ภาคประชาสังคมขอสื่อเสนอข่าวสร้างสรรค์ รับมือ New Normal

เสวนาออนไลน์ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน” ภาคประชาสังคมเรียกร้องเลิกต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ย้ำให้สื่อเสนอข่าวสร้างสรรค์และรับผิดชอบ รับมือกับ new normal หลังไวรัสระบาด

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับองค์กร Cofact และ Centre for humanitorial Dialogue (hd) จัดเสวนาออนไลน์ Media Forum #11 “เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน”เพื่อสำรวจการทำงานของสื่อมวลชนไทยในช่วงเวลาวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในขณะนี้

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  กล่าวเปิดงานว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ มีแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนไว้เพื่อใช้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ covid-19 ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตในเวลานี้ ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกับสภาวิชาชีพของกลุ่มประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและติมอร์เลสเต้ เรียกร้องให้สื่อทำงานโดยต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรมและยึดแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ในภาพรวมที่ผ่านมา หากมีเรื่องร้องเรียนก็จะแจ้งสมาชิกให้แก้ไขทันที แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาของสื่อบางแขนงที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการฯ อย่างไรก็ตามหากเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพอื่นซึ่งมีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันก็ยังมีการกำกับดูแลได้ แต่อาจมีสื่อนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบอยู่บ้าง

“ที่ผ่านมา สื่อในองค์กรวิชาชีพตรวจสอบกันเองและทำหน้าที่ได้ดีตามแนวปฏิบัติที่วางหลักเกณฑ์ไว้แล้ว ส่วนที่ทำผิดพลาดไปผมเชื่อว่าทุกสื่อยินดีรับฟังความคิดเห็นและนำไปปรับปรุงการทำงาน”

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวปิดท้ายว่า หวังว่าการเสวนาในวันนี้ ซึ่งเปิดให้ได้พูดถึงสื่อทุกแพลตฟอร์ม จะได้ประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

 

การเสวนาเริ่มต้นจาก พระมหานภันต์ สนติภทโท  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระอารามหลวงวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  กล่าวว่าบทบาทของพระกับสื่อมวลชน มีหลายส่วนคล้ายคลึงกัน  เช่น การปลูกฝัง ขัดเกลา ค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง  กรณีของCOVID-19 นี้ พบว่าการควบคุมการระบาดของไวรัสจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับกลไกและประสิทธิภาพการสื่อสารในประเทศนั้น ๆ ทั้งสื่อและผู้รับสารที่ต้องไปด้วยกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตให้สังคมร่วมทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อว่าเป็นประโยชน์หรือสร้างสรรค์เพียงใด

“จะเป็นสื่อสารมวลชนหรือสื่อสารมารชน ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสร้างความร้าวฉาน

กับคนในสังคมหรือไม่ ใช้การสื่อสารด้วยความกลัวเพื่อทำให้คนตระหนักและกลัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับไวรัส  ข่าวพระทำหน้ากากลงยันต์กับพระเย็บหน้ากากใช้เอง หรือสวม face shield  ออกบิณฑบาตและพระนำขยะรีไซเคิลมาทำเป็นจีวร ชวนมองว่าประชาชนรับรู้ข่าวสารเรื่องไหนมากน้อยกว่ากัน”

อีกบทบาทที่ถูกตั้งคำถามคือ สื่อมวลชนส่งเสริมให้คนเป็นผู้ศึกษาหรือผู้พิพากษา ประชาชนได้ข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อให้มีวิจารณญาณที่เหมาะสมมองปรากฎการณ์อย่างรอบด้านหรือวิพากษ์ ตัดสิน ตีตราไปตั้งแต่ต้นแล้ว

“ทุกเรื่องมีสองด้านเสมอเช่นกรณีตู้ปันสุข มีผู้วิพากษ์ตำหนิการที่บางคนหยิบของออกไปจำนวนมาก เราอาจลืมหยิบประเด็นเรื่องความทุกข์ยากมาเสนอด้วยหรือไม่  สื่อจะนำเสนออย่างรอบด้านอย่างไรบนฐานของเสรีภาพและความรับผิดชอบโดยไม่เลือกข้าง”

พระมหานภันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่าต้องการเห็นสื่อมวลชนได้เป็นกระบอกเสียงให้คนไร้สุ้มเสียง  (Being a voice of the voiceless)   อยากเห็นการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึกมากขึ้น ไม่เสนอข้อมูลที่สร้างอคติความเกลียดชัง สื่อต้องเป็นหลักประกันสำคัญว่าจะไม่ทำให้เกิดการตีตรา การแบ่งแยกและความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในสังคม ทำงานด้วยความแยบยลเพื่อให้ยั่งยืน ไม่ใช่เลือกนำเสนอแบบฉาบฉวยและฉาวโฉ่

 

อังคณา นีละไพจิตร  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารของประชาชน   เสรีภาพสื่อยังเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพสื่อสะท้อนเสรีภาพของประชาชน  หากนำเสนอข่าวสารรายงานข้อเท็จจริงได้โดยไม่ถูกปิดบัง ปราศจากความกลัว ไม่ถูกข่มขู่คุกคาม ก็จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ประเทศชาติจะเข้มแข็งด้วยเพื่อประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นโครงการต่าง ๆของรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีความหวาดกลัว

ไทยมีความร่วมมือกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นภาคีอนุสัญญาหลายฉบับ แต่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ทำให้เกิดคำถามเช่น คณะกรรมการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  (International Covenant on Civil and Political Rights :ICCPR)  มีความกังวลเรื่องการข่มขู่ก่อกวนต่อนักหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและนักข่าวต่างประเทศ   คดีฟ้องร้องสื่อมวลชนและผลกระทบจากการใช้ พรก.ฉุกเฉินที่เข้มงวดทำให้เสรีภาพสื่อถูกจำกัดและเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดด้วย  สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกชาติให้หลักประกันและให้ความมั่นใจว่านักข่าวจะทำงานได้อย่างมีเสรีภาพตลอดการระบาดของ covid-19 เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

“Covid-19 กระทบต่อคนทั่วโลก ไม่เพียงสิทธิด้านการสื่อสารหรือการแสดงออกแต่กระทบมิติอื่น ๆด้วย หากประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างเหมาะสมก็จะส่งผลต่อการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะให้ไทยมีหลักประกันอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีฟ้องร้องกลั่นแกล้งหรือปิดปาก”

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เห็นว่า COVID-19 ได้เปิดแผลปัญหาต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำ

และไม่เท่าเทียมในสังคมไทยให้เห็นชัดขึ้น คนจนเมืองมาก แรงงานข้ามชาติ คนเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสังคม กลุ่มเปราะบางทางสังคม การใช้ความรุนแรงทางเพศและการละเมิดในครอบครัว จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะเห็นว่ากระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนและส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง

“รัฐบาลไม่ควรต่อเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไปแล้ว เพราะภายใต้สถานการณ์นั้นทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าการกำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เพียงพอแล้ว รัฐต้องเข้าใจบทบาทและไม่แทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อ”

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า สื่อมีบทบาทและจำเป็นมากที่ต้องทำงานอย่างอิสระ เพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ไขความเข้าใจผิดไม่ควรรายงานเฉพาะจำนวนคนเจ็บหรือคนตาย แต่ควรนำเสนอเรื่องความเห็นอกเห็นใจ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อช่วยคนด้อยโอกาส รายงานข่าวเชิงบวกมากขึ้น

ประเด็นสำคัญคือจะกำกับดูแลจริยธรรมในสื่อให้ได้ผลอย่างไร เพราะการแข่งขันสูงในธุรกิจสื่อทำให้บางองค์กรขาดความตระหนักเรื่องจริยธรรมหรือปกป้องคนที่ตกอยู่ในข่าว สื่อจึงกลายเป็นผู้ละเมิดเสียเอง เช่นกรณีการฆ่าตัวตาย หรือกรณีอ่อนไหวทางเพศสภาพ  ดังนั้นสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลกลุ่มคนเปราะบาง พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไม กสทช.จึงไม่ดำเนินการกับสื่อที่ผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านี้

นอกจาก covid-19 ยังมีประเด็นอื่น ๆที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก สื่อมวลชนต้องเป็นปากเสียงและให้ข้อมูลประชาชนและสะท้อนข้อมูลให้ไปถึงหน่วยงานรัฐ   เช่นพ.ร.ก.กู้เงินแสนล้าน โครงการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นเมืองต้นแบบที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  เรื่องลิขสิทธิ์เมล็ดพันธุ์พืช  เป็นต้น

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่ากลุ่มสื่อบันเทิงถูกมองว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก แม้จะมีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังเสียดสี ตีตรา แต่ประชาชนกลับมองว่าเป็นเรื่องล้อเลียน ขำขัน ขณะที่มีแนวโน้มจะตัดสินจากกลุ่มสื่อสาระเช่น ข่าวบันเทิง อาชญากรรมว่าสื่อมีเสรีภาพมากจนเกินไป  แต่กลุ่มข่าวหนักเช่นด้านการเมืองเศรษฐกิจ เสรีภาพลดน้อยลง คนทั่วไปกลับไม่ตระหนัก

กรณีcovid-19 ทำให้ภาพสังคมและปัญหาเดิม ๆ เห็นได้ชัดมากขึ้น คนยินยอมให้ถูกจำกัดเสรีภาพเพราะกลัวตาย  มีความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคมเพราะคนมีแนวโน้มจะชอบและเชื่อในสิ่งที่คล้ายคลึงกับความคิดของตนเอง รับแต่ข่าวสารประเภทเดียวกันจึงใช้สายตาและมุมมองตัวเองตัดสินคนอื่นที่คิดแตกต่าง ทำให้เพิ่มความเกลียดชังแตกแยกและเหลื่อมล้ำ

“คนกลุ่มหนึ่งกล่าวตำหนิคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้วเสี่ยงติดเชื้อว่าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับผิดชอบ ทั้ง ๆที่ยังไม่รู้เหตุผลแท้จริงว่าแต่ละคนไปด้วยเงื่อนไขและมีความจำเป็นใด สื่อมีส่วนช่วยขยายรอยแยกให้ร้าวลึกมากขึ้น  ผู้คนจึงเกิดความตื่นกลัวมากกว่าความตื่นตัว จึงชี้หน้ากล่าวโทษกันมากกว่าการชี้ทางออก หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ ถูกห้ามเปิดเผยปัญหาความขาดแคลนอุปกรณ์ในช่วงแรก ๆของการระบาดเพราะฝ่ายบริหารเกรงผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร เราพบว่าเสรีภาพในการสื่อสารถูกจำกัดในช่วงเวลานี้แล้วก็ถูกกลบไปด้วยรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่า”

กรณี COVID-19 ทำให้เห็นว่าเกิดวิกฤตในการสื่อสารแล้วยังมีประเด็นอื่น ๆที่เป็นปัญหาสังคมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางแต่ก็ถูกกระแสนี้กลบไป เช่นสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในภาคเหนือ การตรวจสอบนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม ขณะเดียวกันสื่อภาคประชนมีบทบาทมากขึ้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักทำให้คนพึ่งพาน้อยลง จึงตั้งคำถามว่าสื่อทุกวันนี้ทำหน้าที่เพื่อทุกคนในสังคมหรือทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ผลักภาระไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“อยากให้นักวิชาชีพสื่อตระหนักว่านอกจากอาชีพนักข่าวแล้ว เราทุกคนก็เป็นมนุษย์ จึงควรทำงานโดยมองคนอื่นหรือผู้ที่ตกอยู่ในข่าวให้เห็นความเป็นมนุษในตัวเขาด้วยเช่นกัน มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ  เน้นการทำข่าวที่ไม่มุ่งเสนอปัญหาความขัดแย้งแต่นำไปสู่การชวนกันคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาในสังคม เป็นเสียงให้กับผู้ไร้เสียงแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ “ให้เสียง” แก่คนชายขอบด้วย”

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อใช้มาตรการกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการออกแถลงการณ์  หากมีการร้องเรียนเมื่อตรวจสอบแล้วก็ควรต้องรายงานผลต่อสาธารณะให้รับรู้ด้วย และต้องการให้ทุกคนในสังคมร่วมกันช่วยตรวจสอบ ไม่ฝากความคาดหวังความรับผิดชอบไว้ที่สื่อมวลชนเพียงฝ่ายเดียว

เมธา มาสขาว เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  เห็นว่า ขณะที่โลกกำลังค้นคว้าวัคซีนเพื่อรักษา COVID-19  สื่อมวลชนก็มีวัคซีนดีที่สุดของตัวเองแล้วคือ “ความรับผิดชอบ”ที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานเพื่อสังคม  เพราะการระบาดของไวรัสนี้ได้กลายเป็นภัยคุกคามทั้งคนในสังคมและสื่อทำให้เสรีภาพลดลง

“ไทยยังอยู่ภายใต้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เรายินยอมถูกจำกัดสิทธิเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมให้ภาครัฐเข้าไปช่วยแก้ปัญหาป้องกันการระบาดของไวรัส แต่สื่อก็ต้องร่วมตรวจสอบด้วย ดูผลพวงการใช้อำนาจว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ใช้อำนาจอย่างเหมาะสมหรือไม่  จะสร้างความสมดุลในการดูแลเสรีภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีข่าวลวง ข่าวปลอมจำนวนมาก  มีข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุ สร้างความขัดแย้ง ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อหวังผลทางการเมืองจากคนบางกลุ่ม  สื่อมวลชนจะต้องทำให้ประชาชนสามารถคัดเลือกข่าวจริงได้ท่ามกลางข้อมูลเหล่านั้น   ควรต้องเพิ่มการสื่อสารเชิงบวกในสังคม  แทนที่จะเรียกยอดไลค์และยอดแชร์เท่านั้น สื่อกระแสหลักยังเป็นฐานของข่าวและความจริงที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และควรต้องรณรงค์ตรวจสอบก่อนจะตัดสินใจแชร์และเชื่อ”

เมธาเห็นว่ามีประเด็นมากมายที่เกี่ยวกับ COVID-19 ยังรอการสืบค้นเชิงลึกให้สาธารณะรับรู้ เช่น ปัญหาการช่วยเหลือคนในระบบประกันสังคมที่ล่าช้า นโยบายเยียวยาช่วยเหลือของรัฐบาลทั่วถึงคนทุกกลุ่มหรือไม่  การแก้ปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำไรไปตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ ควรตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่   กรณีค่าไฟฟ้าแพง สามารถโยงไปถึงปัญหาโครงสร้างเชิงระบบและตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารองค์กร เป็นต้น

สื่อมวลชนมีความท้าทายหลายประการรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของรัฐและทุนทางธุรกิจ สังคมกำลังจะมีบรรทัดฐานใหม่ (new normal) ทุกคนต้องปรับตัวเช่นเดียวกับสื่อมวลชน  จะทำให้สังคม รับมือกับข่าวปลอม ข่าวลวงได้อย่างไร สื่อต้องทำหน้าที่ให้เกิดความสว่างทางปัญญาแก่สังคม

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าวิกฤตโควิดเป็นเรื่องใหม่ที่ทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน นักข่าวและสื่อมวลชนก็ต้องปรับตัวเพราะทำงานภายใต้ข้อจำกัดการประกาศใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อลงภาคสนามก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อด้วย ปัญหาการสื่อสารภายในของหน่วยงานรัฐบาลทำให้ข้อมูลแถลงข่าวไม่ตรงกัน  เมื่อสื่อรายงานไปประชาชนจึงสับสน และการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ส่งผลกระทบให้นักข่าวจำนวนหนึ่งต้องออกจากอาชีพไป

“ผมอยากชวนคิดว่า สังคมจะสนับสนุนให้สื่ออาชีพทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร  การชื่นชมและให้กำลังใจสื่อคุณภาพดีเรื่องหนึ่ง  แต่สังคมก็มีบทบาทในการกดดันและควบคุมให้สื่อทำงานตามหน้าที่อย่างรับผิดชอบและเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย  อยากชวนทุกคนให้ติดตามตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนในยามปกติด้วย ไม่เฉพาะกรณีวิกฤตเช่น กรณีข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ  จะมีทั้งสื่อที่ปฏิบัติตามแนวจริยธรรมวิชาชีพและสื่อที่ต้องการแค่ยอดไลค์/แชร์  ดังนั้นสังคมต้องร่วมตรวจสอบกรณีหลังให้มากขึ้น”

เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต หลายกรณี เช่น โลกและภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้าย  ประชาชนสามารถนำคู่มือดังกล่าวเป็นแนวทางเปรียบเทียบคุณภาพการทำงานของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีกราดยิงที่โคราช ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำคัญมากในการทำงานของสื่อและสังคม ที่มีส่วนร่วมช่วยตรวจสอบการทำงานของสื่อ เมื่อสื่อบางแห่งรายงานไม่เหมาะสม ประชาชนแชร์ โพสต์และท้วงติง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์  แพลตฟอร์มออนไลน์มีระบบการรายงานข้อมูลไม่เหมาะสม ก็ค้นพบว่าเจ้าของแพลตฟอร์มมีพลังที่จะกำกับดูแลควบคุม ซึ่งช่วยลดความรุนแรงและตรวจสอบการทำงานของสื่อได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกตัวอย่างคือกรณีทีมนักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง มีหน่วยงานด้านจิตวิทยาเด็กส่งคำแนะนำการปฏิบัติในการรายงานข่าวที่เหมาะสม เมื่อสมาคมฯเผยแพร่ก็ได้กระจายข้อมูลเหล่านี้ไปสู่เพื่อนสมาชิกสื่อเพื่อให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีในเวลาต่อมา

 

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวสรุปท้ายการเสวนาว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากปรากฎการณ์ด้านเนื้อหาในการนำเสนอของสื่อแล้ว วิทยากรหลายคน ทำให้เห็นการตีความ “เสรีภาพ”ได้กว้างขึ้น นอกจากเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสาร  การทำงานของสื่อยังสะท้อนไปถึงเสรีภาพสังคมที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เชื่อมโยงถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อกำลังมีการประกาศต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือนถึงมิถุนายน 2563  มีคำถามว่าเมื่อสังคมยอมลงทุนให้ถูกจำกัดและรอนสิทธิเสรีภาพบางอย่างแล้ว รัฐใช้อำนาจนั้นอย่างไร ผลลัพธ์คุ้มค่าหรือไม่ gชื่อมโยงถึงระดับของเสรีภาพสื่อมวลชนไทยด้วย

“COVID-19 เปิดให้เห็นสิ่งที่เป็นประเด็นซ่อนอยู่ในสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ  ต่อไป new normal สำหรับสื่อ เราต้องไปไกลกว่าเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบ อาจต้องเป็นการทำงานอย่างไรให้แตกต่างจากการเป็นนักเลงคีย์บอร์ด ทำอย่างไรสื่อจึงจะเป็นผู้แยกแยะข่าวสารใดเป็นเรื่องจริงหรือเท็จบนโลกออนไลน์ ยกระดับให้สังคมเห็นว่ามีความแตกต่างระหว่าง ความเป็น “สื่อสารมวลชน” กับการเป็น “ผู้สื่อสารออนไลน์ จะเกิด new normal ในแวดวงการสื่อสารมวลชนได้อย่างไร”

ดร.เอื้อจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า ยั่งยืนและแยบยล  กับ mindful journalism อาจเป็นคำสำคัญของสื่อมวลชนในยุค new normal และเป็นโอกาสที่คณะทำงานฯ จะได้นำประเด็นไปพิจารณาว่า การจัดเวทีเสวนาครั้งต่อไปอาจเป็นการคุยถึง การจัดลำดับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสื่อกับสังคมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจับมือกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การนำเสนอข่าวสารรูปแบบใหม่ ๆที่ไปได้ไกลกว่าการทำงานบนเงื่อนไขของทุน การดำรงอยู่และการรักษาจริยธรรม  ซึ่งรากฐานเหล่านี้เป็นสิ่งจะทำให้เราก้าวกระโดดต่อไป

การจัดเสวนาครั้งนี้ริเริ่มโดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ในคณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกทำงานเชิงรุกที่จะส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสมาชิกสภาฯ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม   สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานฯ ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact.org    กล่าวว่าเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆเพื่อกระตุ้นเตือนให้สื่อทำงานด้วยความรับผิดชอบ  แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 นี้เป็นช่วงเดือนที่ร่วมรำลึกถึงวันที่องค์การยูเนสโก้กำหนดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คือ 3 พฤษภาคมของทุกปี  การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการธำรงรักษาความเป็นมืออาชีพด้านวารสารศาสตร์ที่รอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์  ยูเนสโก้ย้ำไว้ว่าต้องเป็นวารสารศาสตร์ที่เป็นความจริง  ปราศจากความกลัว ความชอบหรือชัง ความลำเอียง นั่นคือต้องทำงานอย่างเป็นอิสระและต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ