เมื่อสื่อ “ทำซ้ำ” คำหยาบจากปากผู้ทรงเกียรติในสภาฯ

ปรากฎการณ์ใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส. เน้นด้อยค่าอาชีพนักการเมือง แถมคำหยาบท่วมสภาฯ แนะสื่อไม่จำเป็นต้องก็อบปี้ทุกคำ เหตุประโยคอื่นในความหมายเดิมมีให้ใช้เพียบ  ด้าน “รองโฆษกรัฐบาล” ยอมรับ ยุคนี้พูดดีมีเหตุผลคนไม่จำ พร้อมวอนสื่อปรับพาดหัวให้ตรงความจริง ย้ำ แม้จะแค่ 2 บรรทัด แต่ก็ทำร้ายคนและสร้างความเสียหายได้

4 ก.ย. 2564 ศ. ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตร์บัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชน” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “การทำซ้ำอภิปรายไม่ไว้วางใจ สื่อต้องใช้ทุกถ้อยคำเชียวหรือ” ว่า แม้จะไม่ได้ติดตามฟังการอภิปรายฯ แบบเปิดทีวีไว้ตลอดเวลา  แต่จากการติดตามสรุปการอภิปรายฯ พบว่า ภาษาที่ผู้อภิปรายนำมาใช้และสื่อนำไปถ่ายทอดเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้น สามารถแยกได้เป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง ที่มาของคำอภิปรายที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อผู้อภิปรายใส่อารมณ์และกิริยาท่าทางประกอบเข้าไปด้วย จึงทำให้เกิดคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่ต้องรุนแรงขนาดนั้น 

ส่วนประเด็นที่สองคือ บทบาทของสื่อในฐานะผู้คัดกรองข่าวสาร ซึ่งมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่า สิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญ สิ่งใดที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้ ภายใต้การทำงานแบบมีข้อจำกัดของพื้นที่นำเสนอเหมือนในอดีตที่ผ่านมาคือ เวลาของสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ และพื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์มีค่ามีจำกัด  ดังนั้นสิ่งที่สื่อจะนำเสนอจึงจะถูกเลือกเฉพาะประเด็นที่มีคุณค่าเท่านั้น  และแม้ทุกวันนี้พื้นที่ของการเล่าเรื่องถูกขยายออกไปแบบไม่มีขอบเขตเหมือนจักรวาล แต่สื่อก็ยังต้องทำหน้าที่นายประตูข่าวสาร (Gate keeper) ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการนำเสนอในแง่ของปริมาณ

“สื่อมักจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และหากถูกรัฐควบคุมมาก เสรีภาพในการสื่อสารก็จะลดลง เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการสื่อสารของประชาชนก็จะลดลงด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิทธิและเสรีภาพก็ต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นการที่มีสื่อบางสื่อทำซ้ำ นำเสนอความรุนแรง หรือถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ ก็ต้องถามหาจริยธรรมจากสื่อในกลุ่มนี้ ส่วนสื่อทำดี ก็ต้องนำไปเป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาและสื่อในรุ่นหลังได้เดินตามรอยต่อไป”

ด้าน นายชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวการเมือง เนชั่นทวี กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ มีความตื่นเต้นและเร้าใจในประเด็นวาทกรรมของผู้อภิปรายที่สรรหามาใช้ ส่วนการรายงานของสื่อฯ ที่เรียกว่า ทำซ้ำ คือ การนำเนื้อหาและคำพูดของผู้อภิปรายมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งนั้น เนื่องจากสื่อ คือ ประตูด่านสุดท้ายในการคัดกรองคำพูดก่อนนำเสนอ จึงไม่เห็นด้วยกับคำพูดที่ไม่สมควร ยกเว้นบางสถานการณ์ บางคำ หรือบางประโยค ก็ต้องอะลุ้มอล่วยให้นำเสนอได้ อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า คำหยาบหรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมทุกคำ สามารถหาคำที่มีความหมายเหมือนกันแต่ยังคงความหวือหวาของข่าวเอาไว้ มาใช้แทนได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งข่าวที่ดี แต่ถ้าไม่หวือหวา คนก็ไม่อ่าน และตรงนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรตติ้ง เกี่ยวข้องความนิยม ยอดคนอ่าน คนดู คนฟัง ซึ่งในยุคออนไลน์ก็เป็นเช่นนี้  แต่เราเป็นสื่ออาชีพที่ไม่สามารถนำเสนอเหมือนเพจที่เปิดง่ายปิดง่ายได้ เพราะสื่ออาชีพมีกฎหมาย และมีความรับผิดชอบที่สูงกว่า  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก็ต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

ขณะที่ ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 – 3 ครั้งล่าสุด มีมุมมองที่น่าสนใจหลายประการ  รวมทั้งการใช้ถ้อยคำ ภาษา และท่าทางของผู้อภิปรายที่รุนแรง และดูเสมือนหนึ่งว่า ผู้อภิปรายต้องการให้เกิดความเกลียดชัง ด้วยการดูถูกเหยียดหยาม และด้อยค่านักการเมืองด้วยกันเอง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการอภิปรายในอดีตที่แม้จะดูรุนแรงแต่ก็สุภาพ  การอภิปรายในครั้งนี้จึงไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศการเมืองในทางสร้างสรรค์เท่าใดนัก  

ส่วนกรณีที่สื่อบางสื่อ นำคำพูดของผู้อภิปรายไปทำซ้ำ (รายงานข่าว) แบบทุกคำพูดนั้น โดยหลักการแล้ว การใช้ภาษาที่สุภาพแต่ยังคงไว้ซึ่งความหมายเดิมแทนถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่การคาดหวังว่า จะให้สื่อพาดหัวด้วยภาษาที่ปกติธรรมดาก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก   

“ยุคนี้ ใครที่พูดดีมีเหตุผลคนจะไม่ฟัง แต่ถ้าพูดดุ พูดแรง แสดงตัวตนและทำอะไรที่ประหลาดๆ คนจะฟังจะติดตาม ตรงนี้เข้าใจได้ แต่ในส่วนของข่าวที่ไม่ใช่ข่าวในเชิงลบนั้น อยากขอให้สื่อปรับคำ และขอให้คำที่ปรับ มีความหมายตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะพาดหัว เพราะทุกวันนี้คนอ่านไม่ได้อ่านเนื้อ แต่จะอ่านแค่พาดหัว ดังนั้นการพาดหัว 2 บรรทัดของสื่อมีความหมายมาก สามารถทำร้ายคนได้ สร้างความเสียหายได้ หลายเรื่องเคลียร์ได้แก้ทัน แต่บางอย่างก็สายเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่แชร์ข้อมูลผิด มักจะไม่แชร์ข้อมูลใหม่ที่ถูกต้อง”

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ยังได้กล่าวขอบคุณสื่อทุกสำนัก ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพรรคการเมืองต่างมีความพึงพอใจ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านโดยไม่ได้เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง รวมทั้งการรายงานทั้งในส่วนความเคลื่อนไหวในประเด็นที่อภิปราย  ตลอดจนประเด็นปลีกย่อยของแต่ละพรรคการเมือง จึงอยากให้สื่อรักษามาตรฐานการสร้างสมดุลเนื้อหาทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ ในกรณีอื่น ๆ ด้วย

ฟังรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ วันที่ 4 ก.ย. 2564