การทำหน้าที่ของคนสื่อกรณี “ยูเครน”

กูรูข่าวต่างประเทศ ประสานเสียงนักวิชาการด้านความมั่นคง แนะสื่อไทยเสนอข่าวยูเครน ให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์  คู่ค้า มหามิตร เผยทุกวันนี้เนื้อหาไม่ใช่ข้อจำกัด เหตุโซเชียลมีเดียและออนไลน์มีให้เลือกเพียบ เตือนอย่าหมกมุ่นกับรายงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนลืมหน้าที่และประเทศชาติ พร้อมตั้งคำถาม นำเสนออย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์ และต้อง “บาลานซ์” อย่างไร 

รายการรู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz. อสมท. เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565ได้นำเสนอประเด็น “การทำหน้าที่ของคนสื่อกรณี ยูเครน”  โดยได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ นายทนง ขันทอง ผู้เชี่ยวชาญข่าวต่างประเทศ อดีตบรรณาธิการ นสพ. เดอะเนชั่น นายชิบ จิตนิยม ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี และ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายณรงค สุทธิรักษ์ และนายวิชัย วรธานีวงศ์

ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดกรณีสหพันธรัฐรัสเซีย เสริมกำลังทหารบริเวณพรมแดนที่ติดกับประเทศยูเครน หลังจากยูเครนประกาศที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ประเทศ) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติสมาชิก NATO ขณะที่รัสเซียกังวลว่า หากยูเครนเป็นสมาชิก NATO จริง ก็อาจมีการติดตั้งขีปนาวุธในยูเครน ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียจึงแสดงท่าทีคัดค้านและขอให้สหรัฐฯ  และ NATO รวมทั้งชาติพันธมิตร ยุติการสนับสนุนยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO โดยได้คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหรัฐฯ และ NATO ยังจัดให้มีการซ้อมรบในยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับชายแดนของรัสเซียอีกด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นความขัดแย้งบานปลาย และกลายเป็นที่มาในการเสริมกำลังทางทหารของแต่ละฝ่าย

ขณะที่การรายงานความเคลื่อนไหวของสื่อตะวันตกในกรณีนี้  ได้มุ่งเน้นไปในประเด็นการเตรียมความพร้อมของ ยูเครน สหรัฐฯ NATO และชาติพันธมิตรเพื่อรับมือกับรัสเซีย รวมทั้งรายงานจากทำเนียบขาว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกคำเตือนถึง ประธานาธิบดี แห่งยูเครน (นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี) ว่า  มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่รัสเซียจะปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565  เมื่อรายงานข่าวชิ้นนี้ของสื่อตะวันตกแพร่สะพัดออกไป ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และดีดตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกแสดงความหวั่นไหวกับการรายงานข่าวดังกล่าว จากดัชนีหลัดทรัพย์ที่สำคัญ  ขณะที่สื่อไทยส่วนใหญ่ ใช้วิธีการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ ด้วยการนำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ตามที่สื่อตะวันตกนำเสนอ มาแปลแล้วนำเสนอเป็นภาษาไทย  

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนายทนง ขันทอง หนึ่งในผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์งานข่าวต่างประเทศมาเกือบ40 ปี  ได้ให้แนะนำการทำหน้าที่ของสื่อในประเด็นนี้ว่า การทำข่าวเปรียบเสมือนกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ ต้องฟังพยานทั้งสองด้าน โดยเมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวหา อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องได้สิทธิในการแก้ต่าง  แต่การทำงานของสื่อมวลชนไทยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวต่างประเทศนั้น  ส่วนใหญ่จะเป็นการรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ฟังความด้านเดียว และมักจะแปลข่าวจากสื่อตะวันตก มากกว่าการแปลข่าวจากสื่อในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์

“ตรงนี้จะกลายเป็นปัญหา เพราะสื่อบ้านเราเน้นแปลข่าวจาก บีบีซี  ซีเอ็นเอ็น  รอยเตอร์ฯ หรือไม่ก็จาก  ไฟแนนซ์เชียลไทม์ส  ดิอีโคโนมิสต์ โดยไม่ได้ดูข่าวสารความเคลื่อนไหวของทางอิหร่าน  หรืออาร์พี-รัสเซีย  หรือสปุตนิกนิวส์  หรือไชน่าเดลี่ รวมทั้งสื่อตะวันออกอื่น ๆ ว่า สื่อตะวันออกเหล่านี้มีมุมมองอย่างไร คือ เราไม่ฟังความสองด้าน แต่มองเพียงด้านเดียว และมองด้านเดียวมาตลอด  เช่น มองว่า สื่อจีนอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ดังนั้นความน่าเชื่อถือของสื่อจีน จึงมีไม่เท่ากับสื่อตะวันตกที่เป็นอิสระ และรัฐบาลไม่ได้เข้าไปครอบงำ นี่คือ ความคิดของ บก.ข่าวต่างประเทศส่วนมาก  ซึ่งเป็นการมองความไม่รอบด้าน  ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่จะต้องวิเคราะห์ จึงเกิดความผิดพลาด เพราะเพราะจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนดี  ฝ่ายไหนไม่ดี เพราะมีข้อมูลไม่รอบด้าน จึงอยากจะบอกว่า ถ้าศึกษาข้อมูล ความเคลื่อนไหวทางด้านต่างประเทศกันจริง ๆ แล้ว เราก็จะพบว่า ขณะนี้ ลัทธิล่าอาณานิคมยังคงแข็งแกร่งอยู่  ยังคงดำเนินอยู่ และจะดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นสื่อไทยจะต้องรู้เท่าทันเรื่องราวเหล่านี้อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และเพื่อการนำเสนอได้อย่างรอบด้าน” นายทนง กล่าว

ด้านนายชิบ จิตนิยม อีกหนึ่งในผู้สื่อข่าว และนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศที่มีประสบการณ์มายาวนานให้มุมมองว่า การทำข่าวต่างประเทศของสื่อไทยในปัจจุบัน มีข้อจำกัดน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากมีโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย ส่วนกรณียูเครนนั้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษาในทุกแง่มุม รวมทั้งประวัติส่วนตัวและความเป็นมาของผู้นำยูเครนที่ท่านอยู่ในวงการบันเทิงมานาน ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องพบปะกับผู้นำชาติอื่น ๆ จึงออกจะดูประหม่า แต่ไม่ว่า จะเป็นผู้นำประเทศไหน รวมทั้งผู้นำประเทศไทย และนักการเมืองไทย ควรกำหนดท่าทีและควรวางตัวว่า จะต้องวางตัวอย่างไรกับสถานการณ์นี้ อีกทั้งยังควรศึกษาบุคลิกและประวัติความเป็นมาของผู้นำที่อยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีว่า เป็นผู้นำแบบไหน  แม้ทุกคนมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี  และต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร ต้องเป็นตัวของตัวเอง แต่ในบางสถานการณ์ผู้นำบางคนสามารถทำได้หรือไม่  การทูตระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ อย่าผลีผลามเข้าข้างใคร ต้องพิจารณาว่า อะไรเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทยจะได้ประโยชน์ หรือไม่จากการเสพข่าวที่รุนแรง   

 “ผมมองว่า สถานการณ์ของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ก็เสนอไปตามนั้น อย่าใส่ความเห็นเชิงสนับสนุนฝ่ายใด หรือเชียร์ข้างใด เพราะอันตรายอย่างยิ่ง แม้แต่กรณียูเครน หลายคนอาจจะมองว่า เสนอข่าวไปทำไม ไกลตัว ความจริงถ้าคิดให้ดี อเมริกาชอบทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่รัสเซียก็อ้างตลอดว่า การเคลื่อนพลประชิดยูเครนเป็นการฝึกประจำปี แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเป็นเรื่องใหญ่  และจากข้อมูลที่เราเห็นผ่านเทคโนโลยีสื่อสาร เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม เราเห็นถึงความเคลื่อนไหวของทหารรัสเซีย เคลื่อนพล เคลื่อนรถถังประชิดแนวชายแดน จึงเป็นสิ่งน่าคิดว่า ทำไมอเมริกาถึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้  อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้สื่อไทยเน้นมุมมองของคนไทย ปากท้องของคนไทย และผลกระทบที่จะเกิดกับคนไทย แม้สถานการณ์จะอยู่ไกล แต่ก็กระทบกับเราแล้ว เช่น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น  ดังนั้นนักการเมือง นักธุรกิจ คิดอย่างไร เห็นอย่างไร สื่อควรนำเสนอประเด็นเหล่านี้มากกว่า เนื่องจากผู้เสพจะได้สาระ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้” 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ระบุว่า สถานการณ์ยูเครน ซับซ้อนด้วยปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการเมืองโลก  และภูมิภาคของแต่ละประเทศในบริเวณนั้น ซึ่งภาพรวมก็จะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ายังแก้ปัญหาการแย่งชิงอิทธิพลของสหรัฐฯ จีน และรัสเซียไม่ได้  ขณะที่ในมุมของประเทศไทยนั้น  ไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งยูเครน รัสเซีย มีข้อตกลงการค้ายุทโธปกรณ์กับยูเครน  และยูเครนต้องการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศไทย  และกับสหรัฐฯ ก็เป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องมายาวนาน

สำหรับการทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสื่อไทยกรณียูเครนนั้น ในการรายงานรายละเอียดทั่่วไป สื่อไทยทำได้ดี แต่น้ำเสียงและท่าทีตอนท้ายของการรายงานข่าว (บางสำนัก บางสื่อ) จะออกเป็นนัยสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เห็นบ้าง ซึ่งก็ต้องถือว่า เป็นการชี้นำผู้บริโภคว่า ฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิดและอาจจะต้องกำหนดทิศทางการนำเสนอให้ดี เพราะการเมืองโลกไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร การแบ่งขั้วระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ไม่เป็นอย่างที่เห็นทั้งหมด เพราะแม้แต่สหรัฐฯ ก็มีดัชนีประชาธิปไตยต่ำกว่าหลายประเทศ ที่สหรัฐฯเชิญไปร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy : 9-10 ธ.ค.65) ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องถือว่า ทั้ง สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย เป็นข้ั้วใหญ่ เสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกของสหรัฐฯ  กับที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันออกของจีน  และกึ่งประชาธิปไตยแบบรัสเซีย ก็มีข้อดีข้อเสียเหมือนกัน

 “การรายงานข่าวแบบแบ่งขั้วอาจจะง่าย และทำให้คนฟังเลือกข้าง แต่อาจมีผลกระทบกับการเมืองไทยได้ กล่าวคือ ผู้ที่สนับสนุนสหรัฐฯก็มองว่า  สหรัฐฯเป็นตัวแทนของประชาธิปไตย  ผู้สนับสนุนจีนก็มองว่า จีนเป็นตัวแทนความเข้มแข็ง  รวมทั้งรัสเซียก็เป็นประเทศที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ อันนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น กลุ่มผู้ฟัง หรือเลือกข้าง มักใช้ประโยชน์จากเรื่องพวกนี้ โดยไม่มองถึงผลลัพธ์ว่า ใครได้หรือไม่ได้อะไร ขณะที่ไทยเป็นเพื่อนที่ดีกับทุกประเทศที่ขัดแย้งกัน หรืออย่างเกาหลีเหนือ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ประเทศไทยไม่ควรเสียจุดยืนตรงนี้ไป เราควรจะยึดหลักกติกาสากลของสหประชาชาติ อาเซียน และหลักการของเราเอง  โดยไม่เป็นเครื่องมือให้ประเทศใดประเทศหนึ่งที่สู้กัน จุดยืนตรงนี้ทำให้เรารักษาตัวรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้”

ส่วนบทบาทของสื่อภายใต้สถานการณ์นี้ รศ.ดร.ปณิธาน เสนอว่า ต้อง “บาลานซ์” สถานการณ์ให้ได้ แม้จะยากลำบากแต่สุดท้ายสื่อไทยก็ทำได้ทุกครั้ง และการรู้เท่าทันสื่อต่างประเทศนั้น สื่อไทยรู้ทันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องตั้งหลักให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ ที่ทุกคนเชื่อถือสื่อตะวันตกมาก แต่การนำเสนอข่าวบางข่าวของบางฝ่าย เช่น กรณีข่าวอิรักมีอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง เป็นข่าวที่ผิดพลาดและไม่ใช่ข้อเท็จจริง ทำให้สื่อตะวันตกเสียหายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นมืออาชีพ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้เสพสื่อเปลี่ยนไป โดยหันไปหาสื่อตะวันออกมาเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งติดตามสื่อภาคประชาชนควบคู่กันไป ดังนั้นถ้าสื่อไม่ด่วนสรุป และนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงพื้นฐาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างใด ๆบนโลกใบนี้ สื่อไทยก็จะไม่มีปัญหา และจะไม่ถูกตั้งคำถามอย่างที่เป็นอยู่ 

++++++