เสรีภาพใต้เงา’ประยุทธ์’ : ‘จอกอ’

prayuth

เสรีภาพใต้เงา’ประยุทธ์’

เสรีภาพใต้เงา’ประยุทธ์’ : ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล

                ข้อถกเถียงเรื่อง “เสรีภาพ” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีปัญหาการยับยั้งเวทีวิชาการที่ขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งวิวาทะระหว่างนายกรัฐมนตรี กับนักข่าว ที่ก้ำกึ่งระหว่างเอาจริงกับล้อเล่น ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว เนื่องเพราะการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มาโดยระบบการเลือกตั้ง อันถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น การดำรงอยู่ของรัฐบาล จึงเพิ่มแรงกดดันด้วยถ้อยคำเผด็จการ มากขึ้นกว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติอยู่แล้วของสื่อมวลชน ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร

เผด็จการเป็นประเด็นที่อาจไม่ได้พูดถึงกันมากนัก แต่ในฝ่ายต่อต้านรัฐบาล พวกเขาย่อมมีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะคิดอ่านอย่างไร จะยืนยันว่าทุ่มเททำงานเสียสละอย่างไร จะมากด้วยความปรารถนาดีเพียงใด แต่คำว่าเผด็จการในใจ ลบล้างทุกอย่างได้ในพริบตา ฉะนั้น ทุกถ้อยคำ ทุกท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถูกตีความไปในทางลบเกือบทั้งสิ้น

ผมไม่เห็นว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องผิด เพราะเราหลายคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมานับสิบครั้งไม่ได้มีความเห็นแตกต่างกันว่า ผู้นำที่ได้อำนาจมาด้วยปืน สิ่งที่เขาทิ้งไว้หลังการจากไป คือสภาพสังคมที่ถอยหลังไปหลายก้าว บางยุคยังพบการทุจริต คอร์รัปชั่น จนถึงขนาดมีการยึดทรัพย์ ไล่ล่าทรัพย์สินกัน นี่อาจเป็นสิ่งเดียว ที่รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมันจะไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ เลย หากพบว่าผู้นำรัฐบาล และรัฐบาลที่มาจาก คสช.ไม่สุจริตแม้เรื่องเล็กๆ สักเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นๆ

ส่วนเรื่องเสรีภาพสื่อนั้น ในระยะเริ่มแรกของการยึดอำนาจ ที่ไม่อาจไว้วางใจใครได้ การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จจึงเป็นเรื่องจำเป็น คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97, 103 รวมทั้งประกาศฉบับที่ 108  พุ่งเป้าไปที่ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ล้วนเป็นภาพสะท้อนของวิธีการปกติของเผด็จการทหาร ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่เมื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรัฐบาล อำนาจในการควบคุม บังคับ จะต้องคลายลง รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้เครื่องมือปกติ วิธีการปกติ ในการจัดการสื่อที่ละเมิด ต้องหนักแน่นมากขึ้น เปิดใจกว้างมากขึ้น

“..ก่อนหน้านี้ องค์กรวิชาชีพสื่อได้ส่งสัญญาณไปบ้างแล้วว่า สถานการณ์ขณะที่เป็น คสช.กับการที่ คสช.จะไปอยู่ในอำนาจบริหาร เสียงวิพากษ์วิจารณ์จะมากขึ้น เข้มข้นขึ้น คสช.จะถูกพูดถึงมากขึ้น ก็บอกให้ คสช.เข้าใจในเบื้องต้นว่า ถ้าไปอยู่ฝ่ายบริหารเต็มตัว ต้องใจกว้างยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์”

                (สัมภาษณ์ จอกอ แทบลอยด์ ไทยโพสต์ 3-9 สิงหาคม 2557)

วันนี้ไม่มีสิ่งใดผิดไปจากที่กล่าวคำ

ในความจริงที่เป็นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สามารถปรับตัว ปรับบทบาทเข้ากับสถานการณ์ใหม่ในชีวิตของเขาด้วยความเป็นทหารที่โผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่มีรายละเอียดมากนัก เอามาใช้ไม่ได้ในบทบาทของผู้นำรัฐบาล ที่อยู่ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลาย และความเชื่อบางสิ่งที่ตายตัว ถึงแม้ว่าจะมีคำถาม มีท่าทีชวนหาเรื่องอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่บทของผู้นำที่จะไปต่อยตีกับใคร หรือโต้ตอบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บางทีความนิ่ง ในเรื่องที่ไม่มีสาระเสียบ้าง อาจเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพก็ได้

ต้นทุนที่ทำให้บ้านเมืองสงบราบคาบ ยังพอเป็นลมใต้ปีกให้รัฐบาลต่อไป แต่เรื่องดีๆ มักไม่อยู่นานนัก