนบทบาท และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ก็อาจมีความยากลำบากยิ่งในการดำรงตนเป็นสถาบันกลางในการควบคุม ดูแลกันเอง และในที่สุดการมีอยู่ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติก็อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยย่อยในโครงสร้างใหญ่สื่อมวลชน ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากยุคผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงยุคที่กิจการสื่อกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จากยุคที่มีการดำเนินกิจการสื่อหนังสือพิมพ์แต่เพียงโดดๆ หรือช่องทางสารที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน จนมาถึงยุคของการหลอมรวมสื่อ หรือ Media Convergence
จากยุคที่สื่อค่อนข้างเป็นเอกภาพ มีแนวคิด จุดยืนในเชิงอุดมการณ์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะใกล้เคียงกัน มาเป็นยุคที่สื่อถูกแยกแบ่งเป็นค่าย เป็นสี เป็นธุรกิจ เป็นอุดมการณ์
และเสือกระดาษก็ถูกท้าทาย ครั้งแล้วครั้งเล่า ข่าวอุ้มบุญก็เป็นบทท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง