บทสรุปและข้อเสนอแนะ โครงการ ‘FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic’

‘FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic’

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับกิจกรรมการแข่งขันระดมสมอง “หักล้างมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)  และเป็นความร่วมมือกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Fnf Thailand) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) นับตั้งแต่วันแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมในวันที่ 22 ก.ย.  2564  ถึงการมอบรางวัลในวันที่ 24 พ.ย. 2564

งานนี้นอกจากจะเป็นการประชันไอเดียของคนรุ่นใหม่ระดับมหาวิทยาลัย ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวงที่มากมายในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการระดมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแนวทางการหา “ความจริงร่วม” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้ที่มีความเห็นต่างได้อย่างปกติสุข เกิดเป็นบทสรุปของโครงการ ดังนี้

1)  ทวงถามความรับผิดชอบกับผู้ผลิตและส่งต่อข่าวลวง :  มีข้อเสนอแนะให้มีวิธีการป้องกันแลพแก้ไขข้อความผู้ผลิต และผู้ส่งต่อข่าวลวง ที่จะช่วยลดการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นลงได้

2) ให้ความสำคัญกับทักษะ “รู้เท่าทันสื่อ” : การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ไม่ใช่วิชาที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคดิจิทัล แต่ถูกพูดถึงเรื่องนี้นับตั้งแต่มีการเกิดขึ้นของสื่อมวลชนยุคอนาล็อก (วิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์) เช่น กลยุทธ์หรือเทคนิคที่ใช้ผลิตเนื้อหาผ่านสื่อแต่ละประเภทใช้ส่งสารถึงปัจเจกชนหรือกลุ่มคนซึ่งเป็นผู้รับสาร บทบาทของสื่อต่อการสร้างกระแสค่านิยมหรือวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคม เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล การผลิตและส่งต่อข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทั้งกว้างขวางและรวดเร็ว การรู้เท่าทันสื่อจึงยิ่งมีความสำคัญเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Facebook , Twitter , Instagram , Line ฯลฯ ถูกออกแบบมาให้ทำงานอย่างไร และผู้ผลิตเนื้อหา (Content) ใช้วิธีการอย่างไรในการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้รับสาร ซึ่งจะซับซ้อนกว่าสื่อดั้งเดิม เช่น แพลตฟอร์มบางชนิดสามารถใช้วิธีการบางอย่างเพื่อให้สาร (ข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ คลิปเสียง) ถูกมองเห็นอย่างกว้างขวางและในความถี่ต่อเนื่อง หรือมีสถิติการส่งต่อจำนวนมาก ผู้ที่ไม่รู้เท่าทันวิธีการเหล่านี้อาจเชื่อไปก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องจริงโดยไม่ได้ตรวจสอบ

3) ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล : แม้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะถูกมองว่าเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Native) จึงใช้งานได้คล่องกว่าคนวัยอื่นๆ ที่อาจจะเพิ่งรู้จักเทคโนโลยีดิจิทัลในวัยกลางคนหรือวัยเกษียณ แต่ในความเป็นจริงก็ยังพบช่องว่าง กล่าวคือ เด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ไม่มีทุนทรัพย์จัดหาเครื่องมือเชื่อมต่อ (Device) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และ/หรือเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านดิจิทัล อาทิ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สัญญาณมีความเสถียร ย่อมมีข้อจำกัดในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลเมื่อเทียบกับเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่มีความพร้อม  

4) สนับสนุนบทบาทขององค์กรที่ทำงานต่อต้านข่าวลวงที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถนำข้อมูลไปถึงผู้คนได้ง่าย : ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการต่อสู้กับปัญหาข่าวลวง ทั้งภาครัฐที่มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ภาคสื่อมวลชนที่มีศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. และภาควิชาการ-ประชาชน ที่รวมตัวกันในนามโคแฟค ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วแล้ว ควรพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลที่เมื่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไปพบข้อมูลบางอย่างแล้วสงสัย สามารถส่งไปประมวลผลกับระบบขององค์กรข้างต้นได้ทันทีว่าเคยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วหรือยัง (ข่าวลวงหลายข่าวมักมีลักษณะ “แชร์วนซ้ำ” บางเรื่องพิสูจน์กันไปแล้วหลายปีว่าไม่จริงแต่ก็ยังมีการส่งต่อวนกลับมาอีก)

5) ขยายแนวร่วมตรวจสอบข่าวลวงสู่ระดับท้องถิ่น : ในความเป็นจริงที่การสื่อสารรวดเร็ว ข้อมูลถูกผลิตและส่งต่ออย่างมหาศาล ข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนจึงมีความหลากหลายซึ่งบางเรื่องอาจจะไม่ได้เป็นกระแสมากพอที่องค์กรจากส่วนกลางจะมองเห็นและเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างแนวร่วมในระดับชุมชน ซึ่งอาจเป็นสื่อมวลชนท้องถิ่น หรือแกนนำชุมชน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ฯลฯ) โดยให้ผู้ที่สนใจประเด็นข่วงลวงมาฝึกฝนทักษะการตรวจสอบ รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่าจะส่งเสริมเรื่องนี้ในระดับท้องถิ่นของตนเองอย่างไร เพราะแต่ละพื้นที่นั้นมีบริบททางสังคมไม่เหมือนกัน

6) สร้างวัฒนธรรม “ตั้งคำถาม” และ “ยอมรับความเปลี่ยนแปลง” : ได้รับข้อมูลอะไรมาอย่าเพิ่งเชื่อในทันที แต่ต้องสงสัยไว้ก่อนซึ่งจะนำไปสู่การสืบค้นข้อเท็จจริง อีกทั้งเข้าใจว่าข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนความคิดตามข้อเท็จจริงจึงไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าละอาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่คุ้นชินกับการเชื่อตามๆ กันมา ไม่ว่าเชื่อในวัยวุฒิ (อาวุโสกว่า อายุมากกว่า) หรือคุณวุฒิ (การศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า) ดังนั้นต้องเริ่มจากระบบการศึกษาที่นักเรียนต้องสามารถตั้งคำถามกับตำราหรือสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนได้ แต่ประเด็นนี้ก็มีความท้าทายที่ต้องไปเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมถึงการฝึกอบรมครูในมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์

7) เปิดพื้นที่ให้ “ผู้เห็นต่าง” ได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเข้าใจและหาจุดร่วมของแต่ละฝ่าย : เนื่องจากเรื่องราวหนึ่งนั้นมีหลายมุม และแต่ละคนมักเลือกรับข้อมูลเพียงมุมใดมุมหนึ่งที่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึก (อคติ-Bias) หรือความเชื่อของตนเองและไม่เปิดรับชุดข้อมูลที่แตกต่าง นานวันเข้าจึงทำให้เกิดความแตกแยกและขัดแย้ง ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะมีพื้นที่ให้ผู้เห็นต่างได้มาพูดคุยกันโดยไม่มีแรงกดดันจากสถานะที่แตกต่าง (เช่น วัย อำนาจ)

แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกันหมดทุกเรื่อง แต่ “การเปิดใจรับฟังกันและกัน” ย่อมเปิดโอกาสนำไปสู่การแสวงหาและค้นพบแง่มุมที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ข้อแสนอนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุผลเดียวกับเรื่องการสร้างวัฒนธรรมตั้งคำถาม เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยคุ้นชินกับการยึดมั่นในวัยวุฒิหรือคุณวุฒิที่มีลำดับชั้นต่ำ-สูง อีกทั้งยังขาดการฝึกฝนทักษะการสื่อสารกับผู้ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ความคิดเห็นและแง่สถานะต่างๆ ทางกายภาพและทางสังคม   ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องฝึกทักษะเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้นในทุกช่วงวัย