รู้ทันสื่อได้อย่างไรใน ปี 2565

นักวิชาการอาวุโส ชี้ เทคโนโลยีสื่อสาร “สร้างความร้าวฉาน” ได้ในทุกสังคม ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันรับมือ ขณะที่ “เลขาฯ สภาการสื่อฯ” มั่นใจ ปี ’65 การเมืองไทยเข้มข้น สื่อด้อยประสบการณ์ จะตกเป็นเครื่องมือ “การรู้เท่าทันฯ” คือเกราะ  ด้าน “เดอะ สแตนดาร์ด” ย้ำ ผู้รับสารต้องการความจริงไม่ต้องการความเร็ว พร้อมแนะ ปีเสือ “วิดีโอสั้น” มาแรง 

1 ม.ค. 2565 ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 ในประเด็น “จะรู้ทันสื่อได้อย่างไรในปี 2565” ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้สื่อมวลชนในโลกรวมทั้งสื่อมวลชนไทยเปลี่ยนไป โดยในระยะหลังสื่อมักจะโยงเนื้อหารวมทั้งการนำเสนอ เข้าความเร็วและอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน แต่ที่ต้องสังเกตก็คือ สื่อสามารถแยกขั้วให้กับผู้คนได้ในทุกสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจน แม้แต่ในประเทศที่ถือว่า มีความก้าวหน้าทางด้านสื่อฯ อย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา 

โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2559  นายโดนัลด์ ทรัมป์ หนึ่งในผู้สมัครลงรับเลือกตั้งประธานาธิบดี  ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งข้อความที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของชาวอเมริกัน  และในยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการเกิดข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ (Fake News) กระทั่งนำมาสู่ปัญหาและความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีของ เฟซบุ๊ค ที่ถูกชาวโรฮิงญาฟ้องร้องว่า “เป็นสื่อ” ที่ทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังชาวโรฮิงญา กระทั่งต้องอพยพออกจากถิ่นฐานและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งชาวโรฮิงญากำลังเรียกร้องให้ เฟซบุ๊ค รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

ศ.สุริชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่สำคัญมาก ดังนั้นทุกคนทั้งสังคมต้องช่วยกัน องค์กรวิชาชีพก็ต้องดูแล เพื่อให้คนรับสื่อมั่นใจในเนื้อหาที่นำเสนอว่าถูกต้อง  ทุกคนต้องตั้งหลักด้วยกัน ไม่เช่นนั้น ความรวดเร็วของสื่อ อารมณ์สะใจของสื่อ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้ข้อมูลไปได้อย่างรวดเร็วจะทำให้การกลั่นกรองและสติของผู้คน ไม่เท่าทันกับความเร็ว

“ปัญหานี้เป็นกันทั่วโลก แต่การที่จะหวังให้รัฐบาลแต่ละประเทศเข้ามาดูแลนั้น  บางครั้งรัฐบาล (ของบางประเทศ) ก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ดังนั้นพฤติกรรมการสร้างสื่อและการกำกับดูแลซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของยุค ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตั้งรับ สังคมไหนสามารถจัดสมดุลเรื่องนี้ได้เร็ว เรื่องราวที่เกิดจากเทคโนโลยีก็จะไม่ร้ายแรงและจะสามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าสังคมไหนปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ไปไกล ความร้าวฉานในเชิงลึกก็จะเกิดขึ้นในสังคมนั้น และจะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด”

ขณะที่ น.ส.นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ เลขาธิการ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้ให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ คือไม่สามารถทำงานข่าวในพื้นที่ หรือเดินทางไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวแบบตัวต่อตัวได้เหมือนช่วงเวลาปกติ  นอกจากนี้การแถลงข่าวที่เป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียว คือการส่งข่าวแถลง (Press Release) ให้กับสื่อต่าง ๆ หรือแถลงผ่านโซเชียล มีเดีย  กระทั่งกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนสื่อจำนวนไม่น้อย ต้องค้นหาประเด็นข่าวจากแพลตฟอร์ม โซเชียล มีเดีย ต่าง ๆ 

นอกจากนี้บรรดาพรรคการเมือง ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านงานข่าวเข้าร่วมงานด้านประชาสัมพันธ์มากขึ้น วิธีการเขียนข่าว ถ่ายภาพข่าว บันทึกคลิปวิดีโอข่าวส่งให้กับสื่อ ในลักษณะที่พาดหัวข่าวให้ กำหนดทิศทางข่าวให้ และชี้นำข่าว จึงมีมากขึ้น ซึ่งหากสื่อที่ได้รับข่าวในลักษณะนี้ไม่มีประสบการณ์  หรือมีประสบการณ์น้อย หรือไม่สนใจที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงย้อนกลับ ก็จะตกเป็นเครื่องมือได้ง่าย 

“นี่คือจุดอ่อนของการรู้ไม่เท่าทันสื่อในปีที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้ (ปี พ.ศ. 2565) การเมืองจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งก็จะมีการแข่งขันกันหาเสียงทางออนไลน์มากขึ้น โจมตีกันด้วยข้อมูลมากขึ้น ข่าวลวง ข่าวปลอม ก็จะมากขึ้น ดังนั้นหากสื่อที่ได้รับข่าวหรือข้อมูลในลักษณะนี้มา แล้วไม่มีการตรวจสอบ ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อเอง  ทางแก้คือ กองบรรณาธิการ ควรมีนักข่าว 2 เจนเนอเรชั่น ได้แก่ นักข่าวรุ่นใหม่ที่มีทักษะทางโซเชียลฯ และนักข่าวรุ่นพี่ ที่เก่งและมีประสบการณ์ในเรื่องของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา รู้เท่าทันผู้ให้ข่าวและสื่อของผู้ให้ข่าว รวมทั้งมีความสามารถในการมองประเด็นข่าวเพื่อต่อยอด  ซึ่งทราบว่า ขณะนี้กองบรรณาธิการจำนวนไม่น้อย ก็พยายามทำกันอยู่”

เลขาธิการ สภาการสื่อฯ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ยกฐานะมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า ตลอดปี 2564 ได้ทำการปรับปรุงแนวปฏิบัติเดิมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ทั้ง 12 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน อีกทั้งยังประกาศใช้แนวปฏิบัติดังกล่าวไปเกือบครบถ้วนแล้ว  คงเหลือเพียงแนวปฏิบัติการทำข่าวฆ่าตัวตาย ที่ได้มีการยกร่างขึ้นมาใหม่และอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่องค์กรสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเป็น 47 องค์กร รวมถึง เดอะ สแตนดาร์ด (The Standard) ในฐานะสำนักข่าวออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส ฯลฯ เป็นต้น  ดังนั้นองค์กรสื่อที่มีกองบรรณาธิการเป็นของตัวเอง และมีการผลิตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “งานข่าว” ด้วยตัวเอง ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้     

ด้าน นายเอกพล บรรลือ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าว The Standard กล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี ในปี 2564 ที่กระทบต่อการรู้เท่าทันสื่อของสื่อมวลชน ว่า ปี 2564 มีสื่อแบบใหม่บนแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok) ขณะที่ เฟซบุ๊ค (Facebook) มีการปรับอัลกอริทึม (Algorithm) ทำให้ผู้คนเข้าถึงเพจข่าวได้น้อยลง สื่อจึงต้องปรับตัวเพื่อเข้าหาเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อเสิร์ฟข่าวให้กับผู้รับสารได้สะดวกที่สุดอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม สื่อควรตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอ เช่น ในช่วงโควิด-19 ระบาด สื่อต่าง ๆ ถูกบีบให้ทำข่าวด้วยตัวเองน้อยลง และอาศัยข่าวจากโซเชียลฯ มากขึ้น อีกทั้งยังต้องแข่งกับความเร็ว ก็ยิ่งทำให้การคัดกรองมีปัญหา การขออนุญาตนำเนื้อหาเพื่อนำเสนอจากผู้โพสต์คนแรก หรือสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม ยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ไม่ควรละเลย เพราะเดอะ สแตนดาร์ด พบว่า ผู้รับสาร หรือผู้เสพสื่อต้องการความจริง และไม่ต้องการความเร็ว

บรรณาธิการข่าว เดอะ สแตนดาร์ด ยังได้กล่าวถึงแนวโน้ม หรือ เทรนด์ ของงานสื่อใน ปี 2565 ว่า วิดีโอสั้น (Clip VDO) จะเป็นคอนเท้นต์ (Content) หรือเนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องจากพฤติกรรม และค่านิยมของผู้เสพสื่อในปัจจุบัน ดังนั้นคนทำสื่อต้องรู้เท่าทัน และต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มข้นขึ้น ตามความคาดหวังของผู้รับสารที่มีมากขึ้น  และแม้ว่า ปัจจุบันประชาชนจะรู้ว่า มีข่าวลวง  ข่าวปลอม และมีการระมัดระวังอยู่ในระดับหนึ่ง แต่หากสื่อร่วมใจกันถาโถมนำเสนอในคราวเดียวกัน ก็อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อ และกลายเป็นปัญหาให้กับได้