แนะรัฐ… หยุดสื่อสารแบบอะนาล็อกในยุคดิจิทัล

ทีมโฆษกรัฐบาลยอมรับ กระบวนการสื่อสารเชื่องช้าแถมเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ และราชการยังต้องปรับ “Mindset” พร้อมขอให้ผู้วิจารณ์เปิดใจรับข้อมูล 2 ฝั่ง  ขณะที่นักวิชาการเสนอตั้งวอร์รูมสื่อสารช่วงโควิด ผู้ไม่เกี่ยวข้องต้องรูดซิปปากเพื่อแก้ปัญหาสับสนและ “Fake News” ด้าน “คนข่าว” ย้ำ “เรตติ้ง” คือ ปากท้อง แต่สื่อหลัก ยังยึดจรรยาบรรณเหนียวแน่น     

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “การสื่อสารแบบอะนาล็อก ในยุคดิจิทัล สังคมและคนสื่อ ต้องตั้งรับแบบไหน” ว่า  ในยุคดิจิทัลที่ Social Media มีบทบาททางด้านการสื่อสารสูงมาก และข่าวปลอมมีจำนวนมากขึ้น  ทีมโฆษกฯ จึงต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แต่เมื่อชี้แจงแล้วประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็จะไม่ตอบโต้ เนื่องจากเข้าใจดีว่า เป็นสิทธิเสรีภาพและทุกคนเห็นต่างกันได้ ยกเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่เข้าใจผิด ทีมโฆษกฯ จึงจะชี้แจง 

ส่วนกรณีที่ประชาชนมองว่า การสื่อสารของรัฐบาลยังเป็นลักษณะของการสื่อสารในยุคอะนาล็อกนั้น ยอมรับว่าจริง และเป็นอะนาล็อกแบบบวกบวกคือ เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารยังมีกลิ่นอายอยู่ในยุคเก่า เนื่องจากข้อจำกัดของความเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ภาษาสำหรับการสื่อสาร “ซีเรียส” น่าเบื่อ อีกทั้งข้าราชการก็ยังมีความระมัดระวังการพูดเพราะมีผลต่อหน้าที่การงาน และการสื่อสารเชื่องช้าไม่ทันต่อข่าวลือ หรือข่าวปลอมที่เกิดขึ้นทุกวินาที

แต่ขณะนี้สำนักโฆษกอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ทั้งเรื่องความคิด หรือ Mindset ในระบบราชการ รวมทั้งรูปแบบการสื่อสารต่างๆ ตลอดจนเนื้อหาและช่องทางเพื่อที่จะให้เข้าถึงประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่พฤติกรรมในการผู้บริโภคสื่อก็เป็นประเด็นสำคัญ ดังจะเห็นว่า หน่วยงานต่างๆ แถลงข่าวตลอดเวลา แต่ข้อมูลข่าวสารกลับส่งไม่ถึงประชาชน ซึ่งหมายความว่า ยังมีช่องว่างในกลุ่ม Social Media  หรือประชาชน ก็เลือกที่จะรับหรือไม่รับข่าวสารตามสิทธิที่มีอยู่ แต่การไม่รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ก็ทำให้เสียสิทธิบางอย่างไป เช่น ไม่ทราบหรือไม่เข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พลังของการสื่อสารในยุคปัจจุบันอยู่ที่การส่งต่อ หรือการแชร์ข้อมูล โดยเฉพาะสถานการณ์ขณะนี้  ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความพยายามที่จะทำให้สถานการณ์การเมือง กลายเป็นความเกลียดชังมากกว่าความเห็นต่าง และพลังความเกลียดชังที่ว่านี้ ก็มีอานุภาพมากกว่าความรัก

“คนเกลียดพร้อมที่จะแชร์สิ่งที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียความนิยม หรือดูไม่ดี แต่พอเราใส่ความจริงเข้าไป อย่างมากคนที่เคยแชร์สิ่งที่ผิดไปแล้ว เขาก็แค่รับรู้ แต่ไม่แชร์ความจริงตรงนี้ต่อไปให้คนอื่นรับรู้ด้วย ฉะนั้นพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็ยากขึ้น หลายเรื่องเช่น เรื่องวัคซีน รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  มีการชี้แจงมาตลอด แต่คนส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธที่จะรับฟัง และไม่อยากพูดว่า มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ แต่สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้จริงๆ เราก็มีข้อมูลที่พร้อมจะทําให้ทุกคนเข้าใจได้ แต่จะพอใจหรือไม่พอใจเป็นอีกเรื่อง”

ดร. รัชดา กล่าวต่ออีกว่า การให้ข้อมูล 2 ด้านจะช่วยให้ประชาชนได้คิด และไม่เกิดความทุกข์ใจจนเกินไป ซึ่งหมายความว่า ถ้าช่วยกันนำเสนอในลักษณะนี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับสังคมมากกว่า ส่วนผู้ที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ก็สามารถใช้สิทธิ์เต็มที่ เพียงแต่ควรเปิดพื้นที่รับฟังข้อมูลการชี้แจงจากทีมโฆษกฯ หรือส่วนราชการต่างๆ ด้วย เพราะหลายเรื่องมีที่มาที่ไป หรือสามารถสอบถามได้ที่เพจไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นเพจของรัฐบาลโดยตรง  

ด้าน ผศ. ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้อำนวยการ โครงการหลักสูตรนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยเกริก อดีตประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการสื่อสาร แต่สิ่งที่สื่อสารออกมายังเปรียบเสมือนอยู่ในยุคอะนาล็อก คือ มีความไม่แน่นอน  มีความล่าช้า  ความไม่ชัดเจน  และขาดความจริงใจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน ผู้ให้ข่าวบางคนมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างภาพ หรือเพื่อหาประโยชน์ให้กับตัวเอง

เนื้อหาเดียวกัน แต่มีผู้ออกมาสื่อสารจำนวนมาก และสื่อสารไม่ตรงกัน บางคนก็สื่อสารเพื่อหวังผลทางการเมือง ต่างคนต่างพูด  พูดคนละภาษา  พูดเหมือนได้ข้อมูลมาไม่เหมือนกัน บางเรื่องก็พยายามจะบอกว่า เป็นความลับ แต่ก็ให้เหตุผลไม่หมด บางครั้งเลี่ยงไปเลี่ยงมา ส่อเจตนาว่าไม่จริงใจ และทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่ไว้ใจ กระทั่งต้องหันไปพึ่งข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่น ซึ่งก็ต้องเผชิญกับทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม รวมทั้งข่าวที่หวังผลทางการเมือง ยิ่งทำให้ประชาชนสับสนมากขึ้น

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐมีข้อมูลมากจึง ต้องบูรณาการหน่วยงานสื่อสารทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และจัดตั้งเป็นวอร์รูม จัดระบบข้อมูล และจัดระบบการสื่อสารให้เป็นทีมเดียว ในลักษณะของ Single Command แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่สื่อสารที่พูดรู้เรื่อง สื่อสารได้เข้าใจประเด็น จากนั้นก็สื่อสารอย่างมีกำหนดที่ชัดเจนแน่นอนผ่านหลายช่องทาง ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหยุดพูด หยุดให้ข่าว หยุดให้ความเห็น รวมถึงนายกรัฐมนตรี ที่ใช้วิธีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คในช่วงนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยต้องให้เป็นหน้าที่ของทีมสื่อสาร  เช่น ถ้าจะมอบหมายให้ ศบค.เป็นหน่วยงานหลักในการสื่อสารเรื่องโควิด-19  หน่วยงานอื่นก็ต้องหยุดพูดทั้งหมด สถานการณ์วิกฤตจะต้องทำแบบนี้ไม่อย่างนั้นประชาชนจะสับสน

“สำหรับสื่อมวลชนผมคิดว่าตอนนี้ต้องหาข้อมูล จะต้องทำงานหนัก เพราะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยไขข้อมูลความแตกต่างให้กับประชาชนได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้น เรายังเจอว่าสื่อบางคนยังขายข่าวสร้างความฮือฮาสร้างสีสันอาจจะต้องลดตรงนี้ลง ยกตัวอย่างมีคนเสียชีวิต 1 คนรอมา 15 ชั่วโมง แล้วนำมาเสนอข่าวทั้ง ๆ ที่คนเขาก็ทำงานกันไม่ได้หยุด แต่ก็เอามาขยายสร้างสีสันทำให้คนตกใจ คิดว่าการเสนอนั้นเสนอได้แต่ไม่ใช่เสนอแบบขายข่าวสร้างสีสันในภาวะวิกฤต ดังนั้นสื่อจะต้องยกระดับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม” ผศ. ดร. บุญอยู่ กล่าว

ด้าน นายปราเมศ เหล็กเพชร์ นักข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่ประเทศไทยกล่าวว่า  นอกจากการอยู่ในตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากว่า 7 ปี รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง แล้ววิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์ ที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยยังไม่รู้จุดจบ และไม่มีความแน่นอนนั้น ทำให้ข้อมูลไหลบ่าเข้ามาอย่างมหาศาล ข้อเท็จจริงที่เคยใช้อ้างอิงกัน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ก็ขยับไปตามสถานการณ์ และสามารถปรับเปลี่ยนกระทั่งกลายเป็นข้อเท็จจริงใหม่ได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น  ขณะที่ข้อมูลที่อยู่ระหว่างการศึกษาก็จะมีปล่อยออกอมาเป็นบางจังหวะ เมื่อเข้ามาสมทบกับข้อมูลเท็จ (Fake News) จึงเป็นเรื่องที่หนักมาก

ขณะที่การสื่อสารของรัฐบาลนั้น เห็นว่า มีปัญหาโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ด้วยกันมานาน ก็เริ่มเป็นปัญหาขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะสื่อสารอะไรออกมาในยุคนี้ และไม่ว่าจะเร็วขนาดไหน ก็ยังเหมือนเป็นการสื่อสารในยุคอะนาล็อก เพราะไม่ว่าจะสื่อสารอย่างไรก็ไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลากาล  จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลจะถูกพิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหาย และไม่แปลกใจที่รัฐบาลจะอึดอัด  นายกรัฐมนตรีจะหงุดหงิด แต่สำหรับประชาชนนั้น หากมีความอึดอัดกับการทำงานของรัฐบาล ก็ต้องใช้สติ  พยายามช่วยตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นตามคามสามารถที่ทำได้  เพราะหากแต่วิพากษ์วิจารณ์และใช้แต่คำหยาบคาย ก็จะเกิดความเครียด  และไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้

ส่วนการรับมือของสื่อภายใต้สถานการณ์การสื่อสารที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องยอมรับว่า สื่อยังคงต้องการ “ความนิยมของประชาชน” หรือ เรตติ้ง  ข่าวไหนไม่มี ดราม่า ไม่มีเรตติ้ง ก็จะไม่มีโฆษณา ดังนั้นการทำงานแบบที่เคยทำในยุคอะนาล็อกคือ การนำเสนอ ซ้ำไปซ้ำมา (Stereo Type) และการนำเสนอข่าวแบบละคร จึงยังต้องมีอยู่ ขณะที่สังคมไทยต้องการข้อเท็จจริงที่นำเสนอแล้วสามารถสยบได้ทั้งข่าวปลอมและข่าวปล่อย  จึงเป็นภาระของบรรณาธิการที่ต้องทำงานหนัก รวมทั้งต้องตรวจสอบข้อมูลซึ่งเป็นการทำงานในยุคอะนาล็อกก่อนที่จะมีการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ออกมาจากฝ่ายไหน

“การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะมีการเผยแพร่ เป็นวิธีการที่จะไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมในยุคที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงทุกวินาที และโดยปกติสื่อกระแสหลักก็มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนจะเผยแพร่อยู่แล้ว แต่ในยุคนี้จะต้องทำให้มากยิ่งขึ้น เพราะถ้าพลาดก็จะพลาดแล้วพลาดเลย และลามเป็นไฟลามทุ่ง นี่เป็นเรื่องซีเรียสที่สื่อจะต้องทบทวนบทบาทของตัวเองอย่างหนัก และสามารถทำได้ด้วยการเริ่มที่ตัวเองก่อน  อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า สถานการณ์จะทำให้ทุกคนปรับตัว หรือถ้าใครยังไม่ปรับ ก็ให้สังคมจัดการกันเอง หรือองค์กรสื่อที่มีบทบาท เช่น ถ้าเป็นการละเมิด หรือหมิ่นประมาท ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย” นายปราเมศ กล่าว

ฟังรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ประจำวันที่ 24 ก.ค. 2564 ได้ที่ คลิ๊ก

คลิปอาร์ตสัมภาษณ์ png จาก th.pngtree.com