สภาการสื่อฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติเพิ่มอีก 4 ฉบับ

สภาการสื่อมวลชนฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติการทำข่าวชาติพันธุ์ ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การไปทำข่าวต่างประเทศ และการให้ของขวัญ พร้อมเตรียมจัดงานใหญ่ “เวทีเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปี 64” มอบรางวัลทีมนักศึกษาชนะเลิศโครงการ “FACTkathon” ขณะที่เว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนฯ ปรับโฉมใหม่ พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนให้ง่ายขึ้น และตรวจสอบความคืบหน้าได้

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น. ว่า มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาเห็นชอบร่างแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนฯ 4 ฉบับ ได้แก่ แนวปฏิบัติฯ เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ แนวปฏิบัติฯ เรื่อง การเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และภาพข่าวผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แนวปฏิบัติฯ เรื่อง การไปทำข่าวในประเทศและต่างประเทศ และแนวปฏิบัติฯ เรื่อง การรับของขวัญ ของรางวัล และสิ่งมีค่าจากแหล่งข่าว

สำหรับแนวปฏิบัติทั้ง 4 ฉบับนี้ เป็นการปรับแก้จากแนวปฏิบัติเดิมที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้ได้ยกระดับเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงทำการปรับแก้ไขใหม่เพื่อให้องค์กรสมาชิกทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ สามารถนำไปปฏิบัติได้ (รายละเอียดติดตามจากเว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ https://www.presscouncil.or.th/regulation)

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เปิดเผยผลการจัดกิจกรรม “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” โครงการแข่งขันระดมสมองเชิงลึก “หักล้างข้อมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สสส. มูลนิธิฟรีดริชเนามัน Centre for Humanitarian Dialogue และภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ว่า ในวันพุธที่ 24 พ.ย.นี้ จะจัดงานมอบรางวัลให้กับทีมที่ชนะเลิศในการเสนอแนวคิดการพัฒนากลไกการตรวจสอบ และรับมือสถานการณ์โรคระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม ที่โรงแรมโนโวเทล สยาม

นอกจากการมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศ รางวัลชมเชย และรางวัลป๊อบปูล่าโหวต แล้ว ยังมีการจัดปาฐกถาพิเศษ “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ่อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง By เจษฎ์” และการจัด เวทีเสวนานักคิดดิจิทัล “จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์Beyond Fake News to Digital Literacy : Views From the Millennials to Boomers

ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติใหม่ ว่าขณะนี้หน้าเว็บไซต์ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียน ให้สามารถกรอกคำร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อเข้าสู่ระบบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้ทันที รวมทั้งผู้ร้องยังสามารถเข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าของเรื่องที่ร้องเรียนมาได้ด้วย