วงถกลดผลิตซ้ำความรุนแรง ชี้อคติ-เร่งรีบ-ยอดวิวต้นเหตุ

วงถกลดผลิตซ้ำความรุนแรง ชี้อคติ-เร่งรีบ-ยอดวิวต้นเหตุ

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ออกแนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ วางกรอบการทำงาน พร้อมจัดเสวนาลดการผลิตซ้ำความรุนแรงในสื่อออนไลน์ เชื่อต้นเหตุมาจาก อคติ ความเร่งรีบ และหวังรายได้ผ่านยอดวิว แนะสร้างความเข้าใจของสังคมร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ Center for Humanitarian Dialogue (HD) ร่วมกันจัดเสวนามีเดียฟอร์รั่ม ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “จริยธรรมการสื่อสารออนไลน์เพื่อลดการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม”

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ปรับโครงสร้างการทำงานเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว สภาการฯ เน้นการทำงานเชิงรุก มีคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเป็นแกนหลักหยิบยกเรื่องที่ไม่ได้รับการร้องเรียนขึ้นมาพิจารณาได้เลย ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้มีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น

นอกจากเรื่องร้องเรียนแล้ว เรายังตระหนักถึงเรื่องภาพรวมปัญหาเชิงจริยธรรมสื่อซึ่งมีอีกหลายแง่มุม บางเรื่องไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แม้จะครอบคลุมการทำงานข่าวของสื่อออนไลน์ อย่างไทยรัฐออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์ แต่ก็มีบางส่วนอย่างสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ด้วยก็จะมีองค์กรอื่นที่กำกับดูแล ซึ่งอย่างน้อยก็จะมีหน่วยงานกำกับดูแลกันเอง อีกทั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เห็นชอบการประกาศใช้แนวปฏิบัติ เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2562 ที่จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนต่อไป โดยทางสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ อยู่ระหว่างการลงมติเห็นชอบเพื่อประกาศใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม นั้นเริ่มมีมากขึ้นเมื่อสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากเดิมการกำหนดวาระข่าวสาร ​สื่อเป็นคนกำหนด แต่ตอนนี้หลายเรื่องสื่อสังคมออนไลน์เป็นคนกำหนดวาระ เมื่อมีการผลิตซ้ำความรุนแรงขึ้นมา ต้องพิจารณาว่าสื่อมวลชนไปร่วมผลิตซ้ำความรุนแรงกับเขาหรือเปล่า ซึ่งเราย้ำตลอดว่าเราเป็นสื่อมืออาชีพ จะทำให้สังคมสามารถแยกแยะว่าใครเป็นสื่อมืออาชีพ โดยจุดที่ผู้บริโภคจะแยกแยะได้คือ จะต้องมีจริยธรรมกำกับในการทำงาน

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ รองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นำเสนอกรณีศึกษาจากสื่อออนไลน์ โดยระบุว่า จากการศึกษามีกรณีที่ศึกษาหลายกรณีทั้งเรื่องลัลลาเบล หนุ่มแว่น ส.ส.หญิง ​ในสภา ​ดาราวัยุร่นที่ไปปรากฏตัวในอุบัติเหตุรถชนช่วงกลางดึก กรณี พาดหัววิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงร่างกายของ เอิร์น กัลยากร ไปจนถึงการทำอิมเมอร์ซีฟ กรณีลูกหั่นศพแม่ใส่ตู้เย็น ซึ่งแต่ละเรื่องนำเสนอเพื่อหวังให้คนเข้ามาดู มาไลค์ แชร์ และคงเป็นหลักฐานระดับหนึ่งว่าสื่อออนไลน์มีการผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ จากโพสต์ที่มีการแชร์ข้อมูลมาจากต่างประเทศมีการเปิดสอนวิชาว่าด้วยความเห็นอกเห็นใจในโรงเรียน อายุ 6-16 ปี ทำให้สังคมอยู่ด้วยการเห็นอกเห็นใจในโลกออนไลน์ ​จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ขอให้อยู่ได้ด้วยความรู้สึกเห็นใจ วิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ขอให้มีความรู้สึกเห็นใจ ส่วนที่จะมีเครื่องมือมาตรวจการใช้ถ้อยคำรุนแรงในออนไลน์นั้น จะเห็นว่าจากการมอนิเตอร์ข่าว เราไม่เห็นการใช้ถ้อยคำหยาบ แต่เป็นคำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความรุนแรง

ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า เครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะนำมาแก้ปัญหาคือความมีมนุษยธรรม สื่อหลักต้องลงไปทำเรื่องเหล่านี้  จะทำการผลิตซ้ำเพียงแค่หวังยอดวิวในโลกออนไลน์ไม่ได้  ในโลกออนไลน์เราจะเห็นด้านมืดของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ต้องมีการควบคุมตัวเอง มีความรับผิดชอบ เพราะตราบใดที่สื่อหลักยังอิงยอดวิว ผลิตซ้ำวงจรนี้ก็ยังคงอยู่

ศ.ดร.ลักษณา คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากถามว่าคดีลัลลาเบล เกี่ยวข้องกับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างไร เวลาเราไปค้นหาข้อมูล จะมีลิสต์ให้เลือก พอกดไปดูจะเป็นคลิปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และข่าวเพศ ​ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปจากการสืบค้นไม่ว่าข่าวลัลลาเบลผ่านไป 3 เดือนกว่า แต่​ความรุนแรงเชิงเพศก็ยังคงอยู่เชิงวิถีประจำวัน เราค้นหาก็ยังคงอยู่ มันเป็นความรุนแรงในวิถีชีวิต ไม่ได้อยู่ในสื่อออนไลน์อย่างเดียว สืบค้นอย่างไรก็ยังอยู่

ทั้งนี้ ในแง่ความรุนแรงทางตรงก็จะมีการเสนอเรื่องราวผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ ส่วนความรุนแรงทางโครงสร้าง เราจะเห็นความรุนแรงทางโครงสร้างการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง เชิงเศรษฐกิจสังคมซ่อนอยู่ ยกตัวอย่างคลิปแม่เหยียบคอลูกข้างถนน มีการปล่อยภาพและเสียง โดยเริ่มต้นจากโซเชียลมีเดีย ขยายไปสู่ออนไลน์มีเดีย ทำให้คนที่เห็นอยากหยิบไปเสนอ พร้อมพาดหัวด้วยคำดึงดูด เช่น สุดเสียว ดูคลิป หรือกรณี ทราย เจริญปุระ ที่มีหนังสือพิมพ์ใช้คำพาดหัวว่าลูกทรพี ทั้งที่ในเนื้อไม่มีเรื่องลูกทรพี แต่พาดหัวเพื่อหวังให้คนคลิกมากขึ้น นำมาสู่รายได้

ศ.ดร.ลักษณา กล่าวว่า สื่อทีวีก็หยิบเรื่องนี้ไปนำเสนอ โดยมีการทำเบลอภาพบางๆ พร้อมไปขยายความเป็นดรามาโดยสัมภาษณ์ แม่ ลูก คนเกี่ยวข้อง เพื่อนแม่ คนตามท้องถนนเพื่อให้คนมาสนใจ หรือบางเรื่องอย่างคดีลูกฆ่าแม่ ที่สื่อทีวีทำเป็นอิมเมอร์ซีฟ เพื่อเรทติ้ง ทั้งที่มีคำถามว่า ทำไปแล้วได้อะไร แต่ก็ทำเพื่อเรทติ้งเพราะคนดูต้องดู 15 นาทีขึ้นไปถึงจะเป็นเรทติ้ง ดังนั้นต้องมีการขยายเพื่อให้คนดูต่อเนื่อง และนำไปสู่ผลประโยชน์เชิงธุรกิจ ​

นายอลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยสื่อไทยกับการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ​ในสังคมออนไลน์ เรากำลังว่ายอยู่ในมหาสมุทรข้อมูล เราอยู่ในเจนเนอเรชั่นออนไลน์ตลอด 24 ชม. เรากลัวว่าจะไม่เชื่อมโยง ไม่อินเทรนด์ เลยต้องขอส่งต่อข้อมูลโดยไม่เช็คก่อนแชร์

ทั้งนี้ ​เราจะเห็นว่าสื่อโซเชียลมีเดีย มีทั้งคุณและโทษ ด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่ใช่นำเสนอข่าวอย่างเดียว แต่ยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็น สามารถหาหลักฐาน ชี้เบาะแส ตั้งข้อสังเกต ​ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่มีการช่วยชี้ประเด็น  ดังนั้น หน้าที่นักข่าวจึงไปไกลไม่ใช่หยิบประเด็นมาโพสต์ออนไลน์  แต่ต้องมีคำตอบให้ได้ เพราะพื้นที่ออนไลน์เป็นเหมือนมหาสมุทรข้อมูล นักข่าวต้องอย่าเน้นเร็ว เน้นขายข่าวต้องวินิจฉัยประเด็น

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า  ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่เราเลือกพูดจารุนแรง ตีตราฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จุดใหญ่อยู่ที่อคติว่าเขาไม่ใช่พวกเรา ไม่รู้เท่าเรา ไม่มีข้อมูลเท่าเรา 20 ปีที่ผ่านมาอคติทางการเมืองมีความรุนแรงสุดขั้วจนห่วงว่าเจนเนอเรชั่นใหม่ที่เกิดขึ้นจะทนอยู่ในสภาพความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่มากขึ้นได้อย่างไร

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหามองว่า 1.ในฐานะผู้รับสารต้องเข้าใจสื่อ ว่าการทำงานเขาแค่หยิบเฉพาะความจริงบางส่วนในโซเชียลมีเดียมา แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบการทำงาน มีการเฝ้าระวัง 2.ต้องเห็นใจคนที่ตกเป็นข่าว เป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งบางครั้งยังไม่ถูกตัดสินแต่สื่อก็ทำร้ายเขาไปแล้ว และ ​3.อาจต้องรู้ใจว่ากระบวนการโซเชียลมีความไว อาจไม่ถูกต้องเสมอไป​​​

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์มีสมาชิก 28 สื่อ ทุกคนอยู่ในนามองค์กรไม่อยู่ในนามบุคคล โดยองค์ก​รมีหน้าที่ดูแลทางจริยธรรม ​ให้เสนอข่าวตามกรอบจรรยาบรรณให้ชัดเจน ภายใต้การพัฒนา​ธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งสมาชิกผลิตข่าวรวมกัน 1,500 ชิ้น ต่อวัน ซึ่งเป็นข่าวที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่า 70% เราทำงานกับแพลตฟอร์มซึ่งควบคุมไม่ได้ ดังนั้น​จากข่าว 55 ล้านฟีดทั่วประเทศ ข่าวที่จะส่งไปถึงหน้าฟีดเรา 1-2 ข่าวจะเป็นข่าวใด ยิ่งในยุคที่ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ยอดวิวของข่าวที่สูงบางครั้งก็มาจากข่าวที่เป็นสำนักข่าวจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องที่มุ่งเน้นนำเสนอข่าวโดยหวังแต่ยอดไลค์โดยไม่สนใจเรื่องอื่นๆ นั้น ​ทางสมาคมกำลังหาวิธีการ ว่าจะสามารถมีบทลงโทษหรืออย่างไรได้หรือไม่ เราไม่ได้ตั้งรับอย่างเดียว มีการไปคุยกับแพลตฟอร์ม อย่ากูเกิ้ล ยูทูป ไปจนถึงเรื่องการปรับ​มาตรวัดที่ไม่ได้ดูแค่เพจวิวอย่างเดียว เหมือนกับเรทติ้งจากทีวี แต่อาจจะให้มีเมตริกซ์ที่วัดคุณภาพข่าวมากกว่าปริมาณด้วย

นายระวี กล่าว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างเช่นการทำข่าวจับกุมฆาตรกรต่อเนื่อง คนดูหลายแสนคน แต่ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาทำสกู๊ปเรื่องคนป่วยจิตเพศ ไปสัมภาษณ์อาจารย์หมอที่เคยคุยกับนักโทษคนนี้ด้วย มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตมีคนดูแค่ 1,000 กว่าคน ตกเป็นเงิน 80 บาท แต่เราก็ต้องทำข่าวพวกนี้ด้วยเพื่อความเท่าเทียม