นักข่าวสองวัย : ‘จอกอ’

นักข่าวสองวัย

 

นักข่าวสองวัย

นักข่าวสองวัย : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                กว่าสามสิบปีก่อน เคยตั้งคำถามกับนักข่าวรุ่นพี่ รุ่นพ่อ หลายเรื่อง ด้วยความที่ยังไฟแรง เลือดร้อน และแก่กล้าอุดมคติ

คำถามนั้นมีดีกรีอ่อนๆ ตั้งแต่พูดจากันดีๆ จนกระทั่งเข้มถึงขนาดฟ้องร้องเป็นคดีความ เมื่อบรรณาธิการบอกให้ไปหากินกันเอง โดยไม่จ่ายเงินเดือน เพื่อยืนยันว่าเมื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สังคมทั้งหลายได้ ก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตนเองได้เช่นกัน

สามสิบปีก่อน ยังฝังใจกับคำว่า “ความเป็นกลาง” ยังรู้สึกต่อต้านทุน และเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาแทรกแซงการทำงาน ยังรู้สึกว่าระยะห่างระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าว ทำให้ทำงานลำบาก แต่ผ่านมาถึงวันที่เป็นผู้ต้องตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง บางความคิดเปลี่ยนไป คำอธิบายเปลี่ยนไป แต่หลักการไม่เคยเปลี่ยน

ผมไม่เคยถูกสอนเรื่องจริยธรรมชนิดเข้มงวด เพราะเมื่อเริ่มต้นทำอาชีพนี้ หนังสือพิมพ์ที่สังกัด ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจไม่นักการเมือง ก็กลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งมีการทำงานท้าทายจริยธรรมทั้งสิ้น แม้จะไม่เคยได้รับคำสั่งให้ไปหาเงินจากนักการเมืองโดยตรง นอกจากหอบกระเช้าดอกไม้ไปอวยพรวันเกิดนักการเมือง ปูทางให้ผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการตามไปเก็บเงินภายหลัง บางครั้งก็พลาดไปในจังหวะที่บรรณาธิการกำลังไปขอเงินจากนักการเมือง แต่คอลัมน์ที่เราเขียนไปวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองคนนั้นพอดี ผลคือถูกด่า และหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้เงินตามที่ไปคุยกันไว้

แต่ในท่ามกลางความสับสนอลหม่านนั้นเอง นักหนังสือพิมพ์ที่มั่นคงในหลักการ ที่ยืนยัน “อาชีวปฏิญาณ” คือทำงานด้วยถือเป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย ย้อนหลังไปก่อนหน้าที่ผมจะก้าวเข้าสู่อาชีพนักข่าว ครูหนังสือพิมพ์ที่ผมถือเป็นต้นแบบคนหนึ่งคือ อิบรอฮีม อะมัน หรือ อิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก นายมานิจ สุขสมจิตร และนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ท่านผู้อาวุโสเหล่านี้ คือ เสาหลักที่เป็นหลัก และเป็นปูชนียบุคคลที่ยกมือไหว้ได้สนิทใจ

รุ่นที่หนึ่ง อาจไปไกลกว่านักข่าวรุ่นใหม่ โดยเป็นที่ปรึกษา เป็นตัวแทนขององค์กรสื่อไปทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ฉะนั้นคนรุ่นสองเช่นผม อยู่ในยุคกลางเก่ากลางใหม่ กับรุ่นใหม่ จึงเป็นคนสองรุ่นที่ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กันในการทำงานวันต่อวัน มีความใกล้ชิดกัน แต่ก็มีความแปลกแยกแตกต่างทางความคิด การมองโลกมองชีวิตกันพอสมควร คนรุ่นใหม่อาจมีความแร้นแค้นในการทำอาชีพสื่อน้อยกว่าคนรุ่นก่อน ที่ทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุด ด้วยเงินเดือนน้อยนิด หรือแม้กระทั่งทำงานโดยไม่มีเงินเดือน

ถ้าไม่บ้าบิ่น ผิดมนุษย์มนา ก็คงทำอาชีพนี้ไม่ได้

คนรุ่นใหม่หลายคน มีความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ในการทำงานที่น่ายกย่อง ยินดี แต่เมื่อพวกเขาผลิตงานออกมากลับสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในวิธีคิด หรือความไม่รู้หลายเรื่องราว โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ภาพเด็ก ผู้หญิง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ภาพผู้ถูกทารุณกรรมหรือกระทำความรุนแรงในครอบครัว ถูกนำเสนอโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ทั้งชื่อเสียงเรียงนาม และรูปร่างหน้าตา บางคนอธิบายว่าเพราะเขาต้องทำงานตอบสนองความต้องการของทุน มากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งน่าจะเป็นข้อแรกที่ควรคิดถึง

อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีอายุงานประมาณ 10 ปีขึ้นไป ที่เรียกว่าแก้กล้าพรรษาพอสมควร ยังพกอคติความเกลียดชังที่ควรแสดงออกในพื้นที่ส่วนตัว มาปะปนกับการทำหน้าที่ในพื้นที่สาธารณะ ตามล้าง ตามล่า ตามบดขยี้กลุ่มคนที่เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง เพื่อตอบสนองความสะใจส่วนตัวมากกว่าการทำหน้าที่สื่อสะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา คนกลุ่มนี้นับว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคมไม่น้อย และยังคงได้รับการยอมรับนับถืออย่างน่าประหลาดใจ

ผมไม่อาจเปรียบเทียบได้ว่า คนข่าวสองรุ่นนี้ ดีเลว ผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร คนข่าวรุ่นก่อนที่ยังใช้วิชาชีพนี้หากินอย่างไม่สุจริตก็มีอยู่ คนข่าวรุ่นใหม่ที่กินตามน้ำ และยอมตัวเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนหรือปกปิดข้อมูล ข่าวสาร เพื่อประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งสังคมแข็งแรงพอ กลุ่มผู้บริโภคข่าวสารมีพลังมากกว่านี้ คนพวกนี้ก็อาจถูกกำจัดออกไป กรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสื่อรับเงินบริษัทเอกชน ซึ่งผมตั้งขึ้น กำลังทำงานอย่างแข็งขัน ในข้อกล่าวหานั้น มีทั้งสื่อรุ่นเก่าและใหม่ และจะปรากฏความจริงในเร็ววัน

บทสรุปตอนท้าย จึงไม่อาจแยกแบ่งความดีความเลว ของคนสองรุ่นได้ชัดเจน แต่มาตรวัดที่พอจะเห็นผลได้ ก็คือ ความละอาย ถ้าอายน้อยก็ฉ้อฉลมาก หรือไม่รู้สึกผิดเลย เรากำลังเห็นคนที่มีความละอายน้อยมากขึ้นทุกทีในสังคมสื่อมวลชน