ตอบคำถามบีบีซี : ‘จอกอ’

BBC

 

ตอบคำถามบีบีซี

ตอบคำถามบีบีซี : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                อิสสริยา พรายทองแย้ม จากกรุงลอนดอน ชวนคุยร่วมกับอาจารย์ย่า อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ใบตองแห้ง อธึกกิต แสวงสุข เรื่อง “เสรีภาพสื่อ” ผ่านระบบ google hangouts ครั้งแรกของ BBC Thai เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ ภายใต้บรรยากาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าจะเป็นประเด็นร่วมสมัย ที่พูดถึงกันทุกครั้ง เมื่อเกิดการยึดอำนาจ ครั้งนี้ ก็เช่นกัน

แต่ผมเข้าใจดีว่า เรื่องสถานการณ์เสรีภาพสื่อ เป็นเรื่องสำคัญในระดับสากล การยอมรับของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยข้อหนึ่ง วัดกันด้วยการที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพหรือไม่ มีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น คำถามของอิสสริยา พรายทองแย้ม แห่งบีบีซี ถึงแม้จะเป็นเรื่องปกติ ธรรมดามากสำหรับสังคมไทย และสำหรับผมที่ตอบคำถามเรื่องนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ในฝั่งของต่างชาตินั้น จำเป็นต้องอธิบายเรื่อง เสรีภาพในบริบทของสังคมไทย อย่างถี่ถ้วน ชัดเจน และไม่ท้อถอยที่จะอธิบายซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจ

อิสสริยา ได้คำตอบจากอาจารย์ย่า กับคุณใบตองแห้ง ในทำนองเดียวกัน คือประเทศไทยวันนี้ยังไม่มีเสรีภาพ และคงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า การใช้อำนาจตามประกาศ คสช.บางฉบับนั้น  ต้องผ่อนคลายเมื่ออำนาจ คสช.เปลี่ยนผ่านมาเป็นอำนาจของรัฐบาล ในขณะที่ผมเห็นว่า เป็นปรากฏการณ์ปกติเมื่อมีการเข้าสู่อำนาจในลักษณะนี้

“…มีคนถามว่าเสรีภาพสื่อภายใต้ คสช.เป็นอย่างไร ผมบอกว่าเป็นเสรีภาพในสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งไม่ว่ายุคสมัยไหนก็เป็นแบบนี้ การเข้าสู่อำนาจในลักษณะนี้  ก็จำเป็นต้องควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ มีประกาศที่มีลักษณะควบคุม บังคับ ในยุคก่อนหน้านี้ ก็มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 และยุคนี้ ประกาศคสช. ฉบับที่ 97 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 103”

แล้วเราจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพตัวเองไหม เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้เสรีภาพอย่างไม่จำกัดก่อนหน้านี้ จนกระทั่งสังคมไทยตกลงไปอยู่ในหล่มโคลนแห่งความขัดแย้ง จนต้องปิดซ่อมกันระยะยาว

ผมคิดว่า เราก็ทำงานไปตามปกติ เพียงขอให้ยึดมั่นในหลักการ รายงานอย่างตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่มีอคติ การจำกัดหรือไม่จำกัดเสรีภาพก็ไม่มีความหมาย

ก่อนหน้านี้ ไทยโพสต์เคยถามผมในประเด็นเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมา เสรีภาพสื่อไม่ค่อยมี

“..เราต้องเข้าใจ ตอนนี้เป็นช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ แต่เราต้องอย่าลืมว่า ความขัดแย้งในสังคม มองอีกด้านหนึ่ง เป็นเพราะเรามีข่าวให้เล่นทุกวัน ถ้าบ้านเมืองไม่มีความขัดแย้ง เราจะเอาข่าวที่ไหนมา ตอนนั้นมันก็อาจเป็นเรื่องดีของคนทำข่าวสาร แต่มาตอนนี้เราต้องปรับตัว เข้าใจว่าเราจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องใช้ความเป็นวิชาชีพมากขึ้น ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้คัดกรองข้อมูล ข่าวสารมากนัก แต่วันนี้อาจต้องเข้มข้นมากขึ้น แต่ที่เข้มข้นขึ้น ไม่ได้แปลว่ากลัว สื่อแม้ทำอาชีพหาข่าว แต่ขณะเดียวกันเราก็เป็นคนไทยคนหนึ่งในสังคม เราจะขายแต่ความดุเดือดเลือดพล่านอย่างเดียวไม่ได้”

ประเด็นก็คือ เราจะเรียกร้องแต่เสรีภาพ โดยไม่ยอมรับเหตุที่มาของการลิดรอนเสรีภาพ ในรูปแบบประกาศฉบับต่างๆ ของ คสช.ได้หรือไม่

คำตอบในเรื่องนี้คงมีหลากหลาย แต่ถ้าจะตอบในความเห็นของผม ก็อาจเป็นเพราะเราใช้เสรีภาพกันสิ้นเปลืองมากไป ใช้จนลืมคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป เราใช้จนลืมไปว่าการกระโจนเข้าไปเป็นฝักฝ่ายกับคู่ขัดแย้ง แล้วเร่งไฟแห่งความเกลียดในหมู่คนไทยให้โหมกระพือรุนแรงมากขึ้น นับเป็นความไม่รับผิดชอบชนิดหนึ่ง ที่เป็นเหตุผลให้ผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคมไทยมีความชอบธรรม ในการเข้ามาจัดการด้วยวิธีเบ็ดเสร็จ

เรารู้สึกเจ็บปวด และเกิดความหวงแหนเสรีภาพขึ้นมาฉับพลัน เมื่อเสรีภาพถูกจำกัดด้วยประกาศ และคำสั่งต่างๆ ของ คสช. แต่เราอาจไม่รู้สึกมากนัก หรือไม่ทันจะรู้สึกเลยว่า การซื้อสื่อ การกดดันสื่อ และการขู่สื่อ ที่ทำให้เราต้องถูกจำกัดเสรีภาพด้วยอำนาจทุนก่อนหน้านี้ ร้ายแรงยิ่งกว่าการจำกัดเสรีภาพด้วยอำนาจปืนนับพันเท่า