กฎหมายไม่ห้ามคนไทย เป็นนักข่าว แต่…???

3 กุนซือสื่อ “welcome” ทุกคนที่อยากเป็นสื่อ ย้ำไม่มีกฎหมายห้าม ขอเพียงแค่รู้จักคำว่า จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม อาจารย์ มธ. แนะ รายได้จากยอด View เลี้ยงชีวิตได้ ขณะที่อดีต กสทช. ชี้ “ไลฟ์สด” เยอะไป หวั่นซ้ำรอยแช่กล้องม็อบการเมือง 24 ชม. ที่ทำคนเครียด-แบ่งข้าง-สร้างความเกลียดชัง ด้านนายกฯ ส.นักข่าวฯ มั่นใจ ไม่นานทุกอย่างเข้าที่

18 ก.ย. 2564 ดร. เอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ในประเด็น “นิยามของนักข่าว สำนักข่าว และสื่อเสรีในยุคนี้” ว่า ยุคโซเชียลมีเดีย ผู้ที่มีสมาร์ทโฟนสามารถเป็นสื่อได้ ซึ่งนอกจากสิทธิและเสรีภาพ ข้อจำกัดของสื่อหลักและสื่อทีวี ที่ไม่สามารถรายงานบางเรื่องและบางภาพได้ สื่อเสรีก็สามารถเข้ามาเสริมได้ เนื่องจากไม่ต้องตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านี้ สื่อเสรีจึงสามารถนำเสนอได้อย่างเต็มที่ แต่การทำงานของสื่อเสรีควรอยู่ภายใต้กฎระเบียบและจริยธรรม เพราะเป็นจุดแข็งของสื่อ ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสื่อเสรี ขณะที่ผู้รับสารก็ต้องรู้เท่าทัน(สื่อ) เพื่อแยกแยะข้อมูลระหว่างข้อเท็จจริงกับการบิดเบือนจากการรายงาน

“แม้ว่า ใครจะเป็นสื่อได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเป็นสื่อที่ดีได้ เพราะสื่อที่ดี จะต้องซื่อสัตย์กับข้อเท็จจริง และจะต้องมีเรื่องของจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ของสื่อเสรีก็มีข้อจำกัด เช่น อาจจะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่กิจกรรมขององค์กรเอกชน เช่น งานแถลงข่าวต่าง ๆ ที่เป็นสิทธิของผู้จัดงาน ที่จะอนุญาตให้สื่อประเภทไหน และนักข่าวคนไหนเข้างานได้ หรือไม่ได้ ส่วนคำถามที่ว่า รายได้ของสื่อเสรีจะมาจากไหนนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ถ้าเนื้อหาของสื่อเสรีน่าสนใจและมีผู้ติดตาม  สื่อเสรีก็จะมีรายได้ (จากแพลตฟอร์ม) เข้ามาเอง”  

ดร. เอกพล ยังให้ข้อแนะนำอีกว่า สื่อเสรีควรมีการรวมเป็นเครือข่าย และควรมีการส่งเสริมพัฒนาให้ทำสื่ออย่างมีมาตรฐาน รวมทั้งต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่า จุดกึ่งกลางของการทำงานในลักษณะที่ไม่กระทบกับสังคมอยู่ตรงไหน  ขณะที่สื่อหลักก็ต้องพร้อมปรับตัวเนื่องจากการทำสื่อในยุคนี้ไม่มีสูตรความสำเร็จ แต่ทุกสื่อต้องช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้  และต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์ จะทำให้ ไม่มีใครสามารถพรากความเป็นสื่อไปจากสื่อไปได้ 

ด้าน น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการรวมถึงวงการสื่อ  ทำให้สื่อต้องรื้อกระบวนทัศน์และปรับวิธีคิด โดยต้องทำความเข้าใจว่า ไม่มีใครห้ามใครไม่ให้ผลิตสื่อได้อีกต่อไป เสรีภาพของสื่อขยายขอบเขตออกไป  ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟน-มีอินเทอร์เน็ตสามารถสื่อสารได้ เป็นสื่อได้  นิยามคำว่า นักข่าว ขยายขอบเขตออกไป  คำว่า ข่าว ในปัจจุบันก็ขยายออกไป ทุกอย่างกลายเป็นข่าวหมด แม้แต่เรื่องไร้สาระ  คลิกเบต  ทำให้เส้นแบ่งเบลอ  ดังนั้นจึงต้องหารือร่วมกันว่า แค่ไหนถึงจะไม่ล้ำเส้น  ไม่ทำร้ายตัวเอง  ไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่า แบบไหนคือผิดจริยธรรม  ดังนั้นเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สื่อก็ต้องปรับตัว แต่ก็ต้องคงมาตรฐานทางจริยธรรมแห่งวิชาชีพไว้

ส่วนการ “ไลฟ์สด” เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่แม้จะมีข้อดี คือ ทำให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน  แต่ในมุมผลลบ อาจเกิดการยั่วยุให้กับสังคมเหมือนเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเคยมีทีวีหลากสีคือ ฟ้า เหลือง แดง ถ่ายทอดสดการชุมนุมทางการเมืองตลอด 24 ชั่วโมง เนื้อหาทุกอย่างถูกเผยแพร่ออกไปทั้งหมด ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด เกิดการเกลียดชังซึ่งกันและกัน จึงควรมีการพูดคุยและกำหนดกรอบของการ “ไลฟ์สด” ว่า แค่ไหนถึงจะเหมาะสม

ขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับภาครัฐ คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานว่า ต้องวางกติกาให้ชัดเจน  ต้องให้สื่อจับตาในทุกมุม  ส่วนผู้ที่เรียกตัวเองว่าสื่อ ที่แม้จะทำงานเพียงบางสถานการณ์ แต่หากมีสำนักข่าว มีเว็บไซต์เป็นเรื่องเป็นราว ก็ต้องเข้าใจถึงการทำหน้าที่ ต้องประกาศตัวให้ชัดเจน  มีผู้แทนชัดเจน มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน  แทนที่จะต่างคนต่างทำ  ยกเว้นกลุ่มปัจเจกที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ หรือเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือนักกิจกรรมทางการเมือง ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะพูดคุยในเรื่องเหล่านี้  

นอกจากนี้ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคนไทยที่มีความสามารถทางด้านการสื่อสาร มีอุปกรณ์สื่อสาร และต้องการเป็นนักข่าว ก็สามารถเป็นได้  โดยสมาคมฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปห้าม หรือจะให้คำนิยามว่า ใครเป็นนักข่าวหรือไม่ใช่นักข่าว  เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้คนไทยเป็นนักข่าว  แต่การทำงานของสมาคมฯ ก็มีกรอบที่ชัดเจน เช่น ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะต้องอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมการ ประกอบอาชีพสื่อมวลชนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นแค่เฉพาะกิจหรือแอบแฝงเข้ามา

“นี่คือ หลักเกณฑ์หรือธรรมนูญที่องค์กรวิชาชีพสื่อ ที่ถูกกำหนดขึ้นและสังคมยอมรับ คือยอมรับว่าจรรยาบรรณของสื่อมวลชนควรเป็นอย่างไร  ใครที่ทำนอกเหนือจากจรรยาบรรณ ก็จะถูกสังคมตำหนิ เกิดการไม่ยอมรับ รวมทั้งจะมีการกดดันให้ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท  กฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก  และ/หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เป็นต้น” 

นายมงคล กล่าวต่อไปว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวงการสื่อทุกวันนี้ เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี นิยามเดิมของวารสารศาสตร์ที่ว่า สื่อสารมวลชน คือผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวสารไปยังคนจำนวนมาก แลจำกัดผู้ทำหน้าที่นี้ไว้เพียงแค่องค์กรสื่อเท่านั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว  เพราะในยุคนี้ ผู้ที่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารไปยังคนหมู่มากได้ เป็นผู้ส่งสารไปยังมวลชนได้  แต่มั่นใจว่า ความชุลมุนวุ่นวายในแวดวงสื่อมวลชนทุกวันนี้ โลกก็จะเข้ามาจัดระเบียบจะเข้ารูปรูปเข้ารอย ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่า เมื่อมีการจัดระเบียบแล้ว สื่อประเภทไหนจะอยู่ได้ และจะอยู่ได้อย่างไร

ฟังรายการวิทยุ รู้ทันสื่อ ย้อนหลัง

https://youtu.be/_gaIPGFO6Rk